xs
xsm
sm
md
lg

หยุดเวลา ย้อนหาอดีตชาวกรุง ที่ "พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
เวลามักจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหยุดยั้งได้ ทุกคนต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงมาทั้งนั้น แม้แต่ตัวฉันเองก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงย้ายเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงแห่งนี้ก็ตอนโตแล้ว เลยไม่เคยเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงดั้งเดิมเมื่อสมัยหลายสิบปีก่อน แต่มาถึงตอนนี้ฉันอยากจะบอกว่า ภาพวิถีชีวิตเก่าๆ แบบนั้นก็ได้กลับมาให้เราได้สัมผัสกันอีกครั้ง ผ่านตัวอาคารสถานที่ ข้าวของเครื่องใช้ และภาพถ่ายต่างๆ ที่อยู่ภายใน “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก” ที่ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 43 ย่านบางรักนี่เอง
บ้านไม้ที่เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวสุรวดี
“พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ที่นี่เป็นบ้านที่อยู่อาศัยของอาจารย์วราพร สุรวดี ที่ได้อุทิศบ้านและที่ดินทั้งหมดนี้ให้เป็นประโยชน์แก่คนที่เข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้อดีตวิถีชีวิตของคนกรุงสมัยก่อน ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ร่มเย็นไปด้วยต้นไม้ เมื่อเดินเข้ามาก็สัมผัสถึงความแตกต่างได้ในทันที แม้ย่านบางรักจะเต็มไปด้วยตึกอาคารสูงหลายชั้น แต่ที่นี่ถือว่าเป็นพื้นที่สีเขียวที่ยังมีชีวิต ที่หาสัมผัสได้ยากจากข้างนอก โดยที่นี่เปิดให้เข้าชมกันได้ฟรีๆ และยังมีเจ้าหน้าที่มาคอยต้อนรับ เล่าเรื่องราวประวัติของบ้านและพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ รวมถึงนำชมส่วนต่างๆ พร้อมเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสนุกๆ ให้ฟังอีกด้วย
ภายในจัดสิ่งของเครื่องใช้
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัยที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลาง ในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณ พ.ศ.2480-2500) ซึ่งจะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 อาคาร

เริ่มจากอาคารหลังแรกที่อยู่ด้านหน้าสุด เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าวสีแดง เพราะว่าที่นี่เป็นเรือนเดิมที่ครอบครัวสุรวดีเคยอาศัยอยู่ เป็นเรือนไม้สักสองชั้น ภายในจะเก็บข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของชาวบางกอกที่ได้เก็บรักษาไว้อย่างดีให้ได้ชม มีทั้งตู้จัดแสดงชุดรับประทานอาหารเย็นแบบยุโรป ภาชนะเครื่องเคลือบลายครามแบบจีน เครื่องประดับแบบเครื่องถมและเครื่องเงิน รวมไปถึงห้องต่างๆ ก็เต็มไปด้วยเครื่องเรือนเครื่องใช้ในสมัยนั้น
เปียโนงาช้าง
ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น เปียโนงาช้าง ที่ตั้งอยู่ในห้องรับแขก ซึ่งในสมัยก่อนมีความเชื่อกันว่า ใครที่เจ็บไข้ได้ป่วยให้มานั่งเล่นเปียโนงาช้างแบบนี้ เพราะเปียโนงาช้างจะสามารถดูดพิษไข้ได้ และที่ใต้บันไดติดกับห้องนอน ก็จะเป็นห้องน้ำ มองเข้าไปแล้วก็เหมือนกับโถส้วมธรรมดา แต่ถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นกระโถนที่รองอยู่ด้านล่าง เป็นโถส้วมที่ใช้สมัยที่ยังไม่มีน้ำประปาและส้วมชักโครก เมื่อถ่ายแล้วก็จะมีคนนำกระโถนที่รองอยู่ด้านล่างไปเททิ้ง ทำความสะอาด และนำมาใช้ใหม่ได้
ชั้นสองเกี่ยวกับห้องนอน
โต๊ะเครื่องแป้งไม้แป้งสวยงามมาก
ส่วนที่ชั้นสองของอาคารหลังแรกจะมีห้องนอนใหญ่ ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว โต๊ะเครื่องแป้ง ซึ่งเป็นไฮไลต์ของชั้นบนนี้ เพราะเป็นโต๊ะเครื่องแป้งศิลปะแบบเดโค คือ มีกระจกประดับทั้ง 3 ด้าน สามารถมองได้ทั้งด้านหน้า-ซ้าย-ขวา ในคราวเดียวกัน
ซุ้มจัดศิลปะ
จากอาคารหลังแรก ก็เดินลัดเลาะใต้ต้นไม้มาถึงอาคารหลังที่ 2 ซึ่งเดิมนั้นบ้านหลังนี้ปลูกอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ จุดประสงค์ที่สร้างบ้านหลังนี้ คือ เพื่อใช้ชั้นล่างเป็นคลินิกของ คุณหมอฟรานซิส คริสเตียน ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นสามีคนแรกของคุณแม่ของ อ.วราพร ท่านจบการศึกษาทางด้านศัลยแพทย์ จากอังกฤษ แต่ครั้นบ้านหลังนี้สร้างเสร็จยังไม่ทันเข้าอยู่ คุณหมอฟรานซิส ก็ล้มป่วยลง และเสียชีวิต บ้านหลังนี้จึงไม่ได้ใช้เอง คุณแม่ของ อ.วราพร ให้คนเช่าเรื่อยมา จนยกที่ดินนี้ให้แก่ อ.วราพร ในที่สุด
เครื่องมือแพทย์ คุณหมอฟรานซิสคริสเตียน
ครั้นเมื่อจะทำพิพิธภัณฑ์นั้นขาดเงินที่จะนำมาปรับปรุง จึงขายที่ดินและขอเอาบ้านไว้ และได้รื้อบ้านที่ทุ่งมหาเมฆ มาจัดสร้างไว้ที่นี่ โดยมีขนาดย่อส่วนลงตามพื้นที่ที่มีจำกัด ตกแต่งบ้านด้วยสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆของคุณหมอ ฟรานซิสคริสเตียน เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับคุณหมอผู้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้โถงล่างของบ้านจัดแสดงผลงานศิลปะต่างๆ รวมถึงแบบแปลนของอาคารหลังนี้ ส่วนที่ชั้นบนจัดเป็นห้องนอนและห้องทำงาน ซึ่งเก็บรวบรวมของใช้เก่าๆ รวมถึงเครื่องมือแพทย์ในสมัยนั้นให้เราได้ชมกัน
จัดแสดงเครื่องครัว
มาที่อาคารหลังที่ 3 อาคารหลังนี้จัดแสดงเป็นนิทรรศการ โดยชั้นล่างแสดงสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันของชาวบางกอกในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัว หม้อ กระทะ ตู้เย็น ฯลฯ ที่ใกล้ๆ กันนั้นก็มีการจัดโต๊ะอาหารของคนไทย คนจีน และชาวตะวันตก

นอกจากนี้ยังมีถ้วยชาม เครื่องมือช่าง ของเล่นเด็ก อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย และยังมีของที่ระลึกจากสินค้าต่างๆ ในสมัยก่อน ที่บางชิ้นฉันก็เคยเห็นมาบ้างแล้ว
นิทรรศการเกี่ยวกับย่านบางรัก
ส่วนที่ชั้นสอง จัดแสดงเป็นนิทรรศการต่างๆ ในหัวข้อพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเขตบางรัก ซึ่งบริหารจัดการโดยกทม. มีการจัดแสดงนิทรรศการภาพรวมของกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของชื่อ บางกอก ประวัติความเป็นมาของเขตบางรัก

เดินเล่นเดินชมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกอยู่หลายชั่วโมง ฉันได้รับทั้งความเพลิดเพลินใจ และความรู้ต่างๆ มากมาย ที่สำคัญยังได้มองเห็นภาพว่าคนในยุคก่อนเขาใช้ชีวิตกันอย่างไรบ้าง เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่เรามีกันอยู่ทุกวันนี้ก็ล้วนแต่พัฒนามาจากของใช้ของคนในสมัยก่อนทั้งนั้น
แม้ว่าในวันนี้พิพิธภัณฑ์จะเกิดวิกฤตในการถูกพื้นที่ด้านข้างจะดำเนินการก่อสร้างตึกแปดชั้น จน อาจารย์วราพร สุรวดี ต้องเปิดรับบริจาคเงินพึ่งพลังประชาชนจำนวน 10 ล้านบาท หลังจากที่อาจารย์วางเงินของตัวเองจ่ายไปก่อน 30 ล้าน เพื่อซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ โดยมีสัญญาว่าต้องชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 2 กันยายนนี้ เพื่อปกป้องพิพิธภัณฑ์ไม่ให้ถูกบดบังและเป็นอันตราย ต่อตัวอาคาร หากว่าพวกเราไม่ช่วยกันรักษา หวังรอพึ่งจากคนที่เกี่ยวข้อง พิพิธภัณฑ์ดีๆ แบบนี้ อาจจะถูกทำลายและลดคุณค่าลงไป จนไม่เหลือเอกลักษณ์ให้เราได้ชมกันเลย

* * * * * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” หรือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก ตั้งอยู่ที่ 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กทม.  เปิดทำการวันพุธ-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-อังคาร) เวลา 08.00-16.00 น. เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากเดินทางจากถนนเจริญกรุง ให้เลี้ยวเข้าซอยเจริญกรุง 43 ไปประมาณ 300 เมตร จะเห็นพิพิธภัณฑ์ฯ ตั้งอยู่ทางขวามือ 
หากประชาชนท่านใดสนใจร่วมบริจาค สามารถโอนเข้าบัญชี น.ส.วราพร สุรวดี (โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวกลางกรุงเทพฯ) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจัตุรัสจามจุรี เลขที่บัญชี 407-061757-2 (ออมทรัพย์) และบัญชี 468-058018-1 (เดินสะพัด) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจัตุรัสจามจุรี ชื่อบัญชี นางสาววราพร สุรวดี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2233-7027
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น