xs
xsm
sm
md
lg

ต้อนรับหมูป่ากลับบ้าน ชวนเที่ยว“ตามรอยหมู” ดูอันซีนบางกอก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

พระพุทธรูปประธาน 28 องค์ ในโบสถ์วัดหมู
เรื่องน่ายินดีมากของคนไทยและคนทั่วโลกช่วงนี้(ชนิดว่ากลบกระแสฟุตบอลโลกได้) ก็คือภารกิจนำ 13 ทีมหมูป่ากลับบ้าน ที่ประสบความสำเร็จลงด้วยดี เป็น Mission Possible ที่โด่งดังลือลั่นไปทั่วโลก(ท่ามกลางการเอาใจช่วยและลุ้นของผู้คนมากมายทั่วทั้งโลก) ซึ่งภายในเรื่องน่ายินดีสุดๆมีเรื่องน่าเศร้าแฝงอยู่ต่อการจากไปของ “จ่าเอกสมาน กุนัน” หรือ “จ่าแซม” วีรบุรุษถ้ำหลวงผู้เสียสละ ที่โลกได้จารึกชื่อของเขาไว้ในทำเนียบวีรบุรุษอีกท่านหนึ่ง

และเพื่อเป็นการต้อนรับทีมหมูป่ากลับบ้าน งานนี้ขอพาไปรู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับหมูใน กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีที่ไหนน่าสนใจบ้าง ขอเชิญทัศนากันได้
อนุสาวรีย์หมู ริมคลองหลอด
เริ่มจากที่แรก ที่ “อนุสาวรีย์หมู” ริมคลองหลอด เป็นหมูสีทองขนาดค่อนข้างใหญ่ ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่บนภูเขาจำลอง อนุสาวรีย์หมูตัวนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2456 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พระชันษา

เหตุที่สร้างอนุสาวรีย์หมูขึ้นมานั้นก็เนื่องจากว่า บรรดาผู้ที่เกิดสหชาติ หรือเกิดปีเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้คิดที่จะทำหีบพระศรีถวายเป็นของขวัญ แต่พระองค์ได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์ลงมาว่าไม่รับ ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงปรึกษากับพระยาพิพัฒน์โกษา (เศเลสติโนซาเวียร์) คิดจะปฏิบัติอะไรที่ไม่ฝ่าฝืนพระราชเสาวนีย์ จึงตกลงกันร่วมสร้างอนุสาวรีย์รูปหมู ซึ่งเป็นปีนักษัตรของพระองค์ขึ้น เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์
สะพานปีกุน อยู่คู่กับอนุสาวรีย์หมู
ส่วนบริเวณติดๆกับอนุสาวรีย์หมู ก็ยังมีสะพานหมู หรือสะพานปีกุน สะพานคนข้ามขนาดเล็กที่พาดผ่านคลองคูเมืองเดิมระหว่างวัดราชบพิธฯ และวัดราชประดิษฐ์ฯ สะพานนี้สร้างขึ้นก่อนอนุสาวรีย์หมูสองปีด้วยกัน โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 ได้ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ให้สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 4 รอบ แต่ไม่ได้พระราชทานชื่อไว้ และสองปีต่อมาเมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์หมูขึ้นที่ใกล้เชิงสะพานฝั่งวัดราชประดิษฐ์ฯ ประชาชนก็เลยเรียกชื่อสะพานนี้ว่า “สะพานหมู” ไปโดยปริยาย

จากริมคลองหลอด ไปต่อกันแถวๆ วัดไตรมิตรฯ ย่านเยาวราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ซอยสุกร” อยู่สองซอยด้วยกัน

ที่นี่มีเรื่องเล่าขานถึงที่มาของซอยสุกรว่า เมื่อก่อนย่านนี้เคยเป็นโรงฆ่าหมูมาก่อนตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยหมูจะส่งหมูมาทางรถไฟ มาลงที่สถานีหัวลำโพง แล้วต้อนหมูเป็นฝูงใหญ่เดินมาเข้าคอกหมูที่บริเวณนี้เพื่อเตรียมส่งโรงฆ่าต่อไป
ซอยสุกร อดีตพื้นที่โรงฆ่าหมู
ด้วยความที่อยู่ใกล้โรงฆ่าหมู คนที่อยู่ในแถบนี้จึงได้ผลิตภัณฑ์จากหมูกันไปแบบสดๆ ทั้งเลือดหมู เครื่องในหมู เนื้อหมู จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ภายในซอยสุกรนี้มีร้านอาหารหลายร้านเกิดขึ้น ทั้งหมูสะเต๊ะ ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู ฯลฯ ขายมาจนปัจจุบัน

ปัจจุบันเมื่อพื้นที่แถบนี้เริ่มเจริญขึ้น ขยายใหญ่ขึ้น และมีผู้คนมากขึ้น โรงฆ่าหมูก็ได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ทิ้งไว้เพียงชื่อซอยสุกร 1 และ 2 เท่านั้นที่ยังเหลือเพื่อไว้เป็นที่ระลึกถึงความเป็นไปในอดีต
พระพุทธรูปจำลองแบบสุโขทัย ที่วัดคอกหมู
มาถึงวัดที่เกี่ยวกับหมูบ้าง เริ่มกันที่ “วัดคอกหมู” หรือ “วัดสิตาราม” ที่อยู่ใกล้ๆ กับวัดสระเกศฯ สำหรับที่มาของชื่อวัดคอกหมูนั้น เมื่อก่อนบริเวณนี้เคยเป็นคอกหมูที่อยู่คู่กับคอกวัวหรือ“สี่แยกคอกวัว”ในปัจจุบัน

คนแขกเลี้ยงวัว ส่วนคนจีนเลี้ยงหมูอยู่บริเวณนี้ จนเมื่อร่ำรวยจากการเลี้ยงหมูแล้วจึงได้มีศรัทธาถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด ชื่อว่าวัดคอกหมู สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 และต่อมาท่านเจ้ากรมแย้มได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดสิตาราม
งานศิลปะแบบจีนที่วัดคอกหมู
วัดคอกหมูในปัจจุบันไม่มีร่องรอยของบรรดาหมูๆให้เห็นแล้ว มีแต่เพียงสิ่งที่น่าสนใจเป็นโบสถ์และวิหารหลังเก่า เป็นศิลปะแบบจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา อีกทั้งมีพระประธาน คือ“หลวงพ่อทองกายสิทธิ์” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบ ที่พระพุทธรูปสำคัญคู่วัดคอกหมูแห่งนี้

มาต่อกันที่ “วัดอัปสรสวรรค์” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดหมู” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งวัดอันสวยงามน่าสนใจ เป็นอันซีนบางกอกที่มีสิ่งน่าสนใจหลากหลายให้ชมกัน
วัดหมู หรือ วัดอัปสรสวรรค์
วัดหมู เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด เหตุที่เรียกว่าวัดหมูนั้น เนื่องจากผู้สร้างวัดแห่งนี้เป็นชาวจีนชื่อ“อู๋” มีอาชีพเลี้ยงหมูเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อมีวัดแล้วหมูเหล่านั้นก็มาเดินเพ่นพ่านเต็มลานวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดหมูกันมาตั้งแต่นั้น แม้ภายหลังไม่มีหมูมาเดินแล้วก็ยังเรียกกันว่าวัดหมูสืบต่อกันต่อมา

ภายหลังจากที่จีนอู๋สร้างวัดนี้ขึ้นแล้ว เวลาล่วงไปวัดก็ทรุดโทรมลงไปตามกาล จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) เห็นว่าวัดหมูทรุดโทรมมาก จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัด
หน้าบันประดับปูนปั้นลวดลายแบบจีน
และหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มอีก และในครั้งนั้นก็ได้พระราชทานชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดอัปสรสวรรค์” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนได้รับฉายาว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง และในการบูรณะครั้งนี้ ทำให้วัดอัปสรสวรรค์ กลายมาเป็นวัดที่มีความพิเศษหนึ่งเดียวในเมืองไทย
พระปรางค์หน้าโบสถ์วัดหมู
วัดหมู มีสิ่งน่าสนใจหลากหลาย เริ่มจาก“พระอุโบสถ” ที่เป็นโบสถ์ขนาดย่อม สร้างด้วยศิลปะแบบจีน ตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่จะประดับประดาหน้าบันด้วยลวดลายปูนปั้นแบบจีนดูสวยงามน่ายล ที่หน้าโบสถ์มีพระปรางค์ก่ออิฐถือปูนตั้งโดดเด่น

ขณะที่ภายในโบสถ์วัดหมูนั้นก็จัดว่าไม่ธรรมดาเอามากๆ เนื่องจากแทนที่พระประธานจะมีเพียงองค์เดียวเหมือนกับโบสถ์วัดอื่นๆทั่วไป แต่ภายในอุโบสถนี้ก็กลับมีพระประธานอยู่มากถึง 28 องค์ด้วยกัน ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้ รัชกาลที่ 3 เป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่มีการปฏิสังขรณ์นั่นเอง
พระพุทธรูปประธาน 28 องค์
เหตุที่สร้างพระพุทธรูปมากถึง 28 พระองค์ ก็เพื่อแทนพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้นมาในชาติภาพต่างๆ รวมแล้ว 28 พระองค์ ได้แก่ พระพุทธตัณหังกร พระพุทธเมธังกร พระพุทธสรณังกร พระพุทธทีปังกร พระพุทธโกณฑัญญะ พระพุทธสุมังคละ พระพุทธสุมนะ พระพุทธเรวตะ พระพุทธโสภิตะ พระพุทธอโนมทัสสี พระพุทธปทุมะ พระพุทธนารทะ พระพุทธปทุมุตตระ พระพุทธสุเมธะ พระพุทธสุชาตะ พระพุทธปิยทัสสี พระพุทธอัตถทัสสี พระพุทธธรรมทัสสี พระพุทธสิทธัตถะ พระพุทธติสสะ พระพุทธปุสสะ พระพุทธวิปัสสี พระพุทธสิขี พระพุทธเวสสภู พระพุทธกกุสันธะ พระพุทธโกนาคมนะ พระพุทธกัสสปะ และพระพุทธโคตมะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่เราได้เรียนรู้เรื่องราวของพระองค์

พระพุทธรูปทั้ง 28 พระองค์นี้ เป็นปางมารวิชัย หล่อขึ้นให้มีขนาดเท่าๆ กัน วางเรียงตั้งลดหลั่นกันลงมาเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมงดงามแปลกตาไม่มีวัดไหนในประเทศไทยและวัดไหนในโลกจะมีเหมือน และถ้าอยากจะรู้ว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหนก็ดูได้จากตัวอักษรจารึกพระนามอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปแต่ละองค์ ซึ่งองค์ที่อยู่ด้านบนสุดก็คือพระพุทธเจ้าองค์แรก หรือ พระพุทธตัณหังกร ส่วนองค์ที่อยู่ด้านหน้าสุดของแถวล่างก็คือ พระพุทธโคตมะ หรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนั่นเอง
สักการะพระพุทธรูปประธาน 28 องค์
พระพุทธรูปทั้ง 28 พระองค์นี้ เป็นปางมารวิชัย หล่อขึ้นให้มีขนาดเท่าๆ กัน วางเรียงตั้งลดหลั่นกันลงมาเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมงดงามแปลกตาไม่มีวัดไหนในประเทศไทยและวัดไหนในโลกจะมีเหมือน

ด้วยความพิเศษที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวนี้ พระพุทธรูปประธาน 28 องค์ ในพระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์จึงถูกยกย่องให้เป็นอันซีนบางกอก ซึ่งที่นี่ก็จะใช้บทสวดมนต์พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ เป็นบทสวดมนต์เฉพาะของวัดอัปสรสวรรค์ และจะใช้สวดทุกครั้งที่ทำวัตรเช้า-เย็น รวมถึงจะเพิ่มบทสวดนี้เป็นกรณีพิเศษในการสวดมนต์ในพิธีการต่างๆ ด้วย
รูปหล่อนางสุชาดา กำลังถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้า
ส่วนที่อยู่ข้างๆ พระอุโบสถนั้นก็คือพระวิหาร เป็นศิลปะแบบจีนเช่นเดียวกัน ภายในมีพระพุทธรูปอยู่สององค์ เป็นพระปางมารวิชัยทั้งสององค์ และในภายหลังได้มีผู้มาสร้างรูปหล่อนางสุชาดา กำลังถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้าด้วย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพระวิหารวัดอัปสรสวรรค์ก็คือภาพทวารบาลที่ประตูวิหาร ซึ่งเขียนลงรักปิดทองเป็นรูปนางฟ้ากำลังเพลิดเพลินอยู่ในสระบัว ดูอ่อนช้อยงดงามสมกับชื่อวัดอัปสรสวรรค์ ต่างจากวัดอื่นๆ ที่มักทำเป็นรูปเทวดาหรือทหารที่ดูขึงขังมากกว่า
พระพุทธรูปปางฉันสมอ
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจภายในวัดก็คือ “พระพุทธรูปปางฉันสมอ” ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระมณฑปสีขาวที่อยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวว่าได้มาจากเวียงจันทน์ ซึ่งอัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับพระบรมธาตุ พระบาง และพระแซกคำ

สำหรับที่มาของพระพุทธรูปปางฉันสมอนั้น มีเรื่องเล่าขานว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุข หรือตรัสรู้ได้ 7 สัปดาห์แล้ว ยังไม่ได้เสวยพระกระยาหารเลย ท้าวสักกอมรินทราธิราชจึงได้นำผลสมอ หรือลูกสมอซึ่งเป็นทิพย์โอสถไปถวาย พระพุทธจริยาที่เสวยผลสมอนั้นจึงถูกนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปปางฉันสมอนั่นเอง
หอไตรกลางน้ำ
อีกฝั่งหนึ่งของวัด เป็นที่ตั้งของ “หอไตร” เก่าแก่ของวัดที่อยู่กลางน้ำ เหตุที่ต้องสร้างให้อยู่กลางน้ำก็เพื่อป้องกันมอด ปลวก ที่จะมากัดแทะหนังสือให้เสียหาย ตัวหอไตรนั้นมีความงดงามมาก ฝาผนังประดับกระจก ส่วนบานประตูและหน้าต่างก็เขียนด้วยลายรดน้ำ ซึ่งที่นี่เพิ่งจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ทำให้ดูมีสีสันสดใสขึ้นมาก และหอไตรแห่งนี้ยังเป็นต้นแบบของหอเขียน ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดอีกด้วย

และนี่ก็คือสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจเกี่ยวกับหมูๆคู่กทม. ที่หลายคนยังไม่รู้ เป็นอันซีนกทม. ที่น่าสนใจไม่น้อย

ส่วนน้องๆ 13 ทีมหมูป่า หลังสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็ขอให้สืบสานการทำความดีของ “จ่าเอกสมาน กุนัน” หรือ “จ่าแซม” วีรบุรุษถ้ำหลวง(ผู้เสียจนชีวิตล่วงลับในภารกิจครั้งนี้) และเหล่าฮีโร่ จิตอาสา และผู้กล้าผู้เสียสละมากมายในครั้งนี้ ที่ร่วมด้วยช่วยกันทำให้ปฏิบัติการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เพราะบุคคลเหล่านี้คือผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ที่น่ายกย่อง เชิดชู และน่านำเป็นแบบอย่างยิ่งนัก

ด้วยจิตคารวะแด่ฮีโร่ถ้ำหลวงทุกท่าน

.....................................................................................................

“วัดอัปสรสวรรค์” ตั้งอยู่ภายในซอยวัดอัปสร ถนนรัชมงคลประสาธน์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ พระอุโบสถและพระวิหารเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.00 น.

การเดินทาง สามารถนั่งรถประจำทางสาย 4, 9, 175 มาจนสุดสาย จากนั้นเดินต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร มีป้ายบอกทางไปจนถึงวัด

....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น