xs
xsm
sm
md
lg

150 ปี คลองดำเนินสะดวก ยุคถนนลาดยางเข้ามาแทนที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ถ้าจะกล่าวถึงคลองดำเนินสะดวก หลายคนอาจนึกถึงจังหวัดราชบุรี หรือนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวเฉกเช่น “ตลาดน้ำดำเนินสะดวก” แหล่งจับจ่ายของกิน ของใช้ ผลไม้จากสวน และของที่ระลึกยอดนิยม โดยเฉพาะชาวต่างชาติ

แต่อันที่จริง คลองสายนี้ ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวบ้าน 3 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ที่ใช้สายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขามาอย่างยาวนาน เพิ่งจะครบรอบ 150 ปี ไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา

แม้ความเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคมขนส่ง จะทำให้ชีวิตชีวาของคลองดำเนินสะดวกจะขาดหายไปบ้างก็ตาม แต่หากมองย้อนไปในอดีตจะพบว่า คลองสายนี้ได้ผ่านความเจริญรุ่งเรือง เป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือที่สำคัญในพื้นที่

สมัยก่อน พื้นที่ โคกไผ่ (ปัจจุบันเรียกว่า ศรีดอนไผ่) เป็นที่ราบลุ่ม มีป่าดงไผ่และต้นเสือหมอบ แม้จะมีคลองธรรมชาติ เชื่อมกับแม่น้ำราชบุรี แต่ก็คดเดี้ยว ในยามฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำ ชาวบ้านจึงสัญจรไปมาโดยใช้สัตว์และเกวียนเป็นหลัก

ขณะที่การคมนาคมทางเรือจากเมืองหลวงไปยังเมืองราชบุรี จะใช้ คลองมหาชัย ข้ามแม่น้ำท่าจีน ต่อเนื่อง คลองสุนัขหอน ไปออกแม่น้ำแม่กลอง ในอดีตเคยใช้เดินทัพไปชายแดนพม่าและมลายู และขนส่งสินค้าจำพวกน้ำตาล เครื่องเทศ เกลือ

ทั้งสองคลองมีความคดเดี้ยว ได้ชื่อว่า “สามสิบสองคด” การเดินทางไปมาก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ใช้เวลานานมาก

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2389 ประเทศสยามก็มีความเจริญจากการค้าขายกับต่างประเทศ โดยสยามส่งออกน้ำตาล ข้าว และพริกไทย

ในยุคนั้นมีการขุดคลองมากขึ้น วัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว และเป็นช่องทางขนส่งน้ำตาลจากแหล่งผลิตอ้อยใหญ่ ๆ โดยมีคลองสำคัญ ได้แก่ คลองเจดีย์บูชา คลองมหาสวัสดิ์ และ คลองภาษีเจริญ

รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริในปี พ.ศ. 2409 ว่า “การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาครก็มีคลองภาษีเจริญไปมาสะดวกดีอยู่ จึงควรมีคลองระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาครและราชบุรีให้สะดวกขึ้น โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นสื่อกลาง”
รูปปั้น สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งเป็น พระประสาทสิทธิ์ ตำแหน่งพระสมุหกลาโหม เป็นแม่กองขุด โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 400 ชั่ง และพระประสาทสิทธิ์สมทบอีก 1,000 ชั่ง

โดยว่าจ้างแรงงานชาวจีน และชาวบ้านดอนไผ่ขุดคลอง ใช้วิธีขุด 2 วา เว้น 1 วา แล้วปล่อยให้น้ำหลากเซาะให้ทะลุต่อกันตั้งแต่บางยาง เมืองนครไชยศรีฝั่งตะวันออก ไปตกคลองบางนกแขวก แขวงเมืองราชบุรี

ลักษณะของคลอง มีความกว้าง 6 วา (12 เมตร) ลึก 6 ศอก (3 เมตร) ยาว 840 เส้น (ประมาณ 33.6 กิโลเมตร) ใช้เวลาในการขุดรวม 2 ปี เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2411 ก่อนจะจัดทำแผนผังในการขุดคลองขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรแล้วเห็นว่า คลองที่ขุดใหม่มีความยาวมาก และขุดได้ตรงไม่คดเคี้ยว สะดวกต่อการสัญจรไปมา จึงพระราชทานนามให้เป็นมงคลแก่คลองนี้ว่า “ดำเนินสะดวก”

ก่อนที่สมุหกลาโหมในขณะนั้น จะทำพิธีเปิดใช้คลองดำเนินสะดวก บริเวณบางนกแขวก อย่างเป็นทางการ เมื่อวันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 4 ค่ำ จ.ศ. 1230 ร.ศ. 87

ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 หรือเมื่อ 150 ปีก่อนนี่เอง

นอกจากคลองดำเนินสะดวกแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้สั่งให้ขุด “คลองศรีสุราษฎร์” เพื่อให้น้ำไหลผ่านเข้าไปในพื้นที่บางคนที และอัมพวา และทางราชการยังขุดคลองลัดราชบุรี หรือที่เรียกว่า “คลองลัดพลี” อีกด้วย

หลังจากคลองดำเนินสะดวกเปิดใช้งาน ผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ต่างก็เข้ามาจับจองที่ดินเพื่อทำการเกษตร และขุดคลองซอยเชื่อมต่อกัน มากกว่า 200 คลอง เพื่อความสะดวกในการสัญจร

เมื่อมีเรือสัญจรจำนวนมาก จึงเกิดการกัดเซาะตลิ่ง ทำให้ความกว้างของคลองดำเนินสะดวกบางช่วง จากเดิม 6 วา (12 เมตร) ก็ขยายเป็น 10-20 วา (20-30 เมตร) ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังเป็นการแจ้งเกิด “ตลาดน้ำ” จากเดิมกระจัดกระจายอยู่ที่อัมพวา และบางคนที เมื่อเปิดคลอง พ่อค้าแม่ค้าจึงเริ่มเปิดตลาดน้ำ เริ่มตั้งแต่ปากคลองบางนกแขวก ก่อนขยับเข้ามาที่ศูนย์กลางของชุมชน บริเวณปากคลองลัดพลี
หลักเขตที่ 5
เอกลักษณ์ของคลองดำเนินสะดวก คือ การแบ่งหลักเขตทั้งหมด 9 หลัก แต่ละหลักห่างกันประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งตามหลักเขตนี่เอง กลายเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ อาทิ

หลักสาม ถือเป็นศูนย์กลางของอำเภอบ้านแพ้ว สมัยก่อนเป็นป่าทึบชายทะเลที่กว้าง มีสัตว์ป่าจำนวนมาก มีคลองธรรมชาติคือ คลองหมู่ทอดและคลองแพ้ว ชาวนครปฐมนิยมมาล่าสัตว์โดยชักธงปักไว้สูงๆ เรียกว่า "แพ้วธง"

ต่อมา มีชาวบ้านอพยพตั้งถิ่นฐานบริเวณแพ้วธง กลายเป็นชุมชนขึ้นมา และเมื่อขุดคลองดำเนินสะดวก ผ่านบ้านแพ้วบริเวณหลักสาม กลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ชาวบ้านจับจองที่อยู่อาศัย และสัญจรไปมามากขึ้น

จึงยกฐานะทางปกครองให้เป็นตำบลบ้านแพ้ว ขึ้นกับ อ.บ้านบ่อ จ.สมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ. 2450 ก่อนรวมพื้นที่ 8 ตำบลใน จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร ขึ้นเป็น อำเภอบ้านแพ้ว เมื่อปี พ.ศ. 2468

หลักห้า รอยต่อระหว่าง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร กับ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นที่ตั้งของ วัดปราสาทสิทธิ์ หรือวัดหลักห้า ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สร้างวัดแห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์
ประตูน้ำบางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
อีกด้านหนึ่ง ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีนในช่วงฤดูแล้ง ทำลายผลผลิตของชาวบ้าน กรมชลประทานจึงก่อสร้างประตูน้ำบางยาง ปากแม่น้ำท่าจีน และประตูน้ำบางนกแขวก ปากแม่น้ำแม่กลอง ในปี พ.ศ. 2482

กระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นใช้คลองดำเนินสะดวกลำเลียงขนส่งอาหารและอาวุธต่างๆ ไปยังกาญจนบุรี ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงทิ้งระเบิดลงประตูน้ำทั้งสอง เพื่อตัดเส้นทางของญี่ปุ่นลง

หลังสงครามสงบ กรมชลประทานได้ซ่อมแซมประตูน้ำทั้งสองแห่ง ในปี พ.ศ. 2489 พบลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่ที่ประตูน้ำบางนกแขวก บริเวณก้นคลอง 3 ลูก ขณะนำดินระเบิดออกมาเกิดระเบิดขึ้น 1 ลูก เสียชีวิต 2 คน

ส่วนความคึกคักของคลองดำเนินสะดวกในอดีต นอกจากวิถีชีวิตริมคลองแล้ว ยังมีวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีแห่พระพุทธรูปทางน้ำ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ชาวบ้านตลอดสองฝั่งคลองได้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล
หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ วัดปราสาทสิทธิ์
โดยฝั่งวัดปราสาทสิทธิ์ หลักห้า อ.ดำเนินสะดวก จะแห่พระพุทธรูป หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ ส่วนฝั่งวัดหลักสี่ราษฎรสโมสร อ.บ้านแพ้ว ก็แห่พระพุทธรูป หลวงพ่อโต ตั้งแต่หลักศูนย์ ปากคลองบางยาง ถึงหลักแปด ปากคลองบางนกแขวก

ถือได้ว่าเป็นงานบุญงานใหญ่ ของชาวบ้านสองฝั่งคลองแห่งนี้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่การคมนาคมทางบก โดยเฉพาะถนนลาดยาง ถูกเข้ามาแทนที่การคมนาคมทางน้ำ ผ่านแม่น้ำลำคลอง

มาถึงสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ก่อสร้างถนนธนบุรี - ปากท่อ มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ เปิดใช้เมื่อ 1 เมษายน 2516

ต่อมา ปี พ.ศ. 2519 ได้มีการตัดถนนจากถนนธนบุรี - ปากท่อ บริเวณบ้านบ่อ ผ่านหลักสาม ไปออกถนนเพชรเกษมที่วัดพระประโทน จ.นครปฐม เรียกว่า ถนนบ้านแพ้ว - พระประโทน

ขณะที่ทางราชการ ได้มีการตัดถนนลาดยาง จากถนนสมุทรสงคราม - บางแพ ไปยังชุมชนหลักห้า ส่วนกรมโยธาธิการ ก่อสร้างถนนลาดยางและสะพาน จากหลักสามถึงหลักห้า ในปี พ.ศ. 2543 กลายเป็นเส้นทางคมนาคมหลักแทนที่คลอง

แน่นอนว่า เมื่อมีถนนตัดผ่าน ชาวบ้านที่มีรถจึงสัญจรไปมาอย่างสะดวก ชุมชนริมน้ำก็ค่อยๆ ซบเซา

ขณะที่ริมถนนลาดยาง พบอาคารพาณิชย์อยู่เป็นหย่อมๆ ผู้คนนิยมจับจ่ายตามตลาดนัดที่เปิดเป็นประจำทุกสัปดาห์

ส่วนวิถีชีวิตของคนดำเนินสะดวก เริ่มเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผู้คนนิยมจับจ่ายซื้อของที่ตลาดในตัวอำเภอมากกว่า ทำให้การค้าขายริมคลองเริ่มซบเซา แต่ก็ยังมีแม่ค้าบางคนยังพายเรือขายของให้ได้พบเห็น

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคลองดำเนินสะดวกจะหมดประโยชน์เสียเลยทีเดียว เพราะชาวบ้านยังคงต้องใช้น้ำในคลองทำการเกษตร

โดยรับน้ำจากเขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ผ่านแม่น้ำแม่กลองเป็นหลัก มีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา 4 แห่งดูแล ได้แก่ โครงการดำเนินสะดวก กินพื้นที่ทิศใต้ของคลองทั้งหมด 1.26 แสนไร่

ส่วนทิศเหนือของคลองแบ่งออกเป็น โครงการราชบุรีฝั่งซ้าย โครงการนครชุม และโครงการนครปฐม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างก็คือ น้ำในคลองเสื่อมโทรม

ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ ให้คลองดำเนินสะดวกจัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2557 เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน มีอินทรีย์สาร และสารเคมี ปนเปื้อนลงคลองมากขึ้น

แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการจะเคยลงมาแก้ไข แต่ปัญหาน้ำเน่าเสีย มีผักตบชวาและวัชพืชลอยน้ำยังคงมีอยู่ต่อไป

เกินความสามารถของแหล่งน้ำในการรองรับของเสีย และฟอกตัวเองได้ตามธรรมชาติ

สิ่งสำคัญที่ยังหลงเหลือ คือร่องรอยของย่านการค้าริมน้ำในอดีต ซึ่งพบเห็นได้ที่ชุมชนหลักห้า

เราจะยังได้พบเห็นร้านค้าอาคารไม้ เห็นทางเดินริมน้ำ มีธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ หันหน้าไปทางริมคลองดำเนินสะดวก

นักท่องเที่ยว นอกจากจะได้สักการะหลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ ที่วัดปราสาทสิทธิ์แล้ว ยังมี ก๋วยเตี๋ยวเรือแม่ระเบียบ ที่ยังคงพายเรือขายอยู่ที่ท่าน้ำ

และยังได้เห็นความงดงามของ โบสถ์คาทอลิก ภายในโรงเรียนวันทามารีอา ราชบุรี

แม้ร้านค้าส่วนใหญ่ในชุมชนหลักห้าจะซบเซา บางร้านถูกปิดตาย แต่ก็ยังได้เห็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าในอดีต

พร้อมกับบรรยากาศค้าขายแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยของชาวบ้านหลักห้า แม้จะมีเรือเหลืออยู่เพียงไม่กี่ลำก็ตาม
โบสถ์คาทอลิก ภายในโรงเรียนวันทามารีอา ราชบุรี
การเข้ามาแทนที่แล้วทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม (Disruption) ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เทคโนโลยี หากแต่ความเจริญของชีวิตสมัยใหม่

วิถีชีวิตริมน้ำถูกแทนที่ด้วยถนนลาดยางและอาคารพาณิชย์ ผู้คนหันมาจับจ่ายซื้อของบนบกแทน

สัจธรรมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ยังคงไม่มีที่สิ้นสุด สายน้ำในคลองที่ไม่ไหลกลับก็เช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เหลือไว้เพียงแค่ร่องรอยอดีตให้เรามองย้อนไป เพื่อให้เข้าใจถึงโลกปัจจุบัน และรับมือกับอนาคต

คลองดำเนินสะดวกในวันนี้ แม้จะไม่เหมือนวันวานที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลัก แต่ก็ยังคงดำรงความเป็นคลองให้ชาวบ้านริมสองฝั่งคลองได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

แม้บทบาทที่เคยมีจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยก็ตาม.

(ถ่ายภาพโดย กิตติกร นาคทอง)


กำลังโหลดความคิดเห็น