xs
xsm
sm
md
lg

หลงรัก “มุมไบ” เสน่ห์เมืองใหญ่หลายมุมมอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Youtube :Travel MGR

Gateway of India
“มุมไบ” (Mumbai) เป็นอีกหนึ่งเมืองของอินเดียที่หลายๆ คนคุ้นหู บ้างก็รู้จักในชื่อ “บอมเบย์” ซึ่งก็เป็นชื่อเก่าของมุมไบนั่นเอง

มุมไบตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศอินเดีย เป็นเมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระ เดิมเมืองนี้มีชื่อว่า “บอมเบย์” ด้วยความที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอาหรับจึงทำให้เป็นเมืองท่าที่สำคัญมาอย่างยาวนาน จนในปัจจุบันก็ยังนับว่าเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของอินเดีย เป็นที่ตั้งของตลาดหุ้นอินเดีย และเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมบันเทิงที่คนทั่วโลกรู้จักรู้จักกันในชื่อ “บอลลีวูด”

ประตูสู่อินเดีย

Taj Mahal Palace Hotel (ด้านซ้าย)
มาถึงมุมไบ ต้องไม่พลาดที่จะมาเยือน “ประตูสู่อินเดีย” (Gateway of India) สัญลักษณ์ของเมืองมุมไบ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอาหรับ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จมาเยือนเมืองมุมไบของพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรี่ ในปี ค.ศ.1911

ประตูแห่งนี้มีความสูง 26 เมตร ก่อสร้างด้วยหินบะซอลต์ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย-ซาราเซนิก สร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1924 กลายเป็นทางเข้าประเทศอินเดียหากเดินทางมาทางทะเลอาหรับ มหาสมุทรอินเดีย ความสำคัญของที่นี่อีกอย่างคือ เมื่ออินเดียได้รับเอกราช ทหารของอังกฤษหน่วยสุดท้ายได้เดินทางออกจากอินเดียที่ประตูนี้เมื่อ ค.ศ.1948 ปัจจุบันใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับพิธีต้อนรับรัฐมนตรีใหม่ของนครมุมไบ รวมถึงต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย

ใกล้ๆ กันนั้นมีโรงแรมที่ชื่อ “Taj Mahal Palace Hotel” สร้างเมื่อ พ.ศ. 2466 โดยทายาทตระกูลทาทา เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างฮินดูกับมุสลิม ใน พ.ศ.2551 โรงแรมได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ก่อการร้าย

เรือโดยสารไปยังถ้ำเอเลแฟนต้า

นั่งรถไฟรางบนเกาะ
บริเวณประตูสู่อินเดีย ยังเป็นท่าเรือโดยสารสำหรับเดินทางไปยัง “Elephanta Caves” อีกหนึ่งแหล่งมรดกโลกของอินเดีย

“Elephanta Caves” ตั้งอยู่บนเกาะเอเลแฟนต้า ห่างจากฝั่งราวสิบกิโลเมตร ใช้เวลานั่งเรือเกือบๆ 1 ชั่วโมง พอขึ้นมาถึงเกาะ ก็สามารถเดินเข้าไปด้านใน หรือจะซื้อตั๋วนั่งรถไฟรางก็ได้ พอมาถึงตีนเขา ก็ต้องเดินขึ้นบันไดไปด้านบน ผ่านร้านค้าสองข้างทางขึ้นไป ใครอยากแวะซื้ออะไรแนะนำให้เล็งไว้ก่อน เดี๋ยวขากลับค่อยลงมาซื้อ

Elephanta Caves

เสาค้ำยันด้านในถ้ำ
ด้านบนเป็นถ้ำที่สร้างโดยการเจาะภูเขาหินเข้าไป มีทั้งหมด 7 ถ้ำ พุทธสถาน 2 ถ้ำ และเทวสถานในศาสนาฮินดู 5 ถ้ำ ด้านในมีการแกะสลักเป็นภาพเทพเจ้า ลักษณะศิลปะราวศตวรรษที่ 5-8 ส่วนถ้ำหลักที่เป็นไฮไลต์จะเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู

เดินเข้าไปด้านในถ้ำจะเย็นสบายกว่าอยู่ด้านนอก ไม่อับทึบ มีเสาค้ำยัน 24 ต้น จำหลักลวดลายหัวเสาอย่างสวยงาม มีคูหาประดิษฐานศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะโดยมีทวารบาลจำหลักทั้ง 4 ด้านของผนังรวม 8 องค์

ด้านในประดิษฐานศิวลึงค์

ภาพสลักมเหศวรมูรติ
ภาพสลักด้านในที่สำคัญที่สุดคือ “มเหศวรมูรติ” เป็นการรวมภาคทั้งสามของพระศิวะเข้าไว้ด้วยกันในร่างเดียว (คนละอย่างกับพระตรีมูรติ ที่เป็นการรวมของพระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ) ได้แก่ ภาคผู้สร้าง (จันทรเศขรมูรติ) ภาคผู้ปกป้องรักษา (อุมาภควดี) และภาคผู้ทำลาย (ไภรวะมูรติ)

นอกจากนี้ ยังมีภาพแกะสลักเทพในศาสนาฮินดูที่น่าสนใจปรากฏภายในถ้ำอีก เช่น ภาพพิธีสยุมพรพระศิวะและพระนางปารตี, ภาพพระศิวะปราบอันธกาสูร, ภาพพระศิวะในภาคที่ครึ่งหนึ่งเป็นบุรุษครึ่งหนึ่งเป็นสตรี เป็นต้น

ภาพสลักพระศิวะในภาคที่ครึ่งหนึ่งเป็นบุรุษครึ่งหนึ่งเป็นสตรี

ภาพสลักด้านในถ้ำ
อย่างที่เล่าว่ามุมไบนั้นเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาอย่างยาวนาน มีการค้าขายกับชนชาติต่างๆ อยู่เสมอ รวมไปถึงการที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เมืองนี้ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรม

ตึกสวยๆ ในเมืองมุมไบ
หากมาเดินอยู่ใจกลางเมืองมุมไบ ก็มักจะได้เห็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียและอาร์ตเดคโค ที่โดดเด่นมากก็คือ “Chhatrapati Shivaji Terminus” (สถานีฉัตรปตี ศิวาจี) หรือชื่อเดิมคือ “Victoria Terminus” เป็นสถานีรถไฟที่ก่อสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียโกธิคผสมผสานกับงานศิลปะแบบอินเดีย ที่สวยงามทรงคุณค่าจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก

ที่นี่เป็นสถานีรถไฟหลักของเมืองมุมไบ และเป็นสถานีรถไฟที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นที่สุดในประเทศอินเดีย โดยใช้เป็นสถานีปลายทางสำหรับรถไฟทางไกล และรถไฟขนส่งในเขตปริมณฑลของมุมไบอีกด้วย และด้วยความสวยงามของตัวสถานี จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมกันไม่ขาดสาย

สถานีฉัตรปตี ศิวาจี
ใกล้ๆ กันก็ยังมีตึกสวยๆ ให้ถ่ายรูปกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตึกบริษัทเทศบาลมุมไบ อาคารที่ทำการรัฐบาล มหาวิทยาลัยมุมไบ อาคารร้านค้าต่างๆ และโบสถ์ในศาสนาคริสต์

ตึกบริษัทเทศบาลมุมไบ
ในด้านหนึ่ง มุมไบเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ มีการลงทุนธุรกิจการค้าต่างๆ มากมาย มีตึกรามบ้านช่องสวยงาม แต่ในอีกมุมหนึ่ง ที่มุมไบก็เป็นเมืองที่มีชุมชนแออัดขนาดใหญ่มาก (ว่ากันว่าเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย) ชื่อว่า “Dharavi” ถึงขนาดมีการจัดทัวร์เพื่อชมสลัม และที่นี่เองก็เป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire ที่สะท้อนชีวิตคนในสลัมเมืองมุมไบได้อย่างชัดเจนจนหนังคว้ารางวัลออสการ์ใน พ.ศ. 2552

ส่วนหนึ่งของสลัมเมืองมุมไบ

ส่วนหนึ่งของสลัมเมืองมุมไบ
เมืองใหญ่เมืองนี้ มีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย ทำให้มุมไบขึ้นชื่อเรื่องการจราจรที่หนาแน่นมากๆ มีการสำรวจเมืองที่รถติด ก็พบว่ามุมไบนั้นติดอันดับต้นๆ มาโดยตลอด หากใครมาเที่ยวที่มุมไบก็ต้องเผื่อเวลา (และเผื่อใจ) มาเผชิญกับรถติด (แบบติดอันดับโลก) ของเมืองนี้ ข้อดีก็คือการได้นั่งมองภาพของเมืองมุมไบอย่างเต็มอิ่ม รวมถึงภาพวิถีชีวิตผู้คนบนท้องถนนที่ชวนให้เพลินใจอยู่ไม่น้อย

มหกรรมรถติดที่มุมไบ

วิถีชาวมุมไบยามรถติด
และในเมืองที่มีผู้คนแออัดแบบนี้ ย่อมต้องก่อให้เกิดอาชีพเพื่อตอบสนองความต้องการผู้คนที่หลากหลาย อย่างอาชีพ “คนส่งปิ่นโต” หรือ “Dabbawala” ที่ทำธุรกิจนี้กันมานานกว่าร้อยปีแล้ว โดยดับบาลาวา เป็นชื่อเรียกผู้ทำหน้าที่จัดส่งอาหารกลางวันจากบ้าน ไปยังสถานที่ทำงานของลูกค้า ทุกเช้าจะเริ่มต้นจากการรวบรวมปิ่นโตจากบ้านลูกค้าไปยังจุดรวมพล เพื่อขนส่งไปยังสถานีรถไฟ ก่อนกระจายไปเขตต่างๆ ใช้วิธีการจำเพียงรหัส 4 ตัว ด้วยการจำแนก “ตัวอักษร ตัวเลข และสี” ได้แก่ ต้นทางของปิ่นโต สถานีรถไฟต้นทาง สถานีรถไฟปลายทาง และ สถานที่จัดส่งปิ่นโต

Dabbawala

ขนส่งปิ่นโตจากบ้านมาที่ทำงาน

รหัสลับจำแนกปิ่นโต
การจัดส่งปิ่นโตนี้จะต้องส่งให้ทันภายในเที่ยงวัน จากนั้นก็จะรับปิ่นโตที่ว่างเปล่า (ของวันก่อน) รวบรวมกลับไปส่งยังต้นทางในตอนบ่ายของวันเดียวกัน ความน่าทึ่งของระบบการส่งปิ่นโตนี้ คือแทบจะไม่มีความผิดพลาดในการขนส่งเลย มีการสำรวจว่าการขนส่งปิ่นโตนี้มีความแม่นยำถึงร้อยละ 99.99 เรียกว่าได้กินอาหารอร่อยฝีมือคนที่บ้าน และทันกินช่วงพักเที่ยงอย่างแน่นอน

Dhobi Ghat

ลานซักผ้ากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
อีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจในมุมไบก็คืออาชีพซักผ้า ที่ว่าน่าสนใจนั่นก็คือมีพื้นที่หนึ่งที่เป็นลานซักผ้าแบบเปิดโล่งที่ใหญ่ที่สุดในมุมไบ และใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจ นั่นก็คือ “Dhobi Ghat”

คำว่า “Dhobi” หมายถึง ผู้ซัก อาชีพซักผ้านี้มีการรวมกลุ่มก่อตั้งมามากกว่า 140 ปีแล้ว แต่เดิมรับซักผ้าปูที่นอนจากโรงพยาบาล โรงแรมและบ้านเรือนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวอังกฤษ และชาวปาร์ซี (ชาวปาร์ซี (Parsis) สืบเชื้อสายมากจากชุมชนโซโลแอสเทรียนเปอร์เซียน ซึ่งอพยพมาจากตะวันออกกลางหรืออิหร่านในปัจจุบัน แต่เดิมชาวปาร์ซีตั้งถิ่นฐานอยู่ที่รัฐคุชราต ชาวปาร์ซีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของอินเดีย อาทิ ตระกูลทาทา ตระกูลวาเดีย ตระกูลโกเดร็จรวมทั้งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางด้านสังคม ศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนการช่วยเหลือสังคมผ่านมูลนิธิต่าง ๆ)

ซักผ้าด้วยวิธีเฉพาะ

Dhobi Ghat
พื้นที่ Dhobi Ghat ของมุมไบ (Mahalaxmi Dhobi Ghat) จะมีลานล้างน้ำที่สร้างด้วยคอนกรีตแบบเปิดโล่งจำนวนกว่า 700 บ่อ มีคนซักผ้าประมาณ 10,000 คนต่อวัน รับผ้ามาจากโรงแรม โรงพยาบาล ธุรกิจอื่นๆ รวมถึงคนทั่วไป นำมาซักด้วยมือ วิธีการซักคือการทุบเสื้อผ้าซ้ำ ๆ บนก้อนหินเพื่อสิ่งสกปรกออกจากเสื้อผ้า ล้างให้สะอาด ตากแดดจนแห้ง และส่งกลับไปยังเจ้าของ

หลายๆ ครอบครัวยึดอาชีพซักผ้าเป็นอาชีพหลัก และส่งต่อไปรุ่นสู่รุ่น หากมาเดินดูก็จะเห็นว่ามีคนซักผ้าหลากหลายช่วงวัย มีวิธีการตากผ้าและเก็บผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ ที่สำคัญคือมายืนดูการซักผ้าแบบทุบเสื้อ เอาเสื้อฟาดลงน้ำ แค่นี้ก็เพลินแล้ว

ตากผ้าด้วยเทคนิคพิเศษ

Dhobi Ghat
พาไปเที่ยวอีกที่ใกล้ๆ เมืองมุมไบ มากันที่อุทยานแห่งชาติสัญชัยคานธีร์ เป็นที่ตั้งของ “Kanheri Caves” (ถ้ำกัณเหรี) อยู่ห่างจากตัวเมืองมุมไบราว 30 กิโลเมตร

“Kanheri Caves” เป็นถ้ำที่เกิดจากการขุดเจาะหินเข้าไป และแกะสลักให้เป็นพุทธสถาน มีอายุระหว่าง พ.ศ.443 - พ.ศ.1543 ถ้ำต่างๆ ตั้งอยู่ตามไหล่เขา โดยมีทั้งหมด 109 ถ้ำ ถ้ำที่ใหญ่ที่สุดด้านในมีสถูปองค์ใหญ่ มีพื้นที่ให้เข้าไปนั่งวิปัสสนาและเทศนาธรรม มีภาพแกะสลักพระพุทธรูปอย่างงดงาม

Kanheri Caves

ภายในถ้ำหลักที่แกะสลักเป็นพุทธสถาน

ภาพแกะสลักภายในถ้ำ
ส่วนถ้ำอื่นๆ หากอยากเดินไปชมก็จะอยู่ตามไหล่เขา สามารถเดินขึ้นไปจนถึงด้านบนได้ แต่ละถ้ำขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน สันนิษฐานว่าใช้เป็นกุฏิของพระสงฆ์ และหากมองออกไปรอบๆ ก็จะเห็นความเขียวชอุ่มของป่าไม้ที่อยู่รอบๆ ได้สูดอากาศสดชื่นจากป่ากลางเมืองที่ถือว่าเป็นปอดของเมืองมุมไบ

ที่ “มุมไบ”เมืองเดียว ก็มีหลายมุมให้เข้าไปสัมผัส ใครอยากจะมาเยือนด้วยตัวเองต้องบอกว่าเดินทางสะดวกมากๆ เพราะสามารถบินตรงจากกรุงเทพฯ มายังสนามบินนานาชาติฉัตรปาตี ศิวะจี มหาราช ได้เลย อย่างสายการบินไทยสมายล์ ก็มีเที่ยวบินตรงมามุมไบทุกวัน

ทางเดินขึ้นไปยังถ้ำบนไหล่เขา

ถ้ำเล็กๆ ด้านบนเขา
* * * * * * * * * * * * * *

สายการบิน “ไทยสมายล์” มีบริการเที่ยวบินตรงทุกวัน “กรุงเทพฯ-มุมไบ” เที่ยวบิน WE335 เวลา 22.20-01.35 น. “มุมไบ-กรุงเทพฯ” เที่ยวบิน WE336 เวลา 02.40-08.25 น. ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่โทร. 1181 หรือที่โทร. 0-2118-8888 หรือเว็บไซต์ https://www.thaismileair.com/th
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น