xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไทยภูเขา 5 จว.ภาคเหนือเข้ากราบสักการะพระบรมศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในวันนี้ดำเนินมาเป็นวันที่ 59 ของการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนถวายสักการะพระบรมศพ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชน โดยเมื่อเวลา 04.50 น. มูลนิธิโครงการหลวงนำคณะชาวไทยภูเขาที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณภายใต้โครงการหลวงจาก 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน และ จ.พะเยา รวม 7 ชนเผ่า ได้แก่ ลาหู่ ปะหล่อง จีนยูนาน ปกาเกอะญอ ลีซอ อาข่า และม้ง พร้อมเจ้าหน้าที่โครงการหลวงกว่า 200 คน รวมทั้งสิ้น 1, 741 คน เข้ากราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เป็นชุดแรก ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ โดยชาวเขาต่างแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง พร้อมนำผลผลิตจากแปลงของตนเองที่ได้รับพันธุ์พืชพระราชทานจากในหลวง ร.9 มาทูลเกล้าฯ ถวายด้วย แม้ชาวเขาส่วนใหญ่จะอดหลับอดนอน หลับไม่เต็มตื่น แต่ทุกคนก็มีสีหน้ายิ้มแย้มไม่แสดงอาการเหนื่อยให้เห็น เพราะมีความตั้งใจจะมาถวายสักการะพระบรมศพ "พ่อหลวง" ของพวกเขาอย่างใกล้ชิดสักครั้งหนึ่งในชีวิต
นางพรนันทน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และท่องเที่ยวมูลนิธิโครงการหลวง เปิดเผยว่า ชาวเขาทุกรู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้มากราบสักการะในวันนี้ ก่อนที่จะเดินทางมาทุกคนได้เตรียมผลิตผลของตนเองที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพันธุ์พืชเขตเหนือ อาทิ ข้าวดอย ข้าวก่ำ ข้าวใหม่ สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์ 80 อโวคาโด จากดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มะเขือม่วง ดอกกุหลาบ จากศูนย์พัฒนาโครงหลวงทุ่งเรา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ งานหัตถกรรม ทั้งผ้าพันคอ กางเกง เสื้อผ้า จากเผ่ามูเซอ ชุดปะหล่อง รวมถึงพืชผักอื่นๆ กะหล่ำปลีหัวใจ กะหล่ำปลีหวาน ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวหยก โอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง บัวหิมะ ฯลฯ จากพื้นที่ทางภาคเหนือทั้งหมด ซึ่งเป็นผลผลิตจากการส่งเสริมของโครงการหลวง เพื่อให้สํานักพระราชวังนําไปเป็นอาหารแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มากราบสักการะต่อไป
นายคำแดง ลายเฮิง อายุ 54 ปี ชาวเขาเผ่าปะหล่อง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เกษตรกรที่เลิกปลูกฝิ่นตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หันมาประกอบอาชีพสุจริตด้วยการปลูกไม้ผลไม้ดอกทดแทน จนมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่า ผมเคยเฝ้าฯ รับเสด็จพระองค์อย่างใกล้ชิด 2 ครั้งที่ดอยอ่างขาง สมัยยังเป็นหนุ่มแน่นได้เห็นชาวบ้านชาวเขาเอาของมาถวายหลายอย่าง ซึ่งตัวเองดีใจมากๆ เคยได้ถวายพระพุทธรูปด้วย
นายนาโม หมันเฮิง พ่ออุ้ยเผ่าปะหล่องวัย 88 ปี จาก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อดีตเคยเดินรอนแรนด้วยสองเท้า จากเขตปกครองไทยใหญ่ ฝั่งประเทศพม่า รวมระยะเวลา 18 วัน 18 คืน พร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 8 ครอบครัวมาอยู่เมืองไทย ตอนแรกร่อนเร่ไม่มีหลักแหล่ง หากินโดยปลูกฝิ่นปลูกข้าวโพดเลี้ยงชีพ กระทั่งทราบข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จฯ มาที่ดอยอ่างขาง จึงพากับไปเฝ้าฯ รอรับเสด็จฯ หวังพึ่งพระบารมีขออาศัยภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เจ้าตัวกล่าวว่า ถ้าไม่มีพระองค์ผมคงไม่ได้เป็นคนไทย วันนั้นผมกราบแทบพระบาท ทูลขอมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ขอเป็นลูกเป็นหลานของพระองค์
โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งถามคณะมีใครมาบ้าง ก็ถวายรายงานว่ามีพระ ผู้สูงอายุ และเด็ก ด้วยพระเมตตาทรงรับพวกผมไว้โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้อยู่ในพื้นที่ หมู่บ้านนอแล หมู่ที่ 14 ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานเงินจำนวน 5,000 บาท เพื่อสร้างศาลาวัดให้ประกอบศาสนกิจ ด้วยความตื่นเต้นและดีใจตนจึงทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปซึ่งอุ้มติดตัวมาเพื่อตอบแทนพระเมตตา หลังจากนั้นประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ปลูกผักผลไม้ ดอกกุหลาบ และชา ส่งผลผลิตให้กับโครงการหลวง ซึ่งรายได้ไม่ใช่แค่ลืมตาอ้าปากได้ แต่ยังส่งเสียลูกหลานได้ร่ำเรียนมีการศึกษา เรียนจบปริญญาตรีหมดทุกคน
ส่วนนางจ๊ะ เลาจาง วัย 50 ปี ชาว อ.เชียงดาว เปิดความรู้สึกเป็นภาษาของชนเผ่า โดยให้ลูกสาว น.ส.สาวิตรี เลาจาง อายุ 33 ปี คอยเป็นผู้แปลให้ว่า สมัยอยู่อำเภอฮอด จ.เชียงใหม่ พวกเราไม่รู้จะทำอะไรจึงปลูกฝิ่นและทำไร่รับจ้างไปทั่วโดยไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มารับทราบปัญหา ทรงขอให้ทุกคนเลิกปลูกฝิ่น โดยพระราชทานที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ ที่อำเภอเชียงดาว หลังจากนั้นชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น เพาะปลูกข้าวโพดหวาน ปลูกผัก แม้จะไม่ร่ำรวยแต่พออยู่พอกิน ลูกหลานมีที่ดินทำกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น