บอร์ดมรดกภูมิปัญญาฯ ประกาศขึ้นทะเบียน 18 รายการ 6 สาขา “ปอยส่างลอง - ถือศีลกินผัก - เล่นสะบ้า - ขนมฝรั่งกุฎีจีน - แข่งเรือยาวขึ้นโขน - ชิงธง” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2561
วันนี้ (22 มี.ค.) ที่ศูนย์การประชุม วธ. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 2/2561 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2561 จำนวน 18 รายการ เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติและเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน รวมทั้งเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ อันจะนำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจเห็นคุณค่ายอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการส่งเสริมรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
นายวีระ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ รับทราบผลการดำเนินของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ที่ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเพื่อเสนอขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2561 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จำนวน 18 รายการ ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา จากทั้งหมด 44 รายการ ในการนี้ ที่ประชุมบอร์ดได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายการมรดกฯ จำนวน 18 รายการ ดังกล่าว เพื่อประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2561 ใน 6 สาขา ประกอบด้วย
1. วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา จำนวน 1 รายการ ได้แก่ นิทานพื้นบ้านท้าวแสนปม จังหวัดกำแพงเพชร
2. ศิลปะการแสดง จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ลิเก จังหวัดพิจิตร - นครสวรรค์, สะไน จังหวัด, วายังกูเละ จังหวัดยะลา
3. แนวปฏิบัติทางสังคม ประเพณี พิธีกรรม และงานเทศกาล จำนวน 5 รายการ ได้แก่ พิธีถวายข้าวพีชภาคฯ และบุญเสียค่าหัว ข้าโอกาสพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม, ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์, ปักธงเมืองนครไทย จังหวัดพิษณุโลก, ประเพณีปอยส่างลอง (บวชลูกแก้วหรือบรรพชาสามเณร) จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต
4. ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ขนมฝรั่งกุฎีจีน กรุงเทพฯ, ดินสอพองลพบุรี จังหวัดลพบุรี, ตำรายาหลวงปู่ศุข จังหวัดชัยนาท
5. งานช่างฝีมือดั้งเดิม จำนวน 3 รายการ ได้แก่ เรือนโคราช จังหวัดนครราชสีมา, การทำกลอง-เอกราช จังหวัดอ่างทอง, เรือก่าบาง จังหวัดพังงา
6. การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว จำนวน 3 รายการ ได้แก่ วัวเทียมเกวียน จังหวัดเพชรบุรี, การเล่นสะบ้า จังหวัดสมุทรปราการ - นนทบุรี - กาญจนบุรี, การแข่งเรือยาว ขึ้นโขนชิงธง ลุ่มน้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร
“อนึ่ง การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินงานครั้งแรกหลังจากที่มีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินการ ใน 5 ขั้นตอน คือ 1. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้รับรายการที่ขอขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาฯ จาก 77 จังหวัด รวม 193 รายการ 2. คณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจาณาให้ความเห็นทางวิชาการโดยผ่านเกณฑ์การขึ้นบัญชี 18 รายการ 3. คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาฯ พิจารณาและให้ความเห็นชอบการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาฯ 4. รายการมรดกฯ 18 รายการที่ผ่านความเห็นชอบนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะดำเนินการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 22) และกำหนดจะจัดพิธีประกาศพร้อมนิทรรศการ การสาธิตรายการมรดกภูมิปัญญาฯ ในช่วงเดือนกันยายน 2561 ต่อไป” นายวีระ กล่าว