xs
xsm
sm
md
lg

ที่เที่ยววิถีชีวิต "คน-สัตว์" ความผูกพันที่ต้องรู้จัก...จึงเข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประเพณีบวชนาคช้าง จ.สุรินทร์ หนึ่งในตัวอย่างความผูกพันของคนกับช้าง
จากกรณีฝรั่งแบนผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยเพราะมองว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวนั้นเป็นการทรมานสัตว์ จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างว่าฝรั่งไม่เข้าใจภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่ผูกพันกันมาระหว่างเกษตรกรสวนมะพร้าวกับลิง

ประเด็นดังกล่าวทำให้นึกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับสัตว์” ที่นอกเหนือไปจากคนกับลิง เช่น คนกับช้าง คนกับควาย ซึ่งเป็นความผูกพันที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น อาจมีความคล้ายหรือความต่างกันบางจุดในรายละเอียด แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ความผูกพันของคนไทยกับสัตว์นั้นไม่ใช่เพียงแค่การใช้แรงงาน แต่ยังมีเรื่องของการดูแล ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมือนสมาชิกในครอบครัว ซึ่งคนที่ไม่เคยได้สัมผัสอาจไม่เข้าใจ

วันนี้เราจึงขอพาไปชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในเมืองไทยที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันของคนและสัตว์ ที่เราได้รวบรวมมานำเสนอในวันนี้

ชาวบ้านพาช้างอาบน้ำที่บ้านตากลาง
คนกับช้าง

ช้างเป็นสัตว์ป่าที่มนุษย์นำมาเลี้ยงและฝึกเพื่อใช้งานมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการชักลากไม้ หรือการใช้เป็นพาหนะเดินทาง แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นทำให้การใช้แรงงานช้างน้อยลงไป แต่ความผูกพันและภูมิปัญญาในการดูแลช้างก็ยังอยู่คู่กับคนไทยบางกลุ่มสืบต่อมา

ดังเช่นที่จังหวัดสุรินทร์ มีกลุ่มผู้เลี้ยงช้างที่เรียกตัวเองว่า “ชาวกูย” หรือ “กวย” ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือที่ “หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง” หรือ “ศูนย์คชศึกษา” ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

หมู่บ้านแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมูบ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว โดยความเป็นอยู่ของคนกับช้างที่นี่จะอยู่กันอย่างใกล้ชิดเหมือนเป็นเพื่อนกัน นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกัน

ที่นี่มีกิจกรรมมากมายให้นักท่องเที่ยวได้สนุกและเรียนรู้มากมาย ซึ่งไฮไลต์ก็คือกิจกรรม “สนามแสดงช้างแสนรู้” ซึ่งจะเป็นการแสดงความสามารถอันเฉลียวฉลาดและน่ารักของช้างในศูนย์ฯ อาทิ ช้างเต้นรำ ช้างวาดรูป ช้างปาลูกโป่ง ช้างเตะฟุตบอล ฯลฯ และยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับช้าง อาทิ วิวัฒนาการของช้าง ช้างในยุคต่างๆ โครงกระดูกช้าง เครื่องมือในการคล้องช้าง วิถีความผูกพันระหว่างคนกับช้าง พิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับช้าง เป็นต้น

ความน่ารักของช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง
นอกจากนั้นใน จ.ลำปาง ก็ยังมี “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเกวียน ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ (ออป.) โดยในอดีต ออป. เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นสถานที่ฝึกช้างเพื่อให้เชื่อฟังคำสั่งและมีความชำนาญในการทำไม้ เช่นการลากซุง, ยกไม้ และเป็นที่เลี้ยงดูลูกช้างในการทำไม้ขณะที่แม่ช้างไปทำงานไม้ในป่า โดยภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ไร่ ถูกแบ่งออกเป็นหลายสัดส่วนให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชม อาทิ ลานแสดงช้าง คชานุสรณ์สถาน หรือ สุสานช้าง โรงผลิตกระดาษจากมูลช้าง โรงพยาบาลช้าง เนอสเซอรี่ช้าง โรงงานทำกระดาษจากมูลช้าง

ช้างที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด (ภาพ: เพจเพนียดคล้องช้าง ศูนย์พัฒนาพันธุ์ช้างอยุธยา)
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างคือ “วังช้างอยุธยา แลเพนียด” ในตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในสถานที่ดูแลและจัดแสดงช้างของมูลนิธิพระคชบาล

ควายยิ้มโชว์ที่หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย
คนกับควาย

ควายเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่คนนำมาเลี้ยงไว้สำหรับใช้งานมาตั้งแต่ยุคอดีต โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว ซึ่งปัจจุบันก็มีเครื่องจักรมาช่วยผ่อนแรงทำให้การใช้แรงงานควายลดน้อยลงเช่นกัน แต่ความผูกพันของคนกับควายก็ยังมีอยู่ มาชมกันได้ที่ “หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย" หรือบ้านควาย อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวและรูปแบบวิถีชีวิตของคนในชนบทที่กำลังจะเลือนหายไป

โชว์คนลอดท้องควาย
ที่บ้านควายเราจะได้พบกับการย้อนอดีตวิถีชีวิตชาวนาไทยผ่านการแสดงการสาธิตการปลูกข้าว หว่านข้าว ทั้งยังมีพิธีการทำขวัญข้าวของภาคกลาง สาธิตการเตรียมดินเพื่อทำนา ไถนา คราดนา ดำนา ถอนกล้า และยังมีไฮไลต์อยู่ที่การแสดงโชว์ความสามารถของควายแสนรู้ วีธีและเทคนิคการนำควายมาใช้งาน การบังคับควายให้เดินเลี้ยวซ้าย-ขวา ให้ควายทำตามคำสั่งต่างๆ การสาธิตวิธีการขึ้นควาย โชว์ลอดใต้ท้องควาย โชว์ควายเดินข้ามคนอและยังสามารถจิบกาแฟที่ร้าน "กินแฟ ดูฟาย" ภายในหมู่บ้านได้อีกด้วย

ฝึกควายไถนาในแปลงสาธิตที่กาสรกสิวิทย์
อีกหนึ่งแห่งในการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับควายคือที่ “กาสรกสิวิทย์” อ.เมือง จ.สระแก้ว โรงเรียนสำหรับฝึกควายให้สามารถไถนาและทำงานด้านการเกษตรกรรม และสอนผู้ที่ต้องการใช้ควายทำการเกษตร ให้สามารถทำงานร่วมกับควายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลควายให้มีสุขภาพแข็งแรง เพราะในสมัยนี้คนใช้เครื่องจักรในการทำงานแทนควายกันหมด ความรู้เกี่ยวกับการฝึกควายใช้งานก็ลดน้อยลงจนต้องมีโรงเรียนสอนควายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2552

ขณะที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้ารับการฝึก ก็ยังสามารถเข้าไปเรียนรู้ในส่วนต่างๆ ของโรงเรียนได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำนาที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งทำขึ้นตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เครื่องมือทุกชิ้นที่จัดแสดงอยู่มีการเคลื่อนไหว และนำไปใช้จริงในพื้นที่เกษตรภายในโรงเรียน จากนั้นก็จะนำมาทำความสะอาดและเก็บเข้าที่เดิม จึงนับได้ว่าเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่มีชีวิต

หมองูจ้องตากับงูจงอาง (ภาพ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดขอนแก่น)
คนกับงู

สัตว์มีพิษอย่าง “งูจงอาง” ก็ถูกเลี้ยงและดูแลอย่างดีที่ “หมู่บ้านงูจงอาง” บ้านโคกสง่า อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยหมู่บ้านแห่งนี้ได้เลี้ยงและแสดงโชว์งูมากว่า 60 ปี แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากพ่อใหญ่เคน ยงลา ซึ่งประกอบอาชีพเป็นหมอยา เดินทางไปขายยาสมุนไพรตามหมู่บ้านต่างๆ และได้มีความคิดที่จะจับงูจงอางมาแสดงเพื่อเป็นสิ่งดึงดูดให้คนสนใจ ซึ่งก็นับว่าได้ผลอย่างมาก ต่อมาพ่อใหญ่เคนได้ถ่ายทอดวิชาให้ลูกหลานในหมู่บ้านซึ่งก็ได้เดินทางเร่แสดงงูและขายยาสมุนไพรเป็นอาชีพเสริมนอกจากการทำเกษตรกรรม จนชื่อเสียงของหมู่บ้านงูจงอางบ้านโคกสง่าโด่งดังไปทั่ว

 เชิญมาชมการแสดงอันน่าตื่นเต้นได้ที่หมู่บ้านงูจงอางบ้านโคกสง่า (ภาพ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดขอนแก่น)
มาจนถึงวันนี้ บ้านโคกสง่าก็ยังได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านงูจงอาง โดย ทา บุตตา หรือลุงทา หมองูและที่ปรึกษาชมรมงูจงอางหมู่บ้านโคกสง่า เล่าว่าคนในหมู่บ้านโคกสง่าเลี้ยงงูกันแทบทุกครัวเรือน รวมแล้วกว่า 400 ตัว ด้วยกัน โดยถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในหมู่บ้าน จึงต้องดูแลให้อยู่ดีกินดี ต้องหาอาหารจำพวกกบ เขียด หรือสัตว์เล็กๆ ให้งูกิน ต้องอาบน้ำทำความสะอาดให้เป็นประจำ และต้องคอยตรวจสุขภาพและรักษาเมื่อเป็นโรค โดยเฉพาะโรคเห็บงูที่มักเป็นกันบ่อย และในช่วงหน้าหนาว งูจงอางก็เป็นหวัดได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่ออากาศหนาวจัดจึงต้องนำงูไปผิงไฟหรือผึ่งแดดเพื่อวอร์มร่างกายก่อนออกแสดง มิฉะนั้นงูจะซึม ไม่ยอมกินอาหาร น้ำมูกไหล เอาแต่นอนขดในกรง

แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงไม่น้อย แต่เด็กๆ ในหมู่บ้านโคกสง่าก็ยังสนใจจะดำเนินรอยตามเส้นทางหมองูของพ่อและปู่ โดยลุงทากล่าวว่า ยังมีการสืบทอดและฝึกฝนวิชาการเลี้ยงและโชว์งูให้แก่ลูกหลานในหมู่บ้าน ซึ่งสามารถฝึกให้ทำความคุ้นเคยกับงูได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล และค่อยๆ เพิ่มประสบการณ์ให้มากขึ้นเรื่อยๆ

แย้ตัวอวบอ้วนน่ารักที่บ้านอนุรักษ์แย้
คนกับแย้

ปิดท้ายความผูกพันของคนกับสัตว์ที่ “หมู่บ้านอนุรักษ์แย้” หมู่บ้านสุวรรณตะไล ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ที่เปิดหมู่บ้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนภายนอกได้มาเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของ “แย้” ชมความน่ารักของแย้ และสัมผัสกับความผูกพันระหว่างคนกับแย้ ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าประเภทหนึ่งที่มักถูกคนจับมาเป็นอาหารจนนับว่าใกล้สูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ในบางพื้นที่จึงมีการส่งเสริมการเลี้ยงแย้ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจและอนุรักษ์ไว้

ธรรมชาติแย้อาศัยอยู่ในรูบนพื้นดิน
“หมู่บ้านอนุรักษ์แย้” มีที่มาเมื่อ 33 ปีที่แล้ว เมื่อสิน แตงโสภา ได้นำแย้คู่หนึ่ง (ตัวผู้-ตัวเมีย) จากป่าด่านช้างมาเลี้ยงที่บ้าน จากนั้นพวกมันก็แพร่พันธุ์ออกลูกออกหลานเรื่อยมา โดยนพมาศ ปานสุวรรณ ลูกสาวของลุงสินเล่าว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ที่หมู่บ้านสุวรรณตะไล มีแย้อยู่มากถึง 500-600 ตัว โดยชาวบ้านที่นี่นอกจากจะอนุรักษ์แย้ไว้ ไม่กิน ไม่ฆ่า ไม่ทำร้ายแย้แล้ว หลายๆ บ้านยังเลี้ยงแย้ไว้เป็นดังสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว และเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย (ช่วงที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวคือเดือน ม.ค.-พ.ค. เพราะช่วงหน้าฝนแย้จะจำศีลอยู่ในรู)
..................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR


กำลังโหลดความคิดเห็น