xs
xsm
sm
md
lg

น่ายินดี! "แม่น้ำสงครามตอนล่าง" นครพนม ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ แห่งที่ 15 ของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม ได้รับการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ แห่งที่ 15 ของประเทศไทย (ภาพ : เพจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย)
ทส. เผยแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม ได้รับการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ แห่งที่ 15 ของประเทศไทย ความยาวทั้งสิ้น 92 กิโลเมตร มีระบบนิเวศหายากและมีความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด เป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่มีความสำคัญ

นายพุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์ โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมให้การแถลงข่าวการขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ แห่งที่ 15 ของประเทศไทย และเป็นแรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2,420 ของโลก โดยมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563

พันธุ์ปลาในแม่น้ำสงคราม (ภาพ : เพจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย)
สำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม ที่เสนอขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ มีขอบเขตเริ่มตั้งแต่ปากน้ำบ้านไชยบุรี ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน ไปจนถึงบ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม ความยาวทั้งสิ้น 92 กิโลเมตร โดยการกำหนดพื้นที่เสนอแรมซาร์ไซต์ ยึดหลักการสำคัญ คือ ครอบคลุมเฉพาะส่วนที่เป็นตัวแม่น้ำสงครามตอนล่าง และพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่ติดกับสองฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่ป่าสาธารณะ หรือป่าบุ่งป่าทามที่ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ และไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของราษฎร รวมทั้งพื้นที่การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พื้นที่สาธารณะตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) รวมพื้นที่ที่เสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ทั้งหมด 34,381 ไร่

ความโดนเด่นและเอกลักษณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ มีระบบนิเวศหายาก ได้แก่ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ มีความสำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด เป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก พบความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 124 ชนิด พันธุ์พืช 208 ชนิด รวมทั้งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์แม่น้ำสงครามตอนล่างในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยได้ดำเนินงานโครงการด้านการอนุรักษ์แหล่งน้ำร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคาร HSBC ประเทศไทย

พันธุ์ปลาในแม่น้ำสงคราม (ภาพ : เพจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย)

................................


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น