ด้วยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชประสงค์จะ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” และทรงต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารให้อยู่ดีกินดี จึงเกิดเป็น “โครงการหลวง” ที่ส่งเสริมให้ราษฎรเพาะปลูกทำการเกษตร จำพวกผักและผลไม้เมืองหนาว แทนการปลูกฝิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิม
และนอกจากนั้น ยังมีพระราชดำริให้ก่อสร้าง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” ขึ้นที่หมู่บ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ใน พ.ศ.2515 เพื่อรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรและนำมาแปรรูป เป็นการช่วยสร้างรายได้และยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอนและดอยอ่างขางให้ดีขึ้น
ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้ารับช่วงการดำเนินงานของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป จัดตั้งเป็นบริษัทโดยใช้ชื่อทะเบียนการค้าคือ “ดอยคำ” ที่เน้นผลิตสินค้าจากผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรไทย และพัฒนาสินค้าให้มีคุณค่าทางอาหาร เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ จาก “ดอยฝิ่น” สู่ “ดอยคำ” นั่นเอง
หลังจากก่อตั้งโรงงานมา 30 กว่าปี ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2549 ได้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชนใน ต.แม่งอน และ ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ รวมถึงโรงงานหลวงฯ ด้วยเช่นกัน
จากความเสียหายในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความเสียหาย บริเวณบ้านยางและโรงงานหลวงฯ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาโรงงานหลวงฯ ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)"
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป, เพื่อเกื้อหนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนโดยรอบ, เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดำริในการพัฒนา และเพื่อความคงอยู่อย่างยั่งยืนของโรงงานหลวงฯ
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)” แหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (Living Site Museum) ซึ่งนอกจากจะได้ทราบถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านและยั่งยืน ยังสามารถเลือกซื้อเลือกชมผลิตภัณฑ์ “ดอยคำ” เป็นของกินของฝากได้อีกด้วย
ภายในจัดแสดงใน 3 หัวข้อหลัก คือ โครงการหลวง, โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) และบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำชมภายในพิพิธภัณฑ์
ในห้อง “กำเนิดโครงการหลวง” มีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่จัดแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นหม้อ ไห กระทะ โดยเป็นข้าวของที่ได้รับบริจาคและให้ยืมจากเจ้าของที่อาศัยในชุมชนบ้านยาง จัดแสดงไว้เพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ชุมชนและความหวงแหนในสมบัติของบรรพบุรุษ
นอกจากนั้นยังมีภาพเก่าแก่สมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือให้ชม พร้อมเล่าถึงความเป็นมาของกำเนิดโครงการหลวง ที่เกิดขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาเขตจังหวัดภาคเหนือ และทอดพระเนตรเห็นป่าไม้บนเขาที่ถูกทำลายจากการปลูกฝิ่น พระองค์จึงทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ จนกลายมาเป็น “โครงการหลวง”
ส่วนในห้อง “กำเนิดโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” ห้องนี้มีภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของโรงงานหลวงฯ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน รูปภาพเก่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระราชินีฯ เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ไปทรงเยี่ยมบ้านยาง และโรงงานหลวงฯ เมื่อ พ.ศ.2516 นอกจากนั้นยังมี “รถโฟล์ก” ซึ่งเป็นรถยนต์พระราชทานเมื่อแรกก่อตั้งโรงงานหลวงฯ จัดแสดงไว้อีกด้วย
ในห้องนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายบรรยากาศและวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนบ้านยางในสมัย 50 ปีที่แล้ว ที่นับถือในหลากหลายศาสนา ทั้งชาวไทยและชาวจีนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนยูนนาน ชาวไทยใหญ่ (ฉาน) และชาวไทยภูเขา ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นภายใต้พระบรมโพธิสมภาร อีกทั้งในห้องนี้ยังมีเครื่องจักรในโรงงานหลวงฯ ที่ถูกน้ำป่าพัดถล่มมาจัดแสดงไว้ให้ชมอีกด้วย
ห้องสุดท้ายจะอธิบายถึง “ประวัติและบทบาททางสังคมของบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด" รวมถึงข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ โรงงานหลวงฯ และชุมชนโดยรอบที่บริเวณชั้นลอยของห้อง ส่วนบริเวณทางออกจะมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “ดอยคำ” ให้แวะชมแวะชอปเป็นของฝากติดไม้ติดมือก่อนกลับอีกด้วย
“พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)” จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความหลากหลายของชุมชน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศแบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะและพระปรีชาญาณอันยาวไกล ทำเพื่อปวงชนชาวไทยและประเทศชาติมาตลอดพระชนมชีพของพระองค์ท่าน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)” ตั้งอยู่ที่ 72 หมู่ 2 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เปิดให้เข้าชมฟรี เวลา 08.30-16.30 น. โดยจะปิดบริการเฉพาะวันจันทร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) และวันหยุดประจำปี 15-30 ก.ย. ของทุกปี ส่วนเวลาทำการของร้านขายของที่ระลึกคือ 08.00-17.00 น. ปิดวันจันทร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
การเดินทาง จาก จ.เชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่ อ.ฝาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 ระยะทาง 150 กม. ถึงแยกอ่างขางแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกเพียง 9 กม.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com