xs
xsm
sm
md
lg

สลักลายวิจิตร งดงามสะกดใจ “3 บ่อน้ำขั้นบันได” แห่ง “คุชราต” แดนภารตะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Youtube :Travel MGR

Adalaj Stepwell
ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ของประเทศอินเดีย (มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก) ทำให้มีภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศที่แตกต่างกันมาก อย่างในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เช่น รัฐราชสถาน (Rajasthan) และรัฐคุชราต (Gujarat) มีอากาศแห้งเกือบตลอดทั้งปี แต่ในช่วงมรสุมฤดูร้อนก็จะมีฝนตกกระหน่ำแต่ดินไม่อุ้มน้ำ ด้วยเหตุนี้ในรัฐแถบนี้จึงมีการสร้างบ่อน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงขาดแคลน

Adalaj Stepwell
ต่อมาบ่อน้ำนี้ก็ได้พัฒนาเป็นสถาปัตยกรรมใต้ดินซึ่งมีวัตถุประสงค์ทั้งในด้านการใช้สอย ด้านสังคม ด้านพิธีกรรม ไปจนถึงความงดงามวิจิตร เทียบเท่าศาสนสถานอันยิ่งใหญ่

ความวิจิตรงดงามที่ต้องไปเห็นด้วยตาของตัวเอง เราเลยเลือกที่ “คุชราต” กับ “3 บ่อน้ำขั้นบันได” ที่สวยงามราวภาพวาด โดยตั้งต้นกันที่ “อัห์มดาบาด” เมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐคุชราต ด้วยการเดินทางสะดวกสบาย สามารถบินตรงจากกรุงเทพฯ มาลงที่สนามบินอัห์มดาบาดได้เลย

Adalaj Stepwell
Adalaj Stepwell - บ่อน้ำขั้นบันไดอะดาลัช
“Adalaj (อะดาลัช)” เป็นชื่อหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองอัห์มดาบาดราว 30 นาที ส่วนคำว่า “Stepwell” หมายถึง บ่อน้ำที่มีขั้นบันไดทอดยาวลงไป ซึ่งในรัฐคุชราตมักจะเรียกว่า “vav (วาว)”

สำหรับ Adalaj Stepwell แห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค,ศ.1498 โดยกษัตริย์ฮินดู Rana Veer Singh เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชน แต่ก่อนที่บ่อน้ำแห่งนี้จะเสร็จสิ้น กษัตริย์องค์นี้ได้ทำสงครามกับกษัตริย์มุสลิม Mehmud Begada โดยกษัตริย์ฮินดูเสียชีวิตในสนามรบ ส่วนกษัตริย์ชาวมุสลิมตกหลุมรัก Rudabai ราณีม่ายชาวฮินดู

Adalaj Stepwell

Adalaj Stepwell
ราณี Rudabai ตกลงแต่งงานกับกษัตริย์ Mehmud Begada โดยมีเงื่อนไขให้สร้างบ่อน้ำต่อจนเสร็จ เมื่อบ่อน้ำเสร็จสมบูรณ์แล้ว ราณีจึงฆ่าตัวตาย โดยบ่อน้ำที่สร้างขึ้นจนสำเร็จนี้จึงมีศิลปะที่ผสมผสานทั้งแบบฮินดูและอิสลาม

Adalaj Stepwell เป็นบ่อน้ำทรงหกเหลี่ยม สร้างจากหินทราย มีความลึกลงไปใต้ดิน 5 ชั้น ถูกใช้เป็นสถานที่พักผ่อน และบ่อน้ำสำหรับชาวบ้าน รวมถึงกองคาราวานมากมาย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอัฟกานิสถานในสมัยก่อน โดยจะมีการสร้างบ่อน้ำแบบนี้เป็นระยะๆ ในระหว่างเส้นทางที่ผ่านถิ่นแห้งแล้ง

Adalaj Stepwell
ความโดดเด่นของบ่อน้ำแห่งนี้คือ ทางเข้าขั้นบันไดสามแห่ง ที่จะไล่ระดับลงสู่สระน้ำด้านล่าง ตามชั้นต่างๆ ของบ่อน้ำ จะตกแต่งด้วยภาพสลักทั้งในแบบฮินดูและอิสลาม ผสมผสานความเชื่อต่างๆ เข้ากันได้อย่างลงตัว ส่วนบริเวณยอดด้านบนของสระน้ำ จะมีช่องเปิดเพื่อให้แสงแดดส่องเข้ามา ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และยิ่งเดินลงไปในขั้นที่ลึกลงไปเรื่อยๆ อากาศภายในก็จะยิ่งเย็นลงกว่าภายนอกมาก

Adalaj Stepwell
Rani ki vav - บ่อน้ำราชินี
“Rani ki vav (รานี คี วาว)” หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่า “The Queen’s Stepwell (บ่อน้ำราชินี)” เป็นวิหารใต้ดิน 7 ชั้น ที่ใช้เพื่อการกักเก็บน้ำ และยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 11 โดยราชินีอุทัยมาตี เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่กษัตริย์และพระสวามีผู้วายพระชนม์ของพระนาง และถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1958 หลังจากถูกถับถมอยู่ใต้ดินมานาน ซึ่งในปี ค.ศ.2014 ก็ได้ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของประเทศอินเดีย

Rani ki vav

Rani ki vav
โครงสร้างของที่นี่มีความยาว 64 เมตร กว้าง 20 เมตร ลึก 27 เมตร มีบันไดลงด้านเดียว แต่ละชั้นมีเสาและผนังแกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงงดงามกว่า 500 ภาพ เป็นภาพทวยเทพต่างๆ อาทิ ภาพอวตารเจ็ดปางของพระวิษณุ นางอัปสร พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ เป็นต้น แม้บางส่วนจะหักโค่นและลายเลือนหายไปบ้าง

บริเวณชั้นที่ 4 มีความลึกที่สุดและเชื่อมต่อไปยังบ่อน้ำทรงรีกว้าง 9.5 x 9.4 เมตร ลึก 23 เมตร ชั้นสุดท้ายของบ่อ มีประตูลับที่เชื่อมต่อไปยังอุโมงค์ยาว 30 กิโลเมตร ซึ่งสมัยนั้นกษัตริย์สามารถใช้เป็นช่องทางลี้ภัยทะลุออกไปยังหมู่บ้านที่อยู่ข้างๆ ได้ ปัจจุบันอุโมงค์นี้ได้ถูกดินโคลนทับถมหมดแล้ว

Rani ki vav

Rani ki vav
การสร้างบ่อน้ำแห่งนี้มีการคำนวณปริมาณน้ำกับขนาดความจุของอาคารได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในช่วงหน้าแล้ง แม้น้ำจะลดลงมากแต่ก็จะไม่แห้งไป เพราะจะมีน้ำมใต้ดินซึมเข้ามาในบ่อตลอดเวลา ช่วงหน้าแล้วจึงสามารถชมความงดงามของสถาปัตยกรรมและลวดลายแกะสลักต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ส่วนในฤดูฝนน้ำในบ่อก็จะสูงขึ้นมาเรื่อยๆ จนท่วมไปทีละชั้น แต่ก็ไม่เอ่อท่วมถึงขอบด้านบน

หากมาเดินชมความงดงามที่ Rani ki vav แนะนำให้ใช้เวลาดื่มด่ำอยู่กับภาพสลักอันวิจิตรที่มีอยู่ตามผนังและเสาในชั้นต่างๆ แล้วเดินขึ้นมาชมวิวมุมสูงที่ด้านบน ซึ่งจะสามารถมองเห็นบ่อน้ำขั้นบันไดที่สวยงามแห่งนี้ได้อย่างเต็มอิ่ม

Rani ki vav

Rani ki vav
Modhera Sun Temple - วิหารสุริยเทพแห่งโมห์เดระ
บ่อน้ำอีกแห่งหนึ่งนี้อยู่ภายใน “Modhera Sun Temple” หรือ “วิหารสุริยเทพแห่โมห์เดระ” โดยวิหารฮินดูแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1026 โดยกษัตริย์ภีมเทพแห่งราชวงศ์โซลันกิ เพื่อบูชาองค์เทพสุริยะ ณ ริมแม่น้ำภุชปาวตี

Modhera Sun Temple

Gudhamandapa
ภายในวิหารจะประกอบด้วยสามส่วน เรียงตัวในแนวทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก คือ Gudhamandapa เป็นส่วนที่ประดิษฐานของเทพเจ้า ภายในมีการแกะสลักอย่างประณีต ส่วนใหญ่จะบรรยายถึงสุริยเทพกำลังทรงรถเทียมม้า 7 ตัว และใกล้ๆกันนั้นมักจะมีรูปสลักของพระวิษณุ รวมถึงภาพสลักกามสูตรที่มีอยู่รอบๆ วิหาร

ส่วนที่สองคือ Sabhamandapa เป็นส่วนที่จัดแสดงการร้องรำเพื่อถวายแด่เทพเจ้า ภายในก็มีการแกะสลักภาพอันวิจิตรงดงามตามเสา ผนัง และเพดานเช่นกัน

ภายใน Gudhamandapa

Sabhamandapa
ส่วนสุดท้ายคือ Kunda หมายถึงสระเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์ จะเรียกว่าเป็นบ่อน้ำขั้นบันได หรือ Stepwell อีกอย่างก็ได้ โดยบ่อน้ำแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นเอถวายแด่สุริยเทพเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้ ลักษณะบ่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่กลางแจ้งซึ่งแกะสลักลวดลายขั้นบันได 5 ชั้นไล่ระดับอย่างสวยงาม มีเทวสถานขององค์เทพคเณศวร วิษณุ และศิวะประจำทั้ง 3 ด้าน

ภายใน Sabhamandapa

Kunda
ดูภาพสวยๆ ของบ่อน้ำขั้นบันไดทั้งสามแห่งนี้แล้วอยากจะมาชมด้วยตาของตัวเองบ้าง แนะนำให้เริ่มต้นกันที่เมืองอัห์มดาบาด รัฐคุชราต เนื่องจากปัจจุบันนี้เดินทางสะดวกสบาย สามารถบินตรงจากกรุงเทพฯ มาลงที่สนามบินอัห์มดาบาดได้เลย อย่างสายการบินไทยสมายล์ ก็มีเที่ยวบินตรง 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ข้อแนะนำอีกอย่างสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะไปเที่ยวอินเดีย แม้ว่าคนที่ถือพาสปอร์ตไทยจะยังต้องทำวีซ่าเพื่อเข้าประเทศอินเดีย แต่ปัจจุบันก็สะดวกสบายด้วยการทำ E-VISA ผ่านทางเว็บไซต์ และที่สำคัญ พาสปอร์ตไทยยังสามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้อตั๋วเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะและโบราณสถานของอินเดีย (เกือบทุกแห่ง) โดยจ่ายค่าเข้าชมในราคาเดียวกับคนท้องถิ่น เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีในกลุ่มประเทศ BIMSTEC ที่ให้ความร่วมมือกับอินเดียในด้านเศรษฐิจและอื่นๆ รวมถึงศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวด้วย

Kunda
* * * * * * * * * * * * * *

สายการบิน “ไทยสมายล์” มีบริการเที่ยวบินตรง “กรุงเทพฯ-อาห์เมดาบัด” 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ได้แก่ วันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี และศุกร์ เที่ยวบิน WE341 เวลา 20.30-23.55 น. และเส้นทาง “อาห์เมดาบัด-กรุงเทพฯ” 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ได้แก่ วันอังคาร พฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ เที่ยวบิน WE342 เวลา 00.55-06.55 น. ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่โทร. 1181 หรือที่โทร. 0-2118-8888 หรือเว็บไซต์ https://www.thaismileair.com/th
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น