กรมอุทยานฯ เผยข่าวดี ปี 63 ไทยมีประชากรเสือโคร่งในผืนป่าราว 130 -160 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 56 ประมาณ 60-80 ตัว พร้อมจัดงาน “ป่าไทยไม่ไร้เสือ -Road for Thai Tigers” ตั้งแต่วันนี้ – 2 ส.ค. 63 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ผู้สนใจชมฟรี
“เสือโคร่ง” เป็นสัตว์กินเนื้อผู้ล่าสูงสุดแห่งห่วงโซ่อาหาร ทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กินพืชไม่ให้มีมากเกินไป
เสือโคร่งมีอุปนิสัยและพฤติกรรมชอบอยู่ลำพังตัวเดียวโดด ๆ ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์จึงจะจับคู่กัน ในอดีตเคยมีเสือโคร่ง ในอดีตเคยมีเสือโคร่งอยู่ 8 สายพันธุ์ย่อย แต่สูญพันธ์ไปแล้ว 3 สายพันธุ์ย่อย ปัจจุบันอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ด้วยภัยคุกคามจากการล่าและการทำลายที่อยู่อาศัย
เมืองไทยในอดีตเคยพบเสือโคร่งอาศัยอยู่ตามป่าทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันมีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่ตามพื้นที่อนุรักษ์ไม่กี่แห่งเท่านั้น
ทุก ๆ ปี จะกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม เป็น “วันเสือโคร่งโลก” หรือ “วันอนุรักษ์เสือโลก” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเสือโคร่งในระบบนิเวศ และตระหนักถึงการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า โดยวันเสือโคร่งโลกถูกกำหนดขึ้นจากการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือโคร่งที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ใน พ.ศ. 2553
สำหรับประเทศไทย ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตวืป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยว่า ปีนี้ (2563) ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งในผืนป่าประมาณ 130 -160 ตัว ส่วนใหญ่พบบริเวณผืนป่าตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 60-80 ตัว
พร้อมกันนี้ทางกรมอุทยานฯ ยังจัดงานเนื่องในวันเสือโคร่งโลก ปี 2563 ภายใต้แนวคิด “ป่าไทยไม่ไร้เสือ -Road for Thai Tigers” ตั้งแต่วันนี้ – 2 สิงหาคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี
#################################
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช