ในจังหวัดราชบุรี นอกจากจะมีวัดเก่าแก่อายุราวพันปีที่สร้างมาแต่สมัยทวารวดีที่ขอมยังเรืองอำนาจ อย่างที่เคยเล่าไปแล้ว ยังมีวัดที่น่าสนใจอีกวัดหนึ่งสร้างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๕ มีศิลปกรรมสวยงามและแปลกตากว่าวัดอื่นๆ มีศิลปะไทยผสมศิลปะตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น และมีตราสุริยมณฑล พระอาทิตย์ชักรถ ประดับเหมือนกับอีก ๔ วัดที่สร้างโดยบุคคลสำคัญคนเดียวกัน
ตราสุริยมณฑล เป็นตราที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตราสุริยมณฑลแก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นเครื่องหมายบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดราชการแผ่นดิน และเป็นสามัญชนคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับพระราชทานพระราชอำนาจถึงขั้นสั่งประหารชีวิตคนได้
ในการปฏิบัติราชการ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ยึดตราสุริยมณฑลเป็นตราประจำตัว และได้นำไปดัดแปลงเป็นรูปพระอาทิตย์แบบฝรั่ง สำหรับใช้เป็นการส่วนตัว เช่นสร้างสิ่งของเครื่องใช้หรือถาวรวัตถุต่างๆ จะประทับตราสุริยมณฑลแบบฝรั่งนี้กำกับไว้เสมอ ซึ่งพบได้ตามที่ต่างๆ เช่นวัดหลายวัดในจังหวัดราชบุรีที่ท่านสร้าง รวมทั้งบาตรพระ ถาดทองเหลือง ขันสาคร กาน้ำ ฯลฯ ที่ท่านถวายพระ ก็มีตราสุริยมณฑลติดอยู่ทุกชิ้นเป็นสัญลักษณ์
เหตุที่วัดส่วนใหญ่มีตราสุริยมณฑลประดับไปอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ก็เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้ท่านเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าพระยาศรีวรวงศ์ เป็นแม่กองควบคุมการขุดคลองดำเนินสะดวก เชื่อมการคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองราชบุรี ทั้งในสมัยรัชกาลท่ ๕ ยังโปรดเกล้าฯให้ท่านสร้างพระราชวังขึ้นบนเขาสัตตนารถ กลางเมืองราชบุรี ทำให้ท่านประทับใจในบรรยากาศของเมืองนี้ จึงยึดเป็นที่พักอาศัยเมื่อพ้นจากราชการ และได้สร้างความเจริญให้เมืองนี้ไว้มาก
วัดหนึ่งในบรรดาวัดที่ท่านได้สร้างขึ้น ก็คือ วัดศรีสุริยวงศาราม ซึ่งเรียกกันว่า “วัดศรีสุริยวงค์” ตั้งอยู่ที่ถนนอัมรินทร์ ตำบลหน้าเมือง จังหวัดราชบุรี สร้างขึ้นใน พ.ศ.๒๔๑๗ หลังจากสร้างพระราชวังบนเขาสัตตนารถเสร็จแล้ว ๓ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพระราชทานนามและวิสุงคามสีมา และพระราชทานเงินสมทบในการปฏิสังขรณ์จำนวน ๕๐ ชั่ง ในวันที่ตรงกับวันคล้ายวันสมภพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ดังปรากฏในลายพระราชหัตถเลขาว่า
ถึง เจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ด้วยเจ้าคุณสร้างวัดศรีสุริยวงษาราม ครั้งนี้เป็นการกุศลใหญ่ และจะเป็นเกียรติยศสืบไปภายน่า ฉันมีใจศรัทธายินดี ครั้นจะช่วยสร้างเจดียสถาน ฤาเสนาสนะอันใดให้เป็นของเฉพาะสิ่งอันเป็นส่วนฉันมีอยู่ในวัดนั้น เจ้าคุณก็ได้ทำการเสียเสร็จแล้ว
จึงจัดเงิน ๕๐ ชั่ง มอบให้ลูกหญิงศรีวิไลยมาช่วยเจ้าคุณ แล้วแต่จะเห็นควรใช้ในการกุศลครั้งนี้ ฤาจะไว้เป็นส่วนสำหรับปฏิสังขรณ์และสร้างสมอันใดขึ้นในวัดนี้ ก็ตามแต่เจ้าคุณจะเห็นสมควร ขอให้เจ้าคุณได้รับไว้ในส่วนการกุศลให้สมประสงค์ฉันด้วย
พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ณ วัน ๔ ฯ ๒ ค่ำ ปีเถาะ เอกศก ศักราช ๑๒๔๑ เป็นวันที่ ๔๐๕๔ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
จุดเด่นของวัดศรีสุริยวงศ์ก็คือ การผสมผสานศิลปกรรมไทยกับตะวันตกได้อย่างกลมกลืน ดูสวยงามแปลกตา พระอุโบสถเป็นศิลปะแบบโกธิค ไม่มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนวัดพุทธทั่วไป บนหน้าบันประดับด้วยตราสุริยมณฑลรองรับด้วยช้างสามเศียร ขนาบสองข้างด้วยเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ชายคารองรับด้วยเสากลม ระหว่างเสาแต่ละต้นเชื่อมต่อด้วย Arch ครึ่งวงกลมแบบโค้ง หน้าจั่วเหนือซุ้มหน้าต่างประดับลวดลายดวงดาวเปล่งรัศมี หน้าจั่วเหนือซุ้มประตูประดับลวดลายนกยูงในพระอาทิตย์
ที่น่าชมอีกแห่งก็คือผนังโบสถ์ภายในทั้งสี่ด้าน ฉาบปูนวาดลวดลายเลียนหินอ่อนสีน้ำตาล เพราะในสมัยนั้นหินอ่อนต้องสั่งมาจากอิตาลี และมีราคาสูงมาก ท่านจึงดำริให้ช่างฉาบผนังด้วยปูน แล้วเซาะร่องให้เหมือนกับรอยต่อของแผ่นหินอ่อน ลงสีวาดลายให้เหมือนลายหินอ่อนได้อย่างสมจริง นับเป็นความคิดสร้างสรรค์ในงานช่างอย่างหนึ่งในยุคนั้น ส่วนเพดานแขวนโคมระย้าหรือแซนตาเลียร์จากยุโรปอย่างสวยงาม ให้ความสว่างไสว
องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว่าง ๑.๑๕ เมตร ลงรักปิดทอง พุทธลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ บนผนังหลังองค์พระประธาน ประดับด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรูปของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นภาพที่ใช้เทคนิคที่เรียกว่าพิมพ์หิน
เจดีย์ประธานของวัด ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังค่ำ ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ตั้งอยู่บนตึกแปดเหลี่ยมแบบตะวันตก มีระเบียงล้อมรอบ ชั้นล่างทำเป็นซุ้มมีเสาพาไลกลมแบบโรมัน แต่ละซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ส่วนภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
นอกจากนี้ทั้งกุฏิสงฆ์และซุ้มประตูของวัดที่สร้างใหม่แทนซุ้มประตูเก่าที่ผุพังไป ก็ยังเป็นสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกับพระอุโบสถ เป็นซุ้มโค้งขนาบด้วยเสากลมข้างละ ๓ เสา ประดับด้วยรูปครุฑเหนือธรรมจักรสิงห์คู่ ตรงกลางมีอักษรบอกชื่อ “วัดศรีสุริยวงศ์” ประดับลวดลายปูนปั้นแบบฝรั่ง ส่วนบนยอดประดับประติมากรรมรูปเทวดาเด็กมีปีก สไตล์ฝรั่งเช่นกัน
ในขณะที่สมเด็จเจ้าพระยาฯสร้างวัดศรีสุริยวงศ์อยู่นั้น ท่านได้อนุญาตให้ นายอากรซือ สร้างศาลเจ้าขึ้นหลังหนึ่งในบริเวณที่ดินของท่าน ซึ่งอยู่ติดกับวัด นั่นก็คือ ศาลเจ้าพ่อกวนอู ตรงแท่นบูชาของศาลเจ้ามีป้ายชื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อยู่ด้วย ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีอุปการคุณ
อีกวัดหนึ่งที่ท่านสร้างในจังหวัดราชบุรี ก็คือ วัดบ้านซ่อง อยู่ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งขุดคลองดำเนินสะดวกที่ราชบุรี ใน พ.ศ. ๒๔๐๙ ท่านได้สร้างวัดขึ้นที่ริมแม่น้ำแม่กลอง หลักฐานจากแผ่นกระเบื้องหลังคาโบสถ์ที่มีอักษรจารึกว่า จ.ศ. ๑๒๒๘ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๐๙ นอกจากนี้ยังมีวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นของส่วนตัวของท่าน ได้แก่ เรือแหวด สำหรับยศเจ้าพระยา เก๋งเรือซึ่งมีตราสุริยมณฑล และเครื่องถ้วยชาม เครื่องแก้ว ที่มอบให้เป็นสมบัติของวัดอีกด้วย
ส่วนอีกวัดก็คือ วัดโคกตลุง หรือที่เรียกว่า วัดดอนตลุง อยู่ที่ถนนสุขาภิบาลเขางู สาย ๓ ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสไทรโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้เสด็จแวะเมืองราชบุรี ทรงพระราชนิพนธ์ ไว้ว่า
"วัดโคกตลุงกำลังทำการค้างอยู่ มีโบสถ์เหมือนวัดสัตตนารถปริวัตรหลังหนึ่ง กุฏิ ๕ ห้องเล็กๆ ๒ หลัง ๒ ห้อง เฉลียงรอบเห็นจะเป็นกุฏิสมภารหลังหนึ่ง หอฉันหลังหนึ่ง สิ่งละเล็กๆ ทั้งนั้น ถ้าพระจะอยู่ได้สัก ๕ องค์ มีกุฏิฝาจากหลังหนึ่ง มีพระอยู่องค์เดียว บอกว่าสมเด็จเจ้าพระยามาสร้าง"
ลักษณะหน้าบันของวัดโคกตลุงนี้ เป็นศิลปแบบยุโรป มีตราเป็นรูปรัศมีดวงอาทิตย์ ทำด้วยปูนปั้นนูนเป็นเครื่องหมายอยู่
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ไปทำการขุดคลองดำเนินสะดวก เมื่อขุดมาถึงหลักห้า ตัดกับคลองโพหัก ก็ระลึกถึงโคกไผ่ที่บิดา คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่เมื่อครั้งมาตรวจสถานที่เพื่อขุดคลอง ปรารภว่าจะสร้างวัด เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่นี้ ซึ่งก็คือ “วัดปราสาทสิทธิ์” ที่ตำบลดอนไผ่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ในปัจจุบัน
ความจริงวัดนี้เมื่อสร้างมีชื่อว่า "วัดสมเด็จพระประศาสน์สิทธิการาม" มาจากสมญานามที่เรียกขานท่านว่า “สมเด็จพระประศาสน์” และคำสั่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เรียกว่า “พระประศาสน์” ดังมีประกาศว่า
“ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีพระประศาสน์ให้เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์อยู่รักษาเมืองภูเก็ต...”
แต่ต่อมาได้เรียกและเขียนผิดเพี้ยนไปกลายเป็น "วัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดาราม"
ส่วนที่กรุงเทพฯก็มีวัดที่ประดับตราสุริยมณฑลเช่นกัน คือวัดบุปผาราม ถนนอรุณอัมรินทร์ เดิมมีชื่อว่า วัดดอกไม้ สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเป็นวัดร้าง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านผู้หญิงจันทร์ ภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ซึ่งเป็นมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นเนื่องจากเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งเป็นจมื่นไวยวรนาถ และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เมื่อครั้งยังเป็นจมื่นราชามาตย์ ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ในการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามใหม่ว่า วัดบุปผาราม มีลายปูนปั้นตราสุริยมณฑลประดับอยู่ที่หน้าบันพระวิหาร
ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๐๑ มีการสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แทนหลังเก่าถูกระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เจ้าจอมเลียม ธิดาพลโท เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ จึงได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นที่ด้านข้างพระอุโบสถด้วย อุทิศแด่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีแผ่นศิลาจารึกข้อความไว้ว่า
“ศาลาสมเด็จ เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ ๕ สร้างอุทิศแด่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) วันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ ศาลาสมเด็จยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๑๔ เมตร”
ลักษณะของศาลาสมเด็จ เป็นสถาปัตยกรรมไทย ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นปูนปั้นตรามหาสุริยมณฑลแบบฝรั่ง ตือรูปพระอาทิตย์ มีหน้าคนอยู่ตรงกลาง ทาด้วยสีทอง พื้นขาว
ส่วนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ก็มีตราสุริยมณฑลปรากฎอยู่หลายแห่ง อาทิ บริเวณฐานอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ด้านหน้าของมหาวิทยาลัย บริเวณหน้าอาคาร “๑๐๐ ปี ศรีสุริยวงศ์” เช่นกัน