xs
xsm
sm
md
lg

“ถ้ำเขาหลวง” ถ้ำงามเมืองเพชรบุรี มีดีมากหลาย ที่เที่ยวสบายๆใกล้กรุง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ถ้ำเขาหลวง หนึ่งในมรดกอันล้ำค่าของจังหวัดเพชรบุรี
“เขาหลวง”

เอ่ยชื่อนี้หลายคนอาจนึกถึง “เขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช” ที่ได้ชื่อว่าเป็น“หลังคาแดนใต้” หรือไม่ก็ “เขาหลวง จ.สุโขทัย” ซึ่งทั้งสองต่างก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความโหดหินของการเดินขึ้นไปพิชิตยอดเขา

อย่างไรก็ดีนอกจากเขาหลวงนครศรีฯและเขาหลวงสุโขทัยแล้ว บ้านเราก็ยังมีเขาหลวงอื่นๆอีกในบางจังหวัด อย่างเช่น “เขาหลวง จ.ประจวบคีรีขันธ์” “เขาหลวง จ.นครสวรรค์” และ “เขาหลวง จ.เพชรบุรี” สถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงฯที่มีของดีหลากหลายชวนให้สัมผัส
พระพุทธไสยาสน์(คูหา 3) ภายในถ้ำเขาหลวง
เขาหลวงเมืองเพชร เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของเพชรบุรี เคียงคู่กับ “เขาวัง” หรือ “พระนครคีรี”ขุนเขาชื่อดังประจำจังหวัดเพชรบุรี

ชื่อเขาหลวงแม้จะแปลว่าเขาใหญ่ แต่เขาหลวงเมืองเพชรกลับเป็นภูเขาลูกเล็กๆ มียอดสูงเพียง 92 เมตรเท่านั้น

แต่ในความเล็กของเขาหลวงนั้นก็จัดเป็นประเภท “เล็ก is More” เพราะในพื้นที่เขาหลวงนั้นประกอบด้วยถ้ำจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำพระพุทธโฆษา ถ้ำแกลบ ถ้ำเปี้ยว ถ้ำหมอก ถ้ำมะรุม ฯลฯ รวมไปถึงถ้ำสำคัญที่เป็นดังสัญลักษณ์ขุนเขาแห่งนี้ คือ “ถ้ำเขาหลวง” หรือ “ถ้ำหลวง” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมรดกล้ำค่าของเพชรบุรี

รู้จักถ้ำเขาหลวง
ปากทางเดินลงสู่โถงถ้ำเขาหลวง คูหา 3
ถ้ำเขาหลวง ตั้งอยู่บนเขาหลวง ต.ธงชัย อ.เมือง จ.เพชรบุรี ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ 3 หน่วยงานหลักคือ “วัดบุญทวี”(วัดถ้ำแกลบ) องค์การบริหารส่วนตำบลธงชัย และสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร

ถ้ำเขาหลวง หรือ ถ้ำหลวง มีชื่อเรียกขานอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมกันในท้องถิ่นเมืองเพชรบุรีว่า “ถ้ำวิมานจักรี”

ชื่อถ้ำวิมานจักรี เป็นชื่อที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเชื่อกันว่า “ขุนชาญใช้จักร” อดีตเจ้าเมืองเพชรบุรี เป็นผู้ขอพระราชทานนามนี้จากพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

อย่างไรก็ดีในหนังสือ “ถ้ำเขาหลวง มรดกล้ำค่าของเพชรบุรี”* ได้ระบุว่า ขุนชาญใช้จักรนั้นมีอายุอยู่ในรัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่วนเอกสารต่างๆที่กล่าวถึงความเป็นมาของชื่อถ้ำวิมานจักรีแต่ละฉบับก็ระบุข้อมูลไม่ตรงกัน บ้างบอกว่าได้รับพระราชทานนามวิมานจักรีจากรัชกาลที่ 4 บ้างบอกได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 5
ถ้ำเขาหลวง คูหา 3 ในช่วงเช้าจะมีแสงอาทิตย์สาดส่องลงมา เป็นเอกลักษณ์ของถ้ำแห่งนี้
สำหรับความโดดเด่นของถ้ำเขาหลวงนั้น ถ้ำแห่งนี้นอกจากจะเป็นถ้ำหินปูนที่มีความงดงามจากการสรรค์สร้างของธรรมชาติ มีหินงอกหินย้อยกันสวยงามแล้ว(ทั้งหินเป็น-หินตาย) ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเพชรบุรี

ข้อมูลจากหนังสือ ถ้ำเขาหลวงฯ สันนิษฐานว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะได้รับการดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น(โดยดูจากหลักฐานของงานพุทธศิลป์ต่างๆ อย่างเช่น พระพุทธรูป เจดีย์ รอยพระพุทธบาท รวมถึงหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรต่างๆที่ปรากฏ)
พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์(องค์ซ้ายสุด)กับกลุ่มพระพุทธรูปในคูหาที่ 3
ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงถ้ำเขาหลวงปรากฏอยู่ใน “นิราศเมืองเพชร” ของ “สุนทรภู่” ยอดกวีเอกแห่งสยามประเทศ ดังตัวอย่างของกลอนบางบท เช่น

“...มีพระไสยาสน์พระบาทเหยียด คนมันเบียดเขียนขุดสุดสงสาร
พระทรวงพังทั้งพระเพลาก็ร้าวราน โอ้ชาวบ้านช่างไม่สร้างขึ้นบ้างเลย
ทั้งผนังพังทับอยู่กับถ้ำ โอ้นึกน้ำตาตกเจียวอกเอ๋ย
ดูเวิ้งว้างเชิงพนมน่าชมเชย ต่างแหงนเงยชมชะง่อนก้อนศิลา...”

จากนิราศเมืองเพชร อนุมานได้ว่าถ้ำเขาหลวงแม้จะเป็นสถานที่สำคัญของเพชรบุรี (และอาจจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ข้าราชสำนักสมัยรัตนโกสินทร์) แต่ก็ถูกทอดทิ้งทรุดโทรม ท่านสุนทรภู่เมืองมาพักค้างแรมที่นี่จึงแต่งกลอนพรรณาสภาพอันน่าหดหู่ของที่นี่ออกมาได้อย่างถึงอรรถรส
ทางเดินลงจากคูหา 2 สู่โถงคูหา 3
ครั้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุคทองของถ้ำเขาหลวง โดยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 นอกจากจะเสด็จฯมายังถ้ำเขาหลวงแล้ว ยังมีพระมหากรุณาธิคุณให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างปูชนียวัตถุต่างๆขึ้นภายในถ้ำเขาหลวงแห่งนี้

กระทั่งมาในยุคปัจจุบันถ้ำเขาหลวงได้ถูกทอดทิ้ง(อีกครั้ง)ขาดการดูแลรักษาอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะมีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆเพื่อทำการปรับปรุงถ้ำเขาหลวงขึ้นอีกครั้ง(เมื่อไม่นานมานี้ และบางอย่างยังมีการปรับปรุงอยู่) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย(จากลิงกัด ขโมยของ) ความสะอาด การจัดโซนนิ่งพื้นที่จอดรถ ร้านค้าต่างๆ การจัดระเบียบการเดินรถสู่ทางเดินเข้าถ้ำ

พร้อมทั้งมีการทำโครงการวิจัยเรื่อง “ถ้ำเขาหลวงและสถานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม” เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอด เผยแพร่ และพัฒนาให้ถ้ำเขาหลวงเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญคู่จังหวัดเพชรบุรีต่อไปในที่สุด

อะเมซิ่งถ้ำเขาหลวง
บริเวณลานจอดรถจุดต่อรถ 2 แถวเล็กสู่ทางเดินเข้าถ้ำเขาหลวง
เอาล่ะ เมื่อรู้จักข้อมูลเบื้องต้นของถ้ำเขาหลวงกันแล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาขึ้นเขา เข้าถ้ำ ไปชมความงามของถ้ำเขาหลวงกันแล้ว

สำหรับการเริ่มต้นของการเที่ยวถ้ำเขาหลวงนั้น ให้นักท่องเที่ยวนำรถมาจอดไว้ที่ลานจอดรถบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ต่อจากนั้นให้ใช้บริการรถ 2 แถวของชุมชน(15 บาท ขึ้น-ลง พร้อมน้ำดื่ม) ซึ่งจากตีนเขาด้านล่างนั่งรถขึ้นไปแป๊บเดียว ไม่ถึง 5 นาที

ต่อจากนั้นเป็นเส้นทางเดินเท้าบันได 124 ขั้นมุ่งสู่ปากทางเข้าถ้ำ(ทางลงถ้ำ) ทางเดินบันไดขึ้น-ลง ปากถ้ำในช่วงนี้ ระหว่างทางมีบรรยากาศร่มรื่นเขียวครึ้ม จากต้นไม้น้อยใหญ่นำโดยต้น“ลีลาวดี”หรือ“ลั่นทม”ที่ปลูกขนาบ 2 ข้างทางไปตลอด
บันไดทางเดินขึ้น-ลง สู่ปากทางเข้าถ้ำเขาหลวง
ทางเดินช่วงนี้แม้จะมีราวพักให้จับไปตลอด แต่ในช่วงตอนเดินขาขึ้นนี่ถือว่าเหนื่อยเอาเรื่อง นอกจากนี้ทางสายนี้ยังมีสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ บรรดาเจ้าลิงจ๋อจอมซน(ไม่แพ้ที่เขาวัง) ซึ่งยามที่มันห้อยโหน กระโดดไปมา หาเห็บเหา หรือให้นมลูก อยู่บนต้นไม้นั้นมันก็น่ารักน่าดูอยู่ แต่ในยามใดที่เราเผลอ มันแอบแว็บมาฉกของจากเรานี่ ถือว่าไม่น่ารักเอาเสียเลย

ดังนั้นเราจึงต้องระวังตัวเองให้ดี มือถือ กระเป๋าสตางค์ หรืออะไรต่างๆที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฉก ให้เก็บใส่กระเป๋าสะพายให้มิดชิด งดเดินเล่นมือถือในช่วงนี้ เพราะหากถูกเจ้าจ๋อฉกขโมยไป มันจะไม่คุ้มกัน
บันไดทางเดินขึ้น-ลง จากปากถ้ำเขาหลวงสู่ถ้ำคูหาที่ 1
เมื่อเดินไปถึงยังปากถ้ำ จะพบกับบันไดทางลงสู่ถ้ำที่แม้จะมีความสูงชัน แต่ก็สร้างอย่างแข็งแรงปลอดภัย แถมเป็นบันไดทางขึ้น-ลงถ้ำที่ดูมีเสน่ห์ไม่น้อย

ต่อจากนั้นก็จะถึงยังบริเวณปากถ้ำ ซึ่งภายในถ้ำเขาหลวงมีการแบ่งเป็น 5 คูหาด้วยกัน ไล่เรียงลำดับตั้งแต่จากปากทางเข้าถ้ำไปจนถึงส่วนคูหาในสุดของถ้ำ
รอยพระพุทธบาท ในคูหา 1
เริ่มกันด้วยคูหาที่ 1 อันเป็นที่ประดิษฐาน“รอยพระพุทธบาท” อยู่ภายใต้ซุ้มมีหลังคาคุม รอยพระพุทธบาทจำลองรอยนี้เป็นรอยพระพุทธบาทข้างขวา ทำจากหินแกะสลักมี 2 ชั้นด้วยกัน ชั้นล่างเป็นของเก่าสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนชั้นบนเป็นรอยใหม่ที่มีการบูรณะทับของเดิมในสมัยรัชกาลที่ 4

ในรอยพระพุทธบาทมีภาพมงคล 108 ประการ ที่ฐานรอยพระพุทธบาทมีลวดลายปูนปั้นแกะสลักสวยงาม เป็นรูปแบบงานศิลปะสมัยอยุธยาอันงดงาม
นักท่องเที่ยวถ่ายรูปกับหินรูปคล้ายช้าง ห้องคูหา 1
ส่วนอีกฟากหนึ่งของถ้ำคูหาที่ 1 มีประติมากรรมปูนปั้นรูปคนนอนหงาย เชื่อว่าเป็นทหารเอกทวารบาลที่ทำหน้าที่เฝ้าทำ รวมถึงมีหินงอกหินย้อยประติมากรรมตามธรรมชาติรูปร่างคล้ายช้าง(มีการตกแต่งให้ดูคล้ายช้างมากยิ่งขึ้น) ที่มีคนนิยมถ่ายรูปคู่กันด้วยเป็นจำนวนมาก
พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยและปางสมาธิ 4 องค์(กลุ่ม 1) ในถ้ำคูหา 2
เมื่อเดินต่อไปจะเป็นถ้ำคูหาที่ 2 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยและปางสมาธิ 4 องค์(กลุ่ม 1) แต่ละองค์มีจารึกพระปรมาภิไธยที่หน้าตัก และมีลวดลายปูนปั้นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 อยู่ที่ผ้าทิพย์ รวมถึงมีระฆังโลหะใบใหญ่ที่รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้หล่อขึ้น
ถ้ำคูหาที่ 3 ในช่วงเช้าจะมีแสงแดดสาดส่องสวยงาม
มาถึงคูหาที่ 3 ที่ถือเป็นส่วนไฮไลท์อันงดงามและโดดเด่นที่สุดของถ้ำเขาหลวง มีลักษณะเป็นโถงถ้ำขนาดใหญ่และยาวที่สุดของถ้ำแห่งนี้

ที่สำคัญคือบนเพดานถ้ำมีปล่องขนาดใหญ่(ดูคล้ายรูปหัวใจ) ยามเมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องลงมา(ในช่วงครึ่งวันเช้าประมาณ 10 โมงถึงเที่ยง) จะเกิดเป็นลำแสงแห่งธรรม(ธรรมชาติ)อันสวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจ ถือเป็นหนึ่งในภาพไฮไลท์สัญลักษณ์ของถ้ำเขาหลวง ที่มีคนนิยมนำไปเผยแพร่ควบคู่กับองค์“หลวงพ่อถ้ำหลวง” หรือ “หลวงพ่อหลวง”ที่เป็นดังองค์พระประธานของถ้ำเขาหลวงแห่งนี้
หลวงพ่อถ้ำหลวง พระประธานในถ้ำคูหา 3
หลวงพ่อถ้ำหลวง ประดิษฐานอยู่ในถ้ำคูหาที่ 3 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่แสงแห่งธรรม(ธรรมชาติ)สาดส่องจากปล่องเพดานถ้ำลงมา

แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าหลวงพ่อถ้ำหลวงสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากหลักฐานข้อมูลของทีมวิจัยถ้ำเขาหลวง สันนิษฐานว่าหลวงพ่อถ้ำหลวงน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา โดยองค์หลวงพ่อถ้ำหลวงที่เห็นในปัจจุบันได้ผ่านการบูรณะสร้างพอกปูนทับใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้สวยงามและองค์ใหญ่กว่าเดิม
พระพุทธไสยาสน์ในคูหา 3 ระหว่างทางเดินสู่คูหาที่ 4
ภายในถ้ำคูหา 3 ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “พระพุทธไสยาสน์” หรือพระนอน ยาว 14 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่ผ่านการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง, พระพุทธรูปางป่าเลไลยก์, พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง,พระสังกัจจายน์, พระพุทธอัครสาวกขององค์หลวงพ่อถ้ำหลวง, พระพุทธรูประทับนั่ง 5 องค์ มี 4 องค์ที่มีจารึกพระปรมาภิไธยและประดับลวดลายปูนปั้นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 1- รัชกาลที่ 4 (กลุ่ม 2)
เจดีย์ 3 องค์ ที่คูหา 3
และเจดีย์ก่ออิฐถือปูน 3 องค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง 2 องค์ ศิลปกรรมสมัยอยุธยา และเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยม(ริมซ้ายสุด) ที่สร้างด้วยศิลปกรรมสมัยอู่ทองแต่สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ มีการประดับลวดลายปูนปั้นที่มีความสวยงามวิจิตร อย่างเช่น ลายกนก ลายกลีบบัว ลายดอกกลมสลับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นต้น

จากโถงองค์หลวงพ่อถ้ำหลวงที่มีแสงแห่งธรรมสาดส่องสวยงาม เมื่อเดินต่อไปผ่านองค์เจดีย์ริมผนังถ้ำ จะเป็นองค์พระนอนหรือพระไสยาสน์ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งหลังจากกราบสักการะท่านแล้ว ผมเดินต่อไปสู่ถ้ำคูหาที่ 4 ที่มีการสร้างแนวกำแพงและซุ้มประตูแยกพื้นที่ออกมาจากคูหาที่ 3
พระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้ว คูหา 4
ถ้ำคูหาที่ 4 มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในซุ้มเรือนแก้ว 3 องค์ มีข้อมูลระบุว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปแกะสลัก ก่อนที่รัชกาลที่ 4 สร้างองค์ปูนครอยทับองค์เดิม เพื่อถวายแด่พระบรมวงศานุวงศ์

ในคูหาที่ 4 ยังมีเจดีย์ทรงระฆัง 4 ขาวเด่น 3 องค์ ส่วนบนเพดานถ้ำฟากฝั่งหนึ่งจะมีปล่องให้ลำแสงสาดลอด(เหมือนคูหาที่ 3 แต่มีขนาดเล็กกว่า) พร้อมทั้งมีรากไม้ห้อยย้อยลงมาดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ
รูปเคารพตา-ยาย ชาวลาวโซ่ง ด้านล่างองค์พระพุทธรูป
จากบริเวณนี้เมื่อเดินต่อไปจะพบกับรูปเคารพตา-ยาย ซึ่งมีเรื่องเล่าขานกันว่าท่านทั้งสองเป็นชาวลาวโซ่ง(ไทยทรงดำ)ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จ้าง 2 ตา-ยาย ชาวลาวโซ่งให้เป็นผู้เฝ้าถ้ำ เมื่อท่านทั้ง 2 เสียชีวิตลง ชาวบ้านที่นี่จึงสร้างรูปเคารพของสองตา-ยายขึ้น เพื่อรำลึกในคุณงามความดีของท่าน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีคนนิยมมากราบไหว้ขอพรท่านกันเป็นจำนวนมาก

จากจุดนี้เมื่อเดินลึกเข้าไป ระหว่างทางจะผ่านหินงอกหินย้อยที่ช่วงหนึ่งจะมีหินงอกหินย้อยดูคล้ายช้าง 3 เศียร แล้วต่อไปก็จะเจอประติมากรรมรูปคนนอนหงายคล้ายซากศพ ที่เชื่อว่าเป็นรูปปั้นของทหารเอก ทวารบาลที่ทำหน้าที่เฝ้าถ้ำเหมือนในช่วงแรกที่ผ่านมา
ทหารเอก ทวารบาลในเส้นทางสู่องค์พ่อปู่ฤาษีนารายณ์
สุดท้ายก็จะเป็นส่วนห้องคูหาที่ 5 ที่ประดิษฐานรูปเคารพองค์ฤาษี หรือ ที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “องค์พ่อปู่ฤาษีนารายณ์” ซึ่งบริเวณด้านหน้าองค์ฤาษีมีบันไดเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งปัจจุบันไม่เปิดให้ใช้งานเนื่องจากมีสภาพชำรุด

ดังนั้นใครที่เดินมาทางไหนก็ให้กลับไปทางนั้น และถ้ามีเวลาก็ให้ชมสิ่งที่น่าสนใจในเส้นทางเก่าซ้ำอีกรอบ
องค์พ่อปู่ฤาษีนารายณ์ที่อยู่ส่วนในสุด
เพราะบางทีสิ่งของอย่างเดียวกัน สถานที่เดียวกัน เส้นทางสายเดียวกัน แต่เมื่อมองต่างมุมกัน เราก็อาจจะได้พบกับความแปลกใหม่ หรือมุมมองน่าสนใจในบรรยากาศที่แปลกแตกต่างออกไป

และนี่ไยไม่ใช่อีกหนึ่งแง่มุมของชีวิต ซึ่งชีวิตคนเราไม่ได้มีแง่มุมเดียวให้สัมผัส แต่หากมีมากมายหลายแง่มุมให้สัมผัสเรียนรู้ และใช้ชีวิตเคียงคู่ไปด้วยกัน
เจ้าจ๋อแห่งถ้ำเขาหลวง ทั้งน่ารักและแสบสันต์
....................................................................................................
ถ้ำเขาหลวง หรือ ถ้ำวิมานจักรี ตั้งอยู่บนเขาหลวง ต.ธงชัย อ.เมือง จ.เพชรบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 5 กิโลเมตร

การเดินทางจากรุงเทพฯ ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ - เพชรบุรี ใช้ทางหลวงเพชรเกษมหรือหมายเลข 4 เมื่อวิ่งมาถึงจังหวัดเพชรบุรีตรงบริเวณ ทางแยกต่างระดับไปชะอำ(หากขับตรงไปจะเป็นเขาวัง) เมื่อถึง 3 แยก ให้เลี้ยวซ้าย ต่อจากนั้นวิ่งตรงไประยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะมาถึงยังลานจอดรถ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวถ้ำเขาหลวง ซึ่งต้องต่อรถ 2 แถวเล็กของชุมชน ในราคาคนละ 15 บาท(รวมขึ้น-ลง)ขึ้นสู่ทางเดินเท้าสู่ถ้ำเขาหลวง

ถ้ำเขาหลวง เปิดให้เที่ยวชมทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ เปิด 09.00 - 16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เปิด 09.00-17.00 น.

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลธงชัย สำนักปลัดฯงานส่งเสริมการท่องเที่ยว โทร.0-3278-0242

และสามารถสอบถามข้อมูล รายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดเพชรบุรี เชื่อมโยงกับถ้ำเขาหลวงได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี โทร. 0 3247 1005-6

หมายเหตุ :

-หนังสือ “ถ้ำเขาหลวง มรดกล้ำค่าของเพชรบุรี” โดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปรับปรุงมาจากงานวิจัยเรื่อง “ศิลปกรรมแห่งพระบรมราชานุสรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ที่ถ้ำเขาหลวง จ.เพชรบุรี” จัดพิมพ์เพื่อเป็นคู่มือการเรียนรู้ของโครงการวิจัยเรื่อง “ถ้ำเขาหลวงและสถานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม” โดยคณาจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการวิจัย, ผศ.ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ผู้ร่วมวิจัย และ ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ผู้ร่วมวิจัย(สนับสนุนทุนวิจัยโดย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.)

-ข้อมูลส่วนหนึ่งในบทความอ้างอิงจากหนังสือ “ถ้ำเขาหลวง มรดกล้ำค่าของเพชรบุรี”
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น