xs
xsm
sm
md
lg

เผยเบื้องหลังทวงคืน “ทับหลังเขาโล้น-หนองหงส์” โดยนักข่าวสาวไทย “นริศรา คินิมาน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบื้องหลังทวงคืน “ทับหลังเขาโล้น-หนองหงส์” จากพิพิธภัณฑ์ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยนักข่าวสาวไทย “นริศรา คินิมาน” นำมาสู่การได้โบราณวัตถุทั้งสองกลับมายังประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้


รายงานพิเศษ

21 พ.ค. 2560 นริศรา คินิมาน หรือ “อุ๋ย” นักข่าวหญิงไทยที่ตัดสินใจหยุดงานข่าวชั่วคราว เพื่อไปเรียนภาษาเพิ่มเติมที่นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางไปที่ เอเชีย อาร์ต มิวเซียม (Asia Art Museum) เมืองซานฟรานซิสโก เพื่อตามหาวัตถุโบราณชิ้นหนึ่ง จากการประสานของ กิตติ สิงหาปัด บรรณาธิการรายการข่าว 3 มิติ ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3

โดยมีข้อมูลจากเพียงคอลัมน์เล็กๆ ในหนังสือพิมพ์มติชน ที่สงสัยว่า "เอเชีย อาร์ต มิวเซียม" ถูกใช้เป็นที่จัดเก็บโบราณวัตถุชิ้นดังกล่าว

ทับหลังเขาโล้น
จากการเข้าไปสำรววจในพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเป้าหมาย อุ๋ย จึงพบแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ที่มีลวดลายคล้ายกับ “ทับหลังเขาโล้น” ถูกจัดแสดงอยู่ในเอเชีย อาร์ต มิวเซียม ตามที่ได้ข้อมูลมา ทำให้นักข่าวสาวจากประเทศไทย บันทึกภาพโบราณวัตถุชิ้นนั้น และส่งภาพกลับมาวิเคราะห์กับผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีในประเทศไทย ที่เธอติดต่อเพื่อหาข้อมูลก่อนลงพื้นที่แล้ว

"อุ๋ย ส่งภาพแผ่นหินที่ลวดลายเหมือนทับหลังเขาโล้น จากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว กลับมาที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ อาจารย์ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการกลุ่มสำนึก 300 องค์ นำไปวิเคราะห์ ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าลวดลายของแผ่นหินที่เราเจอในพิพิธภัณฑ์ ตรงกับทับหลังเขาโล้นจริง และเมื่ออาจารย์ทนงศักดิ์ไปตรวจสอบที่ปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ก็ถ่ายรูปกลับมาให้ดูว่า ทับหลังเขาโล้นหายไปจากจุดที่ควรอยู่ในปราสาทจริง ทำให้เรามั่นใจว่า แผ่นหินที่เราเจอที่ซานฟรานซิสโก ก็คือ ทับหลังเขาโล้น ที่หายไป"
นักข่าวสาวชาวไทย เล่าเหตุการณ์ช่วงเริ่มต้นของการตรวจสอบ ก่อนจะมาถึงกระบวนการทวงคืน

ทับหลังเขาโล้น
อุ๋ยเล่าต่อว่า ระหว่างที่เธออยู่ในเอเชีย อาร์ต มิวเซียม เธอยังพบแผ่นหินอีก 3 ชิ้น ที่เชื่อได้ว่าอาจจะถูกนำมาจากประเทศไทยด้วยการโจรกรรมเช่นกัน เพราะสังเกตที่ป้ายอธิบายโบราณวัตถุเหล่านี้ เขียนว่า เป็นงานศิลปะที่มาจากกัมพูชา หรืออาจจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เธอจึงให้ความสนใจและถ่ายภาพแผ่นหินทั้ง 3 ชิ้นส่งกลับมาอีก

หนึ่งในนั้นคือ "ทับหลังหนองหงส์" จากปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอีก 4 ปีให้หลัง ถูกส่งคืนมายังประเทศไทยพร้อมกับทับหลังเขาโล้น เพราะเนื้อหาเหล่านี้ถูกรายงานข่าวกลับมาที่ประเทศไทย และมีทีมข่าวในประเทศไทย ช่วยกันไปติดตามต่อกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อส่งหลักฐานไปยืนยันกับทางสหรัฐอเมริกา

ทับหลังหนองหงส์

ทับหลังที่คาดว่ามาจากปราสาทหินพิมาย
แต่ทับหลังอีก 2 ชิ้น ที่เชื่อว่า มีหนึ่งชิ้นมาจากปราสาทเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ส่วนอีกชิ้นมาจากปราสาทหินพิมาย จ.นครศรีราชสีมา แต่ทั้ง 2 ชิ้น ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของที่ได้มาจากประเทศไทย จึงยังไม่ได้คืน

“ขั้นตอนการพิสูจน์ยากมากค่ะ” อุ๋ย กล่าว

ความแตกต่างระหว่าง 2 ชิ้นที่ได้คืน กับ 2 ชิ้นที่ไม่ได้คืน ก็คือ หลักฐานเชิงประจักษ์ เพราะตอนที่เราส่งรูปกลับมาเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนที่หายไปจากปราสาทต่างๆ เรามีภาพก่อนจะหายไปของทับหลังเขาโล้นและทับหลังหนองหงส์ สามารถนำมาเปรียบเทียบกับภาพในช่วงที่หายไปแล้วได้ว่า ทับหลังทั้ง 2 ชิ้น เคยอยู่ที่นี่มาก่อน ส่วนที่ปราสาทเขาพนมรุ้งกับปราสาทหินพิมาย ไม่มีภาพก่อนที่จะหายไป ซึ่งชัดเจนมากพอจะนำมาเปรียบเทียบยืนยัน

ทับหลังเล่าเรื่อง รามายณะ ที่คาดว่ามาจากปราสาทเขาพนมรุ้ง
“ยกตัวอย่างทับหลังที่เราเชื่อว่ามาจากเขาพนมรุ้ง ในป้ายที่เอเชีย อาร์ต มิวเซียม เขียนไว้ว่า เป็นเรื่องราวใน “มหากาพย์รามายณะ” งานชิ้นนี้ เป็นหินทราย ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1075 – 1125 มาจากกัมพูชา หรือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือของประเทศไทย ในยุคก่อนอาณาจักรอังกอร์ และเมื่อเราส่งภาพกลับมาพิสูจน์กับทีมงานของอาจารย์ทนงศักดิ์ กลับพบว่า ภาพก่อนที่ทับหลังแผ่นนี้จะหายไป กลับเป็นภาพที่ทับหลังถูกจับคว่ำหน้า จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นชิ้นเดียวกัน แม้ว่าทีมงานวิชาการของไทย จะพยายามหาหลักฐานอื่นมาประกอบ เช่น ลวดลายบนทับหลัง สอดคล้องกับลวดลายของปราสาท มีเรื่องราวเรื่องเดียวกัน วัสดุแบบเดียวกัน รวมไปถึงเมื่อวัดความสูงของแผ่นทับหลังในเอเชีย อาร์ต มิวเซียม จะได้ความสูง 88.9 เซนติเมตร เท่ากันพอดีกับช่องว่างที่หายไปจากปราสาทเขาพนมรุ้ง แต่หลักฐานเหล่านี้ ก็ยังไม่เพียงพอจะทำให้ไทยสามารถนำทับหลักอีก 2 ชิ้นคืนมาได้” อุ๋ย เล่าถึงความยากในการพิสูจน์ว่า แผ่นหินในพิพิธภัณฑ์ที่อเมริกา คือทับหลังที่ถูกโจรกรรมไปจากประเทศไทย

ภาพที่นักวิชาการทำเปรียบเทียบขนาดของทับหลังเรื่องรามายณะ กับส่วนที่หายไปในปราสาทเขาพนมรุ้ง ความสูง 88.9 เซนติเมตร เท่ากัน
เมื่อยังอาศัยอยู่ที่อเมริกา นริศรา คินิมาน จึงยังหาข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานข่าวเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงการโบราณวัตถุในสหรัฐฯ เธอจึงไปพบกับ เจสัน เฟลท อดีตนักหนังสือพิมพ์ที่ติดตามประเด็นการโจรกรรมวัตถุโบราณ ข้อมูลที่ได้คือการค้าขายวัตถุโบราณเหล่านี้ในตลาดมืด เพื่อส่งมายังพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐ

เจสัน แฟลท อดีตนักหนังสือพิมฑ์ที่ติดตามข่าวขบวนการโจรกรรมโบราณวัตถุ
เจสัน เล่าสมมติฐานของเขาให้เธอฟังว่า เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่มีประวัติศาสตร์ยุคโบราณเป็นของตัวเอง ชาวอเมริกันจึงชื่นชอบที่จะใช้เวลาวันหยุดไปกับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นอย่างมาก ทำให้มีนโยบายที่จะทำให้สมบัติส่วนตัว ถูกนำมาเป็นสมบัติของชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้มาศึกษาเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง รัฐบาลจึงจะลดหย่อนภาษีให้กับใครก็ตาม ที่บริจาคของโบราณล้ำค่าต่างๆ ให้กับทางพิพิธภัณฑ์ ซึ่งในทางกลับกัน ก็ทำให้มีความต้องการวัตถุสั่งซื้อวัตถุโบราณต่างๆ จากทั่วโลก เพื่อนำมาใช้ลดหย่อนภาษีของกลุ่มนักธุรกิจ

ดังนั้น ขบวนการโจรกรรมของเก่าจากประเทศที่มีอารยธรรมโบราณล้ำค่า มาขายยังประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ถูกบริจาคเข้าพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นขบวนการที่มีมายาวนาน

“คงไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะบอกว่า หากใครต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ของอารยธรรมต่างๆ ทั่วโลก สามารถหาชมได้จากพิพิธภัณฑ์จากประเทศมหาอำนาจ ซึ่งอาจมีสิ่งของสำคัญครบถ้วน มากกว่าไปชมในประเทศเจ้าของอารยธรรมเหล่านั้นเอง” นริศรา กล่าวทิ้งท้าย

นริศรา คินิมาน นักข่าวสาวไทย ผู้ติดตามประเด็นนี้จากพิพิธภัณฑ์ Asia Art Museum ใน ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2560


กำลังโหลดความคิดเห็น