“บุรีรัมย์” ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ” เป็นจังหวัดแห่งอีสานใต้ที่มากมายไปด้วยอารยธรรมขอมโบราณ มีปราสาทหินที่ยิ่งใหญ่และงดงามอย่างปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ อีกทั้งยังมีความโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวด้านกีฬา (สปอร์ตทัวริซึ่ม) โดยมีทีม “ปราสาทสายฟ้า” หรือทีมสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ “สนามฟุตบอลไอ-โมบาย สเตเดียม” เป็นความภาคภูมิใจของชาวบุรีรัมย์ จนทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชู “บุรีรัมย์” ให้เป็น 1 ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด ภายใต้แนวคิด “เมืองปราสาทสองยุค” จากเมืองปราสาทหินโบราณไปสู่ปราสาทสายฟ้ายุคใหม่อันน่าชื่นชม
จากนั้น ททท.ยังเดินหน้าต่อด้วยแคมเปญ “เมืองต้องห้าม...พลาด plus” จับคู่ “บุรีรัมย์ plus สุรินทร์” สองจังหวัดที่อยู่ติดกันและมีจุดขายในด้านความเป็นแหล่งอารยธรรมขอมโบราณ มีปราสาทหินหลายแห่งที่งดงามน่าประทับใจ ทั้งยังมีสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างที่หมู่บ้านช้างบ้านตากลางซึ่งเป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นจุดดึงดูด ก็ยิ่งทำให้ “บุรีรัมย์ plus สุรินทร์” เป็นเมืองท่องเที่ยวสองจังหวัดที่เชื่อมโยงกันได้เข้าขาเป็นอย่างดี
“บุรีรัมย์” ดินแดนแห่งปราสาทหิน
ในสมัยโบราณ วัฒนธรรมขอมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาครอบคลุมพื้นที่บริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ เห็นได้จากซากปราสาทขอมน้อยใหญ่หลายสิบแห่งที่กระจายอยู่ทั่วจังหวัด โดยปราสาทหินที่สวยงามสมบูรณ์และเป็นที่รู้จักมากที่สุดในบุรีรัมย์ก็คือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ซึ่งตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ
ปราสาทหินพนมรุ้งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างอย่างต่อเนื่องกันมาหลายสมัยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 บริเวณด้านหน้าปราสาทพนมรุ้งมีเส้นทางเดินสู่ปราสาทเป็นทางยาว สองข้างทางมีเสานางเรียงตั้งอยู่เรียงราย และมีบันไดสูงชันขึ้นสู่ตัวปราสาท ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ ส่วนบริเวณปราสาทประธานก็งดงามไปด้วยภาพแกะสลักหินชิ้นเยี่ยมไม่ว่าจะเป็น “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และภาพ “ศิวนาฏราช” รวมไปถึงภาพแกะสลักหินเป็นเรื่องราวต่างๆ อย่างงดงาม
และในทุกๆ ปี จะมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์ ณ ปราสาทหินพนมรุ้ง คือปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องบานประตูในเดือน เม.ย. และ ก.ย. และปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องบานประตู ในเดือน มี.ค. และ ต.ค. ในช่วงเวลาดังกล่าว พระอาทิตย์จะขึ้น-ตก สาดแสงลอดทะลุซุ้มประตูของตัวปราสาททั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกัน เป็นความมหัศจรรย์และแสดงถึงความสามารถของผู้ออกแบบและสร้างปราสาทพนมรุ้งได้เป็นอย่างดี
ไม่ไกลจากปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นที่ตั้งของ “ปราสาทเมืองต่ำ” (อ.ประโคนชัย) อีกหนึ่งปราสาทหินงดงามแห่งบุรีรัมย์ที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ มีอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16
ปราสาทเมืองต่ำมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นนอกสุดเป็นกำแพงแก้วและซุ้มประตูสร้างล้อมลานปราสาทและสระน้ำ ขอบบนสุดของสระน้ำสลักเป็นพญานาคชูคอแผ่พังพานที่มุมสระ โดยเศียรของพญานาคทั้ง 5 เศียรมีลักษณะเกลี้ยง ไม่มีรัศมีหรือเครื่องประดับศีรษะ เป็นรูปแบบของศิลปะขอมแบบบาปวนอันโดดเด่นของปราสาทเมืองต่ำ
อีกทั้งบริเวณกลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ ซึ่งเป็นอาคารสำคัญของปราสาทแห่งนี้ ก็ยังมีภาพทับหลังและหน้าบันที่แกะสลักจากหินอย่างละเอียดงดงาม ไม่ว่าจะเป็นทับหลังพิธีสยุมพรพระศิวะและพระนางปารพตี ทับหลังรูปอุมามเหศวร ทับหลังรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ เป็นต้น คนรักโบราณสถานรับรองว่าเดินชมกันเพลินเลยทีเดียว
นอกจากนั้นในจังหวัดบุรีรัมย์ก็ยังมีปราสาทหินขนาดเล็กอีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทหนองหงส์ กู่สวนแตง ปราสาทเขากระโดง ปราสาทกุฏิฤๅษี ปราสาทเขากระเจียว ฯลฯ ให้ได้ไปชมกันสมชื่อ “เมืองปราสาทหิน” จริงๆ
ถิ่นภูเขาไฟ “เขากระโดง-เขาอังคาร”
นอกจากจะเป็นเมืองปราสาทหินแล้ว บุรีรัมย์ยังเรียกได้ว่าเป็น “ถิ่นภูเขาไฟ” เพราะบริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นภูเขาไฟโบราณที่ปัจจุบันได้ดับสนิทไปแล้ว โดยมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “เขาพนมรุ้ง” ที่ตั้งของปราสาทหินพนมรุ้ง “เขากระโดง” หรือที่ปัจจุบันจัดทำเป็น “วนอุทยานเขากระโดง” (อ.เมือง) ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยของปากปล่องภูเขาไฟให้เห็นได้ชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนสะพานแขวนเพื่อชมทัศนียภาพของปากปล่องภูเขาไฟที่มีลักษณะเป็นหลุมลึกได้ อีกทั้งบนยอดเขากระโดงยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ และมีมณฑปรอยพระพุทธบาทจำลองให้ผู้ที่ศรัทธาได้มากราบไหว้กัน
“เขาอังคาร” (อ.เฉลิมพระเกียรติ) เป็นอีกหนึ่งภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วของบุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ “วัดเขาอังคาร” ซึ่งมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินทรายสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักรสมัยทวารวดีหลายชิ้น วัดเขาอังคารเป็นวัดที่สวยงามแห่งหนึ่งในบุรีรัมย์ สร้างประยุกต์จากสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ ภายในวัดมีอุโบสถ 3 ยอดที่รายด้วยพระพุทธรูปจำนวน 109 องค์ และมีพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งอีกด้วย
ภาคภูมิ “ปราสาทสองยุค” สุขใจชมดอกไม้ “เพ ลา เพลิน”
นอกจากจะมีปราสาทหินมากมายแล้ว บุรีรัมย์ยังมี “ปราสาทสายฟ้า” เป็นความโดดเด่นของจังหวัดอีกอย่างหนึ่ง
“ปราสาทสายฟ้า” นั้นเป็นฉายาของทีมสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ชาวบุรีรัมย์แสนจะภาคภูมิใจ แถมยังมี “สนามฟุตบอลไอ-โมบาย สเตเดียม” หรือ “ธันเดอร์ คาสเซิล สเตเดียม” สนามเหย้าของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ดที่ได้มาตรฐานระดับโลก จุผู้ชมได้มากถึง 32,600 คน ได้รับการบันทึกจากฟีฟ่าว่าเป็นสนามที่ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุดในโลก แถมหน้าตาและบรรยากาศของสนามยังดูอินเตอร์สุดๆ เทียบได้กับสนามฟุตบอลระดับโลก เป็นที่เชิดหน้าชูตาของคนบุรีรัมย์ยิ่งนัก
นอกจากสนามฟุตบอลแล้ว บุรีรัมย์ยังมีสนามแข่งรถ “ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต” สนามมอร์เตอร์สปอร์ตมาตรฐานโลก สร้างบนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ และเป็นสนามเดียวในไทยที่ได้รับรองมาตรฐานระดับ FIA Grade 1 / FIM Grade A และถ้าใครได้ขึ้นไปยืนอยู่บนแกรนด์แสตน จะสามารถมองเห็นการแข่งขันได้ถึง 180 องศา เรียกว่าสามารถมองเห็นกันได้ชัดเจนทุกโค้งของสนาม ให้อารมณ์ตื่นเต้นระทึกใจอย่างเต็มที่ ถูกใจผู้ที่ชอบการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตยิ่งนัก
ส่วน “เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท แอนด์ แอดเวนเจอร์ แคมป์” (อ.คูเมือง) ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของบุรีรัมย์ที่ไม่ควรพลาดชม ที่นี่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษานอกห้องเรียนแบบครบวงจรด้านพันธุ์ไม้นานาชนิด ความโดดเด่นอยู่ที่ “อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน” ซึ่งจะมีการจัดแสดงพันธุ์ไม้นานาชนิดในธีมต่างๆ ทั้งยังมีโรงเรือนพืชตามฤดูกาลที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดอกไม้สวยๆ มาให้ชมกันตลอดทั้งปี รวมถึงมีสวนในลักษณะต่างๆ คือ สวนอังกฤษ ป่าดึกดำบรรพ์ สีสรร..แห่งธรรมชาติ กินรี มหาพีระมิด และศิลปะอีสานใต้ ให้นักท่องเที่ยวได้ชมดอกไม้ใบหญ้าเพลิดเพลินกันไป
“ผ้าภูอัคนี-ผ้าซิ่นตีนแดง” ของดีบุรีรัมย์
สำหรับใครที่มาเที่ยวบุรีรัมย์แล้วอยากจะหาซื้อของฝาก ขอแนะนำ “ผ้าภูอัคนี” หรือ “ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนบ้านเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ โดยหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับ “เขาอังคาร” ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับสนิทแล้ว ดินบริเวณนี้จึงอุดมด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟที่ปะทุออกมาในอดีต ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกแล้ว ชาวบ้านเจริญสุขยังคิดค้นภูมิปัญญาในการนำดินเหล่านี้มาใช้ย้อมผ้าให้ออกมามีสีน้ำตาลสวยงามได้อีกด้วย
ส่วน “ผ้าซิ่นตีนแดง” ก็เป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ท้องถิ่นของ อ.พุทไธสง และ อ.นาโพธิ์ โดย “ซิ่นหัวแดงตีนแดง” “ซิ่นตีนแดง” หรือ “ซิ่นหมี่รวด” มีการทอสืบต่อกันมา 200 ปี ตามแบบผ้าซิ่นเมืองลาว อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือทอด้วยไหมทั้งผืน หัวและตีนของซิ่นจะเป็นสีแดงสด ตอนกลางของผืนผ้าเป็นลายมัดหมี่ เรียกว่าหมี่ขอ เป็นสีดำ สีน้ำตาลเหลือบทอง ทอเป็นผืนเดียว ไม่ใช่การตัดต่อระหว่างตัวซิ่น หัวซิ่น และตีนซิ่น น่าซื้อหาเป็นของฝากยิ่งนัก
เยือน “สุรินทร์” ยลปราสาทหิน เยี่ยมนางอัปสรา
จากบุรีรัมย์ เราเดินทางมาเยือนสุรินทร์กันบ้าง ในจังหวัดสุรินทร์ก็มีปราสาทหินจำนวนไม่น้อย มีความเก่าแก่และงดงามไม่แพ้ที่ไหนๆ ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มปราสาทตาเมือน” (อ.พนมดงรัก) เป็นโบราณสถานศิลปะขอม 3 หลัง 3 แบบ ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เชื่อว่าในอดีตที่นี่เคยเป็นชุมชนโบราณเพราะเป็นเส้นทางผ่านช่องเขาสำคัญระหว่างเมืองพระนครไปยังพิมายปุระ โดยประกอบไปด้วย “ปราสาทตาเมือนธม” ปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม “ปราสาทตาเมือนตู๊จ” เชื่อว่าเป็นอโรคยาศาล หรือสถานที่รักษาพยาบาลของชุมชน ส่วน “ปราสาทตาเมือน (บายกรีม)” เป็นปราสาทหลังเล็กที่สุด เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา หรือที่พักสำหรับคนเดินทาง
“ปราสาทศีขรภูมิ” (อ.ศีขรภูมิ) สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนในลัทธิความเชื่อศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย นับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด โดยเป็นปราสาทอิฐ 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง และปราสาทบริวารอยู่โดยรอบทั้ง 4 มุม ที่นี่นอกจากจะมีทับหลังแกะสลักอันงดงามเป็นภาพศิวนาฏราชแล้ว บริเวณขอบประตูด้านหน้าปรางค์ประธานยังมีภาพสลักนางอัปสราหินทรายที่สวยและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย งดงามมากจริงๆ
“ปราสาทบ้านพลวง” (อ.ปราสาท) เป็นปราสาทหินที่แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีลวดลายแกะสลักที่วิจิตรงดงามและสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในไทย ตัวปราสาทเป็นปรางค์ก่อด้วยหินทรายและอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีคูน้ำล้อมรอบ เป็นศาสนสถานประจำชุมชน เชื่อว่าสร้างถวายแด่พระอินทร์เพราะที่ทับหลังของปราสาทนั้นสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณทั้งสามด้าน
ส่วน “ปราสาทภูมิโปน” (อ.สังขะ) ได้ชื่อว่าเป็นปราสาทศิลปะขอมที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยก่อสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดคือปราสาทอิฐหลังใหญ่ซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐไม่สอปูน และยังคงเหลือลายสลักหินให้ชมเพียงเล็กน้อยเป็นรูปใบไม้ม้วนแบบศิลปะคุปตะรุ่นหลังของอินเดียบริเวณหน้าบันเหนือทับหลัง ส่วนอาคารอิฐอีก 3 หลังหลงเหลือเพียงส่วนฐานและกรอบประตูเท่านั้น
“วัดบูรพาราม-เขาพนมสวาย” พลาดไม่ได้เมื่อมาสุรินทร์
หากได้มาเยือนจังหวัดสุรินทร์แล้ว ต้องไม่พลาดที่จะมายัง “วัดบูรพาราม” (อ.เมือง) วัดคู่บ้านคู่เมืองสุรินทร์และเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระชีว์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวสุรินทร์ต่างเคารพศรัทธา โดยหลวงพ่อพระชีว์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในวิหารจัตุรมุข คาดว่าพระพุทธรูปถูกสร้างขึ้นพร้อมกับวัด ในราว 200 ปีมาแล้ว โดยคนสุรินทร์ต่างกราบไหว้และนับถือท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองสุรินทร์ตลอดมา
อีกทั้งหากมาที่วัดบูรพารามก็ยังจะได้มากราบไหว้รูปเหมือนของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล พระเกจิอาจารย์ผู้ล่วงลับ หลวงปู่ดุลย์นั้นเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเก่งเรื่องปฏิบัติภาวนา มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพศรัทธาท่านมากมาย อีกทั้งหลวงปู่ดุลย์ยังเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพารามแห่งนี้อีกด้วย ภายในวัดจึงได้สร้าง“พิพิธภัณฑ์กัมมัฎฐาน-อัฐิธาตุ” ประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงปู่ดุลย์ รวมถึงพระอัฐิของพระเกจิอาจารย์ทางภาคอีสานไว้ให้บูชากันอีกด้วย
ส่วน “วนอุทยานเขาพนมสวาย” (อ.เมือง) เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นภูเขาไฟซึ่งปัจจุบันดับสนิทแล้ว มีลักษณะเป็นภูเขาเตี้ยๆ มี 3 ยอด คือ เขาชาย (เขาพนมเปราะ) เขาหญิง (เขาพนมสรัย) และเขาคอก (เขาพนมกรอล) สำหรับเขาชาย เป็นที่ประดิษฐาน “พระใหญ่” หรือ “พระพุทธสุรินทรมงคล” พระพุทธรูปปางประทานพร หน้าตักกว้าง 15 ม. ความสูง 21.50 ม. อีกทั้งบันไดทางขึ้นสู่องค์พระยังมีระฆังแขวนเรียงรายตลอดเส้นทาง ซึ่งหากนับรวมระฆังทั้งหมดมีจำนวนถึง 1,080 ใบ เลยทีเดียว
นอกจากจะมากราบพระใหญ่แล้ว ก็ยังมีอัฐิหลวงปู่ดุลย์ อตุโล รอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปองค์ดำ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาต่างๆ ทั้งสามยอดด้วย
ชมช้างแสนรู้ที่หมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก
“หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง” (อ.ท่าตูม) ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยชาวบ้านที่นี่เป็นชาวกวย หรือชาวกูย ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในอดีตของสุรินทร์ที่มีขนบธรรมเนียมและประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับช้าง เนื่องจากชาวกวยเป็นคนเลี้ยงช้างที่มีความรู้ความชำนาญในการจับช้างป่ามาเลี้ยงตั้งแต่ในอดีต โดยนำมาเลี้ยงไว้ใช้งาน และเลี้ยงเป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัว
นักท่องเที่ยวสามารถไปเยือน “ศูนย์คชศึกษา” ภายในหมู่บ้านตากลาง เพื่อชมการแสดงโชว์ช้างที่มีให้ชมทุกวัน วันละ 2 รอบ (10.00 และ 14.00 น.) ไม่ว่าจะเป็นการโชว์ช้างวาดรูป ช้างเตะฟุตบอล ฯลฯ ที่ทำได้น่ารักน่าชมยิ่งนัก หรือจะเข้าไปเยี่ยมชมบรรยากาศความผูกพันของคนกับช้างภายในหมู่บ้านตากลาง รวมไปถึงสามารถเข้าไปชม “สุสานช้าง” ที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก ณ สำนักสงฆ์วัดป่าอาเจียง ได้อีกด้วย
เนื่องจากได้ชื่อว่าเป็น “ถิ่นช้างใหญ่” สุรินทร์จึงนำเอาช้างซึ่งเป็นดังสัญลักษณ์ของจังหวัดมามีส่วนร่วมในเทศกาลท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “งานมหัศจรรย์ช้างสุรินทร์” (เดือน พ.ย.) ซึ่งเป็นการแสดงช้างอย่างยิ่งใหญ่กว่า 300 เชือก “งานมหกรรมแห่เทียนพรรษา และตักบาตรบนหลังช้าง” (เดือน ก.ค.) “การบวชนาคช้าง” (เดือน พ.ค.) ที่มีขบวนแห่นาคบนหลังช้างอย่างน่าตื่นตา และ “งานแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” (เดือน ก.พ.) นับเป็นการให้ช้างเข้ามามีบทบาทกับการท่องเที่ยวของจังหวัดสมกับเป็น “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่” จริงๆ
“ตลาดช่องจอม” การค้าชายแดน
ที่จังหวัดสุรินทร์มี “ด่านชายแดนช่องจอม” (อ.กาบเชิง) เป็นจุดผ่านแดนสากลไทย-กัมพูชา สามารถเดินทางข้ามไปยังจุดผ่านแดนโฮลเสม็ด อ.สำโรง จ.อุดรมีชัยของกัมพูชา ซึ่งเป็นเส้นทางไปมาหาสู่กันมาแต่อดีต ที่ด่านช่องจอมนี้ยังเป็นเส้นทางเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองเสียมเรียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัด-นครธม อันเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก โดยมีระยะทางจากด่านช่องจอมราว 178 กม. เท่านั้น
แต่หากใครไม่ได้จะเดินทางผ่านด่านไปยังกัมพูชา ก็ยังสามารถมาเที่ยวชมบรรยากาศของช่องจอมได้ที่ “ตลาดการค้าช่องจอม” (อ.กาบเชิง) ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนที่เปิดให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้ทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. โดยส่วนใหญ่แล้วของที่นำมาขายก็คือสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นและของป่า ไม่ว่าจะเป็นงานแกะสลักไม้ เครื่องทองเหลือง พืชพันธุ์ไม้ป่า รวมไปถึงเสื้อผ้าและของใช้ต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ล้ำค่าผ้าไหมยกทอง-เครื่องเงินชิ้นงาม
ในเรื่องของดีของฝากของสุรินทร์นั้น ต้องยกให้ “ผ้าไหมยกทองโบราณ” ของบ้านท่าสว่าง (อ.เมือง) หรือที่รู้จักกันในชื่อหมู่บ้านทอผ้าเอเปค เพราะผ้าทอของที่นี่ได้รับการคัดเลือกเพื่อนำไปตัดเสื้อผู้นำและผ้าคลุมไหล่ของคู่สมรสผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจที่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปคเมื่อปี 2546 โดยชาวบ้านที่บ้านท่าสว่างนี้มีฝีมือในการทอผ้าไว้ใช้เองในครัวเรือนอยู่แล้ว ประกอบกับชื่อเสียงของ “ผ้าไหมทอหนึ่งพันสี่ร้อยสิบหกตะกอ” ซึ่งเป็นผลงานศิลปหัตถกรรมทอผ้าไหมยกทองจันทร์โสมาที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักโบราณ จนทำให้ผ้าไหมยกทองโบราณของบ้านท่าสว่างเป็นผลงานหัตถกรรมล้ำค่าที่น่าหาซื้อเป็นของฝากคนสำคัญ
ส่วน “หมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องเงินเขวาสินรินทร์” (อ.เขวาสินรินทร์) เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำเครื่องเงินโบราณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดสุรินทร์ ที่เรียกว่า “ลูกประเกือม” ซึ่งเป็นการนำแผ่นเงินมาตีเป็นรูปทรงกลมหรือรี แล้วนำมาลงยาและลงลายต่างๆ เช่น ลายไข่แมงดา ลายดอกพิกุล แล้วนำมาทำเครื่องประดับของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นกำไล เข็มขัด สร้อยคอ เป็นต้น
ความคล้ายคลึงของศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวของ “บุรีรัมย์” และ “สุรินทร์” ทำให้ทั้งสองเมืองจับคู่กันเป็น “บุรีรัมย์ plus สุรินทร์” ได้อย่างลงตัว จนเป็นสองเมืองคู่หูแห่งอีสานใต้ที่ไม่อยากให้พลาดลองมาเที่ยวชมกันดูสักครั้ง...และหลายๆ ครั้ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในเส้นทาง เมืองต้องห้าม...พลาด พลัส “บุรีรัมย์ plus สุรินทร์” เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ (พื้นที่รับผิดชอบสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ) โทร.0 4451 4447 ถึง 8
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com