สุรินทร์ - เจ้าหน้าที่ไทย-กัมพูชาประจำด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ร่วมประชุมแก้ปัญหา หน.ด่านตรวจคนเข้าเมืองโอร์เสม็ดสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ล้ำแดนเข้ามาในเขตไทย จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ไทยสั่งปิดประตูด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ดเป็นการชั่วคราวในเช้าวันนี้เป็นการประท้วง และเปิดประตูด่านหลังได้จบการเจรจาเบื้องต้น
วันนี้ (6 ส.ค.) เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานหน่วยประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา (สน.ปทก.) ด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พล.ต.สนธยา ศรีเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี, นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พ.อ.อดุล บุญธรรมเจริญ ผู้บังคับหน่วยชุดเฉพาะกิจที่ 2 กองกำลังสุรนารี นายประภาส ศรีจันทร์เวียง นายอำเภอกาบเชิง พ.อ.ปิยะ นงค์ชะนา หัวหน้าหน่วยประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา ประจำพื้นที่ 2 พ.ต.ท.บรรชิต หวังแววกลาง สารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง ได้พบปะหารือการแก้ไขปัญหาก่อสร้างอาคารบริเวณพื้นที่ชายแดนช่องจอมกับเจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชา
โดยได้หารือกันกับ นายซอ ทาวี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย นายวาด ปารานิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย, พล.อ.แง็ด จันทน รองเสนาธิการร่วม กองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ท.โปว เพ็ง รองหัวหน้าชุดประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา ประจำพื้นที่โอร์เสม็ด, พ.ต.อ.ควง ติน หัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองโอร์เสม็ด พ.อ.เอือน เพียรา ผู้บังคับหน่วยป้องกันชายแดน 402, นายแรม พอลลาวี รองปลัดจังหวัดอุดรมีชัย, นายฮอง วัน รองหัวหน้าศุลกากร จ.อุดรมีชัย, พ.ท.จุม สรัย รอง หน.สนง.ประสานงานชายแดน ภูมิภาคทหาร นางนะ กมล รองนายอำเภอกรุงสำโรง นายยึม ทิน ประธานสภาจังหวัด และนายบู สาคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย
ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาประชุมร่วมกันนานกว่า 2 ชั่วโมง โดยฝ่ายไทยยังคงยืนยันที่จะให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกเพื่อจะไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนและฝ่ายไทยเห็นว่าเป็นเขตของไทย ที่ผ่านมามีข้อตกลงร่วมกันที่จะไม่ให้ทั้งสองฝ่ายปลูกสร้างสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งการประชุมเป็นไปด้วยความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย
ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเองก็ได้ชี้แจงถึงโรงเรือนเล้าไก่เป็นเรื่องส่วนตัวของหัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองโอร์เสม็ด เรื่องที่เกิดขึ้นก็ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบแล้ว และจะหาวิธีที่ดีเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับฝ่ายไทย เนื่องจากกัมพูชาเองก็เห็นว่าพื้นที่ด่านช่องจอมมีความสำคัญต่อประชาชนทั้งสองประเทศ เพื่อที่ไม่ให้มีการปิดด่านเกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ความเดือดร้อน โดยทางกัมพูชาก็ยอมรับว่าได้สร้างสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นโรงเรือนเล้าไก่จริง เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันกัมพูชาก็จะยอมรื้อถอนออก และจะไม่มีการก่อสร้างใดๆ เพิ่มเติมเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวอีก
หลังจากประชุมร่วมกันเสร็จ คณะทั้งสองฝ่ายได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ที่มีการก่อสร้างโรงเรือนเล้าไก่และร้านค้าดังกล่าวซึ่งอยู่ห่างจากประตูด่านช่องจอมไปทางทิศตะวันออก โดยโรงเรือนดังกล่าวมีลักษณะเป็นโรงเรือนใช้สำหรับเลี้ยงไก่ แต่มีขนาดใหญ่ สร้างขึ้นด้วยเหล็กและสังกะสี ซึ่งมีอยู่ 2 หลังติดกันลึกเข้ามายังฝั่งไทย
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ของไทย แต่มีการตกลงกันของทั้งสองฝ่ายระหว่างไทย-กัมพูชา ที่จะไม่ให้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นในพื้นที่จนกว่าจะมีการปักปันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลทั้งสองประเทศ
พล.ต.สนธยา ศรีเจริญ ผบ.กกล.สุรนารี เปิดเผยว่า เมื่อเช้าเราไม่ได้ปิดด่านแต่อย่างใด เป็นเพียงการปิดกั้นชั่วคราวเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสองฝ่ายในพื้นที่ชายแดนมาพูดคุยกัน เราจะทำอะไรจะต้องคุยกัน อาจจะมีการทำร้านค้าเล็กๆ บริเวณนั้น และมีการสร้างต่อเติมให้ใหญ่ขึ้นก็ไม่ได้ เราก็ไม่ยอม เพราะว่าเป็นเรื่องของการปักปันเขตแดน ซึ่งไม่ได้อยู่ในขั้นที่รัฐบาลยอมรับ เป็นแค่ฝ่ายเทคนิคมากำหนด ที่พัฒนาช่องจอมก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เพื่อขนถ่ายสินค้าเข้าออกแบบสะดวกขึ้น ให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้มาแลกเปลี่ยนสินค้าในชายแดนร่วมกัน ให้ประชาชนได้เข้าไปสู่กระบวนการของการท่องเที่ยว
ด้านสาธารณสุขก็คือไปรักษาพยาบาลที่บ้านเรา ไปซื้อสินค้าในตัวเมืองบ้านเรา ไปชอปไปรับประทานอาหารที่บ้านเรา เรากำหนด 3 ลักษณะ เราจึงเกิดการขยายประตูด่านชายแดนร่วมกันให้ทางเข้าออกกว้างขึ้น เพราะการขนส่งสินค้ารถมีขนาดใหญ่ และทิศทางการขับรถประเทศไทยเราชิดซ้าย ประเทศกัมพูชาชิดขวา จึงเกิดการสับสนกันที่ปากช่องประตูทางเข้า-ออก ปัจจุบันเข้าสู่ AEC ประชาชนชาวกัมพูชาเข้ามาสู่ประเทศไทยปริมาณมากขึ้น การรักษาพยาบาลจาก 30-40 คน ก็เพิ่มเป็น 100-200 คน ประชาชนชาวกัมพูชาเดินทางเข้า-ออกจำนวน 1,000 คนต่อวัน
ดังนั้น การพัฒนาตรงนี้ก็เพื่อรองรับความสุขของประชาชน ซึ่งเราไม่สามารถยกดินแดนออกจากกันได้ เราจะต้องแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน ในส่วนของกองกำลังสุรนารี ท่านผู้ว่าฯ ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้ค้าขายแลกเปลี่ยนร่วมกันในสถานะมิตรประเทศ ในสถานะพี่น้องร่วมกัน
“วันนี้เราเห็นว่าอะไรที่มันไม่ถูกต้อง เราก็เลยหยุดการเข้าออกชั่วคราวแค่ 1 ชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมงเอง เพื่อให้ข้าราชการได้มาพูดคุยกัน และเราก็ได้ข้อยุติร่วมกันคือเป็นของเดิม ของเดิมก็คือไม่มีอาคารเกิดขึ้นมา ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัยท่านก็ยินยอมที่จะรื้อถอนออก ต่อไปเราจะถ่ายรูปติดป้ายไว้ที่ทางเข้าออกเลยว่า บริเวณสองฝั่งที่มีอยู่แค่นี้จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก นอกเสียจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศกำหนดแนวเขตเรียบร้อยแล้ว ใครจะทำอะไรในสิทธิของเขาก็แล้วแต่เขา”