xs
xsm
sm
md
lg

นำ “โขนไทย” เปิดประตูใจต่างชาติ “ดึงนักท่องเที่ยว-เพิ่มการลงทุน” กระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแสดงโขนไทย ณ โรงละครเซนต์เจมส์ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์
โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์



ท่วงท่าการร่ายรำที่สง่างามและอ่อนช้อย ท่ามกลางแสงสีเสียงและการบรรเลงวงปี่พาทย์ที่เร้าอารมณ์ ทำให้ทุกฉากทุกองก์ของ “โขน” นาฏยกรรมชั้นสูงของไทย เจิดจรัสอยู่กลางเวที “โรงละครเซนต์เจมส์” โรงละครเก่าแก่มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศนิวซีแลนด์ อย่างยิ่งใหญ่ และอลังการ ประทับจิตใจผู้ชมชาวไทย และชาวนิวซีแลนด์กว่า 1,000 คน

การนำ “โขนไทย” ไปแสดงให้ชาวนิวซีแลนด์ได้ชื่นชมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ณ ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 5 - 15 เม.ย. 2559 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศ และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ โดยนำคณะนักแสดงจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ไปจัดแสดงโขนชุดรามาวตาร ประกอบด้วย 2 องก์ คือ ปราบนนทุก - ลักสีดา และ ยกรบ - คืนนคร

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวต่อเนื่องมาจากโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ณ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั้ง 2 โครงการ ต่างได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก ว่า เป็นการแสดงที่มีความวิจิตรงดงาม ทั้งผู้แสดง ดนตรีบรรเลง และฉากประกอบ สำหรับการนำศิลปวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ยังต่างแดนนั้นเป็นความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีจะเลือกประเทศที่แตกต่างกันไป โดยพิจารณาจากสถานการณ์ระหว่างประเทศเป็นหลักคือ สภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สภาพเศรษฐกิจ และการเมืองว่ามีความใกล้ชิดหรือว่าห่างหายไปนาน

อย่างช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงปฏิรูป ปี 2559 กระทรวงการต่างประเทศ จึงมองกลุ่มประเทศที่ยังมีความรู้สึกที่ดีกับไทย แต่เริ่มห่างเหินกันไปนาน ก็คือ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเป็นมิตรที่ดี แต่มีการรักษาระยะห่างจากสถานการณ์ทางการเมือง ก็ประสานกับ วธ. ในการนำเอาศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะโขนเข้ามาแสดงเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในระดับประชาชน เป็นการใช้วัฒนธรรมมาเคาะประตู สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องความสัมพันธ์เท่านั้น ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เพราะช่วยกระตุ้นให้ชาวต่างชาติอยากเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย รวมไปถึงเป็นการเพิ่มการลงทุนในภาคเอกชนด้วย” รมว.วัฒนธรรม กล่าว

ด้าน น.ส.เชาวนีย์ ตังค์วงศ์ประเสริฐ นักการทูตชำนาญการ ที่ปรึกษากรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การนำเอาวัฒนธรรมไปเผยแพร่ในประเทศต่าง ๆ นั้น หลัก ๆ จะเลือกกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มประเทศที่รู้จักไทยดี เช่น กลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งต้องทำให้ความสัมพันธ์นั้นดีขึ้น และอยู่ไปนาน ๆ เพราะกลุ่มบอลติกนี้ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ประชาชนมีเงิน รวย ก็จะช่วยให้เข้ามาประเทศไทยมากขึ้น และ 2. กลุ่มประเทศที่ไม่รู้จักไทยเลย ก็ไปทำให้เขารู้จักเรามากขึ้น

อย่างประเทศไทยมีนโยบายเมดิคัล ฮับ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวตะวันออกกลาง ชาวอาหรับที่จะเข้ามารักษาพยาบาลในไทย หรือมาเป็นลูกค้าทัวร์สุขภาพ ซึ่งปัจจุบันไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับสิงคโปร์ และ มาเลเซีย ที่รุกทำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การนำวัฒนธรรมไปเผยแพร่ก็จะเป็นการช่วยรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ เป็นการรักษาตลาดให้กับประเทศไทยทางหนึ่ง ส่วนกลุ่มที่ประชาชนรู้สึกดีกับประเทศไทย แต่ค่อนข้างห่างไกลกันนั้น เช่น ฮังการี โปแลนด์ สโลวาเกีย ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยกำลังเพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่สถานทูตพยายามนำวัฒนธรรมไทยไปโปรโมตเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลของสถานทูตในหลาย ๆ ประเทศ ก็พบว่า หลังจากนำวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่แล้ว มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
สาธิตการแสดงพลอง-ไม้สั้น ร่วมกับนักเรียนโรงเรียนแกปิติ เมืองพาราพารัวมู
นอกจากการนำ “โขน” ไปจัดแสดงแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมยังนำคณะนักแสดงในสังกัดไปเผยแพร่ความรู้และสาธิตการแสดงนาฏศิลป์ให้แก่นักเรียน นักศึกษาของนิวซีแลนด์ที่วิทยาลัยแคปิติ เมืองพาราพารัวมู ด้วย ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่เน้นการสอนด้านศิลปะการแสดง ซึ่งคณะนักแสดงไทยได้สาธิตการแสดงอารมณ์ของตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และ ตัวลิง และสาธิตการต่อสู้ระหว่างพลองและไม่สั้นด้วย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี
นายฟินเนียน แกลเบรธ
นายฟินเนียน แกลเบรธ (Finnian Galbraith) นักเรียนวัย 16 ปี วิทยาลัยแคปิติ ซึ่งเป็น 1 ใน 9 คน ที่ได้รับทุนประจำปี สำหรับนักเรียนนิวซีแลนด์ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวลลิงตัน ให้ไปศึกษายังประเทศไทย และมีโอกาสได้ศึกษาในโรงเรียนของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 1 เดือน เล่าว่า รู้สึกประทับใจมากที่ได้ไปใช่ชีวิตที่ประเทศไทย แม้จะเพียงสั้น ๆ และรู้สึกตื่นเต้นมากที่คณะของกรมศิลปากรมาทำการแสดงที่วิทยาลัยแคปิติ โดยรู้สึกทึ่งในความอ่อนช้อยของท่ารำและเสื้อผ้าที่วิจิตรงดงามของนักแสดงโขน และหวังว่าจะมีโอกาสได้เห็นการแสดงไทยอีกเร็ว ๆ นี้

และเพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมไทยเข้าถึงประชาชนชาวนิวซีแลนด์มากขึ้น ยังได้มีการจัดงานเทศกาลไทย ณ จัตุรัสออดลินส์ พลาซา กรุงเวลลิงตัน ด้วย ระหว่างวันที่ 9 - 10 เม.ย. 2559 ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่หลายฝ่ายร่วมมือกันในการสร้างความประทับใจให้แก่ชาวต่างชาติ และดึงดูดให้เกิดการมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย โดยสำนักการสังคีตได้จัดแสดงรำ 4 ภาคของไทย การแสดงโขน ซึ่งนักแสดงได้ลงมาเล่นกับคนดู จนสร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก และมีการเปิดบูทต่าง ๆ เช่น บูทสาธิตการเขียนสีเขนยักษ์ เขนลิง โดยมีการอธิบายวิธีและคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมจำหน่ายหัวเขน ซึ่งทำจากปูนปลาสเตอร์ พร้อมสีให้ชาวต่างชาติได้ลองกลับไปทำเองที่บ้านด้วย รวมไปถึงการสาธิตการปักทำชุดโขน บูทสาธิตการแกะสลักผักผลไม้ และมีหน่วยงานอื่น ๆ มาร่วมจัดบูท อาทิ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเวลลิงตัน ที่มีการสอนสะกดชื่อตัวเองให้เป็นภาษาไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับการโชว์การทำบายศรี แจกเอกสารโปรโมตการท่องเที่ยว และร้านอาหารเอกชนได้มาออกบูทจำหน่ายอาหารไทย
น.ส.เพิร์ล โรบิน
น.ส.เพิร์ล โรบิน (Pearl Robin) ประชาชนชาวนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ตนเคยไปประเทศไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง รู้สึกประทับใจและตื่นตาตื่นใจไปกับอาหารไทย คนไทยที่มีความเป็นมิตร การมาเห็นการจัดแสดงเทศกาลไทยในครั้งนี้ตนชอบมาก รู้สึกสนุกไปกับวัฒนธรรมของไทย ซึ่งหากมีโอกาสก็พร้อมที่จะไปเที่ยวที่ประเทศไทยอีก อย่าง “โรซี” เพื่อนตนที่มาเที่ยวงานเทศกาลไทยด้วยกัน ไม่เคยไปเที่ยวประเทศไทยมาก่อน ซึ่งเดิมทีมีความตั้งใจที่จะไปเที่ยวอินโดนีเซีย แต่พอเห็นการจัดงานนี้แล้วก็เปลี่ยนใจอยากไปเที่ยวประเทศไทยแทน ซึ่งในงานเราได้ข้อมูลประเทศไทยดี ๆ อย่างมาก ทั้งเรื่องอาหาร การแสดง และการท่องเที่ยว

ชนเผ่าเมารีแสดงต้อนรับคณะโขนไทย

















การแสดงโขน ณ จัตุรัสออดลินส์ พลาซ่า




การออกบูทต่างๆ ในงานเทศกาลไทย



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น