น่าน - เปิดใจ “หนุ่มวงการโฆษณา-เขยเมืองน่าน” หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังนำ “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” จิตรกรรมฝาผนังเลื่องชื่อของเมืองน่าน ทำภาพการ์ตูน “น้องม่าน-หนูม่าน” จนกลายเป็นสินค้าที่ระลึกหลากหลายรูปแบบ ก่อนต่อยอดให้เป็นสติกเกอร์ไลน์โลดแล่นบนโลกออนไลน์
วันนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แน่นอนว่าคนที่เดินทางไปท่องเที่ยวเมืองน่าน นอกจากต้องการไปสัมผัสชีวิตแบบ “น่าน เนิบเนิบ” กราบไหว้นมัสการพระธาตุแช่แห้งกันแล้ว ล้วนแต่ต้องการไปเห็นภาพ “กระซิบรักบันลือโลก-ปู่ม่าน ย่าม่าน” จิตรกรรมฝาผนังลือชื่อในวัดภูมินทร์ ซึ่งปัจจุบันมีการนำออกมาต่อยอดผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกหลากหลายรูปแบบ
ล่าสุด “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ในเวอร์ชันการ์ตูน “น้องม่าน หนูม่าน-ละอ่อน:อู้กำเมือง” ก็ได้ออกมาโลดแล่นในโลกออนไลน์-สติกเกอร์ไลน์ อีกด้วย
ซึ่งหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการส่ง “น้องม่าน หนูม่าน” โลดแล่นบนโลกออนไลน์ก็คือ “นอร์ธ ท่าวังผา” หรือนายธนกร ทองคุณธรรม ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คนหนุ่มไฟแรงที่ผ่านงานในวงการสื่อโฆษณามาอย่างหลากหลาย และเป็น “เขยเมืองน่าน” ที่มาใช้ชีวิตหลังแต่งงานช่วงปี 2553 ที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดภรรยา จนเกิดเป็นความผูกพันกับความมีเสน่ห์ เต็มไปด้วยอัธยาศัย ความสงบ เป็นจังหวัดที่มีการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ได้เรียนรู้ และซึมซับ ประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ
นอร์ธเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวการ์ตูนเด็กน้อยชายหญิงที่แสนน่ารัก “น้องม่าน หนูม่าน” ว่า เกิดจากการพูดคุยกับเครือข่ายเพื่อนๆ ที่คุ้นเคยในช่วงก่อนวันเด็กปี พ.ศ. 2556 ในเรื่องการขาย Postcard เพื่อหารายได้เป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กๆ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจ
โดยคิดถึงความงดงาม และสัญลักษณ์ของเมืองน่าน คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ที่เลื่องชื่อ ภาพ “ปู่ม่าน-ย่าม่าน กระซิบรักบันลือโลก” แต่ได้ลองคิดต่อว่าถ้าปู่ม่าน-ย่าม่าน อายุน้อยลง และเป็นเด็กจะเป็นอย่างไร คงมีความน่ารักน่าเอ็นดูมาก จึงได้เริ่มสเกตช์แบบร่าง แล้วให้เพื่อนๆ ช่วยแนะนำจนลงตัว
จากนั้นเริ่มสร้างตัวตนของน้องม่านหนูม่านให้มีชีวิตชีวามากขึ้นกว่าการเป็นแค่ภาพร่าง โดยคิดถึงงานที่เป็นของฝากของที่ระลึกที่จะทำให้นึกถึงเมืองน่าน ผสานกับความที่ตัวเองชอบงานตุ๊กตาโมเดล จึงทำเป็นโมเดล “น้องม่านหนูม่าน” ขึ้น และได้ขอจดลิขสิทธิ์กับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ โดยตุ๊กตาโมเดลดังกล่าวมีจำนวน 12 ชุดเท่านั้น ถือได้ว่าเป็น “รุ่นลิมิเต็ด” ก็ว่าได้ และได้นำไปมอบแก่เพื่อนพี่น้องที่ช่วยสานฝันแรงบันดาลใจให้เป็นที่ระลึก
นอร์ธบอกอีกว่า ระหว่างนั้นต้องได้เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดน่าน โดยหลักจะอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อทำงาน แต่ความฝันและแรงบันดาลใจยังคุกรุ่นอยู่มาก ยังคิดถึง “น้องม่าน หนูม่าน” อยู่ตลอดเวลา ช่วงหนึ่งจึงได้นำน้องม่าน-หนูม่าน มาต่อยอดทำเป็นเสื้อยืดจำหน่าย โดยส่วนหนึ่งหวังให้เป็นของที่ระลึก และโปรโมตการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนพี่น้องในจังหวัดน่าน อุดหนุน และนำไปจำหน่ายต่อให้
“ช่วงนั้นเหมือนความฝันกำลังได้ไปต่อ แต่มันไม่สุด จนเมื่อได้เห็นความน่ารักของน้องพรีม ลูกสาวตัวน้อย ยิ่งเวลาที่เขาอู้กำเมือง หรือพูดคำเมืองกับคุณแม่ของเขายิ่งน่ารัก และทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างน้องม่าน-หนูม่าน โดยคิดต่อยอดให้เป็นสติกเกอร์ไลน์อู้กำเมืองขึ้นมา หวังให้กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้คนคิดถึงเมืองน่าน และรักษาความเป็นอัตลักษณ์น่านไว้อีกช่องทางหนึ่ง”
ซึ่งทาง Line ได้เปิดโอกาสให้สามารถส่งผลงานของตนเองเพื่อวางจำหน่ายบน Line Store ได้ ชื่อ “โครงการ Line Creators” เลยคิดว่าลองทำน้องม่าน-หนูม่าน กับวลีคำพูดแบบ “กำเมือง” คงน่ารักสำหรับคนโหลดไปใช้ส่งความรู้สึกกัน จึงหยิบยกตัวการ์ตูนน้องม่าน-หนูม่านขึ้นมา และได้วางแนวคิดว่า “จะทำอย่างไรให้ดูเป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวของจังหวัดน่านด้วย บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดน่านด้วย”
จากนั้นได้ลองศึกษาหาความรู้ คำแนะนำต่างๆ มากมาย เพื่อจะนำความเป็นอัตลักษณ์น่านเสนอออกมาให้ได้ โดยคิดคำเมืองที่คิดว่าเป็นคำที่ใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อใช้สื่อสารผ่านตัวน้องม่าน-หนูม่าน รวม 40 คำ รวมทั้งได้นายอัศวิน กลับมา หรือครูคิด เพื่อนที่อำเภอท่าวังผา ช่วยกันเริ่มต้นสเกตช์ภาพทั้ง 40 ภาพ และภาพหน้าปกของ Line Store อีก 2 ภาพ รวมเป็น 42 ภาพ
นอร์ธบอกว่า ได้นำภาพทั้งหมดเสนอตามขั้นตอนพิจารณาของบริษัท Line ซึ่งก็พบว่าต้องมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ต้องรอคิวพิจารณา และตัดสินใหม่เป็นเวลานาน ทั้งเรื่องภาพกับตัวอักษรบนภาพไม่สอดคล้องกัน ต้องเปลี่ยนภาพหน้าปกบน Line Store เพราะมีการอ้างอิงสถานที่ท่องเที่ยว และเปลี่ยนชื่อ “น้องม่าน-หนูม่าน” เนื่องจากมีการอ้างอิงบุคคลที่สาม ในที่นี้คงหมายถึง ปู่ม่าน-ย่าม่าน เพราะผิดกฎของ Line
จนในที่สุดได้ปรับแก้ไขตามหลักเกณฑ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “ละอ่อนน้อย คำเมือง” ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 5 เดือนจึงได้การตอบรับจาก Line ทำให้ตัวการ์ตูน น้องม่าน-หนูม่าน ได้ออกมาโลดแล่นบนโลกโซเชียลผ่านแอปพลิเคชันไลน์ได้
“ความสำเร็จของ Sticker Line ละอ่อนน้อย : คำเมือง ไม่ใช่ความสำเร็จของผมคนเดียว แต่เป็นความสำเร็จของคนน่านทั้งจังหวัด มีเพื่อนพี่น้องหลายคนทั้ง อาทิ ไฮน่าน, พี่ปู-วาสนา เกสโรทยาน, พี่จิ๊บ-สิทธิธัช ธิติกุลเกษมศักดิ์ และอีกหลายคนมาก ที่ช่วยให้เกิดน้องม่านหนูม่านขึ้น”
นอร์ธกล่าวว่า สำหรับเราแล้วไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียงในสังคมมากเท่าไหร่ แต่คิดว่า Sticker Line “ละอ่อนน้อย : คำเมือง” อาจจะเป็นหนึ่งผลงานที่เป็นแรงบันดาลใจและสร้างโอกาสให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ๆในจังหวัดน่าน ที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง และต่อยอดจากสิ่งที่น่านมีอยู่ และต้องการเผยแพร่อัตลักษณ์ทางด้านการแต่งกาย และภาษาคำเมือง โดยหวังใจว่า Sticker Line “ละอ่อนน้อย : คำเมือง” จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมาท่องเที่ยวเมืองน่าน เข้าใจและสื่อสารภาษากำเมืองได้มากขึ้น
โดยหลังจากที่ได้ปล่อยให้มีการโหลดน้องม่าน-หนูม่านแล้ว ตั้งใจว่ารายได้ 10% หลังหักภาษี และค่าใช้จ่ายที่ทาง Line หักไปแล้ว จะนำมาเป็นทุนการศึกษาให้น้องๆ ในจังหวัดน่านด้วย ซึ่งอาจจะไม่ได้มากมายนัก “แต่เป็นสิ่งที่ผมจะสามารถทำได้เพื่อจังหวัดน่านในแบบฉบับของผม”