xs
xsm
sm
md
lg

ยลความงาม “พระมหาพิชัยราชรถ” ราชรถหลักที่ใช้ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระมหาพิชัยราชรถ
หากได้มาเยือนที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” จะต้องไม่พลาดที่จะเข้าชม “โรงราชรถ” ที่นับเป็นจุดที่มีประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก เพราะที่นี่เปรียบเหมือนเป็นสถานที่บันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญสำหรับคนไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
โรงราชรถปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
"โรงราชรถ”
จากหลักฐานหนังสือ “เรื่องกรุงเก่า” กล่าวว่า มีโรงใส่พระมหาพิชัยราชรถอยู่ริมกำแพงคั่นท้องสนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ภายนอกประตูพระราชวัง ชั้นกลาง และจากหมายรับสั่งรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ.2386 กล่าวว่ามีโรงราชรถเก่าอยู่ที่ริมตึกดิน ทางทิศตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง และได้ย้ายพระมหาพิชัยราชรถไปที่โรงราชรถใหม่ ซึ่งอยู่ที่ใดไม่ปรากฏ
 
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้ย้ายพระมหาพิชัยราชรถมาไว้ที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และได้ตั้งให้เป็นโรงเก็บราชรถสำคัญ 2 โรง โดยให้อยู่ในความดูแลของกรมพระตำรวจ จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังบวรสถานมงคล ให้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ซึ่งปัจจุบันก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” นั่นเอง 
ความสวยงามของพระมหาพิชัยราชรถ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา ให้สร้างโรงราชรถขึ้นใหม่ลักษณะเป็นโรงหลังคาทรงจั่ว 2 หลัง เชื่อมต่อกันด้วยมุขขวาง ภายในเปิดโล่งถึงกันโดยตลอด แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2472 ต่อมาในปี พ.ศ.2536 กรมศิลปากรได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์โรงราชรถขึ้นใหม่ โดยต่อเติมมุขหน้า
 
และใช้เป็นที่เก็บรักษาและจัดแสดงราชรถสำคัญของแผ่นดิน รวมทั้งเครื่องประกอบในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพในปัจจุบัน วัตถุจัดแสดงที่สำคัญคือ
เวชยันตราชรถ
“พระมหาพิชัยราชรถ”
“พระมหาพิชัยราชรถ” มีนามหมายถึง “ชัยชนะอันยิ่งใหญ่” เป็นมงคลนาม ลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบกขนาดใหญ่ มีขนาดกว้าง 4.80 เมตร ยาว 18 เมตร (เฉพาะตัวรถ 14.10 เมตร) สูง 11.20 เมตร หนัก 13.70 ตัน ใช้กำลังพลชักลากจำนวน 216 คน
 
สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกตกแต่งด้วยชั้นเกรินประดับกระหนกเศียรนาค กระหนกท้ายเกริน และรูปเทพพนมโดยรอบ โดยใช้สำหรับอัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมชนก พระราชชนนี พระอัครมเหสี และพระมหาอุปราช ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง 
ราชรถน้อย 1 ใน 3 องค์ ที่จัดแสดงอยู่ในโรงราชรถ
เมื่อปี พ.ศ.2339 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างพระมหาพิชัยราชรถขึ้นเพื่อใช้ทรงพระบรมโกศ ถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ณ พระเมรุมาศ เป็นครั้งแรก

พระมหาพิชัยราชรถนี้เคย มาใช้งานมาแล้ว 20 ครั้ง อาทิ ใช้อัญเชิญพระบรมศพของรัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 5, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า), สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (พระพี่นาง) เป็นต้น และการใช้งานครั้งสุดท้ายคือ เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อ พ.ศ.2555
ราชรถน้อยมีลักษณะเหมือนพระมหาพิชัยราชรถ แต่ขนาดเล็กกว่า
“เวชยันตราชรถ”
“เวชยันตราชรถ” มีนามหมายถึง "รถของพระอินทร์" ลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบกพิมานขนาดใหญ่ มีขนาดกว้าง 4.85 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 11.70 เมตร หนัก 12.25 ตัน จำหลักตกแต่งลวดลายวิจิตร สร้างขึ้นพร้อมกับพระมหาพิชัยราชรถ ในปี พ.ศ.2339
 
โดยใช้พระมหาพิชัยราชรถในการทรงพระบรมอัฐิ และเวชยันตราชรถใช้เป็นรถพระที่นั่งรอง จากนั้นใช้ในการพระศพสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าสืบมาถึงรัชกาลที่ 6
เกรินบันไดนาค
เมื่อครั้งพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พ.ศ.2468 และพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สยามินทราธิราช เมื่อ พ.ศ.2493 (รัชกาลที่ 8) พระมหาพิชัยราชรถชำรุดไม่พร้อมต่อการอัญเชิญพระบรมศพ จึงได้เชิญเวชยันตราชรถออกใช้การแทน แต่ให้ขนานนามราชรถตามหมายกำหนดการว่าพระมหาพิชัยราชรถ

การใช้งานครั้งสุดท้ายคือ เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ.2528 จนกระทั่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ในปี พ.ศ.2539 จึงได้มีการบูรณะพระมหาพิชัยราชรถครั้งใหญ่และเชิญออกใช้การอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง
ยานมาศสามลำคาน
“ราชรถน้อย”
นอกจากราชรถที่กล่าวมาภายในโรงราชรถยังมี "ราชรถน้อย" อีกสามองค์ ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2339 พร้อมพระมหาพิชัยราชรถและเวชยันตราชรถ ลักษณะคล้ายกับพระมหาพิชัยราชรถ แต่มีขนาดย่อมกว่ามาก โดยองค์ที่หนึ่งใช้เป็นราชรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ ทรงสวดนำกระบวนพระมหาพิชัยราชรถ

ราชรถน้อยองค์ที่สองเป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศ จัดเป็นราชรถตาม จากนั้นเป็นราชรถน้อยองค์ที่สาม ใช้เป็นรถสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ประทับ เพื่อทรงโปรยทานพระราชทานแก่ประชาชนที่มาเฝ้ากราบพระบรมศพตามทางสู่พระเมรุมาศ ต่อมาในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ยกเลิกประเพณีโยงผ้าและโปรยทาน ปัจจุบันจึงคงใช้ราชรถน้อยเป็นรถพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรมนำราชรถทรงพระบรมโกศ
พระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
“เกรินบันไดนาค”
“เกรินบันไดนาค” คืออุปกรณ์ที่ใช้อัญเชิญพระโกศขึ้นหรือลงราชรถและพระเมรุมาศ โดยการหมุนกว้านให้เคลื่อนไปตามรางเลื่อนไม้จำหลักรูปนาค เกรินมีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับลงมา ซึ่งเป็นที่สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้น นั่งประคอง พระโกศพระบรมศพ

มีลักษณะคล้ายท้ายสำเภา ด้านข้างบุผ้าตาดทอง มีราวทั้ง 2 ข้างตกแต่งเป็นรูปพญานาค จึงเรียกว่า เกรินบันไดนาค ประดิษฐ์ขึ้นโดย สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ใช้ครั้งแรกในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พ.ศ.2355
สัตว์หิมพานต์ ที่ใช้สำหรับประดับบันไดขึ้นพระเมรุ
“ยานมาศสามลำคาน”
 “ยานมาศสามลำคาน” เป็นยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า ยานมาศสามลำคาน ใช้คนหาม 2 ผลัด ผลัดละ 60 คน ใช้สำหรับอัญเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระบรมมหาราชวังขึ้นสู่ราชรถ และใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุ
 
นอกจากราชรถสำคัญของแผ่นดินและเครื่องประกอบในการพระราชพิธีพระบรมศพที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนี้ ภายในโรงราชรถยังมีวัตถุจัดแสดงที่สำคัญของแผ่นดินอีกหลายสิ่งเก็บรักษาไว้ อาทิ แบบจำลองพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พระสัปตปฎลเศวตฉัตร ที่ใช้ประดับยอดพระเมรุ, สัตว์หิมพานต์ ที่ใช้สำหรับประดับบันไดขึ้นพระเมรุ
 
ในพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะใช้ “พระมหาพิชัยราชรถ” เป็นราชรถหลักในพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งปัจจุบันพระมหาพิชัยราชรถถูกเก็บที่โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สามารถเข้าชมฟรีได้ทุกวัน จนถึง 31 ม.ค. 60 เวลา 9.00-16.00 น.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น