xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่ง! “ถ้ำนาคา” บึงกาฬ มีทั้งส่วนหัว-ลำตัวพญานาค ข้อมูลใหม่เชื่อมโยงถึงโลกยุคน้ำแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ถ้ำนาคา แหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่มาแรงแห่งบึงกาฬ (ภาพ : เพจ Buengkan day)
ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำและธรณีวิทยา เผยชุดข้อมูลใหม่ของ “ถ้ำนาคา” จ.บึงกาฬ เกี่ยวข้องกับโลกยุคน้ำแข็ง และการยกตัวของแผ่นดิน ด้านเพจ Buengkan day เผยภาพอันซีน “หินหัวพญานาค” ดูสวยงามแปลกตาแฝงลี้ลับน่าพิศวง

ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ถ้ำนาคา” ซึ่งวันนี้มีทั้งเรื่องเล่าความเชื่อดั้งเดิม ผสมด้วยจินตนาการของการแต่งเสริมเข้ามาใหม่ โดยเฉพาะเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับ “พญานาค” อันเป็นที่มาของชื่อถ้ำ

ขณะที่ข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาที่เป็นข้อเท็จจริงนั้นก็มีการสำรวจเพิ่มเติม พร้อมกับมีชุดข้อมูลใหม่มานำเสนอผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ที่จะน่าสนใจแค่ไหน ขอเชิญทัศนากันได้

ถ้ำนาคา งดงามแฝงลี้ลับ (ภาพ : เพจ Buengkan day)
รู้จักถ้ำนาคา

“ถ้ำนาคา” ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ และอยู่ใกล้กับวัดถ้ำชัยมงคล การขึ้นไปเที่ยวถ้ำต้องเดินขึ้นบันไดสูงชันที่ทางอุทยานฯ จัดสร้างขึ้นไปกว่า 1,400 ขั้น ใช้เวลาเดินราว 1-1.30 ชั่วโมง

เหตุที่ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ถ้ำนาคา” หรือ “ถ้ำพญานาค” เนื่องจากมีลักษณะของหินและผนังถ้ำดูคล้ายพญานาค ที่มีรูปทรงคล้ายพญานาคหรืองูขนาดใหญ่นอนขดตัว โดยมีส่วนสำคัญ ๆ ทั้งส่วนหัว ลำตัว และเกล็ดพญานาค (ตามจินตนาการและความเชื่อของชาวบ้าน)

ความเชื่อเรื่องพญานาคที่ถ้ำนาคา (ภาพ : เฟซบุค Chaiporn Siripornpibul)
ด้วยเหตุนี้จึงมีตำนานเรื่องเล่าเชื่อมโยงกับความเชื่อของถ้ำแห่งนี้ว่า ถ้ำนาคาคือพญานาคหรืองูยักษ์ที่ถูกสาปให้กลายเป็นหิน

โดย “อือลือราชา”หรือ “ปู่อือลือ” เทพบนสรวงสวรรค์ ที่ถูกสาปให้เป็นพญานาคปกครองเมืองบาดาล (เชื่อกันว่าคือบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ) ที่มีทั้งพญานาคและมนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้สาปบริวารพญานาคของตนให้กลายเป็นหินที่ถ้ำแห่งนี้เนื่องจากทำผิดจารีต เพราะไปมีสัมพันธ์สวาทกับมนุษย์ ซึ่งก็คือถ้ำนาคา หรือ ถ้ำพญานาค ที่ อช.ภูลังกา แห่งนี้

ลวดลายหินเกล็ดพญานาคแห่งถ้ำนาคา (ภาพ : เพจ Buengkan day)
กำเนิดถ้ำนาคา-ตัวพญานาค

หลังถ้ำนาคาถูกเปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่มาแรง ล่าสุดทางกรมทรัพยากรธรณี ก็ได้ทำการสำรวจถ้ำเพิ่มเติม เพื่อนำชุดความรู้ใหม่ ๆ มานำเสนอ ควบคู่ไปกับการพัฒนาถ้ำแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ในทางธรณีวิทยา

นาย “ชัยพร ศิริพรไพบูลย์” หรือ “อาจารย์ชัยพร” ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำและนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ที่เป็นผู้นำทีมการสำรวจถ้ำนาคาอย่างเจาะลึกและเข้มข้น ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ได้เผยข้อมูล และชุดความรู้ใหม่ ๆ ของถ้ำนาคา ผ่านเฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อส่วนตัว Chaiporn Siripornpibul โดยมีประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

หินทรายแห่งภูลังกา (ภาพ : เพจ Buengkan day)
...ถ้ำนาคาเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหินทรายชื่อ “ภูลังกา” ที่อยู่ในหมวดหินยุคครีเทเซียสตอนปลาย (ประมาณ 70 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงท้าย ๆ ของโลกยุคไดโนเสาร์)

หินทรายบริเวณนี้นอกจากจะมีความหนาค่อนข้างมาก และเนื้อหินมีความเป็นเนื้อเดียวกัน(homogeneous) แล้ว ยังมีความพรุนสูง ซึ่งมีผลสำคัญต่อการเกิดลวดลายคล้ายเกล็ดพญานาค

รอยเว้าผนังถ้ำ กำเนิดแห่งถ้ำนาคา (ภาพ : เฟซบุค Chaiporn Siripornpibul)
ส่วนตัวถ้ำนาคาหรือส่วนที่เป็นลำตัวพญานาคนั้น เกิดจากการยกตัวของแผ่นดิน (Tectonic uplift) ในภาคอีสาน ทำให้เกิด “รอยเว้าผนังถ้ำ (cave notch)” ที่มีลักษณะโค้งนูนออกมา และคั่นสลับด้วยผนังหินที่โค้งเว้าเข้าไป

จากนั้นเกิดการกัดเซาะที่เป็นวัฏจักร (Cyclic Erosion) ในยุคโลกเย็นหรือ “ยุคน้ำแข็ง” กับยุคโลกร้อนในอดีตที่เกิดสลับกันเป็นวงรอบประมาณทุก ๆ 1 แสนปี โดยมีน้ำเป็นตัวการหลักในการกัดเซาะหินลงไปตามกลุ่มรอยแตกของหินในแนวตั้งที่มีสองแนวตัดกันจนเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยม

หินลวดลายคล้ายเกล็ดพญานาคแห่งถ้ำนาคา  (ภาพ : เพจ Buengkan day)
ปรากฏการณ์เหล่านี้กินเวลายาวนานมาก จนทำให้เกิดเป็นถ้ำนาคาในปัจจุบัน ที่มีลักษณะเป็นช่องแคบตัดกันเหมือนถ้ำเขาวงกตขนาดเล็กที่ไม่มีหลังคาถ้ำ ทำให้ผนังแห่งนี้มีความโค้งและเว้าสลับกันดูคล้ายลำตัวพญานาคหรืองูยักษ์ ตามจินตนาการของชาวบ้านในแถบนั้น

*หัว-เกล็ดพญานาค

ขณะที่ในส่วนของหินที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาคล้าย “เกล็ดพญานาค” อ.ชัยพร ได้ให้ข้อมูลว่า เกิดจากการขยายตัวและหดตัวของผิวหน้าของหิน ซึ่งกระบวนการนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ซันแครก” ( Sun Cracks)

เกล็ดพญานาคจากปรากฏการณ์ซันแครก  (ภาพ : เพจ Buengkan day)
ซันแครก จะเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรเช่นกัน แต่เป็นวัฏจักรที่สลับปรับเปลี่ยนระหว่างความร้อนจากแสงแดดในช่วงกลางวันกับความเย็นในช่วงกลางคืน แต่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาที่ยาวนานมากคาดว่าจะใช้เวลานับแสนปีหรือนานกว่านั้น

นอกจากนี้ล่าสุดได้มีการตั้งชื่อก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีบางมุมมองแล้วดูคล้ายหัวงูขนาดใหญ่ อันเป็นที่มาของชื่อ “หินหัวพญานาค”นั้น เป็นส่วนของหินที่แตก (ขนาดใหญ่) และหล่นมาจากหน้าผา โดยบริเวณส่วนหัวมีลวดลายเป็นรอยแตกของผิวหน้าของหินแบบซันแครกที่ดูคล้ายผิวหนังของงูยักษ์ไม่น้อยเลย

หินหัวพญานาค  (ภาพ : เพจ Buengkan day)
อันซีน ถ้ำนาคา

หลังถ้ำนาคาโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ก็ได้มีนักท่องเที่ยวหลายคนเดินทางไปบันทึกภาพของสถานที่แห่งนี้ หลังการเปิดแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศเมื่อ 1 ก.ค. 63

มุมป่าโบราณ (ภาพ : เพจ Buengkan day)
โดยหนึ่งในนั้นก็คือเพจ “Buengkan day” ที่มี “ศรัทธา ลาภวัฒนเจริญ” เป็นแอดมินและช่างภาพ ซึ่งได้นำเสนอภาพมุมอันซีนถ้ำนาคาอันสวยงามแปลกตา แฝงลี้ลับน่าพิศวง จนได้รับการแชร์กันในโลกโซเชียลอย่างกว้างขวาง

สำหรับภาพอันซีนถ้ำนาคานั้นก็อย่างเช่น ภาพสายน้ำไหลผ่านหินหัวพญานาค ลำตัว-เกล็ดพญานาคที่มีรากไม้เกาะเกี่ยว ลวดลายเกล็ดพญานาค (ซันแครก) ที่มีตะไคร้ขึ้นเขียวครึ้ม หรือมุมต้นไม้โบราณที่หลายคนจินตนาการไปถึงป่าโบราณใน “เพชรพระอุมา” สุดยอดนิยายผจญภัยของเมืองไทย

อันซีนถ้ำนาคา (ภาพ : เพจ Buengkan day)
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของ “ถ้ำนาคา” อช.ภูลังกา จ.บึงกาฬ แหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่มาแรง ที่นอกจากตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาคแล้ว วันนี้ยังมีชุดข้อมูลใหม่เชื่อมโยงไปถึงโลกยุคน้ำแข็ง รวมถึงภาพมุมอันซีนอันสวยงามแปลกตา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งชวนเที่ยวและชวนทึ่งของถ้ำแห่งนี้

อันซีนถ้ำนาคา (ภาพ : เพจ Buengkan day)
############################

“ถ้ำนาคา” ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดให้ท่องเที่ยวแบบ New Normal โดยทาง อช.ภูลังกา จำกัดนักท่องเที่ยววันไว้ละ 500 คน

สำหรับในส่วนของถ้ำนาคา นั้นสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 120-150 คนต่อวัน ขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปจะใช้เวลาขึ้นลงมากน้อยแค่ไหน โดยจำกัดจำนวนการเข้าชมครั้งละไม่เกิน 50 คน

ผู้สนใจสามารถจองตรงกับทางอุทยานแห่งชาติภูลังกาได้โดยการแอดไลน์ : plk12345678 พร้อมส่งรายละเอียดวันเวลาที่จะไปเที่ยว จำนวนสมาชิก สถานที่ที่จะเข้าไปเที่ยว ส่วนการจองผ่านแอพ QueQ นั้นจะเป็นการจองโดยรวม ไม่แยกจุดท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่จะต้องโทร.ไปสอบถามจากนักท่องเที่ยวอีกครั้ง (ถ้าไม่ไปตามเวลาที่กำหนดจะถือว่าสละสิทธิ์)







กำลังโหลดความคิดเห็น