xs
xsm
sm
md
lg

“บางกลอย” รอยแหว่งแห่ง “แก่งกระจาน” กับปัญหาที่ยังไร้ข้อยุติของว่าที่มรดกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


รอยแหว่งที่เกิดจากการแผ้วถางทำไร่หมุนเวียนกลางผืนป่าแก่งกระจาน (ภาพ : กรมอุทยานฯ)
แก่งกระจาน” กลุ่มผืนป่าว่าที่มรดกโลกของไทยที่วันนี้ยังคงมีปัญหาคาราคาซังจากเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งมูลเหตุสำคัญก็คือ “บ้านโป่งลึก-บางกลอย” ที่วันนี้ปัญหาได้ปะทุมาอีกครั้ง จนเกิดแฮชแทค # saveบางกลอย ขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่ง

แต่กระนั้นกระแส # saveแก่งกระจาน จากผู้รักผืนป่าจำนวนมากทั่วไทย กลับมาแรงและแพร่สะพัดไปอย่างกว้างขวาง หลังมีภาพ คลิป และข้อมูลที่เผยให้เห็นถึง “รอยแหว่ง” กลางผืนป่าแก่งกระจานที่เกิดจากการบุกรุกแผ้วถางของคนกลุ่มหนึ่งจนหลายคนเห็นแล้วอดหดหู่ใจไม่ได้

รอยแหว่งกลางป่าว่าที่มรดกโลกอันนำมาสู่กระแส # saveแก่งกระจาน (ภาพ : กรมอุทยานฯ)
และนี่ก็คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของปัญหาที่ยังคงเป็นรอยแหว่งแห่งผืนป่าแก่งกระจานว่าที่มรดกโลก ที่ส่งผลให้ผืนป่าแห่งนี้ยังไม่ได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาจนทุกวันนี้

ย้อนรอยบ้าน “โป่งลึก-บางกลอย”


ป่าแก่งกระจานในอดีตมีชนเผ่า “กะเหรี่ยง-กะหร่าง”อาศัยอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยบริเวณที่เรียกว่า “ชุมชนใจแผ่นดิน” ที่อยู่กลางป่าลึกติดกับชายแดนพม่าทางตะวันตกเฉียงเหนือของผืนป่าแก่งกระจาน นั้นปรากฏในแผนที่ทหารมาตั้งแต่ปี 2497

บ้านโป่งลึก-บางกลอย กับพื้นที่ทำกินที่ถูกจัดสรรให้
ต่อมาในปี 2539 ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ทางภาครัฐจึงได้เจรจาและอพยพกระเหรี่ยง (ส่วนใหญ่) จากชุมชนใจแผ่นดิน ย้ายมาอยู่ด้านล่างติดกับบ้านโป่งลึกที่มีอยู่เดิมแล้ว เรียกว่าบ้าน “โป่งลึก-บางกลอย” โดยภาครัฐได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 7-9 ไร่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ

บ้านโป่งลึก-บางกลอย ตั้งอยู่กลางผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี (ไม่ใช่หมู่บ้านนอกผืนป่าอย่างที่หลายคนเข้าใจ) ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ แก่งกระจานราว 54 กม. เป็นหมู่บ้านในหุบเขามีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านกลางแบ่งชุมชนโป่งลึกและบางกลอยออกคนละฝั่งแม่น้ำ โดยมีสะพานแขวนเชื่อมชุมชนทั้งสองเข้าด้วยกัน

สะพานแขวนที่ทอดผ่านแม่น้ำเพชรเชื่อมระหว่างโป่งลึกกับบางกลอย
ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านเล็กกลางป่าใหญ่ที่มีสภาพพื้นที่ที่สวยงาม ที่นี่จึงมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนขึ้น โดยมีกิจกรรมเด่น ๆ อย่างเช่น การท่องเที่ยวถ่อแพในแม่น้ำ การเที่ยวชมวิถีชีวิต บ้านเรือน และวัฒนธรรมชนเผ่า เป็นต้น
ไร่หมุนเวียน

แม้ทางภาครัฐจะมีการจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยทำกิน แต่ด้วยความที่หมู่บ้านนี้มีการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว (ส่วนหนึ่งเป็นการอพยพของกะเหรี่ยงนอกพื้นที่เข้ามาอยู่อาศัย) ทำให้หมู่บ้านนี้ประสบปัญหามีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ

พื้นที่บางกลอยกลาง ที่ถูกแผ้วถางในปี 54
ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวบ้านส่วนหนึ่งลักลอบกลับขึ้นไปแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อทำ “ไร่หมุนเวียน” กลางป่า ที่มีความลาดเอียงน้อยหุบเขาล้อมรอบ ในบริเวณ “บางกลอยกลาง” และ “บางกลอยบน” ที่อยู่ห่างจากบ้านโป่งลึก-บางกลอย (ล่าง) ไปประมาณ 19 กิโลเมตร โดยชาวบ้านได้ให้เหตุผลว่านี่คือ “วิถีดั้งเดิม” ที่ทำสืบต่อกันมาช้านานแล้ว

สภาพพื้นที่ป่าบางกลอยกลาง ที่ถูกแผ้วถางเมื่อครั้งปี 54
ทั้งนี้ผลจากการตรวจสอบสภาพผืนป่าแก่งกระจานเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ปี 2554 ช่วงที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน) มีหลักฐานยืนยันว่ามีชาวบ้านบางส่วนได้เข้าไปแผ้วถาง เผา ทำลายป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน ควบคู่ไปกับการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย

ส่งผลให้ทาง อช.แก่งกระจาน ต้องดำเนินการแก้ปัญหาทั้งการเจรจา การบังคับใช้กฎหมาย และการผลักดันด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านกลับมาอยู่ในพื้นที่บางกลอยล่างเช่นเดิม

บ้านโป่งลึกในปัจจุบัน หมู่บ้านเดิมที่ทางราชการคงให้มีในพื้นที่
รอยแหว่งกลางผืนป่า

ล่าสุดในปีนี้ (2564) เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางอุทยานฯแก่งกระจาน ได้บินตรวจสภาพป่าทางอากาศ พบว่ามีพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งถูกแผ้วถางใหม่ ๆ และเร่งเผาทำลายเพื่อขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีการปลูกกระท่อมที่พักในพื้นที่บริเวณบางกลอยกลาง

ซึ่งชาวบ้านที่เข้าไปแผ้วถางทำไร่อ้างว่า พวกเขาอยู่อาศัยที่นี่มาแต่ดังเดิม ดังนั้นจึงสมควรที่จะได้สิทธิ์กลับไปอยู่ในที่ทำกินเดิม และทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิม (ตามแผนที่ประกอบที่มีพิกัดชัดเจน)

ภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบบริเวณบางกลอยกลางตั้งแต่ปี 2499-2564 (ภาพจากเฟซบุ๊ก : วัตร วนาวี)
ด้วยเหตุนี้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในฐานะของเจ้าของพื้นที่จึงมีการไปเจรจาให้ชาวบ้านที่เข้าไปแผ้วถางป่าออกมาจากพื้นที่ โดยชาวบ้านส่วนหนึ่งยอมออกมา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้นำกลับมาส่งที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย (ล่าง)

แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนไม่ยอมกลับออกมา แถมยังมีคนจากบ้านบางกลอยล่างบางส่วนเดินขึ้นไปเติมจำนวนคนในพื้นที่แผ้วถางเช่นเดิม

พื้นที่ที่จัดสรรบางแห่งที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ขณะเดียวกันที่ในเมืองพื้นราบก็มีคนบางกลุ่มได้ตั้งภาคี #saveบางกลอย ขึ้นมาราวกลางเดือน ก.พ. 64 โดยมีมวลชนมาชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ให้กับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง นำโดยคนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ได้ออกมาจัดเวทีเสวนาระดมความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยกับการที่กะเหรี่ยงบางกลอยกลับขึ้นไปแผ้วถางป่าทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ (บางกลอยกลาง-บางกลอยล่าง) ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

พื้นที่ที่ถูกแผ้วถางใหม่ที่บางกลอยกลาง มีพิกัด และขนาดพื้นที่ชัดเจน
นอกจากนี้ในโลกออนไลน์ยังมีเผยแพร่ภาพ คลิป และข้อมูลของ “รอยแหว่ง” ขนาดใหญ่กลางผืนป่าแก่งกระจานว่าที่มรดกโลกของไทยที่เกิดจากการแผ้วถางทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ จนหลายคนเห็นแล้วรู้สึกหดหู่ใจไม่ได้

ส่งผลให้เกิดกระแสมาแรง # saveแก่งกระจาน จากผู้รักผืนป่าจำนวนมากทั่วไทยโด่งดังแพร่สะพัดไปอย่างกว้างขวาง

พื้นที่แผ้วถางใหม่ในปี 64 บางกลอยกลาง
กะเหรี่ยงขอป่าว่าที่มรดกโลก

จากปัญหารอยแหว่งกลางผืนป่าแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา จึงมีการนัดเจรจาเพื่อหาทางออก หาข้อยุติร่วมกัน ระหว่างชาวบ้านกับตัวแทนของภาครัฐ นำโดย นาย“จงคล้าย วรพงศธร” ผู้ตรวจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นาย“ประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายอำเภอแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะของคณะทำงานที่ร่วมกันแก้ปัญหาในเรื่องนี้

ทั้งนี้ขอสรุปสำคัญของปัญหาหลักในการเจรจาก็คือ คือ การขอกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่บางกลอยกลาง-บน เพื่อดำรงวิถีแบบดั้งเดิมคือการถางป่าทำไร่หมุนเวียน โดยมีข่าวออกมาว่าชาวกะเหรี่ยงได้ขอพื้นที่ป่าแก่งกระจานเพื่อทำไร่หมุนเวียนครอบครัวละ 15 ไร่/ปี/ครอบครัว/แปลง ในเวลา 10 ปี ตกครอบครัวละ150 ไร่ จำนวน 36 ครอบครัว รวมพื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยขอใช้ทำไร่กลางผืนป่าแก่งกระจานทั้งหมด 5400 ไร่ ซึ่งเมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไปได้เกิดกระแสไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก

ภาพถ่ายเปรียบเทียบการบุกรุกป่าเพิ่มเติมในปัจจุบัน (ภาพจากเฟซบุ๊ก : วัตร วนาวี)
อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นก็ได้มีการปฏิเสธจากตัวแทนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยในเวลาต่อมาว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง

สำหรับการเจรจาดังกล่าวแม้จะไม่ได้ข้อยุติ และยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังต่อไปของว่าที่มรดกโลกแก่งกระจาน แต่ทางภาครัฐก็ได้แสดงเจตจำนงรับฟังปัญหาและอุปสรรคจากชาวบ้าน และจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ของชาวบ้าน

“ในพื้นที่ที่จัดสรรให้นี้ขาดแคลนอะไร ไม่สมบูรณ์อย่างไร จะให้ช่วยเหลืออะไรขอให้แจ้งมา แต่จะให้กลับไปอยู่ในป่า ไปถางป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มันทำไม่ได้” ตัวแทนภาครัฐท่านหนึ่งให้ข้อสรุปส่งท้าย

ชาวบ้านบางส่วนที่ยินยอมลงมาจากพื้นที่บางกลอยกลางเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
และนี่ก็คือเรื่องราวของบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่วันนี้ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังที่ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งเราคงต้องติดตามดูว่าปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลายลงเมื่อใด และผืนป่าแก่งกระจานจะได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อไหร่

ขณะที่เรื่องราวของผืนป่าแก่งกระจานภาครัฐต้องมีวิธีการบริหารจัดการที่สมดุลระหว่างคนกับป่า แต่ในกรณีที่มีการขอผืนป่าเป็นจำนวนมากเพื่อทำไร่หมุนเวียน ถ้าชาวกะเหรี่ยงบางกลอยสามารถทำได้ แน่นอนว่า “บางกลอยโมเดล” หรือ “แก่งกระจานโมเดล” ย่อมตามมา

และเมื่อนั้นอย่าหวังว่าผืนป่าในอุทยานแห่งชาติอื่น ๆ ของไทยจะรอด งานนี้ป่าเมืองไทยฉิบหายแน่นอน!?!





กำลังโหลดความคิดเห็น