เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ทำให้ใครหลายคนอาจจะเริ่มกลัวกับการออกไปเที่ยวในกรุงเทพฯ แต่คงไม่ใช่ฉัน เพราะกรุงเทพฯ ยังมีอะไรน่าเที่ยวอีกมากมาย ในวันหยุดแบบนี้ฉันจึงขอสะพายเป้ แบกกล้อง มาเดินลุยกรุง โดยจะไปเยือนย่านแถว “บางรัก” ย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีมาอย่างยาวนาน และกลายเป็นแหล่งที่รวบรวมผู้คนจากหลายเชื้อชาติหลากศาสนาเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ย่านแห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งรวบรวมศรัทธาไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน ฝรั่ง แขก ให้เยี่ยมชมและรวมกันเป็นหนึ่งในย่านบางรักแห่งนี้
การเดินทางมาย่านบางรักนั้นก็เดินทางมาง่ายสะดวก เพราะบริเวณนี้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการเดินทางโดยเรือและรถไฟฟ้า ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี โดยเราจะเริ่มต้นกันที่ “ศาลเจ้าบางรัก” หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว” ตั้งอยู่บริเวณใต้สะพานตากสิน ข้างสถานีรถไฟฟ้าหลังตลาดบางรัก ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลเจ้าไหหลำที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 150 ปี โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงนักเดินทางชาวจีน 108 คน ที่ล่องเรือสำเภามาค้าขายที่บางรัก แต่ไปถูกฆ่าตายที่เวียดนามเพราะถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโจรสลัด ภายในอาคารศาลเจ้านั้นเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าของชาวจีน อาทิ เจ้าแม่ทับทิม, บู๊นท๋ากง, เจ้าแม่กวนอิม สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นที่นับถือของชาวจีนในย่านบางรัก
เมื่อไหว้ศาลเจ้าเสร็จแล้ว ฉันจึงเดินลัดเลาะไปตามถนนเจริญกรุง บริเวณสองข้างทางถนนเต็มไปด้วยร้านค้าของกินเก่าแก่และมีชื่อเสียงมากมายไม่ว่าจะเป็น “ร้านประจักษ์” ร้านเป็ดย่างที่เรียกได้ว่าเป็นร้านเก่าแก่คู่ย่านบางรักเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมี ร้าน "โจ๊กปริ๊นซ์” ร้านโจ๊กชื่อดัง ที่ขึ้นชื่อความอร่อยของโจ๊กและเนื้อหมูเด้งๆ ที่ทำให้ใครหลายคนติดใจ และยังมีร้าน “โหมงหวอ” ร้านขายน้ำขมในตำนานบางรัก ที่ขายน้ำขมยาวนานเกือบ 70 กว่าปี นอกจากน้ำขมแล้วยังมีน้ำสมุนไพรต่างๆ อีกมากมายให้ดื่มชื่นใจกันอีกด้วย
แวะหาของกินอร่อยๆแล้วก็เดินลุยกันต่อไปที่ ซอยเจริญกรุง 42/1 เข้าไปประมาณ 200 เมตรก็จะเจอ “วัดสวนพลู” วัดรวมใจแห่งชาวพุทธในย่านนี้ โดยในอุโบสถจะประดิษฐานหลวงพ่อป่าเลไลยก์ มีความศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้ผู้คนในย่านบางรักรอดตายจากระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนั้นยังมีรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมให้ประชาชนได้สักการะอีกด้วย และไฮไลต์พิเศษของวัดสวนพลูที่คนมักมาเยี่ยมชม คือ กุฏิที่เป็นอาคารเรือนไม้เล็กๆ 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา บริเวณชายคาระเบียงจะประดับลวดลายไม้ฉลุสีขาว ที่เรียกว่า “ขนมปังขิง” ซึ่งเป็นอาคารที่นิยมอย่างมากในช่วง 50 ปีก่อน
หลังจากไหว้พระที่วัดสวนพลูแล้วถัดมาไม่ไกลเดินไปอีกนิดก็จะถึงซอยเจริญกรุง 40 จะพบกับศูนย์รวมของชาวคริสต์ ที่ชื่อว่า “อาสนวิหารอัสสัมชัญ” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “โบสถ์อัสสัมชัญ” เป็นอาสนวิหารประจำมิสซังโรมันคาทอลิก ถือว่าเป็นคริสต์ศาสนสถานแบบกอธิกที่สวยงามและมีชื่อเสียงอย่างมากแห่งหนึ่งในเมืองไทย มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี แต่ขณะนี้ได้มีการบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ครั้งใหญ่ ทำให้สามารถเที่ยวชมได้ภายนอกเท่านั้น
ถัดไปอีกไม่ไกลเดินมาเรื่อยๆ จะถึงซอยเจริญกรุง 36 แล้วเดินเข้าซอยไปประมาณ 200 เมตร จะพบกับ“ศุลกสถาน” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อไว้เป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า “ภาษีร้อยชักสาม” ดังนั้นที่นี่จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โรงภาษีร้อยชักสาม” เป็นจุดตั้งด่านเก็บภาษีที่ซึ่งมีหน้าที่ตรวจตราเรือสินค้าจากประเทศต่างๆ ตัวอาคารจึงตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น โดยสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรม นีโอ-ปัลลาเดียน ศิลปะโรมันบวกกับคลาสสิก ซึ่งมีอายุกว่า 120 ปี โดยปัจจุบันที่นี่กลายเป็นที่ตั้งสถานีดับเพลิงบางรัก
ชมสถานที่สวยๆ แล้วจากนั้นเดินลัดเลาะซอยเดียวกันเยี่ยมชม "มัสยิดฮารูณ" มัสยิดที่เก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นศาสนสถานกลางของชุมชนที่อาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่าร้อยปี ก่อตั้งโดยโต๊ะฮารูณ มุสลิมเชื้อสายยะวะจากอินโดนิเซีย ถึงแม้ในปัจจุบันชุมชนจะขยายออกไป แต่ลูกหลานฮารูณก็ยังคงนับถือและปฏิบัติในวิถีอิสลาม ทำให้สายสัมพันธ์ของชุมชนที่นี่นั้นมีความแน่นแฟ้น โดยเฉพาะในวันสำคัญทางศาสนาพี่น้องชาวมุสลิมที่อยู่ต่างถิ่นรวมถึงมุสลิมที่อยู่ที่นี่ยังคงมารวมตัวประกอบพิธีทางศาสนาในมัสยิดเก่าแก่แห่งนี้
เดินไปนานๆ ชักเหงื่อไหลไปทั่วตัว ร้อนเหลือเกินกับแดดเมืองไทย ว่าแล้วจึงขอเดินข้ามฟากมาหลบร้อนเข้า “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ที่อยู่ซอยเจริญกรุง 43 ที่นี่เป็นบ้านที่อยู่อาศัยของอาจารย์วราพร สุรวดี ที่ได้อุทิศบ้านและที่ดินทั้งหมดนี้ให้เป็นประโยชน์แก่คนที่เข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้อดีตวิถีชีวิตของคนกรุงสมัยก่อน ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ร่มเย็นไปด้วยต้นไม้ โดยข้างในจะมีเรือนหลายหลังให้ได้เยี่ยมชม เรือนแรกจะเป็นเรือนเดิมที่ครอบครัวสุรวดีที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ เป็นเรือนไม้สักสองชั้น ภายในจะเก็บข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของชาวบางกอกที่ได้เก็บรักษาไว้อย่างดีให้ได้ชม มีทั้งตู้จัดแสดงชุดรับประทานอาหารเย็นแบบยุโรป ภาชนะเครื่องเคลือบลายครามแบบจีน เครื่องประดับแบบเครื่องถมและเครื่องเงิน รวมไปถึงห้องต่างๆ ก็เต็มไปด้วยเครื่องเรือนเครื่องใช้ในสมัยนั้น ถัดมาเป็นเรือนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เก่าและหาดูได้ยาก รวมทั้งจัดนิทรรศการต่างๆ ความเป็นมา วิถีชีวิตของคนชาวบางรัก แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของบางรักในฐานะที่เป็นชุมชนที่มีหลากหลายวัฒนธรรม หลายหลายเชื้อชาติ หลากหลายศาสนา ให้รวมกันเป็นหนึ่งในย่านบางรักแห่งนี้
เมื่อพักร้อนดื่มน้ำดื่มท่าชื่นใจแล้ว ขากลับจึงขอเดินอีกนิดไปจนถึงถนนสีลมเพื่อบูชาพระอุมาเทวี ชายาของพระศิวะ ที่ "วัดพระศรีมหาอุมาเทวี" หรือมีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักกันว่า “วัดแขก” ตั้งอยู่บนถนนสีลม เป็นวัดของทางศาสนาฮินดู สถาปัตยกรรมของวัดจะเป็นศิลปะโบราณของอินเดียตอนใต้ ผสมผสานกันระหว่างสมัยโชละและปาลวะ ซึ่งก่อสร้างในปี พ.ศ. 2538 โดยนายไวตี ประเดียอะจิ เมื่อเดินผ่านจากโคปูระหรือซุ้มประตูเทวาลัยเข้ามา ภายในวัดจะพบกับเทวรูปจากประเทศอินเดียประดิษฐานอยู่โดยรอบ มีแท่นบูชาอยู่กึ่งกลาง ส่วนองค์อุมาและโอรส คือ พระขันธกุมาร (เทพแห่งสงคราม) และพระพิฆเนศ (เทพแห่งศิลปวิทยา) จะประดิษฐานอยู่ ณ ส่วนในสุดของโบสถ์ โดยวัดแขกจะเปิดให้ผู้ศรัทธาได้เข้าไปชมเทวรูปและสักการบูชาได้ทุกวัน แต่มีกฏระเบียบคือ ต้องแต่งกายสุภาพ ห้ามถ่ายรูปเทวรูปต่างๆ และไม่เข้าในบริเวณที่มีป้ายที่หวงห้าม จากนั้นอีกไม่ไกลเดินเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตรจะพบกับ “คัดมันดูโฟโต้แกลอรี่” มีภาพเรื่องราวต่างๆ มากมายจัดแสดงไว้ภายในตึกคูหาสองชั้นให้เยี่ยมชมชิลๆ กัน
หลังได้เที่ยวรอบชุมชนย่านบางรักแถวนี้แล้ว นอกจากได้ความสนุกสนานในการเดินเที่ยวแล้วยังรับรู้ถึงเรื่องราววัฒนธรรม วิถีชุมชนในอดีตของคนกรุงเทพฯ ที่หาดูได้ยากและยังคงดำรงอยู่เป็นปกติแฝงตัวในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นได้สัมผัสถึงสถานที่ต่างๆ ที่มีความน่าสนใจและหลากหลายเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในย่านบางรักแห่งนี้ การได้เดินออกมาเที่ยวกรุงเทพฯ ในแง่มุมแบบนี้ ทำให้ได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีไม่น้อย หากใครอยากลองสะพายเป้ แบกกล้อง เดินลุยกรุงเที่ยวที่ไหน อย่าลืมติดแท็ก #Walkingbkk เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่า กรุงเทพฯ ของเราต้องเดินหน้าต่อไปและยังคงมีสถานที่มากมายที่รอไปให้สัมผัสอีกเยอะ
* * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com