xs
xsm
sm
md
lg

“โนราโรงครูวัดท่าแค” พัทลุง...สุดยอดงานโนรา ทรงคุณค่าคู่แดนใต้/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
แทงเข้ หนึ่งในพิธีสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงในงาน โนราโรงครูวัดท่าแค
“สวบ!!!”

เสียงดังถนัดถนี่ของคมหอกที่พุ่งเข้าปักลงบนส่วนหัวของตัว"จระเข้"(จำลอง) ในพิธี“แทงเข้”(แทงจระเข้) สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนจำนวนมากที่ไปเฝ้ารอชมอยู่รายรอบได้เป็นอย่างดี

นี่เป็นไฮไลท์ช่วงสุดท้ายของงาน“โนราโรงครูวัดท่าแค” จ.พัทลุง ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของคนโนราบนดินแดนด้ามขวานที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งปีนี้ทาง“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”(ททท.) ได้เข้ามาร่วมส่งเสริมให้งานประเพณีโนราโรงครูวัดท่าแคเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

โนรา น่าทึ่ง
โนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่อยู่คู่กับคนใต้มาช้านาน
โนรา”(หรือ มโนรา มโนห์รา มโนราห์ - มีการเขียนกันหลายแบบ) เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน

โนรามีองค์ประกอบสำคัญคือเครื่องแต่งกาย(อันสวยงาม)และเครื่องดนตรี ขณะที่ผู้เล่นโนรานั้นจะต้องมีความสามารถในศาสตร์และศิลป์แห่งโนรา ทั้ง การร่ายรำ ร้อง เล่น การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง แววตา และมีปฏิภาณไหวพริบในการแสดงการด้นสดที่ส่วนใหญ่จะเป็นมุขตลกเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม ซึ่งจำเป็นต้องฝึกฝนกันตั้งแต่ยังเล็กๆ

สำหรับส่วนของการร่ายรำที่ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของโนรานั้น วันนี้นอกจากท่ารำดั้งเดิมหรือท่ารำหลักที่มีอยู่ 12 ท่าแล้ว โนราหลายคณะยังมีการสอดแทรกท่ารำประยุกต์ ท่ารำพลิกแพลงต่างๆเข้าไปซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามยุกต์สมัย(ปัจจุบันยังมีการนำท่ารำโนรามาประยุกต์เป็นท่าออกกำลังกายด้วย)
ศิลปะการแสดงโนรา ต้องมีการฝึกฝนกันตั้งแต่เด็ก
นอกจากนี้ก็ยังมีท่ารำตัวอ่อน หรือโนราตัวอ่อน ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อันน่าทึ่งของโนรา ซึ่งผู้รำที่ยังอยู่ในวัยเด็กสามารถรำตัวอ่อน ดัดตัว โค้งตัว เป็นท่าทางต่างๆได้อย่างสวยงาม บางคนสามารถดัดร่างกายให้เท้าไปเกี่ยวกับคอ สามารถดัดตัวโค้งอ่อนไปด้านหลังเป็นวงกลมให้ศีรษะโผล่ออกมาแนบอยู่ระหว่าง 2 ขา หรือบางคนก็สามารถขดตัวเป็นก้อนกลมให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในถาดหรือในกระด้งได้อย่างน่าทึ่ง เรียกเสียงปรบมือให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี
โนราตัวอ่อน อีกหนึ่งความสามารถอันน่าทึ่งของศิลปะะการแสดงโนรา
โนรานอกจากจะมีในภาคของศิลปะการแสดงเพื่อความบันเทิงรื่นเริงใจแล้ว ก็ยังมีในภาคของพิธีกรรมคือ“โนราโรงครู”(หรือโนราลงครู) ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการโนรา อีกทั้งยังมีมิติทับซ้อนทางด้านวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ และความศรัทธา ของชาวใต้ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีที่ผูกพันกับโนราอย่างแนบแน่น

โนราโรงครู

โนราโรงครู เป็นพิธีอัญเชิญครูหรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธี เพื่อรับการเซ่นสังเวยทำพิธีไหว้ครู อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูโนราและบรรพบุรุษ เมื่อเชื้อเชิญวิญญาณครูมาเข้าทรงหรือ“ลง”มายังโรงพิธี จึงเรียกพิธีนี้ว่า“โนราลงครู” หรือ“โนราโรงครู

นอกจากนี้โนราโรงครูยังจัดขึ้นเพื่อ ทำพิธี“ครอบเทริด”หรือ“ผูกผ้าใหญ่”แก่โนรารุ่นใหม่ รวมถึงทำพิธีแก้บน หรือ “แก้เหมฺรฺย” สำหรับคนทั่วไปที่ได้บนบานศาลกล่าวไว้กับครูโนรา และทำพิธีอื่นๆ เช่น เหยียบเสน ตัดจุก สะเดาะเคราะห์ เป็นต้น
โนราโรงครูวัดท่าแค จ.พัทลุง เป็นโนราโรงครูใหญ่ที่มีพิธีกรรมแบบโบราณที่หาชมได้ยาก
โนราโรงครูมี 2 ชนิด คือ “โนราโรงครูใหญ่” และ “โนราโรงครูเล็ก

โนราโรงครูใหญ่ เป็นพิธีโรงครูที่จัดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบเป็นเวลา 3 วัน ในวันพุธ-ศุกร์ เริ่มตั้งแต่โนราเข้าโรงในวันพุธไปสิ้นสุดด้วยพิธีส่งครูหรือ“ตัดเหมฺรฺย”ในวันศุกร์ แต่ถ้าปีไหนวันพิธีส่งครูตรงกับวันพระ(อย่างเช่นในปีนี้ 2559)จะต้องเลื่อนพิธีส่งครูไปอีกหนึ่งวัน เพราะเชื่อว่าตายายจะต้องไปวัด มาร่วมพิธีส่งครูไม่ได้(อ้างอิงจากบทความ “โนราโรงครู พิธีกรรมผูกสายสัมพันธ์คนใต้” (น.91) นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 191) นอกจากนี้พิธีโนราโรงครูใหญ่ยังต้องจัดเป็นวาระประจำ เช่น ทุกๆปี ทุก 3 ปี หรือ ทุก 5 ปี

ส่วนโนราโรงครูเล็ก เป็นพิธีโรงครูที่จัดในแบบฉบับย่อ เนื่องจากพิธีโนราโรงครูใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลาเตรียมการนาน จึงย่อมาทำพิธีโนราโรงครูเล็กแทน ใช้เวลา 1 วัน 1 คืน ตั้งแต่ตอนเย็นวันพุธไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี

อย่างไรก็ดีโนราโรงครูเล็กนั้นมีจุดมุ่งหมายและสาระสำคัญเช่นเดียวกับโนราโรงครูใหญ่ แต่ด้วยความที่เจ้าภาพไม่สามารถจัดพิธีโนราโรงครูใหญ่ได้ เนื่องจากติดปัญหาในบางประการจึงหันมาทำพิธีโนราโรงครูเล็กแทน
ลีลาร่ายรำของโนราที่ร่ำเรียนจากครูและผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
สำหรับ“ครู” ในวัฒนธรรมของโนรามี 2 ประเภท ได้แก่ “ครูหมอโนรา” คือบรรพบุรุษบูรพาจารย์ผู้ให้กำเนิดโนรา อาทิ ขุนศรีศรัทธา พระเทพสิงหร นางนวลทองสำลี แม่ศรีมาลา พรานบุญ ตาม่วงทอง เป็นต้น ส่วนครูโนราอีกประเภทหนึ่งคือ “ตายายโนรา” คือผีบรรพบุรุษผู้เคยมีตัวตนจริงๆและได้สอนวิชาการโนราให้แก่ลูกหลาน

ทั้งครูหมอโนราและตายายโนรา(บางพื้นที่เรียกรวมกันว่า“ตายายโนรา”) ในความรับรู้ของคนโนราและผู้ที่นับถือ เป็นสิ่งมองไม่เห็นที่มีพลังอำนาจมาก สามารถให้คุณให้โทษแก่ลูกหลานโนราและเทือกเถาเหล่ากอ หากลูกหลานทำดีประพฤติดี ก็จะบันดาลให้พบแต่สิ่งดีๆมีความเจริญก้าวหน้า แต่หากประพฤติไม่ดี ทำสิ่งผิดศีลธรรม ก็จะบันดาลให้ประสบกับสิ่งไม่ดี ประสบโชคร้ายต่างๆ
นักดนตรีเบื้องหลังความสนุกสนานเพลิดเพลินของการแสดงโนรา
ส่วนลูกหลานโนราคนไหนถ้าตายายโนราเลือกเป็นผู้สืบทอดให้เป็นโนราหรือร่างทรง ก็จะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายตัวเอง เช่น เมื่อได้ยินเสียงปี่กลองโนราจะไม่สามารถห้ามตัวเองได้ต้องลุกขึ้นมาร่ายรำ หรือไม่ก็มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้ แพทย์ปัจจุบันรักษาไม่ได้ ต้องเป็นโนราหรือเป็นร่างทรงจึงจะหาย

เรื่องเหล่านี้คนในวงการโนราหรือคนที่สืบเชื้อสายโนราจะเชื่อถือกันเป็นพิเศษ ส่วนคนทั่วไปที่อยู่วงนอกนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน ซึ่งเรื่องราวบางอย่างที่ผมเคยเห็น และอีกหลายๆเรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังจากคนโนรามา บางสิ่งบางอย่างยังคงไม่สามารถหาสาเหตุและพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์

โนราโรงครูวัดท่าแค 1
การแสดงของเหล่ายอดฝีมือโนราในงานโนราโรงครูวัดท่าแค
ปีนี้ผมโชคดีมีโอกาสได้ไปร่วมสัมผัสงาน “โนราโรงครูวัดท่าแค” ที่จัดขึ้นที่ วัดท่าแค ต.ท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง

โนราโรงครูวัดท่าแค ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางงานโนราโรงครูของภาคใต้ เป็นดังศูนย์รวมศรัทธาของคนโนราจากทั่วทิศ เนื่องจากเชื่อกันว่าวัดท่าแคเป็นต้นกำเนิดของพิธีโนราโรงครู โดยมีข้อสันนิษฐานจากบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของ“ขุนศรีศรัทธา”ปรมาจารย์โนรา ที่เดินทางมาขึ้นแพที่ท่าแพหน้าวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็น“ท่าแค”จนถึงปัจจุบัน
รูปเคารพขุนศรีศรัทธา วัดท่าแค
โนราโรงครูวัดท่าแค ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มเล่นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่เริ่มจัดเป็นประเพณีใหญ่ชัดเจนนั้นระบุว่าเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งในปีนั้น “พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัทพร” ได้สร้างรูปเคารพขุนศรีศรัทธาและพรานบุญขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพบูชาของคนโนราและชาวบ้านผู้นับถือ ด้วยเชื่อว่าขุนศรีศรัทธาท่านเป็นครูโนราคนแรก จึงจัดให้มีโนราโรงครูขึ้นที่วัดท่าแค

วันนี้นอกจากรูปเคารพขุนศรีศรัทธาแล้ว ที่ด้านหน้าศาลารูปเคารพของท่านยังมี “หลักพ่อขุนศรีศรัทธา” ที่มีการแกะสลักท่าร่ายรำหลัก 12 ท่าของโนราไว้ บนไม้รักเขาหรือต้นยอไม่ตกดิน ซึ่งนอกจากจะเป็นหลักที่เคารพของคนโนราแล้วก็ยังเป็นที่เคาระสักการะของชาวบ้านผู้นับถือเป็นจำนวนมาก
หลักพ่อขุนศรีศรัทธาที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือกันเป็นจำนวนมาก
สำหรับงานโนราโรงครูวัดท่าแคที่จัดเป็นประเพณีใหญ่ในปี 2514 มี “โนราแปลก ท่าแค”(แปลก ชนะบาล) ครูโนราชื่อดังแห่งบ้านท่าแค เป็น“นายโรงโนรา” (หรือ“ครูหมอโนรา”หรือ"โนราใหญ่")ผู้นำสำคัญของงานในปีนั้น ก่อนส่งต่อให้“โนราสมพงษ์ ชนะบาล”เป็นนายโรงโนราต่อในรุ่นที่สอง

ปัจจุบันโนราโรงครูวัดท่าแค มี“โนราเกรียงเดช นวลระหงส์”(โนรารางวัลพระราชทานปี 2556) เจ้าของคณะ“เกรียงเดชน้อย นวลระหงส์(หรือที่นิยมเขียนกันว่า"เกรียงเดชน้อย นวลระหงษ์")” อันโด่งดังแห่งภาคใต้ เป็นนายโรงโนรา มาทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ นับเป็นนายโรงโนรารุ่นที่ 3 สืบต่อโนราสมพงษ์(โนราเกรียงเดช เป็นหลานของโนราแปลก-ปู่ และโนราสมพงษ์-น้า)
โนราเกรียงเดช นวลระหงส์ นายโรงโนรา
โนราเกรียงเดช(นายเกรียงเดช ขำณรงค์) เป็นโนราหนุ่มรุ่นใหม่(วัยเพียง 29 ปี) ผู้มากไปด้วยความสามารถ(แถมยังมีประวัติเกี่ยวกับโนราอันน่าทึ่ง) เขาเป็นผู้นำในการก่อตั้งคณะ“เทพศรัทธา” ซึ่งเป็นการรวมยอดฝีมือโนราสายต่างๆจากหลายจังหวัดภาคใต้มาแสดงร่วมกัน(ปกติโนรารุ่นก่อนๆจะแสดงตามวิชาของครูในสายใครสายมัน)ผ่านศิลปะการแสดงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งโนรา จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในคณะโนราที่ดีที่สุดของเมืองไทยในยุคนี้พ.ศ.นี้ ซึ่งได้เคยผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในรายการ“คนไทยขั้นเทพ”สร้างความประทับใจให้กับคนดูทั่วประเทศมาแล้ว

โนราเกรียงเดช บอกกับผมว่า เมื่อเข้ามาเป็นนายโรงโนรา(รุ่นที่3)เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้รื้อฟื้นประเพณีโบราณดั้งเดิมต่างๆกลับมา เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ร่วมสืบสานในประเพณีอันทรงคุณค่าและจิตวิญญาณแห่งโนราไว้

โนราโรงครูวัดท่าแค 2
พิธีกรรมในงานโนราโรงครูวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันครู
ปัจจุบันโนราโรงครูวัดท่าแค มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในพิธีโบราณที่หาชมได้ยากและมีขั้นตอนประกอบพิธีกรรมครบถ้วน อีกทั้งยังมีพิธีกรรมบางอย่างเป็นเอกลักษณ์แตกต่างไปจากพิธีโนราโรงครูทั่วไป

โนราโรงครูวัดท่าแค เป็นโนราโรงครูใหญ่ มีกำหนดจัดขึ้นทุกปี ในช่วงเดือน 6 (เดือนไทย) โดยปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 18-21 พ.ค. 59 ที่ผ่านมา

สำหรับพิธีกรรมวันแรก(พุธ 18 พ.ค.) เริ่มจากต้นด้วยพิธีไหว้ภูมิโรงครู(ไหว้พระภูมิ)ด้วยเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆในเวลาประมาณบ่าย 3 โมง ตามด้วยการตั้งบ้านตั้งเมืองหรือตั้งศาลพระภูมิ แล้วต่อด้วยพิธี“โนราเข้าโรง”ในช่วงย่ำค่ำ หรือที่ชาวปักษ์ใต้เรียกว่า “เวลานกชุมรัง” เพื่อทำพิธี“เบิกโรง”เชิญครูหมอโนราให้มาชุมนุมในพิธี
ลีลาการแสดงอันสวยงามเร้าใจของทีมเทพศรัทธา คณะโนราเลื่องชื่อ
วันที่สอง (พฤหัสบดี 19 พ.ค.)วันนี้เป็นวันสำคัญเพราะเป็นวันครู งานเริ่มกันแต่เช้า ด้วยพิธีลงโรง กาศครู เชิญครู โดยในพิธีเชิญครูนั้น จะเป็นการเชิญครูหมอโนราและตายายโนรามาเข้าทรงในร่างทรง ที่เรียกว่า“จับลง” ทำให้ร่างทรงเปลี่ยนไปกลายเป็นคนละคน บ้าง ตัวสั่น บ้างเต้นเร่า ร่ายรำ บ้างเต้นเหมือนม้า บ้างมีลักษณะคล้ายคนแก่ เคี้ยวหมากหงับๆ ส่วนพวกโนราก็จะพากันร่ายรำอย่างสวยงาม
พิธีห่มโพธิ์หนึ่งเดียวของงานโนราโรงครูที่วัดท่าแค
จากนั้นก็เป็นพิธีบวงสรวงครู และพิธี“ห่มโพธิ์” หรือพิธีแห่ผ้าผูกต้นโพธิ์ อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของที่นี่ ด้วยเชื่อว่าอัฐิ(กระดูก)ของพ่อขุนศรีศรัทธาฝังอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ที่วัดท่าแคแห่งนี้ โดยผ้าห่มโพธิ์จะมี 3 สี เริ่มห่ม จากผ้าสีแดง สีเหลือง และสีขาวคลุมอยู่ในชั้นนอกสุด

เสร็จจากนั้นก็เป็น พิธีรำถวายศาล พิธีรำแก้บน เหยียบเสน และออกพรานรำ 12 คำพลัด ซึ่งในพิธีรำแก้บนนี้มีทั้งโนราและชาวบ้านที่บนบานศาลกล่าวไว้มาแก้บน ทั้งนำสิ่งของมาแก้บน รวมไปถึงรำแก้บนถวาย โดยชาวบ้านจะสวมใส่ชุดโนรามาให้โนราใหญ่ทำพิธี แล้วรำแก้บนถวายไปตามเสียงปี่กลอง ซึ่งงานโนราโรงครู วัดท่าแค ปีนี้มีคนมารำแก้บนถวายกันเป็นจำนวนมาก ต้องมีการจัดคิวกันเป็นรอบๆเพื่อให้งานคล่องตัวขึ้น
พิธีเหยียบเสน
ส่วนพิธีเหยียบเสนนั้น คนโนราและชาวบ้านเชื่อว่า“เสน” ซึ่งมีลักษณะเป็นเนื้องอกนูนจากผิวหนังปกตินั้น เป็นโรคที่เกิดจากกระทำของผีเจ้าเสน ผีโอกะแซง หรือครูหมอโนรา ตายายโนรา ที่ต้องการให้เด็กคนนั้นรำโนราจึงทำเครื่องหมายไว้ ต้องแก้ด้วยการให้โนราใหญ่ทำพิธีเหยียบเสนให้

ในพิธีโนราโรงครูวันที่ 2 นี้ หากมีโนรามาขอให้ทำพิธีครอบเทริด โนราใหญ่และผู้ช่วยจะแต่งตัวเป็นพิเศษ เรียก“แต่งพอก”มาทำพิธีครอบเทริดให้
งานโนราโรงครูวัดท่าแควันสุดท้าย มีคนมาร่ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
มาถึงวันที่สาม(ศุกร์ 20 พ.ค.) ปกติวันนี้จะเป็นพิธีส่งครูวันสุดท้าย แต่ปีนี้เนื่องจากเป็นวันพระจึงงดทำพิธี(ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น) และเลื่อนงานไปอีกหนึ่งวัน แต่ก็ยังมีการแสดงโนราแบบโบราณให้ชาวบ้านและแฟนคลับของคณะโนรา

วันที่สี่(เสาร์ 21 พ.ค.) วันนี้มีการจัดงานเหมือนกับพิธีในวันที่สามของช่วงงานในปีปกติ แต่เนื่องจากวันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง และเป็นวันสุดท้าย อีกทั้งยังเป็นวันหยุด จึงมีผู้คนมาร่วมงานชมงานกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงบ่ายมีคนมาร่วมงานกันแน่นขนัด
พิธีคล้องหงส์
วันนี้ในช่วงเช้ามีพิธีหลักๆ ได้แก่ พิธีรำแก้บน เหยียบเสน แก้บนออกพราน ส่วนในช่วงบ่าย มีพิธีรำคล้องหงส์ จับบทสิบสอง พิธีแทงเข้ และพิธีบูชาครูหมอ-ตายายโนราส่งท้าย ควบคู่ไปกับการแสดงโนราจากคณะเทพศรัทธาที่ถือว่าสุดยอด ตรึงคนดูได้ชะงัดนัก

แทงเข้

พิธีแทงเข้(แทงจระเข้)เป็นอีกหนึ่งพิธีสำคัญในงานโนราโรงครูวัดท่าแค และเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของโนราโรงครูในพัทลุง
จระเข้(จำลอง)ในพิธีแทงเข้ ซึ่งเป็นดังตัวแทนของสิ่งไม่ดี จึงมีคนนำเงิน ข้าวของมาทำบุญเพื่อสะเดาะเคราะห์
พิธีแทงเข้ มีความเชื่อว่าตัวเข้หรือจระเข้(ชาละวัน)นั้นเป็นดังตัวแทนของสิ่งไม่ดี นำสิ่งไม่ดีมาไว้ จึงมีการสร้างตัวเข้จำลองปรากฏตั้งเด่นไว้หน้าลานโรงโนราตั้งแต่วันแรก ให้ผู้คนทำบุญนำเงิน ข้าวของ มาใส่ไว้ในปากจระเข้ ด้วยเชื่อว่าเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์ เพราะเมื่อจระเข้ถูกแทงตายจะนำไปลอยน้ำ ทุก โศก โชคร้าย ก็จะให้ลอยไปพร้อมๆกับจระเข้

สำหรับตัวจระเข้นั้น ว่ากันว่าคนที่ทำก็ต้องมีความรู้ทางด้านเวทมนต์คาถาด้วย เพราะเมื่อทำตัวจระเข้จำลองขึ้นมา จะมีการทำพิธีบรรจุธาตุ เรียกวิญญาณไปใส่ ทำพิธีเบิกหูเบิกตา เพื่อให้จระเข้(เหมือน)มีชีวิต ซึ่งคนทำจระเข้จำลอง หากทำไม่ถูกต้องก็อาจเกิดเสนียดจัญไรแก่ตนเองได้

ในส่วนตัวจระเข้การใช้วัสดุหลักๆก็มี ส่วนหัวจระเข้ทำจากต้นกล้วยพังลาหรือกล้วยตานี(เพื่อให้หอกได้พุ่งปักได้ง่าย) ส่วนตัวมีการประยุกต์วัสดุไปตามยุกต์สมัย โดยจระเข้จำลองในงานโนราโรงครูวัดท่าแคปีนี้ ส่วนหัวจระเข้ทำจากต้นกล้วย ส่วนตัวเป็นโครงลวดเหล็กหุ้มด้วยเสื่อ พร้อมมีการตกแต่งได้อย่างเยี่ยมยอด ทำให้จระเข้จำลองดูมีชีวิตชีวามาก
พิธีแทงเข้ มีนายโรงโนราเป็นนายไกร ผู้นำหอกมาแทงจระเข้(ชาละวัน)เป็นคนแรก
ขณะที่ในการทำพิธีแทงเข้นั้น ก่อนมีพิธีแทงเข้ คณะโนราจะแสดงเรื่องไกรทองปูพื้นส่งบทมาจนถึงพิธีการแทงเข้ ที่มีผู้รำ 7 คน มีนายโรงโนราหรือโนราใหญ่เป็นนายไกร(ไกรทอง)พร้อมกับสหายทั้ง 6 ซึ่งแต่ละคนจะมีหอกในชื่อต่างๆเป็นอาวุธสำหรับแทงเข้

จากนั้นเมื่อการแสดงและพิธีการต่างๆพร้อม นายไกรก็จะถือหอกร่ายรำมายังตัวจระเข้แล้วบริกรรมคาถา ก่อนจะพุ่งหอกไปปักสวบ!!! บนส่วนหัวของจระเข้ ต่อจากนั้นก็ใช้เท้าถีบยันให้จระเข้หงายท้องแล้วสหายโนราทั้ง 6 ก็ใช้หอกแทงต่อจากโนราใหญ่ พร้อมว่าบทปลงอนิจจัง กรวดน้ำให้กับจระเข้ชาละวัน รวมถึงว่าคาถาถอนเสนียดออกจากจระเข้ อันเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการ ส่วนจระเข้จำลองนั้นก็นำไปลอยทิ้งลงในแม่น้ำ
หลังจากแทงจระเข้แล้วก็ยังมีพิธีสวดอีกเล็กน้อย
เมื่อจบพิธีแทงเข้เสร็จแล้ว ก็เป็นพิธีบูชาครูหมอตายายโนรา หรือ “ชาครูหมอ” หรือ “ชาตายาย” โดยมีการนำเงินมาบูชาครูหมอตายายตามกำลังศรัทธา

สำหรับพิธีโนราโรงครูที่อื่นๆ หลังจบพิธีบูชาครูหมอตายายโนราแล้ว จะเป็นพิธี“ส่งครู” หรือ “ตัดเหมฺรฺย”(ตัดทานบท)ซึ่งเป็นพิธีตัดเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นไหว้ก็จะเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

แต่สำหรับพิธีกรรมหลักของงานโนราโรงครูวัดท่าแคจะแตกต่างไปจากที่อื่นๆ เพราะไม่มีพิธีส่งครู ด้วยเชื่อว่าวัดท่าแคเป็นที่อยู่ของครูโนรา หากทำพิธีตัดเหฺมฺรย เท่ากับทำพิธีตัดขาดจากครู
เหล่าผู้ที่มาร่วมพิธีต่างๆในงานโนราโรงครู
ครับและนั่นก็คืองานโนราโรงครูวัดท่าแค จ.พัทลุง อีกหนึ่งประเพณีอันงดงามเป็นเอกลักษณ์แห่งภาคใต้ ที่จัดขึ้นได้อย่างทรงเสน่ห์น่าตื่นตาตื่นใจ ภายในงานมีหลากหลายมิติทับซ้อนกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ด้านศิลปะการแสดงอันยอดเยี่ยมทรงคุณค่า ด้านพิธีกรรม ศรัทธา ความเชื่อ ด้านวัฒนธรรมประเพณี ด้านวิถีชีวิตที่ผู้เฒ่าผู้แก่พาลูกหลานมานั่งดูโนรากันอย่างเพลิดเพลินไม่ยอมลุกหนีไปไหน ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงาน ทำอาหาร ลูกหลานเดินทางกลับมาร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
โนราโรงครูวัดท่าแค ได้ชื่อว่าเป็นศูน์รรวมศรัทธาของคนโนราจากทั่วทิศ
ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจนั้นก็ก่อเกิดการค้าขายภายในบริเวณวัดกันอย่างคึกคัก ส่วนในด้านการท่องเที่ยว นี่แม้จะไม่ใช่งานที่จัดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ด้านการท่องเที่ยว แต่ก็มีคนเดินทางไปเที่ยวชมงาน ไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของงานโนราโรงครูอันเป็นเอกลักษณ์กันไม่น้อย

นับได้ว่านี่เป็นงานที่แสดงให้เห็นว่า วิถีของชาวใต้ในวันนี้ยังคงผูกพันกับวิถีแห่งโนราอย่างแนบแน่น

...และยังดำรงคงอยู่ไปอีกนานเท่านาน
น้องใบเตย โนราตัวน้อยที่รอคอยเป็นยอดโนราในอนาคต
******************************************
ปีนี้จังหวัดพัทลุง ได้รับการคัดเลือกจาก “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”(ททท.) ให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาดPlus”(เมืองต้องห้ามพลาดพลัส) กับเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับจังหวัดนครศรีธรรมราช “เมืองต้องห้าม...พลาด” ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทาง ในจังหวัดพัทลุงได้ที่ ททท.สำนักงานหาดใหญ่ (ดูแลพื้นที่ สงขลา, พัทลุง) โทร.0 7423 1055, 0 7423 8518, 0 7424 3747

หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนในบทความนี้อ้างอิงจาก เอกสาร“โนราโรงครูวัดท่าแค พิธีกรรมและศรัทธา” โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรงวัฒนธรรม - สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง-สถาบันทักษิณคดีศึกษา
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น