xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวไป ถีบไป ณ “น่าน” เมืองสวยทรงเสน่ห์แห่งล้านนาตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระประธานจตุรทิศ วัดภูมินทร์
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อออกมาเดินทางท่องเที่ยวก็คือ การปั่นจักรยานไปชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเดินทางในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องรีบเร่งมากนัก ก็ยังเป็นการเก็บเกี่ยวบรรยากาศรอบตัว ได้สัมผัสและเข้าถึงบ้านเมืองนั้นๆ ได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบพื้นที่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) จึงได้จัดแคมเปญท่องเที่ยว “เที่ยวเหนือ เที่ยวไหน เที่ยวไป ถีบไป @ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์” เพื่อเอาใจนักปั่นบนเส้นทางการท่องเที่ยวของทั้งสามจังหวัด โดยจัดทำคู่มือเส้นทางจักรยานที่มีรายละเอียดเส้นทางการปั่น 6 เส้นทาง (จังหวัดละ 2 เส้นทาง) และข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวไว้ในเล่มเดียวกัน
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน
นอกจากนี้ ในคู่มือยังมีจุดให้ประทับตราเมื่อเดินทางตามเส้นทางท่องเที่ยวและแวะประทับตราตามจุดที่กำหนด ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกเส้นทางเพียงหนึ่งเส้นทาง แล้วประทับตราให้ครบทุกจุด จะสามารถนำมาแลกรับของที่ระลึกได้อีกด้วย (ตั้งแต่วันนี้ – 30 สิงหาคม 2559)
คู่มือ “เที่ยวเหนือ เที่ยวไหน เที่ยวไป ถีบไป @ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์”
หนึ่งในเส้นทางการเที่ยวไปถีบไปนั้น ขอเลือกเส้นทางในตัวเมือง “น่าน” เมืองสวยแห่งล้านนาตะวันออก เมืองนี้อุดมไปด้วยเสน่ห์ของความเนิบช้า จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นเส้นทางในการปั่นชมเมืองในครั้งนี้
เที่ยวไป ถีบไป
จุดเริ่มต้นของเส้นทางเที่ยวไปถีบไปอยู่ที่ “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน” ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่จะให้บริการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงมีบริการรถรางนำเที่ยวด้วย แต่สำหรับทริปนี้ เราจึงมาขอคำแนะนำเรื่องเส้นทางการปั่นจักรยานและสถานที่ท่องเที่ยวตามเส้นทางการปั่น อ้อ.. ได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วก็อย่าลืมให้เจ้าหน้าที่ประทับตราลงบนคู่มือด้วย

จากจุดเริ่มต้น ตั้งหน้าตั้งตาปั่นผ่านเส้นทางในตัวเมืองน่าน มุ่งหน้าสู่จุดประทับตราที่ 2 “โฮงเจ้าฟองคำ”
โฮงเจ้าฟองคำ
ที่ “โฮงเจ้าฟองคำ” แห่งนี้ เป็นเรือนไม้เก่ายกสูงสามหลังติดกัน มีอายุกว่า 200 ปี (โฮง หมายถึง คุ้ม หรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย) เมื่อเข้ามาจะสัมผัสได้ถึงความเก่าแก่ที่สวยงาม ภายในเรือนจัดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ด้านบนเรือนถูกจัดแบ่งเป็นห้องๆ จัดแสดงข้าวของน่าสนใจ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่เครื่องเงินและเงินตราสมัยโบราณ รวมถึงผ้าพระบฏผืนงาม ที่ยังคงสวยงามและสมบูรณ์แบบแม้ว่าจะผ่านเวลามาเนิ่นนาน ส่วนด้านล่างใต้ถุนเรือน เป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เรื่องผ้า มีการโชว์การทอผ้าพื้นเมือง การสาธิตปั่นฝ้ายให้ได้ชม รวมถึงมีผ้าทอสวยๆ งามๆ จำหน่าย ให้ผู้สนใจซื้อเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านกันได้อีกด้วย
ลงมือทำตุงค่าคิง ที่วัดพระเกิด
ออกตัวปั่นกันต่อ มุ่งหน้าไปยังจุดประทับตราที่ 3 “วัดน้ำล้อม” แต่ระหว่างทางขอแวะชม “วัดพระเกิด” ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโฮงเจ้าฟองคำมากนัก

มาที่วัดพระเกิด นอกจากจะมาสักการะพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ก็ยังแวะมาทำ “ตุงค่าคิง” หรือ “ตุงก้าคิง” ซึ่งเป็นตุงตามความเชื่อแบบล้านนา เชื่อว่าทำแล้วจะเป็นการสะเดาะเคราะห์สืบต่อชะตาของผู้ทำได้ ลักษณะตุงจะเป็นธงกระดาษสาที่มีความยาวเท่ากับความสูงของผู้ทำตุง มีการจำลองหน้าตา คิ้ว จมูก ปาก และปีนักษัตรของผู้ทำตุง เมื่อทำเสร็จแล้วตุงเหล่านี้จะถูกแขวนไว้ภายในพระอุโบสถ ยามใดที่มีการสวดมนต์หรือทำพิธีทางศาสนาก็เหมือนกับเราได้รับพรไปด้วยตลอดเวลา
วัดน้ำล้อม อีกหนึ่งจุดประทับตราในโครงการ
มาถึง “วัดน้ำล้อม” วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่เช่นกัน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด แต่มีเรื่องที่ชาวบ้านเล่าต่อๆ กันมาว่า เดิมบริเวณนี้เป็นเกาะกลางหนองน้ำ จึงได้ชื่อว่าวัดน้ำล้อม

ภายในวัดมีพระพุทธรัตนมงคลมุนี หรือ หลวงพ่อโต เป็นพระประธาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ ส่วนที่ศาลาพิทักษ์ไทย บนชั้นสองจัดเป็น “พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปไม้และแหล่งเรียนรู้ชุมชน” ซึ่งภายในจัดแสดงพระพุทธรูปไม้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองน่านจำนวนกว่า 200 องค์ รวมถึงของเก่าแก่ที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด
พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปไม้และแหล่งเรียนรู้ชุมชน วัดน้ำล้อม
ปั่นจักรยานแวะเที่ยวกันมาหลายจุดแล้ว ก็มาถึงจุดประทับตราสุดท้าย ที่ “Mix Academic Cafe” ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดประทับตราแล้ว ที่นี่ยังเป็นร้านกาแฟที่สามารถมานั่งพักขาให้หายเมื่อยได้ด้วย ด้วยการตกแต่งสไตล์ลอฟท์ ทำให้มีที่นั่งสบายๆ และเย็นฉ่ำอยู่ภายในร้าน ส่วนด้านหน้าก็มีจุดจอดจักรยานเป็นสัดเป็นส่วน หรือหากใครแวะมานั่งเล่นที่ร้านแล้วเกิดอยากปั่นจักรยานขึ้นมา ที่นี่ก็มีให้ยืมไปขี่ด้วย
ร้านกาแฟ Mix Academic Cafe
ถึงจะปั่นจักรยานตามเส้นทางท่องเที่ยวและประทับตราจนครบทุกแห่งแล้ว แต่ไหนๆ แล้ว ก็เลยขอแวะเที่ยวต่อกันอีกสักหน่อย เลยกลับมาที่บริเวณข่วงเมืองน่าน เพื่อแวะเข้าไปไหว้พระที่ “วัดภูมินทร์” สัญลักษณ์สำคัญของเมืองน่าน

“วัดภูมินทร์”เป็นที่ที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันสร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัวที่ช่างโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างดงาม เมื่อเดินเข้ามาภายในพระอุโบสถ บริเวณใจกลางพระอุโบสถ จะพบกับความงดงามของ “พระประธานจตุรทิศ” เป็นพระประธานปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเดียวกัน หันพระปฤษฎางค์ชนกัน (หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4 ถือว่าเป็นพระประธาน ที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว นอกจากนี้บริเวณฝาผนังภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมที่สวยงาม และถือว่าเป็นสุดยอดศิลปกรรมล้านนาอีกชิ้นหนึ่ง
วัดภูมินทร์
ข้ามไปอีกฝั่งก็เป็น “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” เดิมชื่อ “วัดหลวงกลางเวียง” ภายในมีวิหารขนาดใหญ่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา เสาภายในพระวิหารมีขนาดใหญ่ขนาด 2 คนโอบ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูป นามว่า “หลวงพ่อพระเจ้าหลวง” ด้านหลังของพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน โดดเด่นด้วยลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา มีช้างปูนปั้นตั้งอยู่ในลักษณะของฐานรองรับไว้รอบด้าน คาดกันว่าน่าจะรับอิทธิพลมาจากศิลปะของสุโขทัย เช่นเดียวกับที่วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
วัดพระธาตุช้างค้ำ
อีกฝั่งของถนน ตรงข้ามวัดพระธาตุช้างค้ำก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” ซึ่งภายในจัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะ “งาช้างดำ” ของสำคัญล้ำค่าของเมืองน่าน แต่ขณะนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านกำลังทำการบูรณะครั้งใหญ่ จึงไม่สามารถเข้าชมได้ แต่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ยังสามารถเข้าไปเดินชมซุ้มต้นลีลาวดีที่ขึ้นอยู่ริมสองฟากฝั่งทางเดิน

นอกจากนี้ก็ยังมี “โบราณสถานวัดน้อย” ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่เล็กที่สุดในประเทศ สร้างโดยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เมื่อคราวได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกราบบังคมทูลถึงจำนวนวัดทั้งหมดในน่าน แต่ได้นับจำนวนเกินไปหนึ่งวัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ขึ้นมาให้ครบตามจำนวนที่กราบบังคมทูล รูปทรงของวัดน้อยเป็นแบบศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน มีพระพุทธรูปและแผงพระพิมพ์ไม้ประดิษฐานอยู่ภายใน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยว “เที่ยวเหนือ เที่ยวไหน เที่ยวไป ถีบไป @ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์” ซึ่งนอกจากนี้แล้วก็ยังมีเส้นทางใน อ.ปัว จ.น่าน, อ.เมือง จ.แพร่, อ.ลอง จ.แพร่, อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ และ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์
โบราณสถานวัดน้อย ตั้งอยู่ภายในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และรับคู่มือ “เที่ยวเหนือ เที่ยวไหน เที่ยวไป ถีบไป @ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์” ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ โทร. 0-5452-1127 facebook : Tat Phrae
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น