xs
xsm
sm
md
lg

งดงาม “โบสถ์แกะสลักไม้-ปูนปั้น” ศิลปะเมืองเพชร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี นับว่าเป็นเมืองเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังได้ชื่อเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณสถานต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ท้องถิ่นโดดเด่น โดยเฉพาะด้านงานศิลป์ที่เป็นผลงานของช่างสกุลเมืองเพชร

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ภาคกลาง ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโบราณสถาน วัดสำคัญๆ เช่น วัดกุฏิ พระราชวังรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) วัดมหาธาตุวรวิหาร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี เมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา

อุโบสถวัดกุฏิ มีลวดลายไม้แกะสลัก เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งเกิดจากความศรัทธาของช่างเขียน ช่างแกะสลัก ประชาชน พระสงฆ์ ที่ได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เป็นผลให้อุโบสถสำเร็จลงได้อย่างวิจิตรงดงาม มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษไม่ซ้ำแบบกับอุโบสถที่อื่นๆ แต่ละแผงแกะสลักเป็นภาพในเรื่อง ทศชาติชาดก มหาเวสสันดร และ ไซอิ๋ว มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและหนึ่งเดียวในโลก

ลักษณะอุโบสถเป็นอาคารไม้ ขนาด 7 ห้อง เชิงฝาเป็นคอนกรีต ปรุงฝาไม้เป็นแผงห้องละ 1 แผง แต่ละแผงแกะสลักเป็นภาพในเรื่อง ทศชาติชาดก มหาเวสสันดรชาดก และไซอิ๋ว รวม 21 แผง หน้าบันสร้างเป็นมุขประเจิด ลายหน้าบันเป็นไม้แกะสลักด้านหน้าเป็นรูปเงินตราพระมหามงกุฎ ซึ่งใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนด้านหลังเป็นรูปเงินตราในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โครงสร้างหลังคามีมุขประเจิด ทางด้านหน้าและหลังด้านละ 1 ชิ้น ทางด้านข้างมีตับหลังคาปีกนกลาดลง 2 ชั้น เครื่องลำยองเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ประดับกระจกปีกนกแผ่กว้าง และลดต่ำลงลวดลายแกะสลักอันงดงามกันแดดและฝนไม่ให้กระทบฝารอบอุโบสถ เสาแปดเหลี่ยม รับเชิงชาย 32 ต้น และเสามุขเป็นเสาเหลี่ยม 28 ต้น รวมทั้งสิ้น 60 ต้น

สำหรับวัดมหาธาตุวรวิหาร ผู้ที่เดินทางมาวัดแห่งนี้ นอกจากกราบสักการะสิ่งศักดิ์แล้ว ยังสามารถชมศิลปะปูนปั้นได้อย่างละลานตา เพราะแต่ละจุดแตกต่างกัน นับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะปูนปั้น ที่บรมครูได้สร้างสรรค์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้

“ผมได้มอบแนวทางการอนุรักษ์ไม้สักแกะสลักวัดกุฏิ แห่งเดียวในประเทศไทยและหนึ่งเดียวของโลก ที่สร้างจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและภูมิปัญญาฝีมือช่างเมืองเพชร ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นนั้น โดยมอบให้กรมศิลปากร จัดอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับงานช่างฝีมือเพชรบุรี เชิญช่างแกะสลักไม้ ช่างปูนปั้น ช่างสาขาต่างๆ ถือว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน มาถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่สนใจ เพื่อเป็นการส่งต่อมรดกภูมิปัญญาให้แก่คนรุ่นใหม่ได้สืบสานต่อไป” นายวีระ กล่าวว่า นอกจากเชิญช่างเมืองเพชร สาขาต่างๆ มาถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่แล้ว มีแนวคิดเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวสถานที่ต่างๆ ใน จ.เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป พร้อมกันนี้ ยังเป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน

สืบสานลายทองโบราณ-ฉลุลายฝังไม้มูก
ถ้าพูดถึงสกุลช่างเมืองเพชร หลายคนจะนึกถึงงานปูนปั้น งานแทงหยวก แต่ครั้งนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ช่างทำทองโบราณ กับช่างฉลุลายฝังไม้มูก
น.ส.สิริลักษณ์ ศรีทองคำ ทายาทรุ่นที่ 3 บ้านป้าฉิว ทองโบราณเพชรบุรี กล่าวว่า การผลิตเครื่องทองของเพชรบุรี ส่วนมากเป็นการผลิตเครื่องประดับทองรูปพรรณประเภทสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู จี้ เข็มกลัด ฯลฯ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ที่รูปทรงและลวดลายดัดแปลงจากธรรมชาติ รวมถึงสิ่งของต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ ลูกสน ดอกพิกุล ไข่ปลา เต่าร้าง ดอกพิกุล ดอกมะลิ ปลา เป็นต้น วัสดุที่นำมาผลิตเป็นเครื่องประดับมีทั้งทอง เงิน นาค และ อัญมณี

“เครื่องทองลายโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชร ส่วนใหญ่จะเป็นคนในท้องถิ่นเท่านั้นที่ยังนิยมสวมใส่ ประกอบกับช่วงนี้กระแสแต่งชุดไทยกำลังได้รับความนิยม จึงมีคนสนใจซื้อเครื่องทองลายโบราณเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี นอกจากลายโบราณแล้ว ทางร้านยังมีลายสมัยใหม่มากมายให้เลือกด้วย” น.ส.สิริลักษณ์ กล่าวว่า ตนได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเดินทางดูงานที่จุฬาฯ ขณะเดียวกัน นิสิตมาดูงานและฝึกทักษะการทำทองที่ร้านด้วย

นายนิยม ราชเจริญ สืบสานงานฉลุลายฝังไม้มูก เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเตี่ยขายเครื่องเรือนไม้เหมือนร้านทั่วๆ ไป จึงมีแนวคิดขายความต่าง นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการเรียนและฝึกฝนการฝังลายไม้มูกอย่างจริงจัง ส่วนมากจะทำลวดลายโบราณ ซึ่งเป็นลายไทยซะส่วนใหญ่ เพื่อสืบสานให้ศิลปะนี้คงอยู่คู่กับเมืองเพชร

ในปัจจุบันช่างฝังลายไม้มูกในเมืองเพชร เหลือน้อยมาก เนื่องจากต้องใช้ทักษะฝีมือ ต้องมีความอดทนสูง เพราะมีขั้นตอนการทำค่อนข้างซับซ้อนยุ่งยาก ที่สำคัญ กว่าจะได้ผลงานสักชิ้นหนึ่งต้องใช้เวลานานเป็นเดือน บางชิ้นหลายเดือนกว่าจะแล้วเสร็จ สิ่งเหล่านี้ไม่จูงใจเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ เกรงว่าในอนาคตงานฉลุลายฝังไม้มูกจะสูญหายไป
















กำลังโหลดความคิดเห็น