xs
xsm
sm
md
lg

เยือน“สกลฯ” ยลของดีแห่งอีสานเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สักการะพระธาตุเชิงชุม พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร
จังหวัดต่างๆ ทางภาคอีสานของเรานั้น มีหลายแห่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ที่จะได้เรียนรู้ไปกับอารยธรรมโบราณต่างๆ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วิถีชีวิตชุมชน วัดวาอารามที่สำคัญ มีของอร่อยหลากหลายให้ลองชิม แล้วก็ยังมีสินค้าของฝากขึ้นชื่อที่น่าช้อป

ท่องเที่ยวได้หลากหลายสไตล์แบบนี้ “ตะลอนเที่ยว” ก็ต้องไม่พลาดที่จะเดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเอง ครั้งนี้มีวันหยุด ก็เลยเก็บกระเป๋า แล้วมุ่งตรงมาที่ “สกลนคร” จังหวัดหนึ่งในแถบอีสานเหนือที่น่าเที่ยวไม่น้อยเลย
คนพ วรรณวงศ์ ผู้ก่อตั้งสวนวรรณวงศ์
เรามาตั้งต้นกันในตัวเมืองสกลนคร ก่อนจะมุ่งหน้ามาที่ “สวนวรรณวงศ์” ใน ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน ซึ่งที่นี่เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชพื้นถิ่นอย่าง “หมากเม่า” ที่ได้รับสมญานามว่าเป็นทองคำสีดำแห่งเทือกเขาภูพาน

สวนแห่งนี้ก่อตั้งโดย คนพ วรรณวงศ์ ที่เล็งเห็นว่าหมากเม่า ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมนั้นสามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ ได้มากกว่าจะกินลูกสดๆ หรือปล่อยทิ้งให้ร่วงหล่นจากต้น โดยเริ่มมีการคัดเลือกสายพันธุ์ พัฒนาสายพันธุ์หมากเม่าให้มีความหลากหลาย รวมถึงนำมาแปรรูปเป็นน้ำหมากเม่า ไวน์หมากเม่า และน้ำหมากเม่าสกัด
ผลิตภัณฑ์น้ำหมากเม่าพร้อมดื่ม
ในสวนวรรณวงศ์นั้นมีการปลูกหมากเม่าหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งเจริญเติบโตและให้ผลผลิตจำนวนมาก เนื่องจากสภาพดิน น้ำ และอากาศ ทำให้ได้หมากเม่าที่มีคุณภาพดี รวมถึงหมากเม่าที่ปลูกในสกลนครก็ยังได้รับการรับรองว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) อีกด้วย และที่สวนแห่งนี้นอกจากจะมีการปลูกหมากเม่าแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์ มีต้นกล้าและกิ่งพันธุ์หมากเม่าขาย เป็นแหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหมากเม่า และสามารถมาเลือกช้อปเลือกชิมความอร่อยกันได้
ลงมือย้อมครามที่บ้านอูนดง
ลองชิมของอร่อยกันไปแล้ว ก็ต้องมาดูของสวยๆ งามๆ กันบ้าง เลยออกเดินทางต่อมาที่ “บ้านอูนดง” อ.พรรณานิคม ที่นี่เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาภูพาน เป็นแหล่งปลูกฝ้ายชั้นดี จึงขึ้นชื่อเรื่องผ้าย้อมครามที่ทำจากฝ้ายเข็นมือ

ถ้าหากว่ามาที่บ้านอูนดง ก็จะสามารถมาชมกระบวนการผลิตผ้าย้อมครามตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากการเข็นฝ้าย การย้อมคราม การทอผ้า ตลอดจนมาเลือกซื้อสินค้าจากผ้าย้อมคราม ทั้งผ้าย้อมครามที่ได้จากการทอฝ้ายเข็นมือ หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาแล้ว ทั้งกระเป๋า หมวก ผ้าพันคอ เครื่องประดับผม เป็นต้น
การทอผ้าย้อมครามของชาวบ้านอูนดง
ไม่ไกลจากบ้านอูนดงมากนัก ก็เป็นสถานที่ตั้งของ “วัดภูริทัตตถิราวาส” หรือ “วัดป่าบ้านหนองผือ” ซึ่งเมื่อเข้าไปถึงภายในวัดแล้วจะรู้สึกได้ถึงความเงียบสงบ และความเย็นสบายภายใต้ร่มไม้ใหญ่ ยิ่งนั่งเงียบๆ ก็ยิ่งได้ความสงบ ได้มีสติในการพิจารณาสิ่งต่างๆ มากขึ้น

วัดภูริทัตตถิราวาสเป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคอีสาน มาจำพรรษาที่นี่ติดต่อกันถึง 5 พรรษา ซึ่งในอดีตนั้นหลวงปู่มั่นไม่เคยจำพรรษาที่ไหนซ้ำเป็นปีที่สองเลย ปัจจุบันยังมีการรักษาเสนาสนะต่างๆ ที่มีตั้งแต่สมัยของหลวงปู่มั่นให้อยู่ได้อย่างดี อย่างเช่นกุฎิของหลวงปู่มั่นเมื่อครั้งที่มาจำพรรษาที่นี่ ทางเดินจงกรม ศาลาโรงธรรม ศาลาฉันภัตตาหาร รวมถึงสภาพรอบๆ วัดที่ยังคงความสงบวิเวกอยู่เช่นเดิม
กุฏิของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ
กลับเข้ามาในตัวเมืองสกลนคร ก็ตรงมาสักการะ “พระธาตุเชิงชุม” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร ที่ตั้งอยู่ภายใน “วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร”

คำว่า “เชิงชุม” หมายถึง การมีรอยเท้ามาชุมนุมกันอยู่ ซึ่งหมายถึงรอยพระพุทธบาท 4 รอย ที่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์เสด็จมาประทับไว้บนแผ่นหิน และเชื่อกันว่าแผ่นหินนั้นถูกเก็บรักษาไว้ใต้บาดาลโดยพญาสุวรรณนาค เพื่อรอพระศรีอาริยเมตไตรยมาประทับรอยเป็นองค์สุดท้าย และจากความเชื่อนี้ จึงทำให้ผู้คนนิยมมาสักการะองค์พระธาตุ เพราะถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หากมาไหว้แล้วจะเป็นสิริมงคล เนื่องจากพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเยือนถึง 4 พระองค์
หลวงพ่อองค์แสน พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร
สำหรับองค์พระธาตุเชิงชุมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมไว้ ภายในองค์พระธาตุจึงมีลักษณะคล้ายถ้ำ มีพระพุทธรูปหลายองค์ประดิษฐานอยู่ ซึ่งสามารถมองเห็นปากทางเข้าได้จากภายในวิหารด้านหน้าองค์พระธาตุ โดยภายในวิหารแห่งนี้ก็ยังประดิษฐาน “หลวงพ่อองค์แสน” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร

หากใครไปไหว้หลวงพ่อองค์แสน จะสังเกตว่ามีพระพุทธรูปอยู่สององค์ ด้านหน้านั้นคือหลวงพ่อองค์แสนองค์เดิม ส่วนด้านหลังคือหลวงพ่อองค์แสนที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่จะทำการบูรณะวัดครั้งใหญ่ เมื่อสร้างหลวงพ่อองค์แสนองค์ใหม่ ประดิษฐานไว้ที่ด้านหลังแล้ว ก็จะมีการทุบหลวงพ่อองค์เดิมทิ้ง แต่เกิดปาฏิหาริย์ ทำให้ไม่สามารถทุบทิ้งได้ ในเวลาต่อมาจึงประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนทั้งสององค์ไว้ในลักษณะเดิม
เดินชอปปิ้งยามเย็นที่ถนนผ้าคราม
และหากว่าใครมาสักการะพระธาตุเชิงชุมในช่วงเย็นของวันเสาร์-อาทิตย์ อย่าลืมออกมาเดินเล่นที่ด้านหน้าวัด เพราะถนนด้านหน้าวัดนั้นจะเปิดเป็น “ถนนผ้าคราม” ที่ทั้งสองข้าทางจะเต็มไปด้วยร้านขายเสื้อผ้า ของใช้ และผลิตภัณฑ์จากผ้าครามซึ่งเป็นสินค้าของฝากขึ้นชื่อของเมืองสกลนคร โดยถนนคนเดินแห่งนี้จะเปิดช่วงเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันสำคัญทางศาสนา
ข้าวฮางที่กำลังนึ่งอยู่บนเตาฮาง
พูดถึงของฝากของสกลนครแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อไม่แพ้กันก็คือ “ข้าวฮาง” ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” ขอชวนให้มาลองชิมข้าวฮางอร่อยๆ ที่ “บ้านนาบ่อ” ต.ปลาโหล อ.วาริชภูมิ ที่นี่มีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาบ่อเพื่อผลิตข้าวฮางซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวภูไทมาตั้วแต่สมัยโบราณ ที่จะเก็บเกี่ยวข้าวที่ยังไม่แก่จัดมากนัก นำมานึ่งบนเตาฮาง แล้วสีออกมาเป็นข้าวฮางที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ที่ดีต่อสุขภาพ

จุดเด่นของที่นี่คือข้าวฮางที่ปลูกเอง ทำเองภายในกลุ่มนี้ ไม่เน้นการพึ่งพาเทคโนโลยีมากนัก มีเพียงรถเกี่ยวข้าว และเครื่องสีข้าวเท่านั้น ในขั้นตอนอื่นก็เป็นการลงมือทำร่วมกันของสมาชิก โดยทางกลุ่มเชื่อว่าเป็นการทำข้าวฮางด้วยใจ คนกินก็กินได้อย่างมีความสุข คนทำก็มีความสุขไปด้วย
นึ่งข้าวแล้วก็นำมาตากแห้ง ก่อนจะนำไปสีให้ได้ข้าวฮางหอมอร่อย
อิ่มท้องกับข้าวอร่อยๆ กันแล้ว ก็มีพลังมาลงมือทำผ้าครามด้วยตัวเองกันที่ “ร้านครามสกล” ใน อ.เมือง โดยที่ร้านนี้ถือว่าเป็นศูนย์รวมการท่องเที่ยววิถีผ้าครามเลยก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่มีการให้ความรู้เกี่ยวกับต้นคราม การก่อหม้อ การย้อมคราม จนผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมคราม ซึ่งแนวทางของร้านก็เน้นที่การต่อยอดภูมิปัญญาผ้าครามของสกลนคร
สามารถลงมือทำผ้าย้อมครามได้ด้วยตัวเองที่ร้านครามสกล
หากมาที่ร้านครามสกล นอกจากจะได้ความรู้เรื่องผ้าครามอย่างกระจ่างแจ้งแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมให้ลงมือย้อมเสื้อ ย้อมผ้าพันคอด้วยตัวเอง โดยสามารถลงมือมัดย้อมสร้างสรรค์ลวดลายได้ตามความคิดสร้างสรรค์ และหากใครอยากสัมผัสผ้าครามอย่างถึงแก่น จะมานั่งจิบกาแฟ แล้วนอนพักโฮมสเตย์ที่นี่ก็ได้ หรือถ้าอยากได้อุปกรณ์ไปทำผ้าย้อมครามกันเองที่บ้าน ทางร้านก็มีการจัดเซ็ตย้อมผ้าครามให้ไปลองทำกันเองได้ด้วย
ผลิตภัณฑ์ของร้านครามสกล ที่สามารถนำไปย้อมครามเองได้ที่บ้าน
เต็มอิ่มกับการลงมือทำผ้าย้อมครามแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็จะพาไปพักผ่อนใจกันต่อที่ “วัดถ้ำผาแด่น” ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และคณะครูบาอาจารย์สายวัดป่ากรรมฐานเคยธุดงค์มาปักกลดบำเพ็ยเพียร เมื่อประมาณปี พ.ศ.2483 แต่ในปัจจุบันนี้ก็ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามแล้ว

ภายในวัดนั้นยังคงความเงียบสงบอยู่เช่นเดิม และมีสิ่งที่น่าสนใจเริ่มตั้งแต่ภาพแกะสลักหินทรายพระพุทธสีไสยาสน์ และยังมีก้อนหินขนาดใหญ่ที่แกะสลักเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติ ภาพพระอริยสงฆ์รูปต่างๆ ของไทย มีการแกะสลักจำลองรอยพระพุทธบาท 4 รอย และแกะสลักภาพ 4 มหาเทพ

และใครที่ขึ้นมาถึงวัดถ้ำผาแด่นแล้ว นอกจากจะมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาพักผ่อนใจในความเงียบสงบแล้ว ก็ยังมีจุดพักชมวิวของเมืองสกลนครในมุมสูงอีกด้วย
วัดถ้ำผาแด่น
ในพื้นที่ของสกลนครในอดีตนั้นมีความแห้งแล้ง การทำมาหากิน การประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมก็ลำบากกว่าในสมัยนี้มาก จึงมีการพัฒนาพื้นที่ในเขตเทือกเขาภูพาน โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาพื้นที่ โดยมีโครงการจัดหาน้ำ สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ส่งไปทำการศึกษาและทดลองด้านการเกษตร และยังมีโครงการพระราชดำริที่เป็นการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ คือ พัฒนาด้านป่าไม้ การเกษตร และการเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่มาของ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

ปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ก็ยังคงเป็นโครงการศึกษาและทดลองในการพัฒนางานด้านต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและชาวบ้านทั่วไป และยังเปิดให้ประชาชนเข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมส่วนงานต่างๆ ได้ด้วย
เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
โดยภายในศูนย์ก็จะแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ อาทิ แปลงปลูกข้าว แปลงปลูกพืชสวน พืชไร่ บ่อเลี้ยงปลา ทดลองเลี้ยงสัตว์ต่างๆ อาทิ การเลี้ยงปลาในบ่อร่วมกับการเลี้ยงไก่เหนือบ่อ หรือการเลี้ยงปลานิลในบ่อซีเมนต์ ซึ่งสิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของศูนย์ก็คือเรื่องสามดำ อันได้แก่ ไก่ดำภูพาน หมูดำภูพาน และโคเนื้อภูพาน ที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก

มาเที่ยวสกลนครในทริปนี้ ได้แวะมาไหว้พระทำบุญ ไปชมสวนหมากเม่า ของดีแห่งเทือกเขาภูพาน ได้กินของอร่อยๆ ของสกลนคร แถมยังได้ลงมือทำผ้าย้อมครามด้วยฝีมือตัวเอง ก่อนกลับบ้านก็อย่าลืมเลือกซื้อเลือกหาของดีของสกลนคร ไม่ว่าจะเป็นข้าวฮาง หมากเม่า หรือ ผ้าย้อมคราม ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของสกลนคร ติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านด้วยก็แล้วกัน
สาธิตการเลี้ยงปลารวมกับไก่
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และสินค้าเด่นของจังหวัดได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม (ดูแลพื้นที่ จ.นครพนม จ.สกลนคร และ จ.มุกดาหาร) โทร. 0-4251-3490-1
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น