xs
xsm
sm
md
lg

กู้วิกฤต!! “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ต่อลมหายใจพื้นที่สีเขียว หวังพลังประชาชนระดมทุนครบ 10 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ตั้งอยู่ในเขตบางรัก
จากกรณี รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง และผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ย่านบางรัก เปิดรับบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านบาท ซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ หลังจากนำเงินส่วนมัดจำไปแล้ว 30 ล้านบาท โดยมีสัญญาว่าต้องชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 2 กันยายนนี้ เพื่อปกป้องพิพิธภัณฑ์ไม่ให้ถูกบดบังและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของตัวอาคารที่อาจได้รับผลกระทบขณะก่อสร้างอาคารสูง 8 ชั้น แต่กลับถูก กทม.เพิกเฉย

ถ้าหากพูดถึงพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ที่ได้รับความนิยมลำดับต้นๆ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” หรือ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก" เป็นอีกหนึ่งที่อยู่ในรายชื่ออย่างแน่นอน เพราะด้วยตัวพิพิธภัณฑ์ของที่นี่ มักจะแสดงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และเป็นแหล่งที่รวบรวมเรื่องราวของชาวกรุงในอดีตไว้ให้ชมและศึกษากันแบบเข้าใจง่าย นอกจากนั้นความร่มรื่นเขียวขจีของต้นไม้น้อยใหญ่ยังส่งผลให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นที่พูดถึงใครต่อใครหลายคนต้องมาเยี่ยมเยือนที่นี่สักครั้ง
บรรยากาศร่มรื่นของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก”
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกแห่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ อาจารย์วราพร สุรวดี ที่อยากให้บ้านหลังนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษา ซึ่งบ้านหลังนี้ก็เป็นมรดกตกทอดมาจากมารดา คือ คุณสอาง สุรวดี (ตันบุณเต็ก) และนำมาปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน และถูกโอนกรรมสิทธิ์ให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2547
อาจารย์วราพร สุรวดี ผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก”
พิพิธภัณฑ์ที่นี่จึงเป็นของกรุงเทพมหานครโดยสิ้นเชิง แต่ทว่าการดูแลอนุรักษ์แหล่งเรียนรู้กลับถูกปล่อยปละละเลย จึงเป็นเหตุทำให้ อาจารย์วราพร สุรวดี เข้ามาดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ย่านบางรัก ตลอดระยะเวลา 12 ปี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงโดดเด่นขึ้นมาเป็นที่พูดถึงในเรื่องพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุง ที่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ แต่ด้วยเหตุร้ายเมื่ออาจารย์ได้ทราบมาว่า พื้นที่ข้างเคียงจะดำเนินการก่อสร้างตึกสูง 8 ชั้น ให้เป็นสถานที่ทำการค้าและที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบพิพิธภัณฑ์ถูกบดบังทัศนียภาพและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของตัวอาคารอันเก่าแก่อีกด้วย

ทั้งนี้อาจารย์ได้ทำการทักท้วงเรื่องดังกล่าวไปยังเขตบางรัก ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ดูแลพิพิธภัณฑ์โดยตรงอยู่หลายครั้ง แต่ทว่ากลับไม่ถูกตอบสนองความเหมาะสมในการดูแลแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เท่าใดนัก เนื่องจากทางเขตบางรักแจ้งมาว่า ทางเขตได้อนุมัติพื้นที่ดังกล่าวให้ก่อสร้างอาคารได้ตามผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2556 ว่าเป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ที่สามารถสร้างอาคารสูง 23 เมตรได้
“พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก”
อาจารย์จึงดำเนินการเสนอซื้อพื้นที่ดินจากเจ้าของ ที่ยอมตกลงจะขายพื้นที่ดังกล่าวให้ เพื่อตัดปัญหาความรำคาญและยุติเรื่องนี้ทั้งหมด ในจำนวนเงินสูงถึง 40 ล้านบาท โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการต่างๆ อีกประมาณ 1.8 ล้านบาท อาจารย์วราพร จึงตัดสินใจวางเงินส่วนตัวของตัวเอง จำนวน 30 ล้านบาท โดยมีสัญญาว่าต้องชำระส่วนที่เหลืออีกจำนวน 10 ล้านบาท ภายในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559 นี้

ด้วยเหตุนี้เองอาจารย์และภาคประชาชน จึงร่วมจัดกิจกรรมการระดมความคิดในหัวข้อ “กู้วิกฤตพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมพูดคุยจากเครือข่ายและตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ใน กทม. อาทิ ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนมักกะสัน รวมถึงนักกิจกรรมในด้านต่างๆ เพื่อช่วยกันแก้วิกฤตนี้
บรรยากาศภายใน “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก”
อาจารย์วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง และผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก กล่าวว่า ตัวเองนั้นเคยโดนไล่ที่ เพราะเมื่อยกให้ราชการแล้วไม่มีสิทธิ์อยู่ แต่ตัวอาจารย์เองไม่ยอมไป เพราะที่นี่เป็นบ้านของอาจารย์ นอกจากนั้นยังเคยถูกตัดน้ำ เพื่อไม่ให้รดน้ำต้นไม้ โดยให้เหตุผลว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ ตัวอาจารย์เป็นนักชีววิทยาเลยทำระบบนิเวศในพิพิธภัณฑ์ ด้วยการปลูกต้นไม้มากๆ ทำให้ในนี้เย็นกว่าข้างนอก และแถวนี้อยู่ในเมืองมีแต่ตึก แห้งแล้ง มาตัดน้ำแบบนี้ทำให้ต้นไม้ตาย อาจารย์ช่วยสร้างออกซิเจนให้ชาวกรุงเทพฯ บ้านเรือนพังสร้างใหม่แค่ 2 เดือน แต่ต้นไม้ตายต้องใช้เวลากี่ปี?
ร่วมจัดกิจกรรมการระดมความคิดในหัวข้อ “กู้วิกฤตพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก”
จากนั้นมาโดนเรื่องพื้นที่ดินด้านข้าง ที่จะทำการก่อสร้างตึก 8 ชั้น ซึ่งอาจจะทำให้บดบังทัศนียภาพ จึงเขียนจดหมายไปร้องเรียนต่อว่า กทม. ปล่อยให้สร้างได้ยังไง เพราะเป็นเขตใกล้กับพิพิธภัณฑ์ แต่กทม. กลับเพียงตอบมาว่า การสร้างตึกเป็นไปตามเงื่อนไขในผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร ปี พศ. 2556 จึงสามารถดำเนินการสร้างได้ อาจารย์จึงได้ตัดสินใจทำจดหมายให้กทม. อีกครั้ง เพื่อขอให้ดำเนินการซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล

อาจารย์จึงตัดสินใจซื้อที่ดินนั้นด้วยเงินตัวเอง 30 ล้านบาท ที่หามาจากการขายทรัพย์สินส่วนตัว อย่างคอนโดมิเนียม ก่อนจะเปิดเรี่ยไรบริจาค 10 ล้าน ช่วงแรกที่เริ่มเปิดรับบริจาคได้ยอดกว่า 1.5 ล้านบาทใน 1 เดือน จนธนาคารล่มเพราะยอดโอนที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังๆ เริ่มลดลง จึงอยากให้สื่อช่วยกันกระจายข่าวออกไปให้เรื่องนี้ยังคงอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่องจนถึงวันชำระ แต่ถ้าหากได้เงินไม่ครบก็จำเป็นต้องขอยืมหรือกู้ยืมรัฐ ซึ่งก็จะมีเรื่องของดอกเบี้ยเข้ามาเป็นภาระเพิ่ม ได้แต่หวังว่าจะได้เงินครบตามจำนวนก่อนถึงวันดังกล่าว
ร่วมมือร่วมใจกันระดมความคิด
อาทิตย์ โกวิทวรางกูร เครือข่ายมักกะสัน ตัวแทนกลุ่ม “คนเล็กเปลี่ยนเมือง”  ได้แสดงความคิดเห็นว่า การรวมประชาชนคนธรรมดาให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องใหญ่ๆ ได้ จะทำให้ทุกคนรู้สึกหวงแหนสิ่งนั้น เราจะไม่หยุดแค่ได้เงินพอสำหรับช่วยพิพิธภัณฑ์ อาจจะก่อตั้งมูลนิธิหรือตั้งองค์กรสานต่อ เพื่อพยายามสร้างโครงสร้างทางสังคม รวมพลังประชาชนต่อไป จะได้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ จะมีหรือไม่มีน้ำยาในการลุกขึ้นมาสร้างสิ่งดีๆ และจะจัดเวทีเชิญบุคคลที่มีความรู้ด้านการสร้างโครงสร้างรวมพลังประชาชน มาระดมสมองคิดหาวิธีคู่ขนานกับเหตุการณ์นี้ไป ไม่ใช่รอแต่เพียงภาครัฐอย่างเดียวเท่านั้น

เกื้อ แก้วเกต เครือข่ายลูกศิษย์ อ.วราภรณ์ บอกว่า “แสนคน คนละร้อย” เป็นคำพูดของอาจารย์ที่พูดออกมา พวกเราเลยอยากทำให้เป็นจริง ถ้าได้แสนคนเพื่อช่วยจะยิ่งเพิ่มคุณค่าให้กับพิพิธภัณฑ์ ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมด้วยการช่วยเริ่มกระจายข่าว ขอบริจาคคนละ 100 บาทเท่านั้น หรือมากกว่าตามกำลังศรัทธา พิพิธภัณฑ์จะได้ไม่ถูกทำลาย
อาจารย์วราพร สุรวดี  หวังได้เงินครบ 10 ล้าน เพื่อ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก”
นอกจากนั้นยังมีการเสนอหาวิธีระดมทุน โดยคุณ ปรารถนา จริยวิลาศกุล (บี๋) เครือข่ายมักกะสัน ตัวแทนทีมอาสาจาก Run Hero Run จะจัดงานวิ่งเพื่อการกุศลหารายได้ให้ครบ 10 ล้าน ในชื่อ “วิ่งสิ ชาวบางกอก” เมื่อพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเรียกร้อง ชาวบางกอกจึงต้องวิ่ง ตั้งใจให้พิพิธภัณฑ์เป็นเจ้าภาพ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม ในการสร้างเส้นทางการวิ่งบนเส้นทางใกล้ชิดชุมชน โดยจะมีกล่องเปิดรับบริจาคและขายเสื้อที่ระลึก การวิ่งนี้นอกจากจะเป็นการต่อยอดช่วยพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความต้องการ 5 อย่างของคนเมือง คือ ระบบนิเวศกลางกรุง, ปอดกลางกรุง, มรดกศิลปวัฒนธรรมที่เป็นของดั้งเดิมแท้, พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต และต้องการรักษา ไม่ใช่ทำลายและสร้างขึ้นมาใหม่

แม้การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จะมีจุดริเริ่ม อาจารย์วราพร สุรวดี เพียงคนเดียว แต่การ “รักษา” ให้พิพิธภัณฑ์ยังคงอยู่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน การแสดงพลังประชาชนจึงเป็นพลังสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะมีส่วนร่วมช่วยเหลือต่อชีวิตลมหายใจพื้นที่สีเขียว “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” อันทรงคุณค่าให้อยู่เป็นแหล่งเรียนรู้ของกรุงเทพมหานครต่อไป หากไม่ริเริ่มทำตั้งแต่วันนี้
หากประชาชนท่านใดสนใจร่วมบริจาค สามารถโอนเข้าบัญชี น.ส.วราพร สุรวดี (โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวกลางกรุงเทพฯ) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจัตุรัสจามจุรี เลขที่บัญชี 407-061757-2 (ออมทรัพย์) และบัญชี 468-058018-1 (เดินสะพัด) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจัตุรัสจามจุรี ชื่อบัญชี นางสาววราพร สุรวดี


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โทร. 0-2233-7027
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น