xs
xsm
sm
md
lg

“โครงการหลวง”...พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พสกนิกรใต้ร่มพระบารมี ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
"เรื่องที่จะช่วยชาวเขา และโครงการของชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ให้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญได้..."

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 10 มกราคม พ.ศ. 2512 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เสด็จประพาสต้น ก่อกำเนิดโครงการหลวง
โครงการหลวงอ่างขาง โครงการหลวงแห่งแรกใต้พระบารมี
“...การไปเที่ยวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นอาจเรียกได้ว่า เป็นการประพาสต้น เมื่อทรงแปรพระราชฐานไปเชียงใหม่ มิได้ทรงพัก แต่มักจะเสด็จฯ ดั้นด้นไปทอดพระเนตรชีวิตคนบนดอย...”

ส่วนหนึ่งจากพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี จากหนังสือประพาสต้นบนดอย

จากการเสด็จประพาสต้นไปบนดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2512 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ และพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโครงการหลวงขึ้นในปีเดียวกัน เพื่อพัฒนาการเกษตรบนที่สูง ลดการปลูกฝิ่น และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร อีกทั้งยังช่วยเหลือชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นทุรกันดาร ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในระยะแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา”, “โครงการหลวงภาคเหนือ” และ “โครงการหลวง” ในที่สุด

สำหรับโครงการหลวงแห่งแรกคือ “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” หรือ “โครงการหลวงอ่างขาง” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 เป็นสถานที่ทดลอง ค้นคว้า และวิจัยพืชผัก ผลไม้ และไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวไทยภูเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพแทนการปลูกฝิ่น ที่จะทำให้ชาวไทยภูเขามีรายได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามแนวพระราชดำริที่ว่า “ให้เขาช่วยตัวเอง”
โครงการหลวงช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวเขา ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การดำเนินงานของโครงการหลวงอ่างขางหรือสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.งานศึกษาวิจัยไม้ผลเขตหนาว และการขยายพันธุ์พืชต่างๆ 2.งานเผยแพร่เทคโนโลยีเกษตรบนพื้นที่สูง เป็นแหล่งวิชาการและเป็นศูนย์การเรียนรู้ สถานที่ฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ เกษตรกร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ 3.งานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรบริเวณรอบสถานี

ปัจจุบันโครงการหลวงอ่างขางนอกจากจะมีการทดลองและส่งเสริมการปลูกพืชผัก ผลไม้ และไม้ดอกเมืองหนาวอันหลากหลายอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวชมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว

ขณะที่การพัฒนาของานด้านโครงการหลวงนั้น ในปี 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงสถานภาพของโครงการหลวง โดยโปรดเกล้าฯให้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เพื่อจะได้เป็นองค์กรนิติบุคคล มีกฎหมายรองรับ ภายใต้ชื่อใหม่ว่า "มูลนิธิโครงการหลวง"และเดินเครื่องวิจัยพร้อมพัฒนาพืชสายพันธุ์ใหม่ๆเต็มสูบ และในปี พ.ศ.2537 เพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินธุรกิจทางพาณิชย์ จึงมีพระบรมราโชวาทให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เข้ารับช่วงดำเนินการโครงการหลวงอาหารสำเร็จรูปทั้ง 3 แห่ง ที่ตั้งอยู่ ณ แหล่งเพาะปลูก โดยจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากับผลิตภัณฑ์อาหารตราดอยคำ

นับแต่นั้นมา ดูเหมือนแสงสว่างที่ขอบฟ้าดูจะมีค่าและไม่เลื่อนลอยอีกต่อไป ชาวเขาเหล่านั้นเดินตามรอยพ่อหลวงและไม่ท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น และเมื่อผลผลิตที่ปลูกเริ่มทยอยออกสู่ตลาด รายได้จากน้ำพักน้ำแรงก็เริ่มทยอยเข้าสู่บ้านหลังคามุงจากตามที่ราบและหุบเขาสูงชัน ทำให้ชีวิตเริ่มสุขสบายและมั่นคงมากขึ้น

จากฝิ่นสู่พืชผักคุณภาพ สร้างเงินสร้างอาชีพใหม่
แปลงพืชผักในโครงการหลวงหนองหอย
ก๊ะ เตชะเลิศพนา หนึ่งในสตรีชาวเขาเผ่าม้ง ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่โครงการหลวงใต้พระบารมี เล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจเดินเข้ามาตามคำชักชวนให้มาปลูกผักแทนการปลูกฝิ่นว่า แต่เดิมนั้นครอบครัวมีอาชีพปลูกฝิ่นแต่ภายหลังเกิดเกรงกลัวกฎหมายจึงหันมาปลูกกะหล่ำปลีแทน แต่ด้วยความรู้น้อยทำให้ไม่รู้วิธีการปลูกและการจำหน่ายทำให้ผลผลิตออกมาเพียงปีละครั้งเท่านั้น ส่งผลให้ในแต่ละวันแทบไม่พอกิน พอมูลนิธิโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องการปลูกผัก ทำให้ครอบครัวมีรายได้เป็นกอบเป็นกำขึ้น

"ตอนนี้ในพื้นที่ 15 ไร่ เราปลูกผักเมืองหนาว อย่างเช่น ปวยเล้ง สลัด ผักกาดหางหงส์ ถ้านับรายได้ต่อปีแล้วตกอยู่ที่ประมาณ 450,000 บาท ก็พอใจนะเพราะชีวิตดีขึ้น แตกต่างจากเมื่อก่อนหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียวสามารถเลี้ยงลูกๆทั้ง 4 คนได้อย่างดีตามอัตภาพ มีความสุขความสบายใจเพราะไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน"ก๊ะคนเดิมบอก
โรงเรือนปลูกพืชผักในโครงการหลวงหนองหอย
นอกจากจะปลูกผักได้ราคาดีแล้ว นางก๊ะยังมีความสามารถในการทำงานประสานกับกลุ่มต่างๆได้ดี จึงได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานกลุ่มสตรี หมู่บ้านหนองหอยเก่า และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มผู้นำสตรี ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆในชุมชน และยังชักชวนกลุ่มแม่บ้านให้หันมาเห็นความสำคัญของการศึกษาจนเข้ารับการศึกษาในระบบศึกษาผู้ใหญ่

ใช่ว่าจะมีแต่นางก๊ะที่หันมาเป็นสมาชิกของมูลนิธิโครงการหลวง แต่ในพื้นที่อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ กอชิ เพชรไพรพนาวัลย์ ก็เป็นอีกหนึ่งที่หันมาให้ความสนใจและร่วมลงทุนโดยให้โครงการหลวงเช่าที่กว่า 7 ไร่ ปลูกหน่อไม้ฝรั่งและตนเองใช้เวลาในการทำงานเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แทนการทำไร่นาเหมือนแต่ก่อน

"เมื่อก่อนถางที่ตามป่าเขาเพื่อหาที่ทำไร่ทำนาไปเรื่อยๆ ก็เรียกว่าพอไปได้แต่ก็ไม่ถึงกับดีอะไรมากมาย นอกจากนี้ก็ยังรับจ้างทั่วไปได้ค่าแรงวันละ 100 บาท แต่พอโครงการหลวงเข้ามาให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูกและการตลาด เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆก็ทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น ขายได้ราคาสูงขึ้น พอตอนหลังได้รับมรดกเป็นที่ดินประมาณ 7 ไร่ก็เลยคิดลงทุนโดยให้โครงการหลวงเช่าที่เพื่อทำการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง เขาให้ไร่ละ 2,000 บาทต่อปี ก็ถือว่าพอใจนะเพราะเงินเท่านี้ก็ซื้อข้าวสารได้แล้ว ที่เหลือค่อยหาเพิ่ม

ชาวบ้านบางคนนอกจากจะเข้าปลูกพืชผักและไม้เมืองหนาวตามคำแนะนำของโครงการหลวงแล้ว บางคนพอเก่งๆก็หาช่องทางการขายเอง ปลูกพืชเพิ่มเติมทำให้ได้รายได้มากขึ้น ก็สบายขึ้น เรียกว่าพอโครงการหลวงของพ่อหลวงเข้ามาชีวิตก็เปลี่ยนไปมาก"กอชิกล่าวทิ้งท้าย

***************************************

หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนนำมาจากบทความ “36 ปีโครงการหลวง ดั่งน้ำทิพย์ชโลมชุ่มยังภูผาสูงชัน”

*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น