xs
xsm
sm
md
lg

“เยือนถิ่นยวน จวนนุ่งซิ่น กิ๋นอาหารเมือง” เปิดประสบการณ์เที่ยววิถีชุมชน @ ยวนต้นตาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เด็กๆ “ยวนต้นตาล” มาต้อนรับนักท่องเที่ยว
ในอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มีที่มาของชื่อที่น่าสนใจตามตำนานที่เล่าว่าชื่อ “เสาไห้” มาจากเสียงร้องไห้ตอนกลางคืนที่ชาวบ้านมักได้ยินจากศาลเจ้าแม่นางตะเคียน (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่วัดสูง ต.เสาไห้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี) เล่ากันว่าครั้งสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานี ได้มีการเกณฑ์เสาไม้จากหัวเมืองต่างๆ เพื่อคัดเลือกเสาที่มีลักษณะงดงามมาทำเป็นเสาเอก ทางเมืองสระบุรีจึงได้จัดส่งเสาลักษณะใหญ่และสวยงามล่องลงมาตามลำน้ำป่าสัก แต่ไปถึงช้าเพียงเล็กน้อยจึงไม่ได้รับเลือก เสาต้นนี้เกิดความเสียใจ จึงลอยทวนน้ำกลับขึ้นมาจมลง ณ ที่แห่งนี้ และยามค่ำคืนคนแถวนี้ก็มักได้ยินเสียงร้องไห้ลอยมาจากบริเวณนี้ ต่อมาจึงได้มีการสร้างศาลขึ้น

และนอกจากตำนานเกี่ยวกับชื่อที่น่าสนใจแล้ว อำเภอเสาไห้ยังมีชุมชนที่มีเสน่ห์ของวิถีชีวิตที่น่ายลอย่างชุมชน “ยวนต้นตาล” หรือ “ชุมชนบ้านต้นตาล” ตั้งอยู่ที่ ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ที่แม้จะอยู่ในภาคกลางแต่ที่นี่เป็นชุมชนคนไทยวน (ไท-ยวน) เหมือนทางภาคเหนือของไทย ที่ยังคงอนุรักษ์ความดั้งเดิมไว้ทั้งภาษา อาหารการกิน การแต่งกาย และวิถีชีวิต คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนให้ได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยวนอย่างใกล้ชิด และได้ลงมือทอผ้า ทำอาหาร เปิดรับประสบการณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง
บริการน้ำดื่มเย็นๆต้อนรับนักท่องเที่ยว
บรรยากาศริมแม่น้ำป่าสักบริเวณหอวัฒนธรรมไทยยวนสระบุรี
หากอยากรู้จักชาวไทยวนแห่งสระบุรีให้มากขึ้น ต้องมาที่ “หอวัฒนธรรมไทยวนสระบุรี” หมู่เรือนไทยอายุกว่า 80-100 ปี ที่หลายคนอาจดูแล้วคุ้นตาจากฉากละครโทรทัศน์ที่มาถ่ายทำหลายเรื่อง รวมถึงละครยอดฮิต "บุพเพสันนิวาส"
 
ที่นี่มีบรรยากาศที่ร่มรื่น โอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ ติดริมแม่น้ำป่าสัก จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาวิถีชีวิตชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อตั้งโดยอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล นักวิชาการด้านการศึกษาผู้ล่วงลับไปเมื่อไม่นานมานี้
 
ข้อมูลที่หอวัฒนธรรมฯ ทำให้เราทราบว่า ชาวไทยวน หรือ ไตยวน เรียกดินแดนของตนว่า “โยนกนคร” และเรียกชาวเมืองว่า “ยวน” ซึ่งเป็นเสียงเพี้ยนมาจากชื่อเมืองโยนก เป็นรัฐอิสระก่อนที่จะสถาปนาเป็นอาณาจักรล้านนา ต่อมาพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า นำทัพตีเมืองเหนือและปกครองดินแดนล้านนาเป็นเวลานานถึง 200 ปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีบัญชาให้ยึดเชียงแสนคืนจากพม่า และกวาดต้อนคนให้ไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งเดินทางมาอาศัยอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทั้งสองฝั่งของสระบุรี
การแสดงร่ายรำแบบพื้นบ้าน
นอกจากนั้นภายในหอวัฒนธรรมฯ ยังจัดแสดงข้าวของเก่าแก่และผ้าทอลวดลายโบราณของชาวยวน และบริเวณริมน้ำยังรวบรวมเรือชนิดต่างๆ ไว้มากกว่า 20 ลำ ให้ได้ชมเคล้าบรรยากาศลมโชยเบา ๆ กับแสงแดดอ่อน ๆ ที่ลอดเงาไม้ลงมา
สาธิตการทอผ้าแบบไทยวน
ย้อมฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ
ร้านค้าในตลาดต้าน้ำบ้านต้นตาล
กลิ่นอายที่โอบล้อมชุมชน “ยวนต้นตาล” หรือ “ชุมชนบ้านต้นตาล” นี้เกิดจากอนุรักษ์ความดั้งเดิมของชุมชนและวัฒนธรรมไว้อย่างเหนียวแน่น ชาวบ้านสวมใส่เสื้อผ้าท้องถิ่นเป็นปกติ ไม่ว่าจะแวะมาวันไหนก็เห็นได้ทุกวัน เรียกการแต่งกายนี้ว่า “นุ่งซิ่น” เป็นเครื่องแต่งกายจากภูมิปัญญาการถักทอผ้าที่สืบทอดมา มีการวางคู่สีที่โดดเด่น และมีเทคนิคพิเศษในการสร้างลวดลายที่ประณีต เช่น การจก ยกมุก ปั่นไก (ควบเส้น) เกาะล้วง และการมัดก่าน (คาดก่าน) ที่แสดงออกถึงศิลปะของโยนกเชียงแสน ซึ่งต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มาลองทอผ้าแล้วรับผลงานกลับได้ที่ “ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าตำบลต้นตาล” รวมถึงยังมีเสื้อผ้าท้องถิ่นไทยวนขาย ให้ทุกคนได้สวมชุดแบบชาวบ้านสร้างบรรยากาศในราคากันเอง ที่ “ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล”
ไข่ป่ามหน้าไส้กรอกและหน้าปูอัด
หมี่กรอบหลลากสีสันสดใส
สาธิตการทำขนมกง
ที่ "ตลาดต้าน้ำบ้านต้นตาล" นี้เปิดทุกวันอาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น. ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก บรรดาพ่อค้าแม่ขายล้วนนุ่งซิ่นเช่นกัน มีขายสิ้นค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นเมืองทั้งคาว-หวาน เช่น หมี่แจ๊ะ (ผัดหมี่ไทยวนโบราณ) ข้าวแคบ (ข้าวเกรียบ) หมี่กรอบ แป้งจี่ ไข่ป่าม ขนมกง และสินค้าพื้นบ้านต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ขนมกง” ที่หากไม่ได้ชิม เรียกว่ามาไม่ถึงสระบุรี รวมถึงยังมีให้ชมการสาธิตและให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองทำ “หมี่แจ๊ะ” “หมี่กรอบโบราณ” และ “ขนมกง” อีกด้วย
ขนมกงทอดสดใหม่ร้อนๆ
ข้าวผัดโบราณ หรือ ข้าวผัดซอสแดง
หากมาทันเวลาเที่ยงตรง ที่ “ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล” ก็จะได้ชมการแสดงวัฒนธรรม เช่น การฟ้อนจ้อง ฟ้อนขันดอก เพิ่มอรรถรสให้มื้อเที่ยงนี้ได้เป็นอย่างดี
แหนมย่างร้อนๆ
โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่เที่ยวที่น่าสนใจใน “ชุมชนบ้านต้นตาล” คือ “โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์” อยู่ที่บ้านท่าราบ ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ เป็นพื้นที่ตักน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นหนึ่งในเบญจสุทธิคงคา น้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำสายสำคัญ 5 สาย ที่ใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาอันศักดิ์สิทธิ์ (พิธีบรมราชาภิเษก ) ของราชวงศ์จักรี ซึ่งบริเวณนี้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลของอาจารย์กฤษฏิ์ ชัยศิลบุญ ภาควิชานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่อุทิศเพื่อสาธารณประโยชน์

ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ สืบเนื่องจากในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสทางชลมารค และแวะลงสรงน้ำ ณ บ้านท่าราบ ปรากฏว่าเรือพระที่นั่งติดสันดอนทราย ณ บริเวณนี้ จึงมีการให้สาวยวนต้นตาลหลายร้อยนางมาช่วยกันฉุดลากเรือออกไปได้ ในครั้งนั้น พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยสายน้ำที่เย็น ลึกและนิ่ง จึงมีพระราชประสงค์ให้นำน้ำบริเวณนี้ไปทำพิธีพุทธาภิเษก ที่วัดพระพุทธบาท ก่อนจะนำไปใช้พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกรวมถึงพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพระราชวัง โดยกำหนดให้นำน้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา (จากจ.อ่างทอง) แม่น้ำเพชรบุรี (จากจ.เพชรบุรี) แม่น้ำราชบุรี (จากจ.สมุทรสาคร) แม่น้ำบางปะกง (จากจ.นครนายก) และแม่น้ำป่าสัก (จากจ.สระบุรี ซึ่งมาเอาน้ำที่ท่าราบนี้ ต่างจากอีก 4 แห่ง ที่เอาน้ำมาจากที่วัด)
ริมแม่น้ำป่าสักที่โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์
ภายในบริเวณวัดเขาแก้ววรวิหาร
ไม่ใกล้ไม่ไกลในย่านชุมชนยังมีสถานที่ให้ได้ไปเก็บแต้มบุญกันที่วัดทั้ง 5 แห่ง โดยที่แรกอยู่ใกล้หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนที่สุด คือ “วัดเขาแก้ววรวิหาร” ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ดวงมณี” แห่งเสาไห้ จากเรื่องราวที่บอกเล่าโดยพ่อสมจิตต์ ยะกุล ประธานสภาวัฒนธรรม อ.เสาไห้ และพ่อครูด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยวน เล่าว่า ชาวบ้านต่างเคยเห็นดวงแก้วสุกสว่างเหนือวิหารเขาแก้ว หรือการแสดงปาฏิหาริย์ของสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่บรรจุในองค์พระเจดีย์ ซึ่งที่นี่ได้ประดิษฐ์พระบรมธาตุ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้

เดินทางต่อไปที่ “วัดต้นตาล” ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์การเรียนรู้การทอผ้า แต่เดิมบริเวณนี้เต็มไปด้วยต้นตาล จึงถูกเรียกว่า “วัดต้นตาล” วัดนี้สร้างตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นศาสนสถานประจำบ้านต้นตาล ภายในมีการซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งในโบสถ์และวิหาร โดยฝีมือของช่างเฉลิมชัย ป้องทอง ครูภูมิปัญญาด้านจิตรกรรม ซึ่งยังทำงานศิลปะนี้อยู่จนทุกวันนี้เพียงลำพัง

จากนั้น ข้ามไปอีกฝั่งของแม่น้ำป่าสัก ที่ ต.สวนดอกไม้ อ.เสาไห้ เป็นที่ตั้งของ “วัดสมุหประดิษฐาราม” มาชมภาพวิถีชีวิตคนไทยวนในยุคที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในสระบุรี ตลอดจนสภาพสังคมในยุคนั้นผ่านจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ต่อด้วยการสักการะศาลเจ้าแม่นางตะเคียน ที่มาของชื่อต.เสาไห้ ที่ “วัดสูง” และ ปิดท้ายด้วยการชมภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวการผูกเรือนแบบล้านนาหรือไทยวนและการแต่งกายในยุคโบราณ ภายในพระอุโบสถของ “วัดจันทบุรี”
วัดเขาแก้ววรวิหาร
เด็กๆ “ยวนต้นตาล” นั่งลอมวง
ถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศและวัฒนธรรมชุมชนบ้านต้นตาลยิ่งกว่านี้ สามารถมาเที่ยวช่วงที่มีจัดเทศกาลหรือประเพณีสำคัญได้ ที่นี่มี “ประเพณีสงกรานต์” จัด 5 วันเหมือนทางล้านนา “ประเพณีสลากภัต” จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการจัดเลี้ยงอาหารเย็นที่เรียกว่า “กินข้าวแลงขันโตก” การแสดงรำโทน (ฟ้อนโบราณของไทยวน) การฟ้อนเล็บ และ “ประเพณีทำบุญกลางบ้าน” หลังเทศกาลสงกรานต์เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้บ้าน

ไม่ว่าจะมาแบบเช้าไป-เย็นกลับ หรือจะเที่ยว “ยวนต้นตาล” ให้ครบทุกอารมณ์ เก็บทุกบรรยากาศ โดยพักค้างสักคืนที่นี่แล้วตื่นเช้ามาใส่บาตรพร้อมกันก็ย่อมได้ ชาวบ้านยวนต้นตาลยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน แล้วมา “เยือนถิ่นยวน จวนนุ่งซิ่น กิ๋นอาหารเมือง” เปิดประสบการณ์เที่ยววิถีชุมชน ที่ “ยวนต้นตาล” จ.สระบุรี
นั่งพักผ่อนหย่อนใจริมแม่น้ำป่าสักในหอวัฒนธรรมไทยวนสระบุรี
ชุมชนบ้านต้นตาล ตั้งอยู่ที่ ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ยวนต้นตาลเสาไห้-903254126521608/
หรือติดต่อ ผู้ประสานงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน
กฤษณา พิทยาบุตร โทร. 089-985-7726
วรัชยา หมวกลาว 092-440-8899
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น