xs
xsm
sm
md
lg

ยลโบสถ์เก่า “วัดป่าประดู่” สักการะ “พระนอนตะแคงซ้าย” พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สักการะพระนอนตะแคงซ้าย จ.ระยอง
“วัดป่าประดู่” อยู่ในเมืองระยองบนถนนสุขุมวิท เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองระยอง สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เดิมชื่อว่า "วัดป่าเลไลยก์" มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ อุปัชฌาย์เทียน ได้มาจำพรรษาเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่นี่ บรรดาชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงศรัทธาเลื่อมใสในท่าน จึงชักชวนกันสร้างกุฏิถวาย และร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดนี้จนเจริญสืบมา ต่อมาได้เปลี่ยนนามวัดเป็น “วัดป่าประดู่” เพราะมีต้นประดู่ ใหญ่อยู่ภายในวัดจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเหลือเพียงต้นเดียวตรงปากประตูทางเข้าวัด

อุโบสกหลังเก่าของวัดป่าประดู่
สิ่งที่โดดเด่นที่อยู่ภายในวัดป่าประดู่แห่งนี้คือ มี "พระพุทธรูปนอนตะแคงซ้าย" ที่เก่าแก่ เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่แปลกที่สุดในประเทศไทย โดยปกติแล้วเมื่อมีการสร้างองค์พระปางสีหไสยาสน์ มักจะสร้างประทับอยู่ในท่านอนตะแคงขวา แต่พระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าประดู่สร้างในท่านอนตะแคงซ้าย

พระพุทธรูปนอนตะแคงซ้าย
สำหรับพระพุทธรูปนอนตะแคงซ้าย มีขนาดความยาว 11.95 เมตร สูง 3.60 เมตร โดยเมื่อปี พ.ศ. 2478 พระครูสมุทรสมานคุณ (แอ่ว) อดีตเจ้าอาวาส ได้บูรณะองค์พระส่วนที่ชำรุดแล้วปิดทองใหม่ มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นการสร้างตามพระพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้ากระทำยมกปาฏิหาริย์ให้พวกเดียรถีย์ชม โดยมีพระพุทธนิมิตแสดงอาการอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้าเป็นคู่ๆ เมื่อถึงอิริยาบถไสยาสน์จึงผินพระพักตร์เข้าหากันเป็นการนอนตะแคงซ้าย และขวาในลักษณะเดียวกัน ผู้สร้างจึงสร้างให้มีนัยของพุทธปาฏิหาริย์ดังกล่าว จึงสร้างเป็นพระนอนตะแคงซ้าย

พระพุทธไสยาสน์ที่แปลกที่สุดในประเทศไทย
ลักษณะโดดเด่นของพระพุทธรูปนอนตะแคงซ้ายมีความพิเศษคือ มีการหนุนพระเศียรด้วยหัตถ์ซ้าย เมื่อสังเกตจากพระเกศ ไรพระศก และจีวร คาดว่าจะสร้างขึ้นในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นพระเก่าแก่คู่บ้านเมืองของระยองแห่งหนึ่ง และวัดป่าประดู่ได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533

อุโบสถหลังเก่าอายุกว่า 100 ปี
ภายในวัดมีอุโบสกหลังเก่า เดิมพระครูสมุทสมานคุณ (แอ่ว) และชาวบ้าน ร่วมกันสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2449 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ด้านหน้าโบสถ์ต่อเป็นหลังคามีเสารองรับ ซึ่งเป็นลักษณะศิลปกรรมที่นิยมในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หลังคาซ้อนสองชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา โดยสิ่งที่น่าสนใจคือโบสถ์แห่งนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะจีน เช่น ที่หน้าบันด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก ปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าผุดขึ้นเหนือดอกบัวกลางสระ มีนกกระสากำลังจิกกบเขียดอยู่ในสระ ส่วน ด้านหลังโบสถ์ปั้นปูนเป็นลายพรรณพฤกษา ยกช่อดอกไม้เป็นกลีบ ลอยเด่นออกมาจากผนัง มีสิงโตกำลังเล่นลูกแก้วขนาบข้างละตัว นอกจากนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่มีหน้าบันสวยที่สุดในภาคตะวันออกอีกด้วย

หน้าบันสวยที่สุดในภาคตะวันออก

องค์พระประธานภายในอุโบสถ

ลูกนิมิตโบราณ 9 ลูก ด้านใต้อุโบสถ
หากใครมาเยือนที่วัดแห่งนี้แล้ว หลังจากกราบพระประธานในอุโบสถเพื่อเป็นความสิริมงคลแล้ว บริเวณใต้อุโบสถมีช่องใต้ถุนไว้ให้พุทธศาสนิกชนลอดใต้โบสถ์ โดยมีความเชื่อว่าลอดแล้วขอให้รอดปลอดภัย แคล้วคลาดภัยอันตรายทั้งปวง โดยด้านล่างมีช่องมองพระประธาน ส่วนด้านขวามือมีลูกนิมิตโบราณ 9 ลูก หากลูบลูกนิมิตครบทั้ง 9 จะประสบความสุข ความเจริญ ความสำเร็จ ตามที่ปรารถนา

มีช่องมองพระประธาน

ประดิษฐานพระปางปาลิไลยก์
ถัดไปมี “วิหารพระปาลิไลยก์” ภายในประดิษฐานพระปางปาลิไลยก์เป็นของเก่า ที่อยู่คู่วัดมาแต่เดิมเช่นเดียวกับพระพุทธ ไสยาสน์ และเคยเป็นพระประธานของวัดมาก่อน มีขนาดความสูงถึง 6.02 เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหารที่สร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2501 เนื่องจากวิหารเดิมทรุดโทรมมาก นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ เจดีย์โบราณที่มีอายุกว่า 100 ปี วิหารบูรพาจารย์

เจดีย์โบราณที่มีอายุกว่า 100 ปี

วิหารบูรพาจารย์
การเดินทางไปยังวัดป่าประดู่ สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง โดยเส้นทางแรก จากถนนสุขุมวิท สาย 3 ผ่านตัวเมือง จังหวัดระยอง จุดสังเกตคือ ผ่านโรงพยาบาลระยอง โรงเรียนวัดป่าประดู่ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยถนนป่าประดู่จะถึงวัดป่าประดู่

ส่วนเส้นทางที่ 2 จากถนนสาย 36 (บายพาส) ถึงสี่แยกเกาะลอย ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนจันทอุดม ผ่านตัวเมืองจังหวัดระยอง พอถึงสามแยกโรงพยาบาลให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขุมวิท สาย 3 ผ่านโรงพยาบาลระยอง โรงเรียนวัดป่าประดู่ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยถนนป่าประดู่จะเห็นวัดป่าประดู่


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น