ครั้งหนึ่ง “ทีมงาน SMEsผู้จัดการ” ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมอาชีพของชาวบ้านที่ยึดหลักเดินตามรอยพ่อหลวงทำให้มีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวมาได้ถึงทุกวันนี้ ดังนั้นทีมงานจึงขอนำเสนอวิถีเกษตรของชาวบ้านที่ยึดหลักวิถีพอเพียงมาให้ชมกัน
เริ่มจาก....
@@@“‘โครงการหลวง’หล่อเลี้ยงชุมชน ธุรกิจแบบอย่างความพอเพียง”@@@ (คลิกอ่าน)
ด้วยการดำเนินโครงการตามพระราชดำริพลิกฟื้นผืนดินด้วยการปลูกพืชเมืองหนาว จนได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ อย่าง พืชผัก ผลไม้ จนกลายเป็นผลผลิตภายใต้แบรนด์ “ดอยคำ” ที่นอกจากจะจำหน่ายผลผลิตแก่ผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ยังมีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่หลากหลายอีกด้วย
สำหรับการจัดตั้งโครงการหลวงเพื่อพัฒนาชาวเขา โดยเป็นการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชผักชนิดต่างๆ แทนการปลูกฝิ่นจนประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวเขามีอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ปลูกผักของโครงการหลวง ได้แก่ ศูนย์หนองหอย จ.เชียงใหม่ ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกผักเมืองหนาวได้หลากหลายชนิด เช่น โอ๊คลีฟแดง-เขียว, เรดโครอล, บัตเตอร์เฮด, พริกหวาน และมะเขือเทศดอยคำ ซึ่งคุณภาพของการปลูกผักเหล่านี้เป็นผลงานของชาวเขาที่มีความตั้งใจจริง และเชื่อมั่นในโครงการหลวงที่จะนำพารายได้มาสู่ครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
@@@“สะเมิง” แหล่งสตรอเบอร์รีเลื่องชื่อ ชาวบ้านยึดอาชีพหลักโกยรายได้@@@ (คลิกอ่าน)
จากเดิมผืนดินแห่งนี้ปลูกพืชไรชนิดอื่น แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกสตรอเบอร์รี และมีการสนับสนุนอย่างจริงจากกภาครัฐฯ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกสตรอเบอร์รี แถมยังพัฒนาสู่การปลูกแบบปลอดสาร ทำให้ปีหนึ่งๆ ทำรายได้เข้าจังหวัดมากกว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นำผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอปที่มีชื่อเสียงมาจำหน่าย และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติของอำเภอสะเมิงให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย พร้อมเชื่อมโยงไร่สตรอเบอร์รีกับธุรกิจการท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีชาวพื้นเมืองและชนเผ่าต่างๆ อีกด้วย
@@@ฟ้าหลังฝน “บ้านยาง” ยกของดีอาหารจีนยูนนาน เปิดตลาดท่องเที่ยว@@@ (คลิกอ่าน)
หมู่บ้านบ้านยางนับเป็นพื้นที่ที่ชาวจีนยูนนานอพยพเข้ามาพึ่งใบบุญของพ่อหลวงมานานหลายสิบปี ตั้งอยู่ที่ ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เดิมเป็นถิ่นอาศัยของชาวยาง หรือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2459 ชาวจีนยูนนานได้อพยพหนีภัยสงครามจากประเทศจีนมาปักหลักตั้งถิ่นฐาน โดยอยู่ภายใต้สายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทุกคนในหมู่บ้านล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงเข้ามาพลิกผืนดินที่เดิมเต็มไปด้วยการปลูกไร่ฝิ่น ให้กลายเป็นแหล่งเกษตรนานาชนิด เช่น สตรอเบอร์รี ลิ้นจี่ ลูกท้อ ฯลฯ
นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2517 ทรงริเริ่มให้เกิดโครงการพระราชดำริหลายโครงการ โดยเฉพาะการสร้างโรงงานหลวง เพื่อเป็นแหล่งแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรนานาชนิดของโครงการหลวง เพื่อจะสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น
ในหมู่บ้านแห่งนี้มีเอกลักษณ์เด่นด้านวัฒนธรรม เพราะมีความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนาสูงมาก แต่อยู่กันได้อย่างสงบสุข ชาวชุมชนรักสามัคคีกลมเกลียวอย่างสูง โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 98 เป็นคนไทยเชื้อสายจีน นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม มากตามลำดับ
บรรยากาศภายในชุมชน อากาศเย็นเกือบตลอดทั้งปี เงียบสงบ ยังคงลักษณะเอกลักษณ์แบบจีนยูนนานโบราณ ทั้งสถาปัตยกรรมบ้านเรือนแบบจีน อาหารท้องถิ่น และวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิม ปัจจุบันมีประมาณ 200 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 1,200 คน อาชีพสำคัญทำการเกษตร ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเด่นในท้องถิ่น คือ พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง และน้ำตก กับบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ ที่ใช้เวลาเดินทางจากหมู่บ้านแค่เพียง 20 นาที
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *