xs
xsm
sm
md
lg

“ข่าวลือเผาบ้านครู” อวสาน “บ้านครูน้อย” ร่ำไห้ด้วยใจสุดบอบช้ำ...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมดศรัทธา... เลี้ยงเด็กตามใจ ครูน้อยสปอยล์เด็ก, บริหารจัดการไม่ดีจนต้องเป็นหนี้นอกระบบ, ขาดความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ เงินบริจาคตั้งมากมาย ไม่รู้หายไปไหนหมด, เห็นว่าเอาเงินมูลนิธิไปถอยรถป้ายแดงให้ลูก-ซื้อที่เก็งกำไรอีกต่างหาก ฯลฯ

ท่ามกลางมรสุมข่าวลือสารพัดลมปากคนที่กระหน่ำซ้ำเข้ามา ท้ายที่สุด “บ้านครูน้อย” ก็ไม่อาจต้านทานแรงลมไหว ประกาศปิดฉากสถานที่พักพิงของเด็กๆ ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ยอมแบกภาระหนี้ท่วมบ่ากว่า 8 แสนบาท อำลาปณิธาน “เพื่อสังคม” กว่า 35 ปีด้วยใจสุดบอบช้ำ เหลือไว้แค่เพียงตำนาน “คุณครูหัวใจแกร่ง” ส่งเสียเด็กๆ หลายต่อหลายรายจนได้ดี เหลือไว้แค่เพียงรอยอดีตในบ้านแสนอบอุ่นของเด็กไร้ที่พึ่งในสังคม...



 
“ศรัทธา” หดหาย หลังข่าวลบกลบ “บ้านครูน้อย”

[ตอบความคิดเห็นแก้ข่าวลือ ฝากไว้ในโลกโซเชียลฯ]
“...ต้องขอโทษสังคมนะคะที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา ขอโทษที่ครูต้องปิดบ้านเพราะเหตุผลคือไม่เพียงพอในการใช้จ่ายนะคะ ครูก็คงต้องเป็นหนี้เป็นสินเขาไปอีกหลายๆ วัฏจักร แต่อยากจะเรียนให้ท่านทราบว่า สิ่งที่ท่านให้มา เงินทองที่ท่านช่วยเหลือมา เด็กทุกคนได้เต็มที่จริงๆ (กะพริบตาถี่) แต่ครูอาจจะผิดที่นำส่วนหนึ่งไปใช้หนี้บ้าง ส่งดอกบ้าง เพราะเงินที่ครูไปกู้เขามา ก็เอามาให้เด็กๆ ใช้
 
ที่ครูต้องปิดเพราะเงินไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูเด็ก สุขภาพครูเองก็ไม่ดี และสิ่งที่แย่มากที่สุดก็คือ ความเจ็บช้ำน้ำใจที่ถูกมองจากสังคมว่า เราทำเพื่อกอบโกย (สะอื้น)... 30 กว่าปีที่เราทุ่มเททุกอย่าง ที่ต้องต่อสู้ให้เด็กได้เข้าเรียน เด็กแต่ละคนไม่ได้เข้าเรียนกันง่ายๆ

มีข่าวว่าที่ครูเป็นหนี้เป็นสิน เพราะครูเอาเงินไปซื้อที่ถึง 70-80 ไร่ ซื้อรถป้ายแดงให้ลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนฟังแล้วเสื่อมศรัทธา เทียบกับแต่ก่อน ใครจะจัดงาน ดาราคนไหนก็ตาม จะไปบ้านครูหมดเลย แต่พอมีข่าวนี้ออกมา คนหายไปหมดเลย มีบางคนที่ยังคงช่วยเหลือ

ชีวิตครู ชีวิตลูกครู ให้ไปตรวจสอบได้เลย ไม่เคยมีอะไรที่ใช้เงินของเด็กๆ ไม่เคยใช้เงินบริจาคเลย นอกจากอาหารการกินที่เรากินด้วยกัน ข่าวลือที่ออกมา มันเท่ากับเผาบ้านครูเลย...


ครูน้อย-นวลน้อย ทิมกุล ผู้มีพระคุณของเด็กผู้ยากไร้ เจ้าของ “สถานที่รับเลี้ยงเด็กบ้านครูน้อย” ระบายความรู้สึกจุกอกออกมาทั้งน้ำตา ผ่านรายการปากโป้งอย่างหมดเปลือก หวังส่งเสียงในใจให้คนในสังคมได้รับรู้ว่าตลอดทางที่ทำมานั้น ทำมาจากจิตใจที่บริสุทธิ์ของหญิงวัย 74 คนหนึ่งจริงๆ

ถึงวินาทีนี้ บ้านที่เคยให้ไออุ่นแก่เด็กๆ กำพร้า เด็กที่มีปัญหาครอบครัว เด็กที่ไม่มีโอกาสได้เห็นแสงสว่างของชีวิต ได้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว หลังผู้ก่อตั้งไม่อาจทนแบกรับภาระหนี้สินอีกต่อไปไหว จึงตัดสินใจประกาศปิดตำนานความปรารถนาดีบนที่แห่งนี้ ตัดใจปล่อยให้เด็กๆ ที่เคยอยู่ในอุปการะทั้ง 65 ราย เปลี่ยนมือไปอยู่กับผู้ใหญ่ใจดีท่านอื่นๆ ในอนาคต

“หลังจากนี้ เด็กๆ เขาก็ต้องไปอยู่บ้านญาติๆ ของเขา ไปอยู่กับตายายเขา บางคนที่ไม่มีญาติพี่น้อง ก็ไปอยู่กับเพื่อนๆ อยู่กับพี่ๆ ที่โตแล้ว ตอนนี้ก็พอมีผู้ใหญ่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบ้างแล้วค่ะ ครูทำเรื่องไปยังสำนักนายกฯ แล้วว่า ครูทำงานอย่างนี้ไม่ไหวแล้ว ต้องปิดบ้าน แต่ในบ้านมีเด็กพิการ มีเด็กยากจนอีกเยอะ ก็อยากจะให้ท่านมาเยี่ยมดู ล่าสุดก็ได้รับคำตอบมาแล้วว่าทาง พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) จะประสานงานกับหน่วยงานให้เข้ามาช่วยดูในส่วนนี้ต่อไป

[บ้านอันแสนอบอุ่นของเด็กๆ 65 ชีวิต]

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ช่วยลบข้อครหาออกไปได้หมดเปลือก...ข้อครหาที่ว่า นี่อาจเป็นการออกมาประกาศเพื่อเรียกเงินบริจาคเช่นเดียวกับครั้งก่อน

“ต้องบอกก่อนว่า ที่ครูเคยออกมาประกาศปิดบ้านตอนนั้น ไม่ได้มีเจตนาขอเงินช่วยเหลือเลยนะคะ ครูแค่ออกมาประกาศให้คนที่เคยช่วยเหลือครูได้ทราบ และให้เด็กเก่าๆ ที่จะกลับมาได้ทราบว่าครูไม่ไหวแล้วนะ ส่วนครั้งนี้ครูก็ปิดจริงๆ แล้ว ไม่รับเด็กเพิ่มเข้ามาแล้ว แต่เด็กๆ ก็ยังเข้ามาหาอยู่ ครูก็พยายามจะบอกไปทางสื่อ จะได้ให้หลายๆ คนรู้ก่อนเด็กจะเปิดเทอมว่า ครูไม่มีเงินทำต่อแล้วจริงๆ”


[เมื่อครั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ พระเอกขี่ม้าขาวเข้าช่วยปลดหนี้]
ถึงแม้ว่าจะมีเงินก้อนโตจำนวน “500,000 บาท” จากพระเอกขี่ม้าขาวอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เคยเข้ามาช่วยเคลียร์หนี้นอกระบบให้ตั้งแต่เมื่อปี 2553 ในสมัยยังดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วก็ตาม แต่สุดท้าย ด้วยภาระเงินทองที่ต้องรับผิดชอบส่งเสียเด็กๆ ให้ได้ร่ำเรียน และให้ได้อิ่มท้องไปด้วยในคราวเดียวกัน รายจ่ายเดือนละ 200,000 บาท จึงยังคงหนักหนาเกินกว่าที่ครูน้อยจะบริหารจัดการไหวอยู่ดี...




ตัดบท “เมตตา” ปล่อยเด็กๆ สู้ด้วยตัวเอง

[ตัดใจลาจาก ภาพในความทรงจำกับเด็กๆ]
“ถ้าไม่ปิดมันก็จะเกิดวงจรเก่าขึ้นมา สังคมก็จะด่าว่าอีก มาตั้งประเด็นกับครูว่าเงินไปไหนหมด ถ้าจะให้อธิบายก็จะบอกว่า 65 ชีวิตมันมีอะไรยุบยิบเต็มไปหมดนะ เหมือนคนให้น้ำครูแก้วนึง ครูกับเด็กๆ ก็ต้องกินกันทุกวัน

เงินครูเองไม่มี ที่หยิบมาใช้ก็คือเงินเก็บของสามี สามีครูทำงานมาตลอดชีวิต เก็บเงินไว้ให้ครูกับลูก ครูก็ผลาญเขาไปหมดตั้งแต่ทำบ้าน ไม่ใช่แต่เงิน สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างที่เป็นของสามี เสื้อผ้าสามีครูก็เอาไปจำนำ สมัยก่อนที่ยังจำนำได้ เพื่อที่จะเอามาเลี้ยงเด็กตรงนี้ เด็กที่เจ็บไข้ได้ป่วย ครูก็รักษา ค่าทุกอย่างจ่ายหมด นอกนั้นก็ได้จากเงินคนบริจาคมาช่วย

ความลำบากของครู ครูจะไม่แพร่งพรายให้ครอบครัวรู้ ทุกอย่างในชีวิตครูเก็บงำไว้หมด แต่ทุกวันนี้รู้แล้วเพราะเป็นข่าว เขาก็สงสารครู ลูกคนโตก็กู้เงินเขามาเยอะ หลายธนาคารเลย เอามาโปะหนี้ให้แม่ สมัยก่อนที่ยังไม่มีเงินจากรัฐบาลมาช่วยเลย ครูเอาเด็กไปฝากเรียนครั้งแรก 6 คน ครูต้องจ่ายคนละ 400 ครูไม่มีเพียงพอ ครูก็เอาเงินเก็บของสามีมาใช้

ทุกวันนี้ครูก็เป็นหนี้นอกระบบ เคลียร์หนี้ไป 2-3 ครั้งแล้ว ก็ยังมีอยู่ประมาณ 7-8 แสนบาท เพราะเราไม่มีเงิน ครั้งแรกก็จะยืมข้างบ้าน ยืมร้านค้า แต่พอเขาเต็มที่แล้ว เราไม่สามารถจะใช้เขาได้ เราก็ต้องหาแหล่งเงินกู้ ถามว่าทำไมครูต้องไปกู้... แล้วถ้าไม่กู้ ครูจะเอาที่ไหนมาเลี้ยงเด็ก

ครูน้อยบอกเล่าความรู้สึกในตาเศร้า แต่ก็จำต้องตัดใจจาก “ความผูกพัน” ตลอดระยะเวลา 35 ปีที่รับหน้าที่เป็น “ผู้ให้” มาจนเคยชินไปในที่สุด

“บางคนส่งจนจบปริญญาตรี บางคนก็จบแค่ ป.6 ก็อยากออกไปทำงานแล้ว เราก็ให้ค่าขนมที่จะไปโรงเรียนด้วย ให้ทุกอย่างเลย เอาเงินมาจากที่เป็นหนี้เป็นสินเขานี่แหละ จนทุกวันนี้ยืมไม่ไหวแล้ว เพราะมันมากเหลือเกิน เรายินดีที่จะเลี้ยงเขาไปจนกว่าเขาจะดำเนินชีวิตได้” ครูใหญ่ใจดีเปิดใจ

เด็กอนุบาล จะได้ค่าขนมพกไปโรงเรียนคนละ 10 บาท, เด็ก ป.1-ป.2 ได้คนละ 20 บาท, ป.3-ป.4 คนละ 30 บาท, ป.5-ป.6 คนละ 40 บาท, ม.1-ม.3 คนละ 80 บาท และ ม.4-ม.6 คนละ 100 บาท รวมๆ แล้ว ตกวันละ 3,600 บาท ยังไม่รวมค่าอาหารของเด็กๆ ที่ตกวันละ 1,500 บาท อัตราเงินเท่านี้ ถามว่ามากไปไหม สปอยล์เด็กๆ เกินไปอย่างที่ถูกครหาหรือเปล่า? คงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน


[น้องบุ้งกี๋ เด็กในอุปการะตั้งแต่ 4 ขวบจนได้ดี ออกโรงช่วยบอกเล่า]
“หนูรู้สึกเสียใจที่บ้านครูจะปิด แต่อีกใจนึงหนูก็อยากให้บ้านครูน้อยปิด เพราะหนูสงสารครู หนูอยากให้ครูมีชีวิตเหมือนคนแก่ๆ คนอื่นที่ได้อยู่กับหลาน ได้พักผ่อนบ้าง แต่อีกใจนึง หนูก็เป็นห่วงน้อง คือหนูอาจจะลำบากกว่าคนวัยเดียวกัน แต่ยังมีน้องๆ ที่ลำบากกว่าหนูอีก แต่ถ้าครูตัดสินใจปิดวันนี้ หนูก็ไม่เสียใจ หนูอยากให้ครูได้พักผ่อน เพราะครูไม่มีเงินแล้วจริงๆ (น้ำตาคลอ)

วันนั้นหนูเลิกเรียนไวและหนูไม่ได้ทำงาน หนูกลับบ้านครูน้อย แล้วเห็นพี่นักศึกษาหรือแขก เขามาเลี้ยงขนมเด็กและต้องใช้น้ำแข็ง คิดดูว่าวันนั้นเงินซื้อน้ำแข็งครูก็ไม่มี (ร้องไห้) วันนั้นหนูเดินผ่านแล้วก็คิดว่า ถ้าหนูมีเงินนะ หนูคงทำได้มากกว่านี้ ครูเขาดูแลหนูมาตลอด แต่หนูไม่ได้ตอบแทนอะไรครูเลย

น้องบุ้งกี๋-ประภาศิริ ดำสนิท เด็กที่ได้รับการอุปการะจากบ้านครูน้อยมาตั้งแต่วัย 4 ขวบ จนตอนนี้ 22 ปีแล้ว บอกเล่าความในใจผ่านม่านน้ำตา ก่อนปล่อยให้คุณครูผู้มีพระคุณอย่างท่วมท้นเป็นคนปิดท้ายบทชีวิตฉากนี้


[ประกาศอำลา "ตำนานความเมตตา 35 ปี"]
"บ้านเราไม่ได้มีลักษณะเป็นเหมือนมูลนิธิอื่นๆ คือมันเป็นบ้านครูนี่แหละ และเด็กๆ ก็อยู่รอบสวน เป็นลูกกรรมกรทั้งหลายที่อดอยาก พ่อแม่ทำงานอยู่ก็มาขออาศัย แรกๆ คนที่อดอยากก็มาขอกล้วย ขอชมพู่ ขอฝรั่ง ขอน้ำกิน ขอยาใส่แผล ฯลฯ เพราะพ่อแม่เขามาทำงานต่างจังหวัด ทำงานไม่เสร็จก็กลับไม่ได้ แบกข้าว แบกไม้ แบกปลาป่น สมัยก่อนเยอะมากแถวนั้น

พอมีรายการทีวีมาถ่ายทำ เราก็ถูกบังคับจากกรมประชาสงเคราะห์ว่า จะมาเลี้ยงแบบนี้ไม่ได้นะ ต้องจดทะเบียนให้เป็นกิจจะลักษณะ และตลอด 30 กว่าปีเราก็กันเงินให้เขาได้ตลอด เด็กพวกนี้ผู้ปกครองเขาไม่เคยจะต้องมาเสียเงินให้ครู ครูมีแต่การให้อย่างเดียว

สมัยก่อน เด็กคนไหนที่อดอยากยากจนก็มาขอพึ่ง เป็นเด็กกลุ่มที่เรียกว่าประสบปัญหายากจน พ่อแม่ตาย ถูกครอบครัวทอดทิ้ง พ่อแม่ติดคุก หรือบกพร่องทางสมอง ฯลฯ เขาก็มาขอพึ่งเรา แรกๆ มีมาอยู่ค้างที่บ้านบ้าง มีไป-กลับบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะรับเด็กที่โตพอที่จะเดินได้แล้ว ไปจนถึง 2 ขวบ เด็กกว่านั้นไม่ได้รับ เพราะเราไม่มีเวลาประคบประหงมเขา

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ เพราะมันคือความสุขค่ะ เพราะชีวิตครูเป็นชีวิตที่โหยหาความสุขให้กับคน ชีวิตครูตั้งแต่เล็กๆ ก็เป็นชีวิตที่ลำบากยากจน แต่ยังไงวันนี้ครูก็ต้องปิดค่ะ เพราะต่อให้มีคนมาช่วยสนับสนุนเงินอีก ต่อไปมันก็ต้องเกิดวัฏจักรอย่างนี้ขึ้นมาอีกอยู่ดี




ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "สถานเลี้ยงเด็ก บ้านครูน้อย" และ indigy.wordpress.com




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น