xs
xsm
sm
md
lg

ตบหน้ารัฐ!!! “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” กับก้าวที่กล้า เดินหน้าสู่พื้นที่สีเขียวกลางกรุงฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ร่วมจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวกลางกรุงเทพฯ
หลังจากที่ยอดบริจาค “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ครบตามจำนวนกำหนดที่เปิดรับ 10 ล้านบาท เพื่อช่วยกู้วิกฤตซื้อที่ดินด้านข้างปกป้องพิพิธภัณฑ์ไม่ให้ถูกบดบังทัศนียภาพ และเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของตัวอาคารที่อาจได้รับผลกระทบขณะก่อสร้างอาคารสูง 8 ชั้นแล้ว ในตอนนี้ รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง และผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ย่านบางรัก เตรียมตัววางแผนเดินหน้าโครงการจัดสรรที่ดินด้านข้างให้เป็นพื้นที่สีเขียวกลางกรุง พร้อมกับสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก”
“พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ตั้งอยู่ในเขตบางรัก
จากกรณี อาจารย์วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง และผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ย่านบางรัก ทราบว่าเจ้าของที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ฯ มีแผนสร้างตึกสูง 8 ชั้น ซึ่งจะบดบังทัศนียภาพพื้นที่สีเขียว และจะส่งผลทางลบถึงโครงสร้างอาคารที่อนุรักษ์ไว้ จึงได้ทำจดหมายทักท้วงเรื่องดังกล่าวไปยังเขตบางรัก ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ดูแลพิพิธภัณฑ์โดยตรงอยู่หลายครั้ง แต่ทว่ากลับไม่ถูกตอบสนองความเหมาะสมในการดูแลแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เท่าใดนัก เนื่องจากทางเขตบางรักแจ้งมาว่า ทางเขตได้อนุมัติพื้นที่ดังกล่าวให้ก่อสร้างอาคารได้ตามผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2556 ว่าเป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ที่สามารถสร้างอาคารสูง 23 เมตรได้
บรรยากาศร่มรื่นของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก”
อาจารย์วราพรจึงตัดสินใจติดต่อขอซื้อที่ดินในราคา 40 ล้านบาท โดยวางมัดจำเงินส่วนตัว จำนวน 30 ล้านบาท. อีก 10 ล้านบาท เปิดรับบริจาคด้วยการระดมทุนรายละ 100 บาท หรือตามกำลัง ก่อนกำหนดชำระค่าที่ดินที่เหลือในวันที่ 2 กันยายนนี้
โมเดลตัวแรกในการจัดสรรพื้นที่ดินด้านข้าง
เมื่อกรณีดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้ประชาชนแห่ให้ความสนใจ และเป็นกระแสตื่นตัวแก่สังคมอย่างกว้างขวาง โดยในวันที่ 6 ส.ค. ยอดเงินบริจาคจากทุกช่องทางที่ประชาชนต่างๆ ได้ร่วมบริจาคกันเข้ามา มียอดจำนวนถึง 11,989,008.31 บาท ทะลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยใช้ระยะเวลาที่เปิดรับบริจาคไม่ถึง 2 เดือน และ อาจารย์วราพร ยังพร้อมเปิดรับเงินบริจาคสนับสนุนโครงการฯ เพื่อพัฒนาที่ดินที่ได้มาให้เป็นพื้นที่สีเขียวกลางกรุง และใช้ประโยชน์สาธารณะให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ต่อไป
อาจารย์วราพร สุรวดี ผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก”
ด้วยเหตุนี้เอง อาจารย์และภาคประชาชนจึงได้ร่วมจัดกิจกรรม "บอกรักพิพิธฯ ชาวบางกอก" ในวันที่ 6 สิงหาคม รวมทั้งระดมความคิดเห็นโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวกลางกรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมพูดคุยจากเครือข่ายและตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ใน กทม. อาทิ ชุมชนบางรัก ชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนมักกะสัน รวมถึงนักกิจกรรมในด้านต่างๆ เพื่อช่วยกันแสดงความคิดเห็นการเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ต่อไป

อาจารย์วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง และผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ได้กล่าวว่า ตัวเองยินดีมาก ที่ได้เงินครบจำนวนก่อนวันกำหนด พร้อมกับวางแผนพัฒนาที่ดินด้านข้างโดยการโอนให้เป็นชื่อในนามของมูลนิธิ เพื่อที่จะได้จัดการดูแลที่ดินนี้ได้สะดวก พร้อมกับวางโครงการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวกลางกรุง และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับพิพิธภัณฑ์ โดยจะสร้างเป็นพื้นที่จอดรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างให้เป็น Green roof ส่วนชั้นบนจะทำเป็นลานอเนกประสงค์ให้ประชาชนได้นำพื้นที่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แล้วก็จะปลูกต้นไม้ แต่ต้องเป็นพันธุ์เล็กๆ ให้เลื้อยตามอาคาร ให้มองดูแล้วเหมือนเป็นป่า สีเขียว กลมกลืนกับพิพิธภัณฑ์มากที่สุด

อาจารย์วราพร ยังได้กล่าวอีกว่า จะค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ไป ไม่รีบร้อน เพราะได้ที่ดินตรงนี้มาแล้ว หากมีเท่าไรก็จะทำตามกำลังที่ตนมี และที่สำคัญจะจัดสรรพื้นที่ดินนี้ให้เหมาะสมกับตัวพิพิธภัณฑ์เป็นหลัก

นอกจากนั้นตัวแทนต่างๆ ยังได้ช่วยกันระดมความคิดเห็นต่อเหตุการณ์พลังประชาชน และร่วมคิดในการจัดสรรสร้างพื้นที่นี้ร่วมกันอีก
ประชาชนให้ความสนใจเที่ยวชมในงาน บอกรักพิพิธฯ ชาวบางกอก
อาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน โครงการคนเล็กเปลี่ยนเมือง ได้แสดงความคิดเห็นว่า อยากให้เหตุการณ์นี้เป็นต้นแบบ และถูกต่อยอดกระจายออกไปยังกลุ่มคนพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เปิดให้กลุ่มคนที่มีจิตอาสามาร่วมกันเสนอแนวคิดและวิธีการที่สามารถทำให้พื้นที่นี้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด อยากให้ใช้พื้นที่นี้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน เป็นศูนย์กลางในการประชุมพูดคุยแสดงความคิดเห็น และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ไปต่อยอดพัฒนาต่อไป

บุญอนันต์ นทกุล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อยากให้มีการร่วมกันออกแบบและจัดประกวดแนวคิดที่จะนำมาใช้กับพื้นที่ใหม่ ต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของอาจารย์ และให้คนรุ่นใหม่มาแต่งเติมสีสันเข้าไป เพื่อให้ทุกคนได้รู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น ในการจะพัฒนาพื้นที่นั้นต้องคิดถึงคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ด้วย เราจะรีบทำ ตัดสินใจไม่ได้ ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึมซับ
ประชาชนร่วมกันวาดภาพ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
นอกจากนั้นเหตุการณ์นี้ยังได้เป็นต้นแบบที่จะนำกระแสพลังประชาชนช่วยกู้วิกฤตต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ และพื้นที่สีเขียวด้วยการจัดสร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่อช่วยดูแลหน้าที่ตรงนี้ โดย ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ได้แสดงความคิดเห็นว่า อ.วราภรณ์ ได้สร้างพื้นที่สีเขียวไว้ยังพื้นที่แห่งนี้แล้ว พื้นที่ข้างๆ ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ถือเป็น 1 ใน 4 ของโครงการภาพรวม ในอนาคตเราอาจจะจัดตั้ง “Bangkok Heritage Trust” ซึ่งได้ทำการวางโมเดลรูปแบบการทำงานไว้บ้างแล้ว ตั้งคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับการดูแลรักษาระบบนิเวศและอนุรักษ์อาคาร สิ่งก่อสร้างเก่าขึ้นมาดูแล อยากให้โมเดลในเหตุการณ์นี้ได้เป็นต้นแบบ และกระจายไปถึงต่างจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีกลุ่มอื่นๆ ที่ได้ริเริ่มบ้าง เช่นที่ จังหวัดสงขลาก็มีกลุ่ม “สงขลา Heritage Trust” หรือกลุ่มภาคีคนรักสงขลา ทำเกี่ยวกับการฟื้นฟูและพัฒนาอาคารและสิ่งก่อสร้างโบราณให้คงอยู่ไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน รวมถึงกลุ่มภาคีกำลังร่วมมือกันผลักดันสงขลาให้ขึ้นเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งเราอาจจะเชิญมาทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ช่วยกันหารือเป็นแนวทางในฐานะที่ได้เริ่มทำงานด้านอนุรักษ์

เหตุการณ์ถือเป็นต้นแบบในการแสดงออกพลังประชาชน ที่กลายเป็นพลังสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยรักษา "พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก" แห่งนี้ให้คงอยู่ หวังว่าพลังประชาชนในเหตุการณ์นี้ จะส่งผลบอกให้ภาครัฐ ควรหันมาดูแลใส่ใจ กับมรดกของชาติ ก่อนที่สูญสิ้นไปมากกว่านี้
พลังประชาชนที่ทำให้อาจารย์วราพร สู้ต่อไปได้
หากประชาชนท่านใดสนใจ ยังสามารถร่วมบริจาค บัญชี น.ส.วราพร สุรวดี (โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวกลางกรุงเทพฯ) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจัตุรัสจามจุรี เลขที่บัญชี 407-061757-2 (ออมทรัพย์) และบัญชี 468-058018-1 (เดินสะพัด) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจัตุรัสจามจุรี ชื่อบัญชี นางสาววราพร สุรวดี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โทร. 0-2233-7027
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น