xs
xsm
sm
md
lg

"ลัคเนา"ที่เรารัก อลังการสถาปัตย์กลิ่นอายมุสลิมโมกุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager
มัสยิดอัสฟีภายในบารา อิมามบารา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของลัคเนา

ในยุคนี้การเดินทางข้ามประเทศไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ “ใจ” ว่าพร้อมหรือไม่ที่จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเดินทาง (เอาเป็นว่าไม่นับเรื่องเงินก็แล้วกัน)


ยิ่งเมื่อประเทศที่จะชวนมาวันนี้คือ "อินเดีย" หลายคนอาจส่ายหน้า แต่หากได้ลองมาอาจจะพบว่าตกหลุมรักสีสันจัดจ้านและความมีชีวิตชีวาของอินเดียไปแบบไม่รู้ตัว เหมือนอย่างที่ “ตะลอนเที่ยว” เป็นอยู่ตอนนี้
ภายในบารา อิมามบารา จะพบอาคารสไตล์ผสมผสานฮินดู-มุสลิม
วันนี้ขอชวนมาเที่ยวอินเดียกันที่เมือง “ลัคเนา” (Lucknow) เมืองเอกของรัฐอุตตรประเทศ หรือรัฐยูพี (Uttar Pradesh : UP) รัฐที่ใหญ่ที่สุดและอยู่ทางตอนเหนือประเทศอินเดีย ติดกับประเทศเนปาล ลัคเนาถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเป็นประตูสำคัญสู่สังเวชนียสถานหลายแห่ง โดยหากนั่งเครื่องบินมาลงที่ลัคเนาแล้วก็สามารถนั่งรถต่อไปยังเมืองต่างๆ ได้ใกล้บ้างไกลบ้าง อาทิ สาวัตถี พาราณสี สารนาถ กุสินารา เป็นต้น แต่ละเมืองก็ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงไปขึ้นไปในการเดินทาง

วันนี้ที่ “ตะลอนเที่ยว” นั่งเครื่องบินมากับสายการบินไทยสมายล์ซึ่งบินตรงสู่เมืองลัคเนา ก็ได้เห็นสาธุชนคนไทยนุ่งขาวห่มขาวจำนวนไม่น้อยที่เดินทางมาบนเครื่องลำเดียวกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเดินทางต่อไปยังสังเวชนียสถานต่างๆ
ซุ้มประตูทางเข้าเมื่อมองจากมัสยิดอัสฟี
แต่หากใครตั้งใจที่จะมาเที่ยวลัคเนาโดยเฉพาะก็ขอบอกว่าไม่ผิดหวัง เช่นเดียวกับที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาเห็นกับตาว่าแหล่งท่องเที่ยวของเมืองนี้มีความยิ่งใหญ่และสวยคลาสสิกยิ่งนัก โดยเมืองลัคเนามีความโดดเด่นในเรื่องของงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมผสมผสาน ทั้งแบบฮินดู - มุสลิม (เปอร์เซีย) - ยุโรป และแบบมุสลิมโมกุลที่เป็นชื่อเรียกขานเฉพาะของงานสถาปัตยกรรมคลาสสิกโดยรวมของเมืองนี้ ขอบอกว่าคนชอบถ่ายรูปต้องถูกใจ และคนที่ชอบถูกถ่ายก็ยิ่งถูกใจ เพราะมีมุมสวยๆ มีซุ้มประตูโค้งให้ยืนโพสต์ท่าเต็มไปหมด

แหล่งท่องเที่ยวที่ถือเป็นพระเอกของลัคเนาก็คือ “บารา อิมามบารา” (Bara Imambara) หรือ “อัครมัสยิด” ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางย่านเมืองเก่า สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1785 โดย Asaf-ud-Daula ซึ่งเป็น Nawab หรือเจ้าเมืองในขณะนั้น โดยนอกจากจะเป็นศาสนาสถานอันยิ่งใหญ่แล้ว การก่อสร้างยังมีเป้าหมายเพื่อเป็นการสร้างงานให้ประชาชนที่กำลังอดอยากอีกด้วย
มุ่งหน้าสู่อาคารหลักของบารา อิมามบารา
เรามายืนอยู่เบื้องหน้าประตูทางเข้าชั้นแรกสู่บารา อิมามบารา แล้วเดินอ้อมสนามหญ้ามาสู่ประตูชั้นที่สองที่งดงามไปด้วยซุ้มประตูโค้งและลวดลายปูนปั้น ลอดผ่านประตูมาแล้วจึงเห็นกลุ่มอาคารภายใน โดยอาคารหลักเบื้องหน้านั้นเป็นอาคารห้องโถงขนาดใหญ่ที่เราจะได้เข้าไปชมกัน ส่วนทางขวามือเป็นที่ตั้งของ “มัสยิดอัสฟี” (Asfi Mosque) มัสยิดขนาดใหญ่และงดงามที่โดดเด่นด้วยโดม 3 ยอด ขนาบข้างด้วยหอระฆังแฝดสูงเด่น อีกทั้งด้านในนี้ยังมีบ่อน้ำขั้นบันไดด้วย

ส่วนอาคารใหญ่เบื้องหน้านั้นถือเป็นอาคารหลักในบารา อิมามบารา ภายในเป็นห้องโถงขนาดใหญ่เพดานสูงที่ไร้เสามาบดบังความงาม ซึ่งถือเป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมของยุคนั้น และไม่ใช้ไม้เลยในโครงสร้าง ภายในห้องโถงนี้โดดเด่นไปด้วยงานศิลปกรรมผสมผสานระหว่างฮินดูกับมุสลิม เน้นสีโทนเขียวอ่อน บริเวณกลางห้องมีหลุมฝังศพของ Asaf-ud-Daula และสถาปนิกผู้สร้างอาคารนี้ ทั้งยังมีข้าวของสำคัญต่างๆ จัดแสดงไว้ โดยปัจจุบันที่นี่ใช้เป็นสถานที่จัดพิธีมูฮัรรอมของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์
ภายในห้องโถงเพดานสูงไร้เสา
บนทางเดินยาวมีช่องประตูมากมายที่ชวนให้หลงทาง

เรายังสามารถขึ้นบันไดไปชมวิวด้านบนสุดของอาคารได้ โดยขอบอกว่าหากมีไกด์ก็ให้เดินตามไกด์ หรือหากไม่มีก็ต้องเดินเกาะกลุ่มกับคนอื่นๆ ไป เพราะทางเดินเป็นซุ้มประตูโค้งที่ชั้นบนนี้มีลักษณะเป็นเขาวงกต ว่ากันว่ามีทางเข้ามากถึง 1,024 ทาง แต่มีทางออกที่ถูกต้องแค่ทางเดียว


เดินตามหลังไกด์ไม่นานก็ขึ้นมาสู่ดาดฟ้าชั้นบนที่เป็นจุดชมวิวเมืองเก่าลัคเนาได้กว้างไกล มองเห็นซุ้มประตูที่เราเดินเข้ามา มองเห็นมัสยิดอัสฟีที่สวยงามจากด้านบน และยังเห็นโบราณสถานใกล้เคียงได้อีกหลายแห่ง และบนดาดฟ้านี้ยังมีซุ้มระเบียงโค้งที่เป็นมุมถ่ายรูปสวยๆ ให้เลือกโพสต์ท่ากันหลายมุมเลยทีเดียว
ทัศนียภาพเมื่อมองจากชั้นดาดฟ้า
ซุ้มระเบียงโค้งบนดาดฟ้า
ด้านหนึ่งของประตูเตอร์กิช
เมื่อออกมาจากบารา อิมามบาราแล้วเลี้ยวมาทางซ้าย ก็จะพบกับอีกหนึ่งงานก่อสร้างที่โดดเด่นงดงามของเมืองลัคเนาอย่างประตูเมือง หรือ “รูมิ ดะร์วาซา” (Rumi Darwaza) หรือบ้างก็เรียก “ประตูเตอร์กิช” (Turkish Gate) ที่ก่อสร้างขึ้นในยุคไล่เลี่ยกันกับบารา อิมามบารา

ความโดดเด่นของประตูแห่งนี้คือความงามของศิลปะผสมผสาน ประตูแบ่งออกเป็น 3 ช่องทางเข้า มุมมองแต่ละด้านของประตูมีความแตกต่างกัน หากมองจากฝั่งหนึ่งจะเห็นซุ้มประตูเป็นสี่เหลี่ยมพร้อมทั้งมีซุ้มโค้งระเบียงเรียงราย แต่เมื่อเดินลอดประตูมามองอีกฝั่งหนึ่งก็จะได้เห็นประตูเป็นซุ้มโค้งปลายยอดชี้ขึ้นสู่ท้องฟ้า พร้อมด้วยลวดลายปูนปั้นตระการตา น่าชื่นชมคนออกแบบยิ่งนัก
อีกด้านของประตูเตอร์กิชที่มีความงามแตกต่างกัน
ด้านหน้าโชตา อิมามบารา
อีกหนึ่งสถานที่ที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาเยือนในลัคเนาก็คือ “โชตา อิมามบารา” (Chota Imambara) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากประตูเตอร์กิซ ที่นี่สร้างขึ้นโดย Mohamad Ali Saha ซึ่งเป็น Nawab อีกองค์หนึ่งของลัคเนา ที่นี่ก็เป็นศาสนสถานของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์เช่นกัน ตัวอาคารมีขนาดเล็กแต่งดงามด้วยซุ้มหน้าต่างและประตูโค้ง บนผนังมีลวดลาย Caligraphy หรืออักษรประดิษฐ์แบบอิสลามอันปราณีต

ส่วนด้านในนั้นเข้าไปแล้วจะเห็นว่าเต็มไปด้วยแชนเดอเลียร์หรือโคมระย้าประดับไว้จนเต็ม นั่นเพราะเป็นของสะสมของท่าน Mohamad Ali Saha ซึ่งมีสหายเป็นชาวต่างประเทศมากมาย แชนเดอเลียร์เหล่านี้จึงมีที่มาจากหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ
ประตูทางเข้าด้านหน้า มีลวดลาย Caligraphy สวยงาม
โคมระย้ามากมายที่จัดแสดงไว้
ในเมืองเก่านี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมายเลยไม่ว่าจะเป็น “Hussainabad Picture Gallery” ห้องรูปภาพของ Nawab แห่งเมืองลัคเนา ที่สร้างขึ้นโดย Muhammad Ali Shah ใน ค.ศ.1838 “บ้านคอนสแตนเตีย”(Constantia House)” บ้านพักของนายพลมาร์ตินแห่งบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษ เป็นต้น

ส่วนแลนด์มาร์กที่สร้างขึ้นใหม่อย่าง “อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์” (Ambedkar Memorial Park) ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าชม โดย “ดร.อัมเบดการ์” หรือชื่อเต็ม ดร.บาบาสาเฮบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) ถือเป็น 1 ใน 5 วีรบุรุษคนสำคัญของอินเดียยุคใหม่ โดยหลายๆ คนยกให้ท่านเป็นคนสำคัญของอินเดียรองจากท่านมหาตมะ คานธี และ “เนห์รู” (ยาวาหะราล เนห์รู) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย
หอเกียรติยศ ดร.อัมเบดการ์ ภายในอนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์
ดร. อัมเบดการ์ เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1891 แม้จะเกิดในวรรณะจัณฑาลแต่ก็ด้วยความเป็นนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งยังมีความเฉลียวฉลาดจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของอินเดีย เป็นประธานรัฐสภาคนแรกของอินเดีย และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดีย ซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ในอินเดียทุกวันนี้ก็มาจากการออกกฎหมายของ ดร.อัมเบดการ์ ที่สำคัญคือท่านต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคมมาตลอดชีวิตอีกด้วย

ดังนั้นจึงมีการสร้างอนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์ ไว้ที่เมืองลัคเนา ใกล้กับแม่น้ำคมติ (Gomti) เพื่อรำลึกถึงความยิ่งใหญ่และคุณงามความดีของท่าน โดยเริ่มก่อสร้างใน ค.ศ.1995 และเมื่อสร้างเสร็จก็ถือว่าเป็นอนุสรณ์สถานและสวนสาธารณะที่กว้างใหญ่มากกกก ภายในอาณาบริเวณมีหลายสิ่งให้ชวนชม อาทิ หอเกียรติยศ ดร.อัมเบดการ์ ที่เป็นอาคารโดมขนาดใหญ่ ภายในมีภาพประติมากรรมนูนต่ำเป็นเรื่องราวสำคัญๆ ในชีวิตของท่าน รวมถึงมีเป็นประติมากรรมสำริด ดร.อัมเบดการ์ ขนาดใหญ่นั่งอยู่บนเก้าอี้อย่างสง่างาม
ประติมากรรมสำริด ดร.อัมเบดการ์
ประติมากรรมช้างยืนชูงวง
ส่วนบริเวณด้านนอกหอเกียรติยศนั้นก็มีทางเดินให้เดินขึ้นไปชมวิวอันสวยงามกว้างไกลของอนุสรณ์สถาน มีลานประติมากรรมช้างยืนชูงวงเรียงรายอยู่ใน 2 ฟากฝั่งดูสวยงามโดดเป็นเอกลักษณ์ไม่น้อย มีพระพุทธรูป และมีรูปปั้นคนสำคัญต่างๆ ของอินเดียที่อุทิศชีวิตเพื่อมนุษยชาติ
บรรยากาศในอนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์
แต่ด้วยความที่สร้างเสียใหญ่โตอลังการนั่นแหละ ทำให้ผู้อำนวยการสร้างอย่างนางกุมารี มายาวตี ซึ่งเป็นมุขมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย ที่ดูแลเมืองลัคเนาในขณะนั้นถูกโจมตีว่าใช้งบประมาณสิ้นเปลืองเกินความจำเป็นจนสุดท้ายต้องหลุดจากตำแหน่ง
มาช้อปปิ้งที่ย่านฮาซรัทกันจ์
มาเที่ยวเมืองไหนแล้วไม่ได้ไปช้อปปิ้งก็ดูเหมือนจะขาดอะไรไป ดังนั้นเราจึงต้องมาที่ “ฮาซรัทกันจ์” (Hazratganj) ย่านแหล่งช้อปปิ้งสำคัญของเมืองลัคเนาที่มีสินค้าสไตล์อินเดียหลากหลาย โดยเฉพาะเสื้อผ้าชุดส่าหรีที่มีทั้งแบบถูกแบบแพง ใครชอบแบบไหนก็จัดไปเลยตามงบ
มีชุดชาวอินเดียหลากหลายแบบให้เลือกซื้อ
ด้านหน้าโรงแรมเลอบัว ลัคเนา
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวงดงามในเมืองลัคเนาเหล่านี้ที่ทำให้ตกหลุมรักแล้ว สิ่งที่ทำให้ทริปของ “ตะลอนเที่ยว” สมบูรณ์แบบก็คือที่พักน่ารักและแสนสบายที่ “โรงแรมเลอบัว ลัคเนา” (Lebua Lucknow) ที่อยู่ในย่านกลางเมือง ห่างจากสนามบินเพียง 14 ก.ม. และอยู่ไม่ไกลจากย่านเมืองเก่า
มื้อเช้าท่ามกลางสวนที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ
ตัวอาคารสร้างขึ้นใน ค.ศ.1936 ในสไตล์ Art Deco แม้ดูภายนอกจะเหมือนตึกทั่วไป แต่เมื่อเข้าไปด้านในจะพบว่าตัวอาคารล้อมรอบลานกว้างที่จัดตกแต่งอย่างน่ารักอบอุ่นด้วยต้นไม้และดอกไม้นานาชนิด และเนื่องจากเรามาเป็นกลุ่มใหญ่ ทางโรงแรมจึงได้เตรียมพื้นที่กลางสนามหญ้าไว้สำหรับจัดเลี้ยงมื้อเช้ากลางสวนสวย พร้อมด้วยอาหารเช้าทั้งแบบท้องถิ่นสไตล์ลัคเนาและแบบ International แถมห้องพักก็ยังอบอุ่นหลับสบาย ทำให้การมาเที่ยว “ลัคเนา” ในครั้งนี้เป็นทริปที่น่าจดจำสุดๆ ไปเลย
อาหารเช้าทั้งแบบท้องถิ่นสไตล์ลัคเนาและแบบ International
มุมน่ารักๆ ที่โรงแรมเลอบัว ลัคเนา
สายการบิน “ไทยสมายล์” มีบริการเที่ยวบินตรง “กรุงเทพฯ-ลัคเนา” 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ได้แก่ วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เที่ยวบิน WE333 เวลา 18.10-20.30 น. และเส้นทาง “ลัคเนา-กรุงเทพฯ” 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ได้แก่ วันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เที่ยวบิน WE334 เวลา 21.30-02.40 น. ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่โทร. 1181 หรือที่โทร. 0-2118-8888 หรือเว็บไซต์ https://www.thaismileair.com/th
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น