เมืองเหนือ... มาทีไรก็สุขใจทุกครั้ง และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาเยือนภาคเหนือในช่วงวันฝนพรำ ที่แสนจะชุ่มฉ่ำ เขียวขจี และมีอากาศเย็นสบาย คราวนี้มาท่องเที่ยวในเส้นทาง “ตามรอยไทลื้อ บนเส้นทางเหนือฟ้า” ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคเหนือ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และสายการบินแอร์เอเชีย ได้ร่วมกันจัดขึ้นพานักท่องเที่ยวมาเยือน 3 จังหวัดภาคเหนือ “น่าน-พะเยา-เชียงราย” ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกัน
สำหรับทริปนี้เราเริ่มต้นเส้นทางที่จังหวัดน่าน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งล้านนาตะวันออกกันก่อน แน่นอนว่าเมื่อมาถึงเมืองน่าน ก็ต้องมาสักการะ “พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง อ.ภูเพียง ห่างจากตัวเมืองน่านแค่ราว 3 ก.ม. พระธาตุแช่แห้งถือเป็นพระธาตุประจำปีเถาะหรือปีกระต่าย องค์พระธาตุเป็นแบบล้านนาสีทองสุกปลั่ง เล่ากันว่าพญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย และบริเวณด้านข้างองค์พระธาตุยังเป็นที่ตั้งของวิหารหลวงที่ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามให้ได้สักการะเป็นสิริมงคลกัน
จากนั้นเรานั่งรถข้ามแม่น้ำน่านกลับมายังตัวอำเภอเมืองน่าน มาที่ “วัดพระเกิด” วัดเก่าแก่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองน่าน โดยตั้งใจมาเพื่อทำ “ตุงค่าคิง” หรือ “ตุงก้าคิง” ซึ่งเป็นตุงตามความเชื่อแบบล้านนา เชื่อว่าทำแล้วจะเป็นการสะเดาะห์เคราะห์สืบต่อชะตาของผู้ทำได้ ลักษณะตุงจะเป็นธงกระดาษสาที่มีความยาวเท่ากับความสูงของผู้ทำตุง มีการจำลองหน้าตา คิ้ว จมูก ปาก และปีนักษัตรของผู้ทำตุง เมื่อทำเสร็จแล้วตุงเหล่านี้จะถูกแขวนไว้ภายในพระอุโบสถ ยามใดที่มีการสวดมนต์หรือทำพิธีทางศาสนาก็เหมือนกับเราได้รับพรไปด้วยตลอดเวลา
ทำตุงกันเสร็จเรียบร้อยก็ถึงเวลาที่เราจะได้ออกสำรวจเมืองน่านด้วยการนั่งรถรางกัน และเป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อเร็วๆ นี้เมืองเทศบาลเมืองน่านก็เพิ่งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 10 ประจำปี 2558 โดยได้รางวัลยอดเยี่ยมในประเภทองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ในการสร้างเมืองเก่าให้เป็นเมืองที่มีชีวิต
ในการนั่งรถรางครั้งนี้เราได้เที่ยวชมรอบๆ เมืองน่าน บางจุดเพียงนั่งรถผ่าน แต่บางจุดก็ได้ลงไปชม อย่างที่ “โฮงเจ้าฟองคำ” (โฮง หมายถึง คุ้ม หรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย) เรือนไม้เก่ายกสูงสามหลังติดกันที่มีอายุกว่า 200 ปีที่เจ้าของเปิดเรือนให้นักท่องเที่ยวเข้าชมกันแบบฟรีๆ เมื่อเข้ามาจะสัมผัสได้ถึงความเก่าแก่ที่สวยงาม ภายในเรือนจัดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ด้านบนเรือนถูกจัดแบ่งเป็นห้องๆ จัดแสดงข้าวของน่าสนใจ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่เครื่องเงินและเงินตราสมัยโบราณ ส่วนบริเวณด้านล่างใต้ถุนเรือน เป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เรื่องผ้า มีการโชว์การทอผ้าพื้นเมือง การสาธิตปั่นฝ้ายให้ได้ชม รวมถึงมีผ้าทอสวยๆ งามๆ จำหน่าย ให้ผู้สนใจซื้อเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านกันได้อีกด้วย
“วัดสวนตาล” เป็นวัดอีกแห่งหนึ่งที่เราได้แวะเข้าไปกราบพระเป็นสิริมงคลกัน วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองน่านมาร่วม 600 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระนางปทุมมาวดีชายาของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่านเมื่อราว พ.ศ.1955 วัดสวนตาลยังเป็นที่ประดิษฐานของ “พระเจ้าทองทิพย์” พระพุทธรูปอันงดงามคู่วัด
เรานั่งรถรางผ่านย่านการค้า ย่านตลาดของเมืองน่าน ชมวิวทิวทัศน์อย่างเพลิดเพลิน ก่อนจะมาปิดท้ายแหล่งท่องเที่ยวในเมืองน่านที่ต้องห้ามพลาด นั่นก็คือ “วัดภูมินทร์” วัดงามโดดเด่นแห่งเมืองน่าน ที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันสร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว ที่เป็นไฮไลท์คือในพระวิหารมี “พระประธานจตุรทิศ” เป็นพระประธานปางมารวิชัยองค์ใหญ่สีทองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเดียวกัน หันพระปฤษฎางค์ชนกัน (หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4
นอกจากนั้นภาพจิตรกรรมฝาผนังของที่นี่ยังมีความโดดเด่น โดยเฉพาะภาพของ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ที่อยู่ใกล้กับประตูทิศตะวันตก ได้ชื่อว่าเป็นภาพกระซิบรักบันลือโลก ซึ่งในช่วงวันหยุดจะมีไกด์น้อยเด็กนักเรียนในเมืองน่านมาอธิบายถึงรูปไฮไลท์ในจิตรกรรมฝาผนังแต่ละรูปให้นักท่องเที่ยวฟังอย่างสนุกสนาน
เช้าวันรุ่งขึ้นคณะของ “ตะลอนเที่ยว” เตรียมมุ่งหน้าไปยัง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ระหว่างทางผ่านอีกหนึ่งวัดงามใน อ.ท่าวังผา จ.น่าน นั่นก็คือ “วัดหนองบัว” วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองน่าน ที่วิหารของวัดนอกจากจะมีรูปทรงที่สมส่วนสวยงามแล้ว ภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันสุดคลาสสิก ฝีมือ“หนานบัวผัน” กับงานชิ้นเอกภาพเรื่องราว “คันธชาดก” ที่มุ่งสอนให้ทำความดีละเว้นความชั่ว อันเป็นนิทานธรรมเก่าแก่ปรากฏที่วัดนี้เพียงแห่งเดียว
นอกจากนั้น ไฮไลท์เด็ดของบ้านหนองบัวซึ่งเป็นชุมชนชาวไทลื้อเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อในด้านฝีมือการทอผ้า ก็คือผ้าทอ “ลายน้ำไหล” อันเป็นลายเอกลักษณ์ของเมืองน่านนั้น แม่หญิงที่บ้านหนองบัวทอได้สวยงามนัก เราจึงแวะพักช้อปปิ้งผ้าทอมือสวยๆ ที่วัดหนองบัว และขึ้นไปชมบรรยากาศบ้านเรือนของชาวไทลื้อกันได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อบริเวณด้านหลังวิหารวัดหนองบัวกันได้
เราโบกมือลาเมืองน่านเดินทางสู่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา เส้นทางนี้คดโค้งพอให้มึนๆ กันบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าใครไม่ง่วงไม่มึนก็ให้นั่งชมวิวทิวทัศน์ที่เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางลอยฟ้า เพราะสองข้างทางจะเป็นหุบเขาน้อยใหญ่ ยิ่งในช่วงหน้าฝนยิ่งเขียวขจีเพลินตา เราใช้เวลาราว 1.30 ชม. ก็มาถึงเมืองเชียงคำกันแล้ว
ที่เชียงคำ เราได้มาชมวัดงามถึง 3 แห่งด้วยกัน แห่งแรกเรามาสักการะ "พระเจ้านั่งดิน" ที่ประดิษฐานอยู่ที่ "วัดพระเจ้านั่งดิน" พระพุทธรูปองค์นี้มีความแปลกเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นหนึ่งเดียวไม่เหมือนที่ไหนๆ เพราะเป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่บนพื้น ไม่มีฐานชุกชีรองรับเหมือนกับพระประธานองค์อื่นๆ เล่าขานกันต่อมาว่า ในอดีตเมื่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เสร็จได้วางท่านไว้บนพื้นราบ ครั้นต่อมามีชาวบ้านพยายามสร้างฐานชุกชีให้อัญเชิญท่านขึ้นตั้งอยู่บนนั้น แต่ปรากฏว่าพยายามเท่าไหร่ก็ยกไม่ขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกสืบต่อกันมาว่า "พระเจ้านั่งดิน"
“วัดนันตาราม” วัดงามแห่งที่สองในเชียงคำที่เราได้มาเยือน เป็นวัดที่อนุรักษ์วิหารศิลปะแบบไทยใหญ่ ตัววิหารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังตกแต่งลวดลายฉลุไม้อย่างสวยงามยิ่งนัก ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญๆอยู่หลายองค์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปหยกขาว พระเจ้าแสนแส้ พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ ส่วนพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนปางมารวิชัย ทำจากทองสำริดทรงเครื่องแบบไทยใหญ่ ประทับบนสิงหบัลลังก์ไม้ที่แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม
อีกทั้งในวิหารของวัดยังจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ มีพิพิธภัณฑ์ธนบัตรเก่า เครื่องใช้โบราณ ผ้าลายโบราณ สิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในวิหารก็คือ "ธรรมาสน์" สีทองเหลืองอร่ามฉลุลวดลายอ่อนช้อยสวยงาม ที่ทำจำลองมาจากราชบัลลังก์ของพม่า
มาปิดท้ายในอำเภอเชียงคำที่ “วัดพระแสนเมืองมา” วัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ราว พ.ศ.2351 สร้างโดยชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองมาง แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน ที่ถูกเจ้าเมืองน่านกวาดต้อนมาจนกระทั่งมาตั่งถิ่นฐานที่อำเภอเชียงคำนี้ จุดเด่นของวัดอยู่ที่หลังคาวิหารที่ซ้อนลดกันหลายชั้น ไม่นิยมทำหลังคาสูง ภายในวิหารมีของเก่าแก่ดั้งเดิมสมัยแรกสร้างอยู่สองสิ่งด้วยกัน ได้แก่ พระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง สร้างตามพุทธศิลป์ที่เป็นจารีตนิยมของไทลื้อ ซึ่งเหลือเพียงองค์เดียวในอำเภอเชียงคำ ส่วนอีกสิ่งหนึ่งก็คือธรรมาสน์ที่สร้างขึ้นพร้อมพระวิหารแห่งนี้
จากเชียงคำเรานั่งรถเข้าสู่อำเภอเมืองพะเยากันบ้าง แน่นอนว่าไฮไลต์ของเมืองพะเยาจะเป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้นอกจาก “กว๊านพะเยา” ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่กลางเมืองพะเยา ซึ่งเป็นดังแหล่งชีวิต เป็นเส้นเลือดหลักของเมืองพะเยาซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของทัศนียภาพอันงดงาม โดยเฉพาะบรรยากาศในยามเช้าและเย็น
กลางกว๊านพะเยามีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เราได้ไปเยือน นั่นก็คือ “วัดติโลกอาราม” วัดกลางน้ำที่ตั้งเด่นอยู่บนเกาะกลางกว๊าน สามารถมองเห็นได้ไกลๆ จากบนฝั่ง วัดแห่งนี้สันนิษฐานว่าพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาเมืองเชียงใหม่ โปรดฯให้เจ้าหัวแสน เจ้าเมืองพะเยาสร้างขึ้นมาในช่วงราว พ.ศ. 2019-2030 จนมาถึงยุคปัจจุบัน พ.ศ. 2484-2484 ทางกรมประมงได้กั้นประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำจนเกิดเป็น“กว๊านพะเยา” ขึ้น แต่การกั้นประตูน้ำในครั้งนั้นส่งผลให้ ชุมชน บ้านเรือน เรือกสวน และวัดหลายแห่งในพื้นที่กักเก็บน้ำ รวมถึงวัดติโลกอารามที่ต้องจมลงอยู่ใต้ผืนน้ำ
จากบนฝั่งเราต้องนั่งเรือพายชิลล์ๆ ล่องไปยังวัดติโลกอารามเพื่อขึ้นไปนมัสการ “หลวงพ่อศิลา” พระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย อายุกว่า 500 ปี ที่ค้นพบเมื่อปี 2526 ในบริเวณวัดติโลกอารามที่จมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลามาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำ จนกระทั่งปี 2550 จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับไปประดิษฐานบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยาดังปัจจุบัน
บรรยากาศกลางกว๊านช่างเงียบสงบสวยงามยิ่งนัก เราไหว้พระ ถ่ายรูป และเดินชมบรรยากาศบนวัดติโลกอารามอยู่พักใหญ่ก็ได้เวลากลับขึ้นฝั่งมาพักผ่อนกัน เพราะพรุ่งนี้มีนัดมาทำบุญตักบาตรยามเช้ากันที่ริมกว๊านอีกครั้ง
รุ่งเช้าเวลาราว 07.00 น. เรามาเดินสูดอากาศบริสุทธิ์อยู่บนถนนชายกว๊าน หาซื้อกับข้าวกับปลามาร่วมทำบุญตักบาตรกับพระสงฆ์ โดยทางเทศบาลเมืองพะเยาได้จัดเตรียมเสื่อที่นั่งและอุปกรณ์สำหรับกรวดน้ำไว้ให้ทุกวัน คนที่นี่จะตักบาตรด้วยข้าวเหนียว โดยการหยิบข้าวเหนียวเป็นคำๆ ใส่ในบาตรพระ ส่วนกับข้าวจะใส่อีกบาตรหนึ่งแยกกัน ราว 07.15 น. พระสงฆ์ก็เดินเรียงแถวมารอรับบาตร ก่อนท่านจะขึ้นนั่งในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้เพื่อสวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญ จากนั้นท่านก็จะให้ทุกคนกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้ทำในเช้าวันนั้น
หลังจากตักบาตรเสร็จแล้วเรามุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงราย จังหวัดสุดท้ายในเส้นทางท่องเที่ยวครั้งนี้ ที่เชียงราย “ตะลอนเที่ยว” ได้ไปนั่งจิบชา รับลม ชมวิวสวยๆ ที่ “ไร่ชาฉุยฟง” ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวงและอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย “ฉุยฟง” เป็นภาษาจีนแปลว่า ภูเขาที่เขียวชอุ่ม ซึ่งก็จริงเพราะเนินเขากว้างไกลพื้นที่กว่าพันไร่มองไปโดยรอบล้วนเป็นไร่ชาสีเขียวชอุ่มทั้งสิ้น
นอกจากนักท่องเที่ยวจะมาชมไร่ชาและซื้อหาของฝากจำพวกใบชาชนิดต่างๆ ไปฝากคนทางบ้านแล้ว ก็ยังสามารถสั่งอาหาร ขนม และเครื่องดื่มมานั่งจิบชิมชมวิวในอากาศเย็นสบายกันอีกด้วย
ปิดท้ายแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายและเส้นทางท่องเที่ยวสามจังหวัดภาคเหนือของ “ตะลอนเที่ยว” ที่ “พระตำหนักดอยตุง” และ “สวนแม่ฟ้าหลวง” ใน อ.แม่ฟ้าหลวง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและมีชื่อเสียงด้านความสวยงามของดอกไม้เมืองหนาวของเชียงราย สำหรับ “สวนแม่ฟ้าหลวง” มีพื้นที่กว้างขวาง ภายในจัดสรรพื้นที่ได้อย่างสวยงาม มีต้นไม้และดอกไม้เมืองหนาวนานาพรรณ กลางสวนมีไฮไลท์เป็นประติมากรรมที่มีชื่อว่า "ความต่อเนื่อง" (Continuity) ผลงานของนางมิวเซียม ยิบอินซอย เป็นรูปหล่อสัมฤทธิ์แสดงความต่อเนื่องโดยเด็กๆ 17 คน ต่อตัวขึ้นไปในอากาศ สื่อความหมายถึงการทำงานใดๆ จะสำเร็จได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ส่วน “พระตำหนักดอยตุง” ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จย่าก็งดงามโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาผสมผสานกับบ้านพื้นเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ บริเวณด้านหลังพระตำหนักมีระเบียงยื่นออกไปชมดอกสีสันสวยงาม และยังสามารถชมทัศนียภาพของดอยตุงได้อย่างสวยงามอีกด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน-แพร่-อุตรดิตถ์ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ โทร. 0-5452-1118 สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย-พะเยา ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย โทร. 0 5371 7433, 0 5374 4674-5
และสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเที่ยวบินของสายการบินแอร์เอเชียได้ที่ โทร.0 2515 9999 หรือ www.airasia.com
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com