แม้ว่าส่วนตัวจะมีความฝันอยากจะเป็น “ข้าราชการ” ได้ทำงานรับใช้ชาวบ้านและชุมชน แต่อีกหนึ่งความฝัน และยังเป็นภาระที่สำคัญยิ่ง คือ สานต่อกิจการฟาร์มเลี้ยงปลากะพงของครอบครัว เพื่อจะยกระดับการทำฟาร์มเลี้ยงแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรยุคใหม่ครบวงจร ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่เป็นสมบัติครอบครัวคงอยู่ตลอดไปอย่างยั่งยืน
วุฒิชัย แป้นถึง หรือ “เจี๊ยบ” หนุ่มวัย 24 ปี ทายาทฟาร์มปลากะพง “ราชาวดี” ที่ ต.บ้านระกาศ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เรียนจบคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหนุ่มไฟแรงคนนี้ กล่าวได้ว่า มีความขยันมุ่งมั่นในการเรียนสูง เฉลี่ยคะแนนอยู่ในระดับหัวกะทิ และเคยตั้งใจว่า เมื่อเรียนจบอยากจะไปสอบเป็น “ปลัดอำเภอ”ทำงานด้านการปกครองท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพ่อแม่สูงวัยขึ้นทุกวัน อีกทั้ง ยังเป็นลูกชายคนโตที่มีน้องเล็กๆ อีก 2 คน หากไปทำตามฝันของตัวเอง จะต้องจากบ้านไปอยู่พื้นที่ไกลๆ ขาดคนที่จะมาเป็นเสาหลักดูแลสมาชิกครอบครัว ดังนั้น ตัดสินใจเลือกเส้นทางจะเป็นเกษตรกรทำฟาร์มเลี้ยงกะพง สานต่ออาชีพหลักของทางบ้าน
“ผมเป็นลูกคนโต เมื่อถึงเวลาต้องเลือก ผมก็มาคิดถึงว่า ถ้าเราทำงานที่บ้าน ก็จะมีโอกาสได้ดูแลสมาชิกครอบครัวทั้งพ่อแม่และน้องๆไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ คนรุ่นผมที่มีพ่อแม่ทำเกษตรมา มักจะเลือกขายที่ดิน แลกกับการได้เงินก้อนใหญ่ แม้แต่ญาติๆ ของผมเอง ยังเลือกขายที่ดิน นำเงินไปทำธุรกิจอื่นที่มันสบายกว่า แต่ผมไม่เคยคิดจะขายที่ดินเลย เพราะมันเป็นสมบัติครอบครัวที่ตกทอดมา และผมเชื่อว่าการทำธุรกิจเกษตร หากวางระบบให้ดี จะไม่ต้องเหนื่อยหนักอย่างที่คนรุ่นเก่าๆทำมา และจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน” หนุ่มวัย 24 ปี เผยถึงแนวคิดในการเข้ามารับช่วงกิจการ
เขาเผยต่อว่า ที่ดินทำฟาร์มเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ โดยพ่อแม่เริ่มยึดอาชีพทำเกษตร ตั้งแต่เมื่อ 24 ปีที่แล้ว หรือเริ่มทำพร้อมๆ กับที่เขาลืมตาดูโลกนั่นเอง ที่ผ่านมา เคยใช้ที่ดินแห่งนี้ประกอบหลายอาชีพ เช่น เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลานิล ฯลฯ จนสุดท้ายมาลงตัวที่เลี้ยง “ปลากะพง” อย่างเดียว เพราะตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง ผู้บริโภคนิยมกินสูง ขายได้ราคาค่อนข้างดี ขณะเดียวกัน คู่แข่งที่เป็นผู้เลี้ยงในท้องถิ่นค่อนข้างน้อย เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงยาก ต้องอาศัยการดูแลใกล้ชิดและมีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง เกษตรกรหลายรายเลยหันไปเลี้ยงสัตว์ชนิดอีกที่ดูแลง่ายกว่าแทน ขณะเดียวกัน ใน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่เดิมเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงจำนวนมาก ปัจจุบัน ปริมาณการเลี้ยงก็ลดลงมาก เพราะผู้เลี้ยงหลายราย ตัดสินใจขายที่ดินให้แก่นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์
สำหรับที่ดินของฟาร์มเลี้ยงปลากะพง “ราชาวดี” รวมประมาณ 150 ไร่ มีทั้งเป็นที่ดินของตัวเองและที่เช่า แบ่งทำบ่อเลี้ยง 120 ไร่ จำนวน 45 บ่อ โดย 1 บ่อจะมีปริมาณการเลี้ยงประมาณ 1,000-2,000 ตัว ถือเป็นผู้เลี้ยงปลากะพงปริมาณมากที่สุดติดอันดับต้นๆ ใน อ.บางบ่อ โดยช่องทางการตลาด ที่ผ่านมา จะเป็นลักษณะการทำเกษตรดั้งเดิม คือ เป็นเพียง “ต้นน้ำ” ทำหน้าที่แค่เลี้ยงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อได้ขนาดปลาที่ตลาดต้องการ จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม หรือที่ในวงการเรียกกันในวงการว่า มารับซื้อจาก “ลูกบ่อ” เพื่อนำไปขายต่อให้แหล่งค้าส่งอาหารสดต่างๆ เช่น ตลาดไท เป็นต้น
เจี๊ยบเล่าต่อว่า คลุกคลีกับอาชีพเลี้ยงปลากะพงตั้งแต่จำความได้ วัยเด็กหลังเลิกเรียนในแต่ละวันหรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จะต้องช่วยงานในฟาร์มทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นให้อาหารปลา ติดรถไปส่งปลา เป็นต้น ทำให้รู้ทุกกระบวนการ ตลอดจนรู้ทุกปัญหาเกี่ยวกับการทำฟาร์มเลี้ยงปลากะพง
ดังนั้น เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว หลังเรียนจบที่เข้ามาสานต่อกิจการครอบครัวอย่างเต็มตัวนั้น เขาพยายามจะวางระบบการทำฟาร์มใหม่ให้สมบูรณ์แบบ ตลอดจนอุดช่องโหว่ของอาชีพนี้ โดยเฉพาะด้านการทำ “ตลาด” ที่เพิ่มเติมรายได้จากแค่ส่วน “ต้นน้ำ” ขยายสู่ “กลางน้ำ” และ “ปลายน้ำ” มากยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมา การทำฟาร์มของที่บ้าน รวมถึง คนในพื้นที่ จะเป็น “ลูกบ่อ” มีหน้าที่แค่เลี้ยงปลาให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ ประมาณตัวละ 6-9 ขีด แล้วก็ขายส่งให้พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อหน้าฟาร์ม ซึ่งที่ฟาร์มของผม จะมีพ่อค้ารับซื้อหลักๆ แค่ 3 รายเท่านั้น แม้ว่าแต่ละรายจะซื้อครั้งละปริมาณมากๆ แต่มันก็เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจเช่นกัน ที่เรามีฐานลูกค้าน้อยเกินไป หากในอนาคต เจ้าใดเจ้าหนึ่ง หยุดซื้อ หรือเปลี่ยนไปซื้อจากแหล่งอื่นแทน ก็จะกระทบต่ออาชีพเราทันที”
“นอกจากนั้น ปลากะพง ราคาขายค่อนข้างผันผวนมาก เกษตรกรไม่สามารถจะกำหนดราคาขายได้เอง ทุกอย่างถูกกำหนดโดยพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ โดยต้นทุนเลี้ยงปลากะพงอยู่ที่ประมาณ 80-90 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายในปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 135 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเคยขึ้นไปสูงสุดถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม และเคยตกมาเหลือ 40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งตอนนั้น ทำให้ผู้เลี้ยงหลายรายต้องเลิกอาชีพนี้ไปเลย” วุฒิชัย ระบุถึงความเสี่ยงของธุรกิจที่มองเห็น
แนวทางต่อยอดธุรกิจของทายาทฟาร์มปลากะพง “ราชาวดี” นั้น ในส่วนขายส่งกับคู่ค้าเก่านั้น จะคงรักษาไว้เช่นเดิม เพราะค้าขายกันมายาวนาน แต่ในช่วงที่มีปลากะพง ได้ขนาดและน้ำหนักเหมาะแก่การขายออกมาพร้อมๆกันจำนวนมาก ได้ไปเจรจากับโรงงานที่มี “ห้องเย็น” เพื่อขอเช่าพื้นที่ นำปลาสดส่วนหนึ่ง “แช่แข็ง” เก็บไว้ สำหรับเอาออกขายในช่วงที่ราคาเหมาะสม ซึ่งจากการคำนวณต้นทุนต่างๆแล้ว วิธีนี้ยังเหลือกำไรมากกว่าที่จะยอมขายในราคาต่ำจนขาดทุน และในอนาคต หากมีเงินทุนมากเพียงพอ ค่อยคิดถึงการมีห้องเย็นของตัวเองต่อไป
นอกจากนั้น ได้ริเริ่มนำปลากะพงสดมาแปรรูปทำเป็น “ปลากะพงแดดเดียว” เพื่อเพิ่มมูลค่า และขยายตลาดใหม่ ขายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง อาศัยผ่านช่องทางออนไลน์ เริ่มทดลองทำสินค้าออกสู่ตลาดเมื่อไม่นานมานี่
“ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครนำปลากะพงมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวเลย โดยผู้เลี้ยงมักจะคิดว่า มันไม่เหมาะ เนื่องจากปลากะพง ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ และต้นทุนสูง จากปลาสดมาทำเป็นปลาแดดเดียวน้ำหนักจะลดไป 2 ใน 3 ส่วน เช่น ปลาสดหนัก 6 กิโลกรัม ตากแห้งแล้ว น้ำหนักจะเหลือแค่เกือบ 2 กิโลกรัม ซึ่งเฉพาะต้นทุนของปลาตัวนี้ เกือบ 600 บาทไปแล้ว คงยากที่จะมีลูกค้ายอมซื้อในราคานี้ แต่ผมกลับคิดว่า ขนาด “ปลาแซลมอน” หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ขายราคาเป็นร้อยบาท ยังมีลูกค้าซื้อ ทำไมปลากะพงจะขายบ้างไม่ได้” เจ้าของชื่อเล่นเจี๊ยบ เผยถึงความเชื่อที่จะแปรรูปปลากะพง
เขาเล่าต่อว่า หลังจากได้ไอเดียดังกล่าวแล้ว ได้เริ่มทดสอบการแปรรูป โดยลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง คิดค้นสูตรการหมักปลา จากนั้นนำไปตากแดด และบรรจุใส่พลาสติกใสสุญญากาศ ที่จะคงอายุการเก็บรักษาได้ยาวนาน เบื้องต้น ได้ทดสอบตลาด นำไปวางขายตามตลาดนัดต่างๆ ทว่า ไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง
แทนที่จะท้อ เขากลับลองเปลี่ยนไปเปิดขายปลากะพงแดดเดียวผ่านออนไลน์แทน ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดี และที่สำคัญ ผู้ซื้อจะเป็นตลาดบน ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า หากพาสินค้าไปเจอลูกค้ากลุ่มที่เหมาะสม ก็จะสามารถขายได้
“หลังจากที่ผมเริ่มทดสอบตลาดขายผ่านออนไลน์ ทำให้ผมเชื่อว่า ปลากะพงแดดเดียวสามารถสร้างตลาดไปสู่ลูกค้าใหม่ๆได้ ซึ่งแผนต่อไป ผมกำลังพัฒนาการผลิตให้ได้คุณภาพ ตั้งแต่สร้างโรงงานผลิตให้ได้มาตรฐานต่างๆ ครบถ้วน ทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้สวยงามน่าซื้อ โดยจะเข้าไปขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีโครงการช่วยพัฒนาสินค้าชุมชน จากนั้น จะสร้างแบรนด์ของตัวเอง เพื่อที่ปีหน้า (2560) จะส่งปลากะพงแปรรูปให้เข้าเป็นสินค้าโอทอปของ จ.สมุทรปราการ” วุฒิชัย เล่าถึงแผนต่อยอดธุรกิจ
นอกจากแผนต่อยอดระยะสั้นดังกล่าวแล้ว แผนระยะกลางนั้น เขาระบุว่า ในส่วนของตัวฟาร์มเลี้ยงปลากะพงนั้น จะพยายามยกระดับให้ได้มาตรฐาน “GAP” (Good Agricultural Practice) หรือมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ได้ผลผลิตปลอดภัยและคุณภาพสูง ซึ่งจะควบคุมทั้งด้านการเลี้ยง สภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ หากทำได้แล้ว จะช่วยให้ปลาที่เลี้ยง สามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถส่งออกขายต่างประเทศได้ด้วย
และแผนระยะยาวที่คิดไว้ หากมีศักยภาพพร้อม นอกจากเลี้ยงปลากะพงแล้ว จะขยายพื้นที่ฟาร์ม เพื่อทำเกษตรอื่นๆ นานาชนิด ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยเน้นทำวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อตอบเทรนด์โลกยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจไม่ต้องยึดติดกับผลผลิตแค่ตัวใดตัวหนึ่งอย่างเดียวอีกต่อไป
นอกจากนั้น จะพัฒนาฟาร์มให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในลักษณะศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงปลากะพงครบวงจร เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาพักผ่อนและเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้เลี้ยงปลากะพง
“ที่ตั้งฟาร์ม “ราชาวดี” อยู่ลึกจากถนนใหญ่แค่ 2 กิโลเมตรเอง แต่เมื่อเข้ามาแล้ว จะรู้สึกว่ามันเหมือนเป็นคนละโลกกันเอง เพราะที่นี่บรรยากาศยังเป็นแบบชนบทแท้ๆ ซึ่งผมมั่นใจว่า ทำเลนี้ มีศักยภาพมาก หากนำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ จะทำให้เกิดเป็นธุรกิจการเกษตรที่มีความยั่งยืนได้” หนุ่มวัย 24 ปี กล่าว
แม้วันนี้ เจี๊ยบต้องยอมทิ้งความฝันที่จะได้เป็นปลัดอำเภอหนุ่ม แล้วเดินหน้าเป็นเกษตรกรเต็มตัว ทว่า หากทำได้ตามแผนที่คิดและวางไว้ ในอนาคตฟาร์มเลี้ยงปลากะพง “ราชาวดี” แห่งนี้ จะกลายเป็นธุรกิจเกษตรยุคใหม่ที่สมบูรณ์แบบ ที่เจ้าตัวสามารถย้อนกลับมาภาคภูมิใจได้ว่า เลือกเส้นทางชีวิตได้ถูกต้องแล้ว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *