“เอกชัย ศรีวิชัย” เปิดความรู้สึกเคยได้เข้าเฝ้าฯ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ตอนอายุ 6 ขวบ ก้มกราบเห็นแค่ฉลองพระบาท เสียดายไม่ได้แหงนมองพระพักตร์ น้ำตาคลอขอเรียกพ่อหลวงเหมือนเดิม โชคดีเหลือเกินเกิดบนผืนแผ่นดินไทย
เป็นคนบันเทิงจิตอาสาที่นำข้าวสาร อาหาร ไข่ มาแจกประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำหรับ “เอกชัย ศรีวิชัย” โดยเจ้าตัวเผยความประทับใจ เคยได้เข้าเฝ้าฯในหลวงตอนอายุ 6 ขวบ เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ยังจำได้ไม่เคยลืม
“วันนี้ตัวผมเองก็ถือว่าเป็นจิตอาสาคนหนึ่งนะครับ เพราะจริง ๆ ผมก็จะมีทีมกับคุณอาภาพร นครสวรรค์ ซึ่งเขาจะไปอยู่ฝั่งมูลนิธิร่วมกตัญญู โดยตรงนั้นผมก็จะซื้อพวก ไข่ ข้าวสาร มาไว้สำหรับทำในตอนกลางคืนเพื่อแจกจ่ายให้กับพี่น้องคนไทยที่เขามาตอนหัวค่ำ ส่วนช่วงกลางวันตัวผมเองก็จะมาอยู่ตรงจุดของมูลนิธิมิราเคิลไลฟ์ ซึ่งตัวผมก็เป็นผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม ในมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีด้วย โดยเราจะแจกน้ำและก็ทำอาหารเลี้ยง ซึ่งตัวผมจะเป็นคนทำหน้าที่ผัดข้าวปรุงอาหารอยู่บนรถ และเราก็ร่วมกับทางสภาสังคมสงเคราะห์ โดยท่านผู้หญิง อัสนีย์ เสาวภาพ สำหรับเมนูที่ตั้งใจจะทำในวันนี้ก็คือข้าวผัดใบกะเพรา เป็นเมนูง่าย ๆ และก็ข้าวไข่เจียว แต่ข้าวไข่เจียวจะดูง่ายเกินไป”
“ผมคิดว่าวิถีชีวิตของคนไทยทุกคนตั้งแต่เกิดมา เราถูกพ่อแม่สอนให้รู้จักและก็เคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่เราเริ่มจำความได้ เรารู้จักในหลวงและก็เห็นในหลวงท่านทรงงานมาตั้งแต่ยังเด็ก”
“ผมเคยมีโอกาสได้เข้าเฝ้าท่านเมื่อตอนอายุประมาณ 6 ขวบ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และผมก็มีโอกาสได้เห็นรองพระบาทของพระองค์ท่านกับชายของกางเกง และก็รองเท้าของสมเด็จพระราชินี ทุกวันนี้ยังจำติดอยู่ในลูกตาเลยว่าหนังเป็นแบบไหน รองเท้าเป็นแบบไหน แต่เสียดายอยู่เหมือนกันที่วันนั้นไม่ได้แหงนหน้าขึ้นมามองพระพักตร์ของพระองค์ เพราะว่าเราต้องก้มหมอบลงไป เสียดายมาก ๆ เป็นโอกาสเดียวและเป็นครั้งเดียวจริง ๆ ตอนอายุ 6 ขวบ”
เสียดายก้มกราบเห็นแค่ฉลองพระบาท ไม่ได้แหงนมองพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ผมมีความรู้สึกว่าไม่ได้เหมือนกับพระบาทของพระมหากษัตริย์อย่างที่เราคิดว่าจะต้องเหมือนในหนัง มันจะต้องหรูหรา ดูแพง เพราะสิ่งที่เราเห็นมันเป็นความเรียบง่ายปกติ เหมือนกับสิ่งที่เราเห็นในชีวิตประจำวันของเรา จนเราต้องตั้งคำถามว่านี่คือรองเท้าของพระมหากษัตริย์เหรอ แต่ผมก็ไม่ได้คิดเยอะอะไรขนาดนั้นนะ แค่ขอจดจำไว้ในสมองในลูกตาของผมว่านี่คือรองเท้าของพระองค์ท่าน และรองเท้าของสมเด็จพระราชินี หลังจากนั้น ผมก็ได้เห็นพระองค์ท่านพระราชดำเนินผ่านพรมแดงไป ซึ่งผมก็ก้มกราบ แต่อย่างที่บอกทุกวันนี้ผมก็ยังเสียดายที่ไม่ได้แหงนหน้าขึ้นมองพระพักตร์ของพระองค์ท่าน”
“จริง ๆ ผมคิดว่าถ้าเปรียบเทียบกับประชากรในยุคนั้นกับยุคนี้ แน่นอนที่สุดในอัตราส่วนของคนในยุคปัจจุบันมันเยอะขึ้น เราก็น่าจะเป็นคนที่โชคดีคนหนึ่ง และเมื่อคืนก็นอนดูพระราชกรณียกิจ ซึ่งเป็นตอนที่พระองค์เสด็จไปที่วัดพระบรมธาตุ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผมก็เลยพยายามนั่งมองว่าตรงไหนคือเรา ตื่นเต้นมาก ๆ และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าวันนั้นเขาถ่ายอะไรกันไว้เพราะว่าเราอายุยังน้อย”
“ผมคิดว่าคนไทยทุกคนตั้งแต่เกิดมาเราก็เห็นรูปท่านอยู่ที่ข้างฝาบ้านแล้ว และก็เห็นพ่อแม่เรากราบไว้ ซึ่งมันก็เป็นเหมือนจิตส่งจิตโดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องมานั่งบอกเล่าว่าพระองค์ท่านเป็นใคร แต่มันเป็นไปโดยที่จิตของพ่อของแม่เราพยายามบอกกับลูกว่านี่คือพระเจ้าอยู่หัว”
โชคดีเหลือเกินเกิดทันยุครัชกาลที่ ๙ ตั้งแต่เด็กจนโตไม่เคยเห็นพ่อหลวงอยู่แบบพระเจ้าอยู่หัว
“แต่สิ่งที่ผมเห็นตลอดระยะเวลา 50 ปี ของผมที่ผมโตมา ผมไม่เคยเห็นพระเจ้าอยู่หัวอยู่แบบพระเจ้าอยู่หัว คือ สิ่งที่เราเห็นพระราชดำเนินไปทุกทิศทุกที่ มีที่ไหนบ้างที่พระเจ้าแผ่นดินนั่งอยู่กับพื้น และพระเจ้าแผ่นดินนั่งสนทนาอยู่กับคนที่ไม่ใส่เสื้อ บนป่า บนเขา บนดอย ทุก ๆ ที่ที่เรามีความรู้สึกว่าพระมหากษัตริย์ไม่ควรจะไป แต่กลับเป็นที่ที่พระเจ้าอยู่หัวของเราเสด็จไป เราเห็นเหงื่อที่เสื้อของพระองค์ท่านเต็มไปหมด ผมก็เลยรู้สึกตั้งคำถามขึ้นมาว่าทำไมพระองค์ท่านถึงต้องทำขนาดนี้”
“แต่พอมาถึงปัจจุบันเราโตมาขนาดนี้ เราก็ได้รับรู้แล้วว่าคนไทยช่างโชคดีเหลือเกินที่เกิดทันยุคพระองค์ท่าน เราโชคดีที่เราไม่ต้องเป็นคนรับการเล่าขานมาจากบรรพบุรุษว่าในยุคนั้นรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงทำอะไร เพราะมันเกิดในยุคเรา และเราเองนี่แหละที่จะเป็นฝ่ายเป็นคนไปเล่าให้ลูกหลานเราฟัง มันเป็นสิ่งที่เราภูมิใจที่สุดเท่าที่ชีวิตของคนไทยคนหนึ่งที่เกิดมาในยุคท่าน”
สืบสานวัฒนธรรมตามรอยพ่อหลวง
“สิ่งที่ปลูกฝังสำหรับผมเอง คือ วัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษาถิ่นของทุกภาค พระองค์จะรับสั่งอยู่เสมอว่าวัฒนธรรม ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นคนในชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผมก็ไม่เคยห่างจากวัฒนธรรมท้องถิ่น และสืบสานต่อยอด ดูแลวัฒนธรรมเหล่านี้ และต่อสู้ท่ามกลางวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาเยอะแยะมากมาย และผมยังยืนหยัดอยู่ตรงนี้ตลอด ตามพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน และจะทำต่อไปตราบจนลมหายใจจะหมดสิ้น”
น้ำตาคลอขออย่าเพิ่งแยกในหลวง รัชกาล ๙ จากคนไทย ขอเรียกพ่อหลวงเหมือนเดิม
“(น้ำตาเริ่มคลอ) ผมพูดไม่ได้ ผมไม่เข้มแข็งพอ (ตอบด้วยน้ำเสียงสั่น) ถ้าสิ่งที่อยากได้ที่สุดที่ทำให้พ่อภูมิใจ คือ อยากเห็นคนไทยรักกันเหมือนในวันนี้ อยากเห็นคนไทยถือถุงพลาสติกเก็บขยะ อยากเห็นคนขับมอเตอร์ไซค์ฟรีรับส่งคนที่มาร่วมกันส่งเสด็จ ในบรรยายการอำลาอาลัยแบบนี้ ซึ่งมันเป็นวันที่ปลื้มปีติที่สุด ได้เห็นคนมีความรักกัน เรามีสิ่งที่จะตอบแทนคุณงามความดีให้กับพระองค์ท่าน และอยากเห็นสิ่งเหล่านี้ต่อไป ในวันที่เราไม่มีพ่อแล้ว อยากเห็นทุกคนปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่รับสั่งไว้ แบบนี้ตลอดไป”
“ซึ่งถ้าพระองค์ท่านได้เห็นก็จะมีความสุข และสิ่งที่อยากจะขออีกข้อคือไม่รู้ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรไหน ไม่อยากจะให้มาบอกกับประชาชนว่าต้องใช้คำอะไรต่าง ๆ กับพระเจ้าอยู่หัว ผมว่าอย่าแยกพระเจ้าอยู่หัวออกจากพวกเราไปไกลเลย ขอให้เราได้เรียกว่าพ่อหลวงของเราและไปไหนมาไหนยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ติดอยู่ทุกที่ เหมือนว่าพระองค์ยังอยู่กับทุก ๆ วัน ส่วนภาษาราชการจะใช้อย่างไรก็ใช้ไป ให้ไปใช้กับหน่วยราชการ แต่สำหรับพสกนิกรที่เป็นลูกหลานของพระองค์ท่าน เรามีสิทธิ์ที่นะเรียกว่าพ่อหลวง และคงจะเรียกแบบนี้ไปตราบชั่วชีวิตจะหาไม่ นั่นคือสิ่งที่อยากให้เป็น”