วันอนุรักษ์เสือโลก หรือ วันอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ (International Tiger Day) ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อสร้างความประหนักในการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยได้รับการกำหนดจากการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือโคร่งที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อ พ.ศ. 2553 โดยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมให้ทั้งโลกได้มีการปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและเพื่อสร้างความตระหนักของประชาชนตลอดจนการสนับสนุนการอนุรักษ์เสือโคร่ง
เสือโคร่งเป็นนักล่าผู้อยู่ในตำแหน่งบนสุดของระบบห่วงโซ่อาหาร ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในผืนป่าอันกว้างใหญ่ การฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง คือการฟื้นฟูระบบนิเวศเช่นเดียวกัน จำนวนประชากรเสือที่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวชี้วัดว่าผืนป่าแห่งนั้นมีเหยื่อที่หลากหลายและมีความอุดมสมบูรณ์มากพอ เหมาะที่จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบี.กริม แสดงถึงความกังวลต่อการลดลงของประชากรเสือโคร่ง โดยที่ผ่านมากว่า 7 ปี บี.กริม ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งผ่านการสนับสนุนองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) เพื่อการอนุรักษ์ประชากรเสือโครงในประเทศไทย
“ประเทศไทยคือหนึ่งในไม่กี่ประเทศ และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติมากเพียงพอต่อการฟื้นฟูจำนวนประชากร เราตระหนักดีว่า หากเสือโคร่ง ซึ่งอยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศถูกทำลาย จะส่งต่อสภาพแวดล้อมทางชีวภาพทั้งหมดอย่างไร และเป็นการยากแค่ไหนที่จะรักษาสมดุลธรรมชาติ ให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง แต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ ถือว่าเรายังมีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนเสือ” ดร. ลิงค์กล่าวแสดงความห่วงใยต่ออนาคตของเสือโครงในประเทศไทย
ข้อมูลของ WWF ประเทศไทย ระบุว่า ทั่วโลกมีเสือโคร่งตามธรรมชาติเหลืออยู่ประมาณ 100,000 ตัว ในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 แต่จำนวนประชากรของเสือโคร่งได้ลดลงต่อเนื่องจนเหลือประมาณ 3,200 ตัวในปี 2010 ในปีเดียวกันนี้เอง ที่ผู้นำจาก13 ประเทศที่ยังมีประชากรเสือโคร่งหลงเหลืออยู่ ได้แก่ บังคลาเทศ, ภูฏาน, กัมพูชา, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, เมียนมาร์, เนปาล, รัสเซีย, เวียดนาม และไทย ทั้ง 13 ประเทศได้รับรองโครงการฟื้นฟูเสือโคร่งทั่วโลก เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งขึ้น 2 เท่า ให้ถึง 6,400 ตัวในปี 2022
เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งทั่วโลก WWF ประเทศไทย ได้เรียกร้องให้มีการระดมทุนอย่างเร่งด่วนสำหรับพื้นที่เขตอนุรักษ์เสือโคร่ง รวมถึงจำนวนเจ้าหน้าที่อุทยานที่ต้องเพิ่มขึ้น เพื่อสกัดกั้นการล่าอย่างผิดกฎหมาย พร้อมทั้งเพิ่มถิ่นที่อยู่อาศัยสำหรับเสือโคร่ง รวมถึงการหยุดความเชื่อที่ว่า อวัยวะของเสือโคร่งมีสรรพคุณพิเศษในการบำรุงและรักษาโรค
“เราทุกคนต่างเชื่อมโยงกันหมด ถ้าสัตว์อยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ โควิด-19 คือเครื่องเตือนความจำอันแสนเจ็บปวด ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสัตว์ป่าไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นนักล่าขั้นสูงสุด และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่แต่เฉพาะเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์เสือโคร่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติอีกด้วย”