xs
xsm
sm
md
lg

4 ทศวรรษ โรงงงานหลวงฯ ชุบชีวิตชาวเขาเปลี่ยนแดนฝิ่นเป็นถิ่นความรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงที่ไม่โดนน้ำป่าทำลาย
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
ด้วยพระราชปณิธานอันตั้งมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องประราชประสงค์อย่างแน่วแน่ อยากให้กับเกษตกรบนพื้นที่สูงของภาคเหนือ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หมดสิ้นจากความแร้นแค้นและทุกข์ยาก รวมถึงขจัดปัญหาการปลูกฝิ่นอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
เพื่อให้ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวเขาบนดอยอ่างขางที่อยู่ดีกินดี โดยไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตของชุมชนตามแนวพระราชดำริของในหลวง บริษัท ดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป จำกัด จึงพาสื่อมวลชนไปทริป “ดอยคำ-เกษตรเพื่อชุมชน ผลผลิตเพื่อคนไทย : เส้นทางสตรอเบอร์รี” เพื่อตามรอยพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมี พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการและกรรมการบริหาร บจก. ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร  รับหน้าที่พาทุกคนไปเยี่ยมชมผลผลิตอันเกิดมาจากน้ำพระราหฤทัยของในหลวง พร้อมเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนโดยรอบโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้ผืนธงไตรรงค์อันเดียวกัน
“ในอดีตเมื่อ 40 ก่อน บนดอยอ่างขางเต็มไปด้วยดงฝิ่น ชาวไทยภูเขาตัดไม้ทำลายป่าบนเขาเพื่อปลูกฝิ่นขายเป็นการยังชีพ พระองค์ท่านจึงทรงคิดอุบายอยากให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แต่ต้องไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเขา”
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)
ภายในพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1
พิพัฒพงศ์ เล่าเสริมว่า เมื่อก่อนชาวเขาปลูกฝิ่นมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าบ้านในราคาชั่งละ 2 หมื่นบาท ในหลวงทรงมีพระราชดำริว่า หากจะแก้ปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นของชาวเขาจะต้องแก้โดยไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงทรงตั้ง มูลนิธิโครงการหลวง ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาวที่มีมูลค่า และรับซื้อผลผลิตถึงที่บ้านเลย จึงทำให้ชาวบ้านพอใจเพราะไม่ต้องเสี่ยงกับการต้องถูกตำรวจจับเรื่องปลูกฝิ่นและมีรายได้แน่นอน ปัญหาการปลูกฝิ่นจึงหมดไปจากดอยอ่างขาง
นอกจากนี้ พระองค์ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างโรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) เมื่อปี 2515 ที่หมู่บ้านยาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบริเวณแหล่งเพาะปลูกของชาวบ้าน ตามแนวคิดที่ว่า โรงงานช่วยด้านเศรษฐกิจให้มีการจ้างงานในชุมชน และมีหน้าที่รับซื้อผลผลิตของชาวบ้านมาแปรรูปเพื่อส่งออก เพื่อการพัฒนาชุมชนขั้นพื้นฐาน โดยผลิตภัณฑ์แรกที่ออกมาจากโรงงานก็คือ “ลูกพีชลอยแก้ว” ซึ่งโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกโดยนำสายพันธุ์มาจากประเทศจีน

เดิมทีโรงงานแห่งนี้มีลักษณะเพียงโรงงานเคลื่อนที่โดยใช้รถยนต์ดัดแปลง ต่อมาได้ใช้อาคารของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นโรงงานชั่วคราว แต่ก็เกิดภัยพิบัติปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ เมื่อทำให้โรงงานได้รับความเสียหาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการก่อสร้างโรงงานอาหารหลวงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเอาชนะภัยธรรมชาติที่มาคุกคาม
แต่สุดท้ายโรงงานแห่งนี้ก็ไม่สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติ เพราะในปี 2549 ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมดินถล่มอีกครั้งทำให้โรงงานเกิดความเสียหายอย่างหนัก ทุกอย่างที่ได้ทุ่มเทพระวรกายสร้างขึ้นมานั้น ถูกสายน้ำพัดพาไป เหลือเพียงพระบรมสาทิสลักษณ์ขององค์ผู้ก่อตั้งเท่านั้น ที่ตั้งตระหง่านท่ามกลางซากปรักหักพัง
จากความเสียหายในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำริพร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดสร้างโรงงานขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิด “โรงงานสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นพี่น้องกับชุมชน” ลักษณะโครงการสร้างของโรงงานตั้งแต่กำแพงที่ไม่สูงมากนัก หรือการตกแต่งภายในโรงงาน ก็มีการผสมผสานอารยธรรมของชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทั้ง ไทย จีน มุสลิม และชาวไทยภูเขา ได้อย่างลงตัว

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังทรงมีพระราชดำริให้สร้าง “พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1” ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งรวบรวมและนำเสนอองค์ความรู้ผ่านนิทรรศการ วัตถุสะสม หลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ เพื่อแสดงให้เห็นถึง กระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาปะเทศแบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความหลากหลายของชุมชนอย่างแท้จริง
แม้ว่าในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้มาเยือนดอยอ่างขาง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของโครงการพระราชดำริบนผืนดิน และความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ แต่สิ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ดีที่สุดคือ ชุมชนที่นั่นซึ่งทุกวันนี้คนในชุมชนที่แม้จะมีเผ่าพันธุ์และศาสนาแตกต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้แนวพระราชดำริของในหลวงที่ทรงบุกเบิกเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว
ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของน้ำพระราชหฤทัยอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่พ่อแห่งแผ่นดิน ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยให้คนไทยทุกคน มีชีวิตอันสงบสุขบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง และสุดท้ายความสุขที่เพียงพอก็จะบังเกิดกับคนไทยทุกคน



กำลังโหลดความคิดเห็น