ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงมุ่งเน้นซึ่งประโยชน์และความสุขของปวงราษฎร์ ดังจะเห็นได้จากโครงการพระราชดำริหลายๆ เรื่องที่ล้วนแล้วแต่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และราษฎรของพระองค์ทั้งสิ้น
“โครงการหลวง” เป็นอีกหนึ่งโครงการจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ที่สร้างคุณอเนกอนันต์แก่ประชาชน โดยเฉพาะราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ให้มีอาชีพที่สุจริตและมั่นคงยั่งยืนสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดย “โครงการหลวง” ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ.2512 เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขา จึงทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าจะให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นก็ต้องหาพืชอื่นที่ขายได้ราคาดีกว่าและมีความเหมาะสมที่จะปลูกในที่สูงมาให้ชาวเขาปลูกทดแทนเป็นรายได้เสียก่อน จึงจะสามารถเลิกปลูกฝิ่นได้
ในเบื้องต้น ทรงมอบให้ ม.จ. ภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระราชประสงค์ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อ ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ เป็นโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาโครงการหลวงภาคเหนือ โครงการหลวง และท้ายที่สุดได้ จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” ใน พ.ศ.2535
“ดอยอ่างขาง” ได้รับเลือกให้เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการฯ และได้รับพระราชทานชื่อในเวลาต่อมา ว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” จึงถือได้ว่าดอยอ่างขางเป็นโครงการเกษตรหลวงแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงพระราชทานให้แก่ชาวไทยและชาวไทยภูเขา ให้เป็นโครงการเกษตรเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นในอดีต
และจากวันนั้นเป็นต้นมา โครงการหลวงมีการพัฒนาเรื่อยมาจนปัจจุบันมีทั้งหมดทั้งสิ้น 38 แห่ง ดังนี้
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง”
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ การทำไร่เลื่อยลอย การปลูกฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาไม่เฉพาะในท้องถิ่นแห่งนั้น จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น
สถานีเกษตรหลวงปางดะ จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ.2522 มูลนิธิโครงการหลวงได้เลือกพื้นที่ในสถานีทดลองข้าวไร่ และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง ของกรมวิชาการเกษตรหมู่บ้านปางดะ เป็นแหล่งทำการขยายพันธุ์พืช เมื่อปริมาณความต้องการด้านพันธุ์พืชเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลิตต้นพันธุ์ได้ไม่เพียงพอ มูลนิธิโครงการหลวงจึงเปิดสถานที่แห่งใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2526
สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด จ.เชียงใหม่
ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2527 ภายในเนื้อที่ 60 ไร่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เน้นการวิจัยกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์ผสม 28 สายพันธุ์ ควบคู่ไปกับการวิจัยพืชเสริมชนิดอื่น เช่น กระวานและพริกไทย เพื่อใช้ปลูกร่วมในแปลงกาแฟ ซึ่งกาแฟพันธุ์กาแฟอาราบิก้านี้
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย จ.เชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอ บ้านแกน้อย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ทรงทราบถึงปัญหาของราษฎร ที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการปลูกฝิ่น การปลูกข้าวที่สามารถปลูกได้เพียงปีละครั้ง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2527 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง ให้ได้รับการดูแลในด้านสาธารณูปโภคที่เพียงพอ ลดปัญหาการบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอย และขจัดปัญหาการปลูกฝิ่น
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านขุนวางเป็นครั้งแรก ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณนี้ยังคงมีการปลูกพืชเสพติดเช่นฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีรายได้ทัดเทียมหรือดีกว่าปลูกฝิ่น
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จ.เชียงใหม่
หมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมรายได้น้อยความเป็นอยู่ยากลำบาก จวบจนกระทั่ง พ.ศ. 2524 สายพระเนตรที่ทรงห่วงใยราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 300,000 บาท
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ. 2520 มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน เริ่มต้นดำเนินการบุกเบิกจัดสรรพื้นที่ทำกินให้เกษตรกร จัดหาแหล่งน้ำ และระบบชลประทาน เพื่อลดการปลูกฝิ่น เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรชาวเขาให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดการทำไร่เลื่อนลอย ส่งเสริมความรู้ในการพัฒนาด้านต่างๆ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงอยู่ท่ามกลางหุบเขาและแมกไม้ ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเขตพื้นที่อำเภอหางดง อากาศปลอดโปร่งเหมาะแก่การพักผ่อนดับความว้าวุ่นของสังคมคนเมืองเป็นอย่างดี ในอดีตพื้นที่ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นแหล่งทดลองดอกไม้เมืองหนาวที่สำคัญ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2522 ด้วยแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีพ และขาดการสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านอาชีพที่ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลให้ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรชาวเขาในพื้นที่ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและยากจนของชาวเขา พระองค์ทรงช่วยเหลือและรับหมู่บ้านแห่งนี้ไว้ในโครงการหลวง ต่อมามูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวขึ้น
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านหนองหอย ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร จากนั้นกรมป่าไม้ได้จัดส่งหน่วยงานร่วมกับหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านโป่ง ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของการประกอบอาชีพทำสวนเมี่ยงที่ตกต่ำ จึงทรงมีพระเมตตาพระราชทานค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท สำหรับการปลูกสร้างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ.2522 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ 10 ไร่ โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและประสานงาน ส่งเสริมการปลูกพืชให้เพียงพอแก่ความต้องการของคนในท้องถิ่น หาพันธุ์พืชชนิดใหม่ทดแทนฝิ่น
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง จ.เชียงราย
เดิมเป็นหน่วยย่อยของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง แล้วแยกออกมาก่อตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง เดือนเมษายน พ.ศ. 2550 บริเวณหมู่บ้านผาตั้ง บนเทือกดอยผาหม่น แนวแบ่งเขตไทยกับลาว มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน 6,471 ไร่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้มเป็นโครงการหลวงเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน ซึ่งสภาพพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก ความโดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้นอกจากเป็นแปลงสาธิตในศูนย์ฯแล้ว ยังมีเรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณีของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงกับวิถีชีวิตที่น่าสนใจ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า จ.พะเยา
ปี พ.ศ. 2530 มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าขึ้น เริ่มต้นโดยกรมพัฒนาที่ดินดำเนินการบุกเบิกพื้นที่ จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดสรรพื้นที่ทำมาหากินให้แก่ราษฎร จากนั้นส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาว
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ จ.เชียงใหม่
ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2528 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง จากการรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เดินทางสำรวจสภาพพื้นที่ ซึ่งมีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ด้วยการถางพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นและพืชอื่นๆ แผนพัฒนาจึงได้ถูกกำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวเขา
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม จ.เชียงใหม่
เมื่อปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเผ่ามูเซอ ที่หมู่บ้านวังดิน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อยู่บนดอยผีหลอกติดกับลำน้ำกก ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ราว 10 กิโลเมตร ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่ขัดสนของราษฎร
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ จ.เชียงใหม่
เนื่องจากพื้นที่บ้านแม่โถมีชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ ยึดอาชีพปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ขาดความรู้และความเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม ต้องต่อสู้กับความลำบากยากจนเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถได้ก่อตั้งขึ้น
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ จ.เชียงใหม่
เริ่มก่อตั้งครั้งแรกในรูปโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2521 ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยราษฎรในชุมชนแม่ทาเหนือให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ป้องกันปัญหาการบุกรุกทำลายป่า การดำเนินงานในช่วงแรกทางศูนย์ฯ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2523 ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านแม่ปูนหลวง คำว่า “แม่ปูนหลวง” มาจากคำว่า “แม่พลูหลวง” คือ ใบพลูที่ผู้เฒ่าผู้แก่ใช้เคี้ยวกับหมาก ซึ่งเดิมบริเวณบ้านแม่ปูนหลวงมีลำห้วยขนาดใหญ่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2544 เพื่อดำเนินงานศึกษาข้อมูลผลผลิตไปส่งเสริมแก่เกษตรกร ให้มีความรู้ความสามารถในการเพาะปลูกพืชอย่างถูกวิธี พื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 2 ตำบล คือตำบลสะเมิงเหนือ และตำบลแม่สาบ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
ในปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวบ้านป่าแป๋และบ้านห้วยห้อม เป็นครั้งแรก ได้พระราชทานทุนทรัพย์จำนวน 20,000 บาท จัดตั้งธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก จ.เชียงใหม่
บ้านแม่สะป๊อกเป็นชุมชนของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง แต่เดิมชาวเขาเหล่านี้ทำไร่เลื่อนลอย มีการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนหาของป่าเพื่อยังชีพ ความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก มูลนิธิโครงการหลวงจึงเข้าไปดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจของชาวไทยภูเขาด้านการเกษตร
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเสด็จไร่ฝิ่นที่กำลังออกดอกบาน และเสด็จพระราชดำเนินถึงหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งแม่สาใหม่ และทรงงานเป็นเวลา 2 ชั่วโมง พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นสุกร ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่สำคัญต่อการดำรงชีพตามวิถีชีวิต
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
เดิมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ขึ้นอยู่กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย จนกระทั่ง พ.ศ. 2536 จึงแยกออกมาตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง เพื่อความสะดวกของราษฎรชาวเขาในการเดินทางมาปรึกษาเรื่องพื้นที่ทำกินและการทำอาชีพการเกษตร
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จ.เชียงใหม่
หมู่บ้านแม่แฮและหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ในเขตตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ราษฎรที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง และจีนยูนนาน ประกอบอาชีพทำนาและทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ข้าวไร่ ข้าวโพดและเลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ จ.เชียงใหม่
พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของชาวเขาในพื้นที่ ตลอดจนเส้นทางคมนาคมก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ จ.เชียงราย
การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ เริ่มต้นในรูปของงานอาสาพัฒนาชาวเขา ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แต่เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก เจ้าหน้าที่ต้องเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์เพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น จ.เชียงราย
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ในเขตหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น ครอบคลุมพื้นที่ 141.3 ตารางกิโลเมตร หรือ 88,339 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติด เพิ่มรายได้และยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน จ.เชียงราย
ด้วยเหตุที่ทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลาย เพราะชาวบ้านบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ข้าวไร่และข้าวโพด ปีพ.ศ.2525 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี โปรดให้ตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำรินขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวเขาลดการปลูกฝิ่น มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง จ.เชียงราย
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 มีพื้นที่รับผิดชอบ 17.73 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,083 ไร่ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน ประชากรในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอดำ และคนพื้นเมือง สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นหุบเขามีความลาดชันสูง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง จ.เชียงราย
ครั้งเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสมถวิลจินตมัย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 ในโอกาสนั้นนายจงนึ่ง ศักดิ์สิทธานุภาพ ผู้ใหญ่บ้านห้วยแล้ง หมู่ที่ 2 ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากโครงการหลวง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จ.เชียงใหม่
ประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ.2521 ชาวเขาเผ่าม้งได้อพยพจากบ้านบ่อเหล็ก อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มาอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยลึก เนื่องจากสภาพพื้นที่ทำกินเดิมไม่เหมะสมแก่การเพาะปลูก และในปีต่อมาได้ยื่นฎีกาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินทำกิน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2524 เป็นศูนย์ขนาดเล็ก พื้นที่รับผิดชอบ 48.54 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 14 หมู่บ้าน 995 ครัวเรือน ประกอบด้วยคนพื้นเมืองและชาวเขาเผ่าม้ง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 450 เมตร
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเขตติดต่อและซ้อนทับกับอุทยานแห่งชาติอินทนนท์และอุทยานแห่งชาติออบหลวง โดยมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งพัฒนาอาชีพ สังคม และสภาพความเป็นอยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com