สำนักพระราชวังได้ประกาศเปิดให้ประชาชนนั้นได้เข้าไปสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 29 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00 - 21.00 น. ที่ “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” ในพระบรมมหาราชวัง
“พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” นั้นถือว่าเป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระที่นั่งทั้งหมู่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งรัชกาลที่ 1 หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2332 บนพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ซึ่งถูกฟ้าผ่าไหม้จนหมด จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาปราสาทขึ้นใหม่บนพื้นที่เดิม นามว่า “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท”
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีพระที่นั่งพิมานรัตยา พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา และเรือนบริวาร หรือเรือนจันทร์ ต่อเนื่องทางด้านหลังในเขตพระราชฐานชั้นใน พระที่นั่งองค์นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียวในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะเรือนยอดพระมหาปราสาท (กุฎาคาร) มีรูปทรงต้องด้วยศิลปะลักษณะอันวิจิตรงดงาม
ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี บำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับในเวลาเสด็จออกในงานพระราชพิธี อันเป็นมหาสมาคม หรือให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้านหลังพระมหาปราสาทมีมุขกระสันเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานรัตยา มีพระทวารเป็นทางเชื่อมถึงกัน มุขกระสันตอนที่ต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางด้านทิศเหนือ มีบันไดทางขึ้นพระที่นั่งบุษบกมาลาสองข้าง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นเมื่อมีการพระราชพิธีต่างๆ โปรดเกล้าฯ ให้จัดมุขเหนือ มุขตะวันออกและมุขตะวันตกเป็นท้องพระโรง สำหรับฝ่ายหน้า จัดมุขใต้สำหรับฝ่ายในและเสด็จฯ ประทับที่พระบัญชรบุษบกมาลา ซึ่งตั้งอยู่กลางผนังด้านทิศใต้ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ เป็นที่เสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเฝ้าฯ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำฉากลงรักปิดทองเป็นภาพพิธี “อินทราภิเษก” เพื่อกั้นมุขใต้แทนม่าน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 รัชกาลก่อนอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนหน้าที่จะสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปดังกล่าว
ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเฉลิมราชมณเฑียรที่พระมหาปราสาทนี้ใน พ.ศ. 2465 ได้ตั้งพระแท่นบรรทมที่มุขด้านทิศตะวันออก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเติมห้องสรง ขึ้นที่มุมพระมหาปราสาทระหว่างมุขตะวันออกกับมุขใต้
ในช่วงยุคระหว่างรัชกาลที่ 1 เมื่อมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงฝ่ายในบางพระองค์สิ้นพระชนม์ลงก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระศพบนพระมหาปราสาท เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุนทรเทพ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตก็ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐานไว้บนพระมหาปราสาท จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมาว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพเมื่อมีการสวรรคตของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
ในรัชกาลปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ได้ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไม่ได้เป็นเพียงที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพเท่านั้น ยังถือว่าเป็นสถานที่เพื่อทำพระราชพิธีสำคัญต่างๆ อีกด้วย อย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ.2454 ในรัชกาลสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รวมทั้งเมื่อครั้งวันสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จออกมหาสมาคมอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมาประดิษฐานที่พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จแห่งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา
ถือว่า “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท” นั้นเป็นสถานที่สำคัญที่ผ่านช่วงยุคกาลสมัย และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
สำนักพระราชวัง แจ้งประชาสัมพันธ์ เปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ เบื้องหน้าพระบรมโกศ วันที่ 29 ต.ค. 59 เป็นต้นไป ตั้งแต่เวลา 08.00 - 21.00 น. ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขอความกรุณาแต่งกายสุภาพ พร้อมปิดการลงนามถวายความอาลัย ณ ศาลาสหทัยสมาคม 28 ต.ค. นี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com