xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามพลาด!!!...5 ไฮไลท์ไหว้พระ เมืองมรดกโลก“หลวงพระบาง”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ตักบาตรข้าวเหนียว วิถีอันโดดเด่นของชาวหลวงพระบาง ที่วันนี้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชั้นดี
     โอ้เมืองหลวงพระบาง      เจ้ายัง สบายดีบ่...
หลายปีจึงได้มาพ้อ         ดลนานหนอเฮาจึงได้พบกัน
พ่อแม่พี่ป้าน้าอา                เฮาเด้นา อยู่เกษมสำราญ
ปู่เยอ ย่าเยอ               มิ่งมั่น สายน้ำคานสบาย สบาย บ่นา...

เพลง “สะบายดีหลวงพระบาง”(ท่อนแรก) แต่งโดย อุ่นคำ บันดาสัก

เมืองมรดกโลก หลวงพระบาง

“หลวงพระบาง” ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่ง“หัวใจแผ่นดินล้านช้าง” ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง ที่วันนี้ยังคงความสำคัญอันโดดเด่นในหลากหลายมิติของสปป.ลาว ทั้ง ทางด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณี
บ้านเมืองหลวงพระบางในปัจจุบัน
ที่สำคัญคือการที่หลวงพระบางยังอบอวลด้วยรอยอดีตอันรุ่งโรจน์ ทำให้เมืองนี้ได้รับการประกาศจากยูเนสโกในปี พ.ศ. 2538(ค.ศ.1995) ให้เป็น “เมืองมรดกโลก” ซึ่งเป็นดังการเปิดเมืองหลวงพระบางสู่มิติทางการท่องเที่ยว ส่งผลให้เมืองมรดกโลกหลวงพระบางกลายเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวสำคัญแห่งภูมิภาคอาเซียน

จากวันนั้นถึงวันนี้ หลวงพระบางได้ค่อยๆพัฒนาจากเมืองเล็กๆอันสงบงามที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น ดินแดน“ยูโธเปียของนักอุดมคติ”และเป็น“ธัมมิกสังคมแห่งสุดท้าย” เข้าสู่“เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ” ที่ยังคงมากไปด้วยเสน่ห์มนต์ขลังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนอยู่ไม่ขาดสาย
ตาดกวางซี
เมืองท่องเที่ยว หลวงพระบาง

นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง จะได้สัมผัสเที่ยวชมกับแหล่งท่องเที่ยวทั้งในเขตเมืองมรดกโลกหลวงพระบางและนอกเมืองหลวงพระบาง โดยนอกเมืองมรดกโลกหลวงพระบางนั้นก็มี สถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ อาทิ ถ้ำติ่ง น้ำตกตาดแส้ น้ำตกตาดกวางซี(ตาดกวางสี) และบ้านผานมแหล่งทอผ้าเลื่องชื่อของชาวไทลื้อให้เลือกซื้อเลือกหากัน

ขณะที่ในเขตเมืองมรดกโลกนั้น นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจะได้สัมผัสกับตัวตนความเป็นหลวงพระบางอย่างเด่นชัดผ่านวิถีที่แนบแน่นในพระพุทธศาสนาของวัดวาอารามต่างๆและการ“ตักบาตรข้าวเหนียว”ยามเช้าอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ตลาดเช้าอีกหนึ่งวิถีอันทรงเสน่ห์ของหลวงพระบาง
ได้ยลตึกเก่าอาคารบ้านเรือนอันสวยงามทั้งตึกสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส รวมถึงตึกแบบจีน และห้องแถวและบ้านเรือนแบบลาว ที่อยู่บนถนนหลัก ถนนรอง และตามซอกซอยนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อันชวนสัมผัสของเมืองแห่งนี้

ได้สัมผัสกับภาพบรรยากาศตลาดเช้าที่เป็นตลาดของคนท้องถิ่นอันเต็มไปด้วยสีสัน และตลาดกลางคืนหรือถนนคนเดินที่ปรับเปลี่ยนวิถีมาสู่การมุ่งขายนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก
ตลาดมืดหรือถนนคนเดินที่เน้นขายนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก
นอกจากนี้เรายังจะได้สัมผัสกับวิถีและบรรยากาศแห่งความเป็นเมืองท่องเที่ยวอันโดดเด่นของหลวงพระบาง ที่ในวันนี้ตึกรามบ้านเรือนหลายๆแห่งในวันนี้ก็ได้แปรสภาพไปเป็น โรงแรมที่พัก เกสต์เฮ้าส์ ร้านกาแฟ ร้านอินเตอร์เน็ต บริการทัวร์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ฯ อันถือเป็นความเปลี่ยนแปลงตามวงจรของโลกแห่งการท่องเที่ยวยุคโลกาภิวัตน์

5 ไฮไลท์ ไหว้พระ...ห้ามพลาด

สำหรับผู้มาเที่ยวหลวงพระบาง ผมขอแนะนำ “5 ไฮไลท์ ไหว้พระ...ห้ามพลาดแห่งหลวงพระบาง” ซึ่งถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมหลักในการสัมผัสกับเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง
หอพระบาง ประดิษฐิษฐานพระบางพระพุทธรูปสำคัญสูงสุดแห่งสปป.ลาว
-ไหว้พระบาง พระพุทธรูปสำคัญสูงสุดของลาว

เริ่มกันด้วยการ“ไหว้พระบาง”-พระพุทธรูปสำคัญสูงสุดของลาว ที่ประดิษฐานอยู่ในบริเวณ“หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง” โดยพระบางประดิษฐานอยู่ใน“หอพระบาง” ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าฝั่งขวา(ของอาคารพิพิธภัณฑ์) กับอาคารรูปแบบงานศิลปกรรมล้านช้างอันงดงามสมส่วน นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูปได้เฉพาะภายนอก แต่ห้ามถ่ายรูปพระบางที่ประดิษฐานอยู่ภายใน
ช่วงสงกรานต์จะมีการอัญเชิญพระบางมาแห่ให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำ
“พระบาง” หรือชื่อเต็มคือ “พระบางพุทธลาวรรณ” เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ที่นอกจากจะเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางแล้ว ยังเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่สุดของสปป.ลาว ทุกๆปีในช่วงสงกรานต์(บุญปีใหม่ลาว) จะมีการนำพระบางออกมาให้ชาวลาวและนักท่องเที่ยวได้ร่วมสรงน้ำกันอย่างชื่นมื่น
อาคารพิพิธภัณฑ์หลวงพระบางที่มีทางเดินขนาบต้นตาลนำสายตาเข้าไป
หลังจากไหว้พระบางเอาฤกษ์เอาชัยแล้วก็ไม่ควรพลาดการเที่ยวชมในหอพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง ที่ด้านหน้ามีตาลต้นใหญ่ขนาบซ้าย-ขวา อยู่ 2 ข้างทางเดินนำสายตาสู่หอพิพิธภัณฑ์ฯที่ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปผสมล้านช้าง ซึ่งอนุญาตให้ถ่ายรูปได้เฉพาะภายนอก ส่วนภายในห้ามถ่ายรูป ห้ามนำมือถือหรือกล้องถ่ายรูปเข้ามา

หอพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง เป็นพระราชวังหลวงเดิมของเจ้ามหาชีวิต พอเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปสำริด กลองมโหระทึก ภาพเก่าแก่ บัลลังก์ ธรรมาสน์ และข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่หายากอีกหลากหลาย นับเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวสำคัญของหลวงพระบางที่มีผู้คนมาเที่ยวชมกันอย่างต่อเนื่อง
พระธาตุพูสี บนยอดพูสี มองเห็นโดดเด่นในหลายจุดของเมือง
-ไหว้พระธาตุพูสี หลักเมืองหลวงพระบาง

ตรงข้ามกับหอพระบางและอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นที่ตั้งของอีกหนึ่งไฮไลท์ประจำเมืองหลวงพระบางนั่นก็คือ “พูสี” ที่ด้านบนมี“พระธาตุพูสี” ตั้งตระหง่านโดดเด่น

พระธาตุพูสีหรือพระธาตุจอมพูสี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2347 เปรียบดังหลักเมืองหลวงพระบาง ซึ่งใครที่มาหลวงพระบางแล้วไม่เดินขึ้นพูสีเหมือนกับว่ายังมาไม่ถึง
ซุ้มจำปาบนทางเดินขึ้นยอดพูสี ณ ทางขึ้นฝั่งตรงข้ามกับหอพิพิธภัณฑ์
เส้นทางขึ้นพูสี มี 2 เส้นทางด้วยกัน แต่ว่าส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางที่อยู่ตรงข้ามกับหอพิพิธภัณฑ์ฯ โดยเส้นทางสายนี้เมื่อเดินขึ้นไปจะผ่านซุ้มดอกจำปา(ลั่นทม-ลีลาวดี)สุดขลังอายุนับร้อยปีไปสู่ยอดพูสีอันเป็นที่ตั้งของ“พระธาตุพูสี”พระธาตุศักดิ์สิทธิ์สีทองอร่ามคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง
วิวเมืองหลวงพระบางริมฝั่งโขงยามหน้าฝน เมื่อมองลงมาจากยอดพูสี
นอกจากนี้บนยอดพูสียังถือเป็นจุดชมวิวขึ้นชื่อของเมืองหลวงพระบาง บนนี้เมื่อมองลงไปฝั่งหอพิพิธภัณฑ์ฯจะเห็นสายน้ำโขงไหลรี่ มีทิวทัศน์ของเขตเมืองอนุรักษ์ที่เป็นอาคารหลังคาจั่ว ไม่มีตึกสูง เพราะถูกความเป็นมรดกโลกควบคุม ดูสบายตา อีกทั้งในหน้าแล้งยังสามารถมองลอดผ่านซุ้มจำปาลงไปเห็น อาคารหอพิพิธภัณฑ์ฯตั้งเด่นอย่างสง่างามริมฝั่งโขง

ส่วนถ้ามองไปทางฝั่งตรงข้าม จะเห็นสายน้ำคานไหลเลี้ยวเคียงคู่กับทิวทัศน์บ้านเมืองที่แม้จะไม่หนาแน่น แต่ก็เติบโตขึ้นมากว่าเมื่ออดีตอยู่มากโข
วิวเมืองหลวงพระบางฝั่งแม่น้ำคาน เมื่อมองลงมาจากยอดพูสี
-ไหว้พระธาตุหมากโมหนึ่งเดียวกับพระองค์หลวง ที่วัดวิชุน

จากถนนสีสะหว่างวงที่เป็นถนนเมนหลักทางการท่องเที่ยวกลางเมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีหอพระบาง-หอพิพิธภัณฑ์และพูสี เป็น 2 สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญตั้งอยู่กันคนละฟากถนน ไฮไลท์ต่อไป ผมชวนไปยังถนนวิชุนราชเพื่อ“ไหว้พระธาตุหมากโมและพระองค์หลวง” ที่ “วัดวิชุนราช” อีกหนึ่งวัดที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งหลวงพระบาง

วัดวิชุนราชหรือวัดวิชุน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2046 โดยพระเจ้าวิชุนราช เป็นที่ตั้งของ“พระธาตุหมากโม” หรือ “พระธาตุแตงโม” ที่แตกต่างจากพระธาตุทั่วไปเป็นรูปทรงแตงโมผ่าครึ่ง ตั้งเด่นอยู่ทางด้านหน้าวัดตรงข้ามของโบสถ์ของวัดแห่งนี้
พระธาตุหมากโมกับรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์
นอกจากพระธาตุหมากโมแล้ว โบสถ์หรือ“สิม”ของวัดแห่งนี้ก็ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยสิมวัดวิชุนสร้างด้วยงานศิลปกรรมสกุลช่างไทลื้อ และมีรูปแบบงานแกะสลักที่บานประตูเป็นศิลปะแบบเชียงขวาง
พระเจ้าองค์หลวง พระพุทธรูปางสมาธิที่ใหญ่ที่สุดในหลวงพระบาง
สิมวัดวิชุนมีความสำคัญในหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเคยเป็นที่ประดิษฐานพระบางและพระแก้วมรกต เคยเป็นที่ทรงพระผนวช(บวช)ของกษัตริย์ล้านช้างในอดีต ปัจจุบันยังคงความสำคัญไว้ด้วยการเป็นที่ประดิษฐานของ “พระเจ้าองค์หลวง” พระประธานของวัดวิชุนที่เป็นพระพุทธรูปางสมาธิที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหลวงพระบาง กับพุทธลักษณะอันดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา
พระยืนต่างๆในสิมวัดวิชุน
ภายในสิมวัดวิชุนในอดีตยังเคยทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์มาก่อน มาวันนี้ก็ยังคงเป็นที่เก็บสะสมศิลปวัตถุ โบราณวัตถุสำคัญๆมากมาย โดยเฉพาะพระพุทธรูปต่างๆ ทั้งพระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปสำริด และเศียรพระพุทธรูปที่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดดึงดูดอันโดดเด่นอีกสิ่งหนึ่งของวัด
วัดเชียงทอง สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้าง
-ไหว้พระวัดเชียงทอง สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้าง

มาถึงไฮไลท์สำคัญกับการไหว้พระและเที่ยวชม “วัดเชียงทอง” วัดงามที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุดในดินแดนลาว

วัดเชียงทอง สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2102-2103 ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นับเป็นวัดสำคัญวัดเดียวที่ไม่ถูกเผาทำลายในศึกฮ่อธงดำบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง ใน พ.ศ. 2428
พระองค์หลวง พระประธานวัดเชียงทอง
วัดเชียงทองมี “สิม”หรือ“โบสถ์” เป็นหัวใจของวัด ได้รับการยกย่องว่า เป็นสิมแบบล้านช้างสมบูรณ์ที่สุด ภายในประดิษฐาน“พระองค์หลวง” องค์พระประธานที่สร้างอย่างขรึมขลังสุดคลาสสิก ประตูสิมด้านหน้าเป็นงานแกะสลักไม้อันอ่อนช้อย ผนังด้านนอก-ด้านใน รวมถึงที่หน้าบัน ตกแต่งด้วย“พอกคำ”หรืองานลงรักปิดทอง
ลายดอกดวงรูปต้นทองที่ผนังด้านนอกด้านหลังสิมวัดเชียงทอง
ส่วนผนังสิมด้านหลัง(ด้านนอก) ประดับลาย“ดอกดวง”หรือลายกระจกสี ทำเป็นรูป“ต้นทอง” ท่ามกลางสัตว์หลายชนิดกับตำนานนิทานพื้นบ้าน และที่มาของชื่อเมือง“เชียงทอง” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของหลวงพระบาง

เช่นเดียวกับผนังด้านนอกของ “หอพระพุทธไสยาสน์” และ “หอพระม่าน” ที่ตั้งอยู่ด้านหลังสิม ก็มีการประดับลายดอกดวงเล่าเรื่องราวคติสอนใจจากนิทานพื้นบ้าน และภาพวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางในอดีตเช่นกัน
ยกพระขอพรในหอพระนอน
หอพระม่านกับหอพระพุทธไสยาสน์แม้จะตั้งอยู่คู่กันแต่ต่างกันตรงที่ “หอพระพุทธไสยาสน์ปกติจะเปิด” ส่วน“หอพระม่านปกติจะปิด”

สำหรับหอพระพุทธไสยาสน์ ภายในประดิษฐานองค์พระพุทธไสยาสน์หรือองค์พระนอนอายุเก่าแก่กว่า 400 ปีให้กราบไหว้สักการะบูชา รวมถึงมีพระพุทธรูปเสี่ยงทายให้อธิษฐานแล้วยก โดยขอให้ครั้งแรกยกขึ้น ครั้งที่สองยกไม่ขึ้น ถ้าทำได้ดังนั้นเชื่อว่าสิ่งที่ขอพรไว้จะสัมฤทธิ์ผล
ส่องดูองค์พระม่านที่หอพระม่าน
ส่วนหอพระม่านที่ปิดเป็นปกติจะมีช่องรูเล็กๆที่ประตูด้านหน้าให้นักท่องเที่ยวมองผ่านรูปเข้าไปเห็นองค์พระม่านประดิษฐานอยู่ภายในร่วมกับพระพุทธรูปองค์สำคัญอื่นๆรวมแล้ว 4 องค์ ซึ่งเชื่อว่าใครมองเห็นครบทั้ง 4 องค์ จะประสบโชคดีสมหวังตามคำอธิษฐาน

พระม่านถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของหลวงพระบาง(เช่นเดียวพระบาง) เป็นที่พึ่งทางใจ ชาวลาวมักมาขอในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการให้หายจากการเจ็บไข้ได้ป่วยและการขอลูก ซึ่งทุกๆปีทางวัดเชียงทองจะนำพระม่านออกมาให้สักการบูชากันช่วงหลังสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 25-30 เมษายน
ราชรถในโรงเมี้ยนโกศ
นอกจากสิมและหอพระแล้ว วัดเชียงทองยังมี “โรงเมี้ยนโกศ” หรือ “โรงราชรถ” ภายในเก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ขณะที่ตรงบานหน้าต่างและบานประตูงดงามไปด้วยงานแกะสลักไม้ฝีมือของ“เพียตัน”(พระยาตัน)หนึ่งในสุดยอดช่างของลาว ที่หลายๆคนบอกว่า ท่านไม่ได้ใช้มือแกะ หากแต่ใช้“ใจ”บรรจงแกะสลักไม้ขึ้นมาจนกลายเป็นหนึ่งในงานสุดยอดงานศิลปกรรมแห่งดินแดนลาวมาจนทุกวันนี้
งานแกะสลักไม้บานประตูอันสวยงามวิจิตรฝีมือเพียตัน
-ไหว้พระสงฆ์ ตักบาตรข้าวเหนียว

จาก 4 ไฮไลท์ไหว้พระพุทธรูป ไหว้พระธาตุ มาถึงอีกหนึ่งไฮไลท์ทางการท่องเที่ยวของหลวงพระบางที่มีความแตกต่างไปจากไฮไลท์ทั้ง 4 เพราะเป็นการไหว้พระที่มีชีวิตนั่นก็คือการไหว้พระสงฆ์ ไหว้พระภิกษุสามเณรกับการ“ตักบาตรข้าวเหนียว”

ตักบาตรข้าวเหนียว เป็นวิถีแห่งชาวหลวงพระบาง ซึ่งทุกๆเช้าหลังเสียงย่ำกะลอดังขึ้น(กะลอ : เครื่องตีของลาวมีลักษณะคล้ายกลอง) จากนั้นไม่นาน พระ-เณรตามวัดต่างๆ จะทยอยเดินเป็นแถวยาวเรียงหนึ่งออกมาบิณฑบาต ให้คนลาวทั้งชาวบ้าน ชาวเมือง และนักท่องเที่ยวต่างชาติ จกข้าวเหนียวใส่บาตรกันอย่างอิ่มเอิบใจ
ตักบาตรข้าวเหนียววิถีอันแนบแน่นในพุทธศาสนาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวหลวงพระบาง
สำหรับเส้นทางตักบาตรหลักๆของนักท่องเที่ยวในหลวงพระบางนั้นอยู่บนถนนสีสะหว่างวง ไล่ตั้งแต่หน้าห้องกานไปรษณีย์(ห้องกานไปสะนี) ไปจนถึงหน้าวัดเชียงทอง

อย่างไรก็ตามด้วยความโด่งดังของการตักบาตรข้าวเหนียว ทำให้วิถีและรูปแบบของการตักบาตรข้าวเหนียวบางอย่างเปลี่ยนไป คือเดี๋ยวนี้การตักบาตรข้าวเหนียวดูคล้ายมหกรรม กลายเป็นแฟชั่นประกอบการถ่ายรูปขึ้นเฟซบุ๊ค ขึ้นไอจี ของนักท่องเที่ยวหลายๆคน แต่นั่นไม่ร้ายกาจเท่ากับพฤติกรรมคนถ่ายรูปหลายๆคน ที่เห็นแก่ตัว สักแต่จะถ่ายรูปเพื่อให้ตัวเองได้มุมดีที่สุด ได้ภาพสวยที่สุด(ตามความคิดของเขา) โดยไม่เกรงใจพระ-เณร ที่เดินบิณฑบาต ไม่เกรงใจคนใส่บาตร และไม่เกรงใจนักท่องเที่ยวด้วยกัน ที่สำคัญคือไม่เกรงใจ ไม่ให้เกียรติกับประเพณีอันดีงามนี้ๆ
ตักบาตรข้าวเหนียว จากวิถีมาสู่กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด
และนั่นก็คือ 5 ไฮไลท์ไหว้พระ...ห้ามพลาดแห่งหลวงพระบาง ที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะกับบางสถานที่นั้น ว่ากันว่าถ้ามาถึงหลวงพระบางแล้ว ไม่ได้ไปเที่ยวชม หรือไม่ได้ไปร่วมสัมผัสถือว่ายังมาไม่ถึงหลวงพระบางโดยสมบูรณ์

ที่สำคัญก็คือ 5 ไฮไลท์เหล่านี้นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวหลักอันขึ้นชื่อของเมืองมรดกโลกแห่งนี้แล้ว ยังล้วนต่างแสดงให้เห็นถึงวิถีของชาวหลวงพระบางที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีแห่งพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นนับจากอดีตถึงปัจจุบัน
ตึกเก่าในหลวงพระบางที่วันนี้หลายๆแห่งมีการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังโตวันโตคืนในหลวงพระบาง
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น