xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว “งานภูเขาทอง” งานวัดสุดคลาสสิก สักการะ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของดีวัดสระเกศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ภูเขาทองยามราตรี ในช่วงบรรยากาศงานภูเขาทอง งานวัดอันสุดคลาสสิกของเมืองไทย
“เพลิดเพลินเคยเดินด้วยกัน แทะไหมฝันดูรถไต่ถัง หยอกเย้าบนชิงช้าสวรรค์ ถ่ายรูปคู่กันกินขนมจีนข้างทาง...”
เพลง - งานวัด : ศิลปิน -วงเพื่อน

ทุก ๆ ปี เมื่อลมหนาวมาเยือน จะมีการจัดงานวัดขึ้นในหลาย ๆ แห่งของบ้านเรา ทั้งงานวัดที่จัดขึ้นที่วัดแบบแท้ ๆ ดั้งเดิม หรืองานที่จัดในรูปแบบของงานวัดตามสถานที่ต่าง ๆ

สำหรับหนึ่งในงานวัดสุดคลาสสิกที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ หากพูดถึงงานวัดฤดูหนาวนั่นก็คือ “งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ” หรือ “งานภูเขาทอง” หรือ “งานวัดภูเขาทอง” ที่จัดขึ้น ณ บริเวณพระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง และลานพระวิหาร ของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
องค์เจดีย์ภูเขาทองในช่วงงานพิธีห่มผ้าแดง
งานภูเขาทองในแต่ละปี ปกติจะจัดในช่วงคาบเกี่ยวกับวันลอยกระทง พร้อมทั้งจัดงานกันยาวถึง 10 วัน 10 คืน โดยปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 4 - 13 พ.ย. 62

ผู้ที่มาเที่ยวงานภูเขาทอง จะได้ร่วมในงานบุญใหญ่นั่นก็คือ “พิธีอัญเชิญผ้าแดงห่มองค์พระบรมบรรพต” หรือ “พิธีห่มผ้าแดงภูเขาทอง” ซึ่งเป็นมงคลพิธีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕

พิธีนี้เริ่มต้นตั้งแต่การร่วมจารึก ชื่อ-สกุล ลงบนผ้าแดง แล้วอัญเชิญผ้าแดงไปห่มองค์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งทางวัดสระเกศได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมขบวนอัญเชิญผ้าแดงขึ้นไปห่มองค์พระธาตุภูเขาทองพร้อมรับอานิสงส์ผลบุญกันถ้วนทั่วหน้า
พิธีอัญเชิญผ้าแดงห่มองค์พระบรมบรรพต
เสร็จจากพิธีห่มผ้าแดงแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นการจัดงานสมโภชองค์พระบรมสารีริกธาตุ ในรูปแบบของงานมหรสพรื่นเริง หรืองานภูเขาทองที่จัดกันยาวถึง 10 วัน 10 คืน ซึ่งถูกยกให้เป็นงานวัดอันสุดคลาสสิกอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

โดยปีนี้ (2562) พิธีอัญเชิญผ้าแดงห่มองค์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) จะเริ่มในเวลา 06.00 น. ของเช้าตรู่วันที่ 4 พฤศจิกายน จากนั้นตั้งแต่เวลา 07.00 - 24.00 น. ของวันที่ 4 - 13 พฤศจิกายน 2562 ก็จะเป็นงานสมโภชองค์พระบรมสารีริกธาตุอันคึกคักครึกครื้น
งานภูเขาทอง งานวัดสุดคลาสสิกของเมืองไทย
งานภูเขาทองแม้จะเป็นงานวัดในบรรยากาศย้อนยุค แต่ว่าก็ผสมผสานสีสันความร่วมสมัยเข้าไปด้วยกันอย่างลงตัว ภายในงานมีกิจกรรมเด่น ๆ อาทิ ชิงช้าสรรค์, ม้าหมุน, บ้านผีสิง, เมียงู-ของแปลก, ปาหี่, ปาเป้า, ปาโป่ง, ยิงปืนจุกน้ำปลา, การแสดงดนตรี, การแสดงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากทั่วประเทศ

สำหรับผู้มาเที่ยวงานภูเขาทองแล้วก็ไม่ควรพลาดการเที่ยวชมสิ่งน่าสนใจในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สถานที่ตั้งของ “พระบรมบรรพต” หรือ “ภูเขาทอง” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของกรุงเทพมหานคร
บริเวณลานพระอุโบสถหลังงามของวัดสระเกศ มองขึ้นไปเห็นภูเขาทองตั้งตระหง่าน
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” หรือที่มักเรียกสั้น ๆ กันว่า “วัดสระเกศ” เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมใช้ชื่อว่า “วัดสะแก

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากพระองค์เคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน (อาบน้ำ) เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325

ภายในวัดสระเกศมีสิ่งน่าสนใจหลากหลายให้สักการะเที่ยวชมกัน และนี่ก็คือ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันโดดเด่นของวัดสระเกศที่ผู้มาเยือนไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

1.ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
-“ต้นพระศรีมหาโพธิ์” วัดสระเกศ มีอายุกว่า 200 ปี มีประวัติความเป็นมาว่า สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา ทรงโปรดให้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกที่ศรีลังกาด้วย

จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้มีการส่งสมณทูต ที่มีพระอาจารย์ดี พระอาจารย์เทพ จากวัดสระเกศ เป็นหัวหน้าสมณทูต ไปสืบพระพุทธศาสนาในลังกา กษัตริย์ลังกา ได้พระราชทานหน่อพระศรีมหาโพธิ์ถวายรัชกาลที่ ๒ จำนวน 3 หน่อ

หน่อพระศรีมหาโพธิ์ชุดนี้ รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดให้ปลูกที่หน้าพระอุโบสถ วัดสระเกศ วัดสุทัศน์ และวัดมหาธาตุ โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกโดยพระองค์เอง ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2357 และได้พระราชทานน้ำสรงต้นพระศรีมหาโพธิ์ในวันสงกรานต์ จึงนับเป็นโบราณราชประเพณีที่จัดในช่วงวันสงกรานต์ปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี

2.หลวงพ่ออัฏฐารส
หลวงพ่ออัฏฐารส
-“พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” หรือ “หลวงพ่ออัฏฐารส” ประดิษฐานอยู่ที่ “พระวิหารหลวงพ่ออัฏฐารส

หลวงพ่ออัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยืนศิลปะสมัยสุโขทัยตอนต้น มีอายุเก่าแก่กว่า 700 ปี มีความสูง 10.75 เมตร(ในอดีตเคยเป็นพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุดในกทม.) โดยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจาก “วัดวิหารทอง” วัดประจำพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก มาประดิษฐานที่วิหารแห่งนี้จวบจนปัจจุบัน

3.หลวงพ่อพระประธาน
หลวงพ่อพระประธาน
-“หลวงพ่อพระประธาน” ประดิษฐานอยู่ภายใน “พระอุโบสถวัดสระเกศ” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ได้ถูกบูรณะใหม่พร้อมกับการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ด้วยการลงรักปิดทองทับองค์เดิม

นอกจากนี้เนื่องจากองค์พระประธานมีมาแต่เก่าก่อน รัชกาลที่ ๑ จึงไม่ทรงพระราชทานชื่อ คนทั่วไปจึงเรียกพระประธานประจำพระอุโบสถว่า “หลวงพ่อพระประธาน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

4.หลวงพ่อดำ
หลวงพ่อดำ
-“หลวงพ่อดำ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ องค์หลวงพ่อดำสร้างขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถขึ้นไปบูชาบนองค์บรมบรรพตได้สักการบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ที่ด้านล่างแทน

5.หลวงพ่อโต
หลวงพ่อโต
-“หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปิดทอง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ หน้าตักกว้าง 7 ศอก 1 คืบ ส่วนสูง 10 ศอก นับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะที่ใหญ่มากองค์หนึ่ง พระพุทธรูปที่ใหญ่ขนาดนี้ส่วนมากปั้นด้วยปูน
สันนิษฐานว่า ที่ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อโต” คงเนื่องมาจากพระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดใหญ่โตนั่นเอง

6.หลวงพ่อดวงดี
หลวงพ่อดวงดี
-“หลวงพ่อดวงดี” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระพุทธมงคลบรมบรรพต” เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้ พระเกตุหล่อด้วยทองคำ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

นอกจากนี้การที่องค์หลวงพระวรกายของหลวงพ่อดวงดีหล่อขึ้นจากแผ่นดวงมหาโภคทรัพย์ที่บรรจุอยู่บนยอดบรมบรรพต ภูเขาทอง ณ กลางสะดือเมือง อันเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติทางพระพุทธศาสนา จึงมีความเชื่อกันว่า ผู้ที่ได้ทำการสักการะบูชาหลวงพ่อดวงดี จะประสบแต่ความโชคดี ขจัดเคราะห์และเกิดสิริมงคล ตลอดจนนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตนเองและครอบครัว

7.ภูเขาทอง
พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง
-“พระบรมบรรพต” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ภูเขาทอง” ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไฮไลท์สำคัญของวัดสระเกศ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คอันโดดเด่นของกรุงเทพมหานครที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดี

ภูเขาทอง หรือ พระบรมบรรพตองค์นี้ รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นไว้เป็นปูชนียสถานในพระนครเหมือนดั่งเช่นกรุงเก่ามีวัดภูเขาทองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

อย่างไรก็ดีเนื่องจากสถานที่ตั้งของภูเขาทองนั้นอยู่ติดน้ำจึงได้เกิดการทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าให้สร้างใหม่ ในปี พ.ศ. 2406
ภูเขาทอง ตั้งตระหง่านโดดเด่นเคียงคู่วัดสระเกศมาช้านาน
ภูเขาทองที่สร้างใหม่นี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นภูเขา มีพระเจดีย์อยู่ด้านบน และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอด มีบันไดเวียนขึ้นลง 2 สาย และโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อจากภูเขาทองเป็น “บรมบรรพต” แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ จนมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการก่อสร้างพระบรมบรรพตจนแล้วเสร็จและงดงามมาจนถึงปัจจุบัน
วิวทิวทัศน์กรุงเทพมุมสูง เมื่อมองลงมาจากลานบริเวณองค์ภูเขาทอง
การขึ้นไปสักการะองค์เจดีย์ภูเขาทองแม้จะต้องออกแรงเดินขึ้นบันได 334 ขั้นขึ้นไป แต่เมื่อถึงบนนั้นนอกจากจะได้สักการะองค์ภูเขาทองเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ในบริเวณลานทางเดินรอบองค์เจดีย์ ยังเป็นจุดที่สามารถชมวิวทิวทัศน์กรุงเทพมหานครมุมสูง ได้อย่างสวยงามกว้างไกล

นอกจากนี้ทุก ๆ ปีในช่วงงานภูเขาทองจะมีประเพณีห่มผ้าแดง (ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น) โดยมีความเชื่อว่าการได้ห่มผ้าแดงองค์พระธาตุ “จะสร้างอานุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ด้วยผืนผ้าที่พระบรมสารีริกธาตุ และทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายนานาประการ”
ห่มผ้าแดงภูเขาทอง ประเพณีที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัย ร.๕
และนี่ก็คือ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ควรพลาดการมาสักการะบูชาสำหรับผู้ที่มาเยือนวัดสระเกศ ซึ่งแม้ใครที่ไม่มีโอกาสได้มาในช่วงงานภูเขาทองก็สามารถหาวันว่างวันอื่น ๆ มากราบสักการะ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เหล่านี้กันได้ เพื่อช่วยเสริมสิริมงคลให้อิ่มบุญอิ่มใจ และเป็นแรงผลักดันให้คิดดี ทำดี ปฏิบัติดี รวมถึงลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้สมหวังดังเป้าหมายที่ได้อธิษฐานขอพรกัน
ชิงช้าสวรรค์เครื่องเล่นที่ขาดได้ในงานภูเขาทอง
....................................................................................................

พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เปิดทุกวัน เวลา 7.30 น. - 19.00 น.
สำหรับในช่วงงานภูเขาทอง ทางวัดสระเกศจะเปิดให้ประชาชนขึ้นไปกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุในช่วงกลางคืน จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น.
การเดินทาง : รถประจำทาง: สาย 8, 15, 37, 47, 49 ปอ. 37, 49
เรือโดยสาร: ท่าผ่านฟ้าลีลาศ (คลองแสนแสบ), ท่าภูเขาทอง (คลองผดุงกรุงเกษม) แล้วเดินต่อไปที่วัดศระเกศที่อยู่ไม่ไกลกัน
รถส่วนตัว : จอดภายในบริเวณวัดได้
ค่าใช้จ่าย : ฟรี
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น