"จังหวัดเชียงใหม่" ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีโครงการหลวงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง ซึ่งโครงการหลวงเหล่านี้เกิดจากแนวคิดพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ให้มีอาชีพที่สุจริตและมั่นคงยั่งยืนสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขา จึงทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าจะให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นก็ต้องหาพืชอื่นที่ขายได้ราคาดีกว่าและมีความเหมาะสมที่จะปลูกในที่สูงมาให้ชาวเขาปลูกทดแทนเป็นรายได้เสียก่อน จึงจะสามารถเลิกปลูกฝิ่นได้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดกิจกรรม “ก้าวแรกสู่ 9 ที่ยิ่งใหญ่” เส้นทางท่องเที่ยว 9 เส้นทาง ซึ่งคัดเลือกโครงการตามพระราชดำริ หรือสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเยี่ยมเยือนพสกนิกรนำมาผูกโยงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวให้ประชาชนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นแรงบันดาลใจในการเดินตามรอยของพ่อ โดยในครั้งนี้เป็นการดำเนินรอยตามที่ จ.เชียงใหม่ ในเส้นทางเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ตามรอยก้าวที่ยิ่งใหญ่ ผ่านการท่องเที่ยว “โครงการหลวงทุ่งเริง สวนกุหลาบห้วยผักไผ่ และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”
เริ่มต้นกันที่ "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง" ซี่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2521 ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อดำเนินการตามกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้เกษตรกรในท้องถิ่นนั้นได้มีความรู้ความชำนาญและมีรายได้ที่เหมาะสม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของชนเผ่า ตลอดจน ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านอาชีพเกษตรเป็นลำดับแรก ต่อมาได้ทำการขยายผลการดำเนินงานไปในด้านความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมทั้งได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน 13,277 ไร่ ครอบคลุม 2 หมู่บ้าน โดยพระองค์ได้เสด็จมาเป็นเยี่ยมราษฏรในปี 2522 เพื่อทอดพระเนตรศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง และได้พระราชทานต้นไม้ให้กับชาวบ้านนำไปปลูก โดยพ่อมอย ผู้ที่ได้รับพระราชทานต้นไม้สมอจีนได้เล่าว่า “ตนเองรู้สึกปลาบปลื้มยินดีมากที่ในหลวงได้เสด็จมาและเปิดศูนย์พัฒนาแห่งนี้ จนมีรายได้พอเพียงที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เมื่อก่อนชาวบ้านแถวนี้มีชีวิตที่ลำบากและปลูกพืชไร่เลื่อนลอย ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น แต่พอได้มีศูนย์โครงการหลวงมาเปิด ตนจึงได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้ชีวิตดีขึ้น ตอนที่ในหลวงเสด็จมาในปี 2522 ตนมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและได้รับพระราชทานต้นไม้ของในหลวง ซึ่งเป็นต้นสมอจีน ตนจึงได้ปลูกไว้และคอยดูแลให้เติบใหญ่ รักษาต้นไม้ที่ในหลวงได้พระราชทานให้”
พ่อมอย ถือหนึ่งในชาวบ้านที่ได้ร่วมโครงการตั้งแต่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงเปิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ทำให้พ่อมอยได้มีวิถีชีวิตดีขึ้นรวมทั้งครอบครัวมีรายได้แน่นอน เพราะศูนย์โครงการหลวงทุ่งเริงนั้น เป็นศูนย์ที่เน้นส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรให้ชาวบ้านได้ทำเกษตรที่ถูกต้องและมีคุณภาพ โดย ทวีศักดิ์ ตุลาการ เจ้าหน้าที่ตำแหน่ง นักวิชาการผัก ศูนย์โครงการหลวงทุ่งเริง ได้เล่าเกี่ยวกับโครงการนี้ให้ฟังว่า “โครงการนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อแบ่งปันพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้านได้ปลูกผักต่างๆ เพื่อหารายได้ แทนที่ปลูกฝิ่นที่เป็นสารเสพติด ที่นี่เจ้าหน้าที่จะช่วยวางแผนและเป็นที่ปรึกษาการปลูกให้กับชาวบ้านเป็นรายบุคคล โดยดูจากตลาดความต้องการเป็นหลัก และควบคุมผลผลิต รวมทั้งดูแลการขายผลผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อการันตีรายได้ให้ชาวบ้านนั้นมีรายได้ทุกอาทิตย์”
หลังชมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เดินไปทางไปกันต่อที่ "สวนกุหลาบห้วยผักไผ่" เป็นหน่วยย่อยในศุนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง โดยนำหลักวิชาการทางด้านปลูกกุหลาบมารวบรวมไว้ และพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าภายในหมู่บ้านห้วยผักไผ่ ให้กลายเป็นสวนกุหลาบที่มีบรรยากาศสดชื่น เนื่องจากบริเวณแห่งนี้เป็นต้นน้ำ ภายในสวนกุหลาบมีหลากลายสายพันธุ์ อาทิ กุหลาบเลื้อย กุหลาบหอม นอกจากเปนจุดชมดอกกุหลาบสวยๆ แล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมยกให้เป็นจุดที่มีโอโซนที่ดีที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
จากนั้นเดินทางกันต่อถึง "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" สถานีทดลอง ค้นคว้า และวิจัยพืชผลเมืองหนาวแห่งแรกของโครงการหลวง อยู่บนเทือกเขาแดนลาว ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “เพื่อให้เขาช่วยตัวเอง” จึงเปลี่ยนพื้นที่ไร่ฝิ่นมาเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาวเพื่อสร้างรายได้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ที่หมู่บ้านผักไผ่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาเผ่ามูเซอ ซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ ปลูกฝิ่นขายแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่สำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งจะนำมาให้เกิดความเสียหายต่อของประเทศได้ จึงมีพระราชดำรัสว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศที่หนาวเย็น แต่มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้เหลืออยู่เลย ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากการขายฝิ่นเท่ากับได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทผลไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อซื้อที่ดินในบริเวณดอยอ่างขาง และจัดตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เพื่อใช้เป็นสถานีวิจัยทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิด ต่างๆ อาทิ ผัก ผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างเกษตรชาวเขา ในการนำพืช เหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ โดยพระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”
จากนั้นไปชม"พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)" ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2515 เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรนำมาแปรรูปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอนและดอยอ่างขาง ซึ่งต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้ารับช่วงการดำเนินงานของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป จัดตั้งเป็นบริษัทโดยใช้ทะเบียนการค้า “ดอยคำ” ที่เน้นผลิตสินค้าจากผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรไทย และพัฒนาสินค้าที่มีคุณค่าทางอาหาร เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ จาก "ดอยฝิ่น" สู่ "ดอยคำ" นั่นเอง
หลังจากก่อตั้งโรงงานมา 30 กว่าปี ในเดือนตุลาคม ปี 2549 ได้เกิดพิบัติภัยน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชนในตำบลแม่งอน ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงโรงงานหลวงฯ ด้วยเช่นกัน
จากความเสียหายในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความเสียหาย บริเวณบ้านยางและโรงงานหลวงฯ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาโรงงานหลวงฯ ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป เพื่อเกื้อหนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนโดยรอบ เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดำริในการพัฒนา และเพื่อความคงอยู่อย่างยั่งยืนของโรงงานหลวงฯ
เดินทางกันต่อสู่ "พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์" พระตำหนักแห่งนี้ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ชมความงามอันประณีตของพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2504 เพื่อใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ จังหวัดเชียงใหม่นี้ รวมทั้งยังใช้รับรองพระราชอาคันตุกะในวโรกาสต่างๆ บรรยากาศโดยรอบพระตำหนักรายล้อมด้วยภูมิประเทศที่สวยงาม มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ส่วนภายในบริเวณประกอบไปด้วยพระตำหนักพฤกษาวิสุทธิคุณ เป็นอาคาร 2 ชั้น มีชั้นใต้ดินตั้งอยู่บนเนิน และพระตำหนักสิริส่องภูพิงค์ ที่ใช้ไม้ยูคาลิปตัสมาก่อสร้างในรูปแบบ log cabin และยังมีเรือนรับรองเป็นอาคาร 2 ชั้นแบบไทยประยุกต์ ซึ่งใช้เป็นที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จ นอกจากนี้ในบริเวณพระตำหนักมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีภูมิทัศน์สวยงามสดชื่น สวนเฟิร์นธรรมชาติ มีอาคารที่จัดแต่งเป็นสวนดอกไม้ละลานตา โดยเฉพาะดอกกุหลาบหลากสายพันธุ์ที่พากันอวดช่อดอกดูสดใส
มุ่งหน้าชมดอกไม้สวยๆ ที่ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” หรือชื่อเดิมว่า “สวนเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์” จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษาในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 และทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศูนย์กลางการเรียนรู้พืชสวนโลก มีการจัดแสดงพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด การจัดแสดงนิทรรศการด้านการเกษตรและอื่น ๆ เพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อการศึกษางานวิจัย และเป็นแหล่งพบปะกันในกลุ่มเกษตรกร ภายในพื้นที่มีการจัดภูมิสถาปัตย์อย่างสวยงาม
เส้นทางท่องเที่ยวในโครงการหลวง นั้นถือว่าเป็นหนึ่งเส้นทางที่ถูกคัดเลือกให้อยู่ในโครงการ “ก้าวแรกสู่ 9 ที่ยิ่งใหญ่” เนื่องจากในหลวงร.9 นั้นได้ทรงพระราชดำริ พลิกฟื้นชีวิตคนบนดอยจนมีความเป็นอยู่ทีดีขึ้น รวมทั้งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติยอดฮิต จนกลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีความหมายและคุณค่าให้เราได้ได้เดินทางไปสัมผัสกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com