xs
xsm
sm
md
lg

หลากสีสัน “อัห์มดาบาด” (อาห์เมดาบัด) เยี่ยมบ้านคานธี เมืองมรดกโลกแห่งอินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager

Hutheesing Jain Temple ศาสนสถานของศาสนาเชน
ถ้าหากจะชวนใครสักคนมาเที่ยวที่ประเทศอินเดีย ภาพของทัชมาฮาล หรือทัวร์สังเวชนียสถาน น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนคิดถึงเป็นอันดับแรกๆ แต่ถ้าเจาะจงลงไปว่าจะชวนมาเที่ยวที่ “รัฐคุชราต” ต้องมีหลายคนที่ส่ายหน้า บอกว่าไม่รู้จักเป็นแน่

มาทำความรู้จักกันคร่าวๆ กับรัฐนี้กันก่อน “คุชราต” (Gujarat) เป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ คำว่า “คุชราต” กร่อนมาจากคำว่า คุชชรรัฐ แปลว่าดินแดนของชาวคุชร ว่ากันว่าชาวคุชรนั้นสืบเชื้อสายจากสุริยเทพ จึงบูชาพระอาทิตย์และใช้เป็นสัญลักษณ์ของเผ่า

เมืองอัห์มดาบาดในปัจจุบัน
ทำเลที่ตั้งของรัฐคุชราตนั้นอยู่ติดทะเล ทำให้เป็นเมืองท่าที่มีการค้าขายกันมาตั้งแต่โบราณ ในอดีตนั้นมีการสลับอำนาจการปกครองระหว่างอาณาจักรพุทธและฮินดูมาเป็นระยะ จนกระทั่งเมื่อประมาณพันปีก่อน อิทธิพลของอิสลามก็แผ่มาถึง ก่อนจะมีชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวยุโรปชาติแรกเข้ามาตั้งรกราก และในเวลาใกล้เกคียงกันก็มีชาวอังกฤษเข้ามาตั้งโรงงานของบริษัทบริติช อีสต์ อินเดีย ที่เมืองสุราต ก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานไปที่เมืองบอมเบย์ จากนั้นอินเดียก็ถูกปกครองโดยอังกฤษ และได้รับเอกราชคืนเมื่อ ค.ศ.1947

การเดินทางมาเที่ยวที่รัฐคุชราต สมัยก่อนอาจจะลำบากนิดหน่อย เพราะไม่มีเที่ยวบินตรงจากเมืองไทย ต้องไปต่อเครื่องที่เมืองมุมไบ แต่ตอนนี้มีสายการบินไทยสมายล์ ที่บินตรงจากกรุงเทพฯ มาลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติอัห์มดาบาด ทำให้สามารถมาเที่ยวได้สะดวกยิ่งขึ้น

ฝั่งเมืองเก่าอัห์มดาบาด
เมืองหลวงของรัฐคุชราตคือ “คานธีนคร” (Gandhinagar) ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่มหาตมะ คานธี ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ในรัฐคุชราตแห่งนี้ ส่วนเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐคือ “อัห์มดาบาด” (หรือ อาห์เมดาบัด / Ahmedabad) และเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของรัฐคุชราต ก่อนจะย้ายไปที่คานธีนคร

สำหรับ “อัห์มดาบาด” นั้นเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญของอินเดีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ และที่สำคัญเมืองอัห์มดาบาดยังได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.2017 ในชื่อ “นครประวัติศาสตร์อัห์มดาบาด” ด้วยความโดดเด่นในด้านการผสมผสานของวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมอันมีเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังต้องถือว่าเป็นเมืองแรกในประเทศอินเดียที่เป็นเมืองมรดกโลกอีกด้วย

Sidi Saiyyed Mosque
เมืองอัห์มดาบาดแบ่งออกเป็นสองฝั่งคือ ฝั่งเมืองเก่าและฝั่งเมืองใหม่ โดยคั่นกลางด้วยแม่น้ำซาบามาติ (Sabarmati River) ในฝั่งเมืองเก่านั้นก็มีจุดน่าสนใจหลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็น “Sidi Saiyyed Mosque” ที่แม้จะเป็นมัสยิดขนาดเล็ก แต่ก็มีชื่อเสียงที่สุดในอัห์มดาบาด ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1572-1573 โดย Sidi Saiyyed ในช่วงสุลต่านคนสุดท้ายของคุชราต ก่อนที่จักรวรรดิโมกุลจะเข้ามาปกครอง

ด้านบนของเสาทำเป็นรูปโค้งเพื่อรับน้ำหนักหลังคา

หินแกะสลักลายต้นไม้แห่งชีวิต
มัสยิดแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมถนนติดกับทางแยก แม้ข้างนอกจะวุ่นวาย แต่หากเดินเข้ามาด้านในจะพบกับความสงบเป็นอย่างยิ่ง มองเข้าไปด้านในจะเห็นเสาเรียงรายอยู่ บริเวณด้านบนเป็นส่วนโค้งที่ทำเพื่อรับน้ำหนักหลังคา

ไฮไลต์ของที่นี่คือบานหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมที่อยู่ด้านบน เป็นหน้าต่างที่ทำจากหิน แต่ฉลุลวดลายละเอียดงดงามเหมือนลูกไม้ โดยลวดลายบนหน้าต่างเป็นภาพต้นไม้แห่งชีวิต ซึ่งภาพนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอัห์มดาบาดด้วย

Hutheesing Jain Temple

ประตูทางเข้าด้านในวัด
ในย่านเมืองเก่ายังมีศาสนสถานของศาสนาเชน (หนึ่งในศาสนาเก่าแก่ของอินเดีย ปัจจุบันมีศาสนิกชนราว 4-5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินเดีย) นามว่า “Hutheesing Jain Temple” สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1848 โดยพ่อค้าผู้ร่ำรวย เพื่ออุทิศให้แก่ตีรถังกร (ศาสดาผู้สั่งสอนธรรมะในศาสนาเชน) องค์ที่ 15 พระนามว่า พระธรรมนาถ

ลวดลายแกะสลักหินอันงดงาม

ความวิจิตรบรรจงของลวดลายแกะสลัก
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยหินอ่อนสีขาว มีการแกะสลักเทวรูปและลวดลายต่างๆ อย่างละเอียดละออ งดงามจนสามารถเดินชมได้เป็นเวลานาน ซึ่งความงามเหล่านี้เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นชื่อดังที่มีทักษะในการแกะสลักหิน เราสามารถเก็บภาพความงามภายนอกได้ แต่หากก้าวเดินเข้าไปด้านในแล้วจะไม่สามารถภ่ายภาพได้ โดยด้านในนั้นก็งดงามเป็นอย่างยิ่ง มีวิหารตั้งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยศาลเจ้าขนาดเล็ก 52 ศาล ที่ประดิษฐานตีรถังกรองค์ต่างๆ

พื้นที่ของ Sabarmati Ashram หรือ คานธีอาศรม

ริมฝั่งแม่น้ำซาบามาติ บริเวณด้านหน้าคานธีอาศรม
อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าในรัฐคุชราตเป็นบ้านเกิดของมหาตมะ คานธี โดยบ้านเกิดจริงๆ นั้นอยู่ที่เมืองปอร์บันดาร์ (Porbandar) เมืองชายทะเลในรัฐคุชราต ส่วนที่เมืองอัห์มดาบาดนั้นก็มีบ้านที่มหาตมะ คานธี อยู่อาศัยในช่วงหนึ่ง ชื่อว่า “Sabarmati Ashram” (คานธีอาศรม) ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำซาบามาติ

มหาตมะ คานธี หรือ โมฮันดาส คาดามจันด์ คานธี เกิดในปี ค.ศ.1869 จบการศึกษาวิชากฎหมายที่อังกฤษ ก่อนจะไปทำงานเป็นทนายความที่แอฟริกาใต้ และได้พบกับปัญหาการเหยียดสีผิว คานธีช่วยต่อสู้กับปัญหานี้ด้วยการประท้วงโดยไม่ใช้กำลัง

Hridaya Kunj

บริเวณภายใน Hridaya Kunj
หลังจากกลับมาทำงานที่อินเดีย ก็ยังก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนชาวอินเดียในช่วงที่ยังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และเมื่อปี ค.ศ.1930 ได้เริ่มการเดินประท้วงระยะไกลแบบอหิงสาที่โด่งดังไปทั่วโลก จากเมืองอัห์มดาบาดไปยังชายทะเลที่เมืองแดนดี (Dandi) เป็นระยะทางเกือบ 400 กิโลเมตร เพื่อต่อต้านกฎหมายภาษีเกลือ หลังจากนั้นก็ยังร่วมต่อต้านการปกครองของอังกฤษในอินเดีย ซึ่งนำไปสู่การปลดปล่อยอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในเวลาต่อมา การเคลื่อนไหวของเขายังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียกร้องสิทธิพลเรือนและเสรีภาพทั่วโลกด้วย

สำหรับที่ “Sabarmati Ashram” เป็นที่อยู่อาศัยของมหาตมะ คานธี และครอบครัว หลังย้ายกลับมาจากแอฟริกาใต้ คานธีก็ได้สร้างที่อยู่อาศัยขึ้นในปี ค.ศ.1915 จนกระทั่งอีก 2 ปีต่อมา ก็ได้ย้ายอาศรมมายังริมฝั่งแม่น้ำซาบามาติเนื่องจากต้องการพื้นที่ในการทำกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้น โดยในระหว่างที่อาศัยอยู่ที่นี่ ก็มีการตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ ทำการเกษตร สอนการทอผ้า และยังเป็นพื้นที่รวมตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพของชาวอินเดีย

ห้องพักของมหาตมะ คานธี
จนกระทั่งวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1930 มหาตมะ คานธี ได้ออกจากอาศรมแห่งนี้เพื่อไปเดินประท้วงกฎหมายภาษีเกลือ และปฏิญาณตนไว้ว่าจะไม่กลับอาศรมจนกว่าอินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ คานธีต่อสู้เพื่อให้ได้รับเอกราช ถูกจับขังคุกหลายครั้ง จนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราชคืนเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.1947 หลังจากนั้น 5 เดือน มหาตมะ คานธีถูกสอบสังหารจนเสียชีวิต และไม่ได้กลับมาที่อาศรมอีกเลยนับตั้งแต่การออกเดินประท้วงครั้งนั้น

ปัจจุบัน “Sabarmati Ashram” เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้ ภายในมีนิทรรศการเกี่ยวกับมหาตมะ คานธี ตั้งแต่เกิด การเรียน ครอบครัว การต่อสู้เพื่อชาวอินเดีย และแนวคิดต่างๆ มีการจำลองข้าวของเครื่องใช้บางอย่างเอาไว้ โดยเฉพาะใน “Hridaya Kunj” ซึ่งเป็นอาศรมที่อาศัยของคานธีและครอบครัว ภายในแสดงให้เห็นถึงความเรียบง่าย มีเพียงของใช้ไม่กี่ชิ้น และหากใครที่สนใจแนวคิดของมหาตมะ คานธี ก็มีร้านหนังสือที่ขายหนังสือเกี่ยวกับคานธีหลากหลายเล่มให้เลือกอยู่ภายในบริเวณอาศรมแห่งนี้ด้วย

ร้านหนังสือภายในอาศรม
นอกจากที่เที่ยว 3 จุดนี้ ในเมืองอัห์มดาบาดยังมีจุดน่าสนใจอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในย่านเมืองเก่า ที่ยังคงหลงเหลือสถาปัตยกรรมอันมีเอกลักษณ์ให้ได้ชมกัน แน่นอนว่าต้องงดงามสมกับการเป็นเมืองมรดกโลกแน่นอน

ส่วนใครที่ตัดสินใจมาเที่ยวเมืองนี้ หรือเมืองอื่นๆ ในรัฐคุชราต มีความรู้เบื้องต้นเล็กน้อยสำหรับอาหารการกินที่นี่ ก็คือ ประชาชนในรัฐคุชราตเกินร้อยละ 80 จะไม่กินอาหารที่มีเนื้อสัตว์ โดยส่วนใหญ่จะกินอาหารมังสวิรัติ (นอกจากผู้ที่นับถือศาสนาเชน จะมีข้อจำกัดเพิ่มเติม อาทิ ไม่กินพืชที่มีหัวเติบโตใต้ดิน) ฉะนั้นอาจจะหาร้านอาหารที่มีเมนูเนื้อสัตว์ยากสักหน่อย และเป็นรัฐที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด

อาหารริมทางในเมืองอัห์มดาบาด
* * * * * * * * * * * * * *

สายการบิน “ไทยสมายล์” มีบริการเที่ยวบินตรง “กรุงเทพฯ-อาห์เมดาบัด”  ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่โทร. 1181 หรือที่โทร. 0-2118-8888 หรือเว็บไซต์ https://www.thaismileair.com/th

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager




กำลังโหลดความคิดเห็น