หลังปรากฏเป็นข่าวฮือฮาในโลกออนไลน์ เมื่อชาวเน็ตแห่แชร์ภาพ “ถ้ำนาคา” สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ใน จ.บึงกาฬ คู่กับ ภาพของ “หินหัวงู” ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าคือสถานที่เดียวกัน แต่แท้ที่จริงหินหัวงูนั้นตั้งอยู่ที่สปป.ลาว
สำหรับในเมืองไทยเรานั้นก็มีปรากฏการณ์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาในลักษณะของหินหัวงูเช่นกัน นั่นก็คือ “ผาพญางู” หรือ “หินพญางู” ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
ผาพญางู เป็นก้อนหินผาขนาดใหญ่รูปร่างประหลาดแปลกตา ดูคล้ายหัวงูขนาดยักษ์ยื่นโผล่ออกมาจากหน้าผา มีความสูงราวตึก 3-4 ชั้น มีรูปลักษณะคล้ายกับหัวงูขนาดยักษ์ โผล่พ้นออกมาจากหน้าผา
อย่างไรก็ดี แม้ก้อนหินผาพญางูจะดูคล้ายหัวอสรพิษยักษ์น่าเกรงขาม แต่ชาวบ้านในพื้นที่ละแวกนั้น มีความเชื่อกันว่านี่คือพญางูใจดีที่จะคอยคุ้มครองปกปักรักษาชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ให้แคล้วคลาดพ้นภัยจากภยันอันตรายทั้งปวง
ผาพญางูตั้งอยู่ริมทางบริเวณทางขึ้นจุดชมวิวเขารังเกียบ ซึ่งเป็นทางถนนดินคดเคี้ยวสูงชัน การเนทางขึ้นไปต้องใช้รถโฟร์วีล หรือรถจี๊ปสมรรถนะสูงของชาวบ้านในพื้นที่
ด้าน “หินหัวงู” ที่กำลังเป็นที่โด่งดังในโลกออนไลน์เคียงคู่กับ “ถ้ำนาคา” นั้น ทาง สวท.บึงกาฬ กรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า หินหัวงูนั้น ถูกพบที่ แขวง อุดมไซย สปป.ลาว ส่วนหินที่เป็นเกร็ดคล้ายงูนั้น เป็นหินที่พบที่ ถ้ำนาคา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เป็นภาพจากคนละสถานที่ และนำมารวมกัน ขอให้ประชาชนเช็กก่อนแชร์
สำหรับ “ถ้ำนาคา” ที่ชาวเน็ตแห่แชร์ภาพกันอย่างมากในโลกออนไลน์ เป็นถ้ำที่เพิ่งค้นพบใหม่ อยู่ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ และอยู่ใกล้กับวัดถ้ำชัยมงคล
ถ้ำนาคา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย ที่หลาย ๆ คนหมายปอง เนื่องจากมีลักษณะดูน่าตื่นตาตื่นใจกับภาพของถ้ำที่มีพื้นผิวคล้ายเกล็ดงูยักษ์ หรือ “พญานาค” อันเป็นที่มาของชื่อถ้ำนาคา
นอกจากนี้ถ้ำนาคายังมีตำนานเรื่องเล่าอันชวนทึ่ง ซึ่งกล่าวถึงตำนานเมืองลี้ลับปู่อือลือพญานาคผู้ถูกสาปไว้บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ โดยกล่าวว่า คนโบราณเล่าขานต่อกันว่า อาจจะเป็นงูยักษ์ตายแล้วกลายเป็นหิน เมื่อหลายร้อยล้านปีมาแล้ว งูยักษ์พอตายลงยังไม่เน่าเปื่อยก็โดยทับถมด้วยดินหินมานับล้านปีจนแร่ธาตุจับเกาะในตัวงูกลายเป็นหิน พอนานเข้าน้ำได้เซาะดินลงมาเผยซากงูหินให้คนเห็น และมีตำนานเล่าเรื่องของ “อือลือราชา” ราชาผู้ถูกสาปให้เป็นนาค ทำให้เมืองล่มสลายกลายเป็นบึงโขงหลง องค์อือลือจะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อบังเกิดเมืองขึ้นใหม่ (อดีตพื้นที่นี้ขึ้นกับหนองคาย ปัจจุบันเกิดเมืองใหม่นามว่า บึงกาฬ)
ขณะที่หากมองในแง่ของธรรมชาติ ถ้ำนาคา ที่เป็นหินรูปลักษณะคล้ายเกล็ดงูหรือเกล็ดพญานาคนั้น เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ซันแครก” (Sun Crack) เกิดจากการแตกผิวหน้าของหิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา จนแตกเป็นลายเหลี่ยม ต่อมามีการผุผังและกัดเซาะโดยน้ำและอากาศในแนวดิ่ง ทำให้เกิดลักษณะชั้น ๆ ดังกล่าว โดยซันแครกที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ ซันแครกที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก
อย่างไรก็ดีในส่วนของถ้ำนาคานั้น ในช่วงนี้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศได้ปิดการท่องเที่ยว ทางอุทยานแห่งชาติภูลังกาจึงไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวทุกจุดในเขตอุทยานแห่งชาติ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID -19 จะคลี่คลาย ซึ่งหลังจากทางอุทยาน ได้มีประกาศเปิดการท่องเที่ยวเมื่อใดแล้ว ทางอุทยานจะจัดระเบียบการเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ต่อไป ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว