ประจวบคีรีขันธ์ - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ดึงนักเรียนในสถานการศึกษาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกลุ่มชาวประมงสร้างจิตสำนึกรักษ์ท้องทะเลไทย ร่วมปล่อยเต่าตนุ และสัตว์น้ำ 1 แสนตัว พร้อมจัดนิทรรศการโรงเรียนปลอดขยะ เก็บขยะพลาสติกริมอ่าวประจวบคีรีขันธ์ หวังลดขยะในทะเล เนื่องในวันทะเลโลก
วันนี้ (13มิ.ย.)ที่สะพานสราญวิถี ตำบลประจวบ อำเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในงานวันทะเลโลก ประจำปี 2561 โดยมี นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ที่ 4 เพชรบุรี ,นายวรรณ ชาตรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ประจวบคีรีขันธ์ พร้อม เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ ฯนายสวง สุดประเสริฐ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจน กลุ่มชาวประมงเรือเล็ก , เรือประมงพาณิชย์ และเยาวชนในพื้นที่รวมกว่า 600 คนร่วมงาน
โดยภายในงานได้จัดให้มีนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเลไทย อาทิ นิทรรศการซั้งเชือก , นิทรรศการสัตว์ทะเลหายากและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับอันตรายของขยะจำพวกพลาสติก โฟม ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเล เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก ทั้ง วาฬ, เต่า ,ปลา ฯลฯ ที่อาจกินพลาสติกเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหารจำพวกแมงกระพรุน ก่อนจะตายในที่สุดซึ่งถือเป็นขยะทะเลที่อันตรายอย่างยิ่ง
ท้งนี้ มีสถานการศึกษาอย่างโรงเรียนอนุบาลทับสะแก ซึ่งปราศจากถังขยะในโรงเรียน และโรงเรียนบ้านหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรีซึ่งได้รับรางวัลระดับภาคโรงเรียนปลอดขยะ มาจัดนิทรรศการให้กับนักเรียนจากสถานการศึกษาอื่นที่มาร่วมกิจกรรมวันทะเลโลกได้นำไปช่วยกันรณรงค์ในเรื่องของการลดขยะ ก็จะส่งผลให้ในอนาคตท้องทะเลจะมีปริมาณขยะที่ลดลง
นอกจากนี้ยังได้มีการมอบโล่ห์รางวัลจาก พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบให้กับนายเจือ แคใหญ่ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ ผู้ทำคุณประโยชน์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเล การทำธนาคารปูม้า ฯลฯ ตลอดจนมอบโล่ห์และสติกเกอร์ลดการใช้พลาสติก โฟม ซึ่งถือเป็นขยะอันตราย ให้กับผู้แทนชาวประมงในพื้นที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นอกจากนั้นยังมีการมอบซั้งเชือกกับกลุ่มทำการประมงบ้านทุ่งประดู่อำเภอทับสะแกและทุ่นแนวเขตทรัพยากร พร้อมมอบรางวันแก่นักเรียนที่ชนะการประกวดวาดภาพหัวข้อ “ขยะทะเล”ฯลฯ
จากนั้นได้ร่วมกันไปปล่อยเต่าตนุ อายุ 2 ปี จำนวน 9 ตัว พร้อมทั้งปล่อยปลากระพง ,กุ้งทะเล ,ปลานวลจันทน์ทะเล รวม 100,000 ตัว ลงในทะเลหน้าอ่าวประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ของท้องทะเล กลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากทะเลอย่างยั่งยืน
สุดท้ายคือกิจกรรมเก็บขยะบนชายหาด ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก ,ขวดแก้ว,โฟม,ฝาขวดน้ำ,ฯลฯ เพื่อนำไปคัดแยกก่อนกำจัดอย่างถูกวิถี เป็นการป้องกันไม่ให้ขยะอันตรายเหล่านี้ ถูกพัดพาลงไปจมอยู่ในทะเล กลายเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลในอนาคตนั่นเอง