“จันทบุรี” เป็นจังหวัดทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของไทย และเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันยังคงหลงเหลือหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรม มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่งที่น่าสนใจ และหนึ่งในโบราณสถานนั้นก็คือ “วัดอินทราราม” หรือ “วัดตะปอนน้อย” ตั้งอยู่ในตำบลตะปอน อำเภอขลุง ที่นี่มีจิตกรรมฝาผนังในพระอุโบสถหลังเก่าที่มีความงดงาม
“วัดอินทราราม” หรือ “วัดตะปอนน้อย” ตั้งอยู่ในตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของจันทบุรี ภายในวัดมีพระอุโบสถโบราณสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่หลายครั้ง ที่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในการบูรณะในปี 2125 โดยมีคุณหญิงเหล็งผู้มีเชื้อสายจีนเป็นผู้นำศรัทธาทั้งอุบาสกอุบาสิกาผู้มีจิตเลื่อมใสศรัทธา ร่วมบริจาคทรัพย์ทำการก่อสร้างบูรณะซึ่งทุนทรัพย์ในครั้งนั้นเท่าใดมิได้ปรากฏหลักฐาน เมื่อทำการก่อสร้างเสร็จได้มีการฉลองสมโภชอุโบสถตลอด 7 วัน 7 คืน จากนั้นก็ได้ใช้ทำสังฆกรรมตลอดมา
ต่อมาเมื่อปี 2227 ได้มีการบูรณะต่อเติมอีกครั้งโดยเปลี่ยนจากผนังและเสาไม้มาเป็นก่ออิฐถือปูนโดยกรรมวิธีแบบโบราณ โดยช่างได้นำวัตถุธรรมชาติ อาทิ ดินเหนียว ดินทรายเปลือกหอย นำมาตำและฉาบด้วยอิฐเผา โดยยังคงรูปการก่อสร้างตามโครงสร้างเดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยตัวพระอุโบสถเป็นรูปทรงเก๋งจีนผสมทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องดินเผา
บริเวณหน้าบันมีภาพแกะสลักไม้รูปนารายณ์ทรงสุบรรณ มีลายประกอบเชิง เป็นลายกระหนกปนเครือเถา ใต้หน้าบันมีแผ่นสลักไม้สี่เหลี่ยมเรื่องรามเกียรติ์ เป็นท่าจับช่วงพญายักษ์รบกับลิง หน้าบันด้านหลังเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีเสาไม้รับโครงหลังคา กรอบประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้น บานประตูหน้าต่างไม้สัก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างหลวงในสมัยอยุธยา ซึ่งมีความงดงามวิจิตรเป็นที่ยิ่งนัก
ส่วนด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนขึ้นหลังในสมัยอยุธยาตอนปลายต่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นภาพเขียนสีฝุ่นผสมกาวอันมีคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ภาพจิตรกรรมเหล่านี้ได้มีการเล่าเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นไปเป็นมาของบ้านเมืองในอดีต วิถีชีวิต กลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนจีน ฝรั่งที่มีการติดต่อค้าขายกันในสมัยนั้น
และภายในอุโบสถยังประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ องค์พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะสีทองเหลืองสัมฤทธิ์ เป็นศิลปะในสมัยอยุธยาตอนต้น มีขนาดหน้าตักกว้าง 76 นิ้ว หน้าฐานล่างกว้าง 93 นิ้ว สูงรวมฐาน 123 นิ้ว
ด้านซ้ายมือของพระอุโบสถมีเจดีย์ สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า หลังจากบูรณะอุโบสถหลังเก่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประมาณปี พ.ศ.2229 ซึ่งมีคณะอุบาสกอุบาสิกา พร้อมทั้งชาวบ้านผู้มีศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนาร่วมกันก่อสร้างองค์พระเจดีย์นี้ สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ของวัดคู่กับอุโบสถหลังเก่าของวัดอินทราราม มีลักษณะเจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยม ทรงระฆัง ฐานกว้าง 7 เมตร 8 เหลี่ยม สูง 19 เมตร ก่อด้วยอิฐดินเผาฉาบยาด้วยปูนตำศิลปะในสมัยอยุธยา รองรับฐานบัวกลม ส่วนยอดชำรุดหักหาย ลักษณะเป็นเจดีย์สมัยอยุธยาตอนปลายราวสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปัจจุบันเป็นถาวรวัตถุที่สำคัญของวัดและพระพุทธศาสนาควรค่าแก่การศึกษา อนุรักษ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้สืบไป
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงและรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ เช่น ตู้พระธรรม หีบพระธรรม ซากหอไตร ภาพรอยพระพุทธบาทจำลองที่ทำด้วยผ้า เครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ถ้วยชามของจีน เป็นต้น และวัตถุโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมากมายที่หลงเหลือในอดีต สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น นับว่าเป็นโบราณวัตถุที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
นอกจากจะได้มายลความงามและเรียนรู้เรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์ของวัดเก่าแก่อย่างที่ “วัดตะปอนน้อย” แล้ว ในบริเวณวัดยังจัดเป็นตลาดโบราณที่มีทั้งพืชผัก สินค้าต่างๆ และอาหารพื้นบ้านหากินยาก จำหน่ายในบรรยากาศย้อนยุคทุกวันเสาร์อีกด้วย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline