xs
xsm
sm
md
lg

เผยแบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา ห้ามเรือจอดหน้าหาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพ 3 มิติ แบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา
กรมอุทยานฯ เผยแบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา หนึ่งในแผนฟื้นฟูอ่าวมาหยา หลังประกาศปิดอ่าว 4 เดือน โดยต่อไปจะไม่ให้เรือเข้าทางด้านหน้าหาด แต่จะให้ไปขึ้นที่ท่าเรือสร้างใหม่ที่อ่าวโล๊ะซามะ ที่อยู่ด้านหลังของอ่าวมาหยาแทน

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยแบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูอ่าวมาหยา หลังประกาศปิดอ่าว 4 เดือน โดยต่อไปจะไม่ให้เรือเข้าทางด้านหน้าหาด แต่จะให้ไปขึ้นที่ท่าเรือสร้างใหม่ที่อ่าวโล๊ะซามะ ที่อยู่ด้านหลังของอ่าวมาหยาแทน
อ่าวมาหยา อ่าวชื่อดังระดับโลกแห่ง จ.กระบี่
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ประกาศปิดอ่าวมาหยา ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งบนบกและใต้ทะเล เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ถึง วันที่ 30 กันยายน 2561 และเตรียมปรับปรุงระบบเข้าอ่าวมาหยาใหม่ทั้งหมด

โดยห้ามทำกิจกรรมการท่องเที่ยวบริเวณอ่าวมาหยาโดยเด็ดขาด แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำเรือเข้ามาลอยลำนอกบริเวณแนวทุ่นไข่ปลาที่กั้นแนวเขตห้ามเข้าไว้ เนื่องจากทรัพยากรแนวปะการังบริเวณอ่าวมาหยาเสียหายอย่างมากจากกิจกรรมการท่องเที่ยวของมนุษย์ เช่น กิจกรรมการดำน้ำตื้น การทิ้งสมอเรือ การเข้า - ออกของเรือสปีดโบ้ต และเรือหางยาวเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละวันมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเฉลี่ย 3,000 - 4,000 คน โดยพบซากปะการังแตกหักบริเวณพื้นและแนวปะการังบริเวณใกล้ชายหาดที่มีเรือเข้าออกตลอดเวลา ไม่มีปะการังที่มีชีวิตเหลืออยู่เลย

สำหรับอ่าวมาหยา ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเฉลี่ยมากกว่า 2 ล้านคน โดยแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 3,800 คน ซึ่งหลังจากนี้กรมอุทยานฯ จะเริ่มทำการก่อสร้างสะพานเทียบเรือและทางเดินบริเวณด้านข้างตรงอ่าวโล๊ะซามะ แล้วปิดไม่ให้เรือวิ่งเข้าออกบริเวณหน้าอ่าวมาหยาอย่างถาวร โดยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมอ่าวมาหยาผ่านทางอ่าวโล๊ะซามะเท่านั้น เพื่อกำหนดและควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวันไม่ให้เกิน 2,000 คน และฟื้นฟูแนวปะการังให้กลับคืนความสมบูรณ์มากที่สุด
ภาพ 3 มิติ แบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา
นอกจากนี้ นายทรงธรรม ยังกล่าวว่า ได้นำทีมวิศวกรและสถาปนิกลงพื้นที่เพื่อออกแบบสะพานและทางเดินให้เหมาะสม กลมกลืนกับสภาพพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด พร้อมกันนี้ จะดำเนินการจัดทำแปลงอนุบาลปะการัง โดยพิจารณาใช้วิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น การขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธี coral propagation เป็นวิธีการที่ง่ายและกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ ด้วยการนำเศษปะการังที่แตกหักมาใช้ขยายพันธุ์ และการทำ coral tree เพื่อเตรียมกิ่งพันธุ์สำหรับใช้ในการปลูกขยายพันธุ์ปะการัง

สำหรับการสร้างท่าเรือสู่อ่าวมาหยา เป็นมาตรการแรกที่จะลดผลกระทบจากเรือที่แล่นเข้า - ออกหน้่าหาด ส่วนการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมากจนเกินไปนั้น จะต้องพูดคุยเพื่อหาแนวทางกับกระทรวงการท่องเที่ยวรวมทั้งมาตรการอื่นๆที่จะลดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้เป็นภาระธรรมชาติบนเกาะมากจนเกินไป และเพื่อให้ปะการังน้ำตื้นหน้าอ่าวมาหยาได้ฟื้นฟูกลับมา โดยบริเวณอ่าวโล๊ะซามะสามารถสร้างท่าเทียบเรือได้เพราะไม่มีแนวปะการัง

ขณะที่โครงสร้างท่าเทียบเรือนี้จะไม่ใช้การตอกเสาเข็มที่จะรบกวนทะเล แต่ใช้เทคโนโลยีแบบ Floating คือ ลอยน้ำได้ มีกำหนดเสร็จภายใน 30 กันยายนนี้ ซึ่งหลังจากนั้นจะจัดการการท่องเที่ยวโดยใช้ระบบจอง e-ticket ผ่านแอปพลิเคชันล่วงหน้า นักท่องเที่ยวจะขึ้นเกาะได้ต้องสแกนตั๋วผ่านขึ้นมาเท่านั้น
ภาพ 3 มิติ แบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา
ภาพ 3 มิติ แบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา
ภาพ 3 มิติ แบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา
ภาพ 3 มิติ แบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา
ภาพ 3 มิติ แบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา
ภาพ 3 มิติ แบบท่าเทียบเรือสู่อ่าวมาหยา
....................................................................................................

หมายเหตุ : ภาพ 3 มิติ แบบท่าเทียบเรือจาก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหาร มาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น