เมื่อพูดถึงเมืองท่องเที่ยวอย่าง “น่าน” ในชั่วโมงนี้คงไม่ใครไม่รู้จัก ด้วยเมืองเล็กๆ ที่แฝงไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งวัดวาอาราม ผู้คน รวมถึงการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เป็นไปอย่างช้าๆ จึงทำให้เมือง “น่าน” เป็นเมืองที่ยังคงความคลาสสิกอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้น่าน จัดอยู่ในเมืองเล็กประเภท “Small is Beautiful”
การมาเยือน “น่าน” ของเราในครั้งนี้ ต่างจากการมาเยือนในครั้งก่อนๆ ตรงที่ว่า ครั้งนี้เราจะมาเที่ยวเมืองน่านกันแบบ “ไม่เอาถ่าน” หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “Low Carbon Tourism” ที่เป็นหนึ่งในโครงการขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อให้เราได้ไปท่องเที่ยวกันแบบช้าๆ อย่างยั่งยืน
แต่ก่อนที่เราจะไปเที่ยวแบบไม่เอาถ่านนั้น ก็ต้องมาทำความเข้าใจการเที่ยวแบบไม่เอาถ่านเสียก่อน การเที่ยวแบบไม่เอาถ่านหรือ Low Carbon ของเรานั้น เป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยลดโลกร้อน เป็นการเที่ยวแบบช้าๆ โดยการเลือกปั่นจักรยานหรือนั่งสามล้อถีบแอ่วเมืองน่าน แทนการใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เลือกกินอาหารพื้นถิ่นที่ใช้วัตถุดิบในเมืองน่าน ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเชื้อเพลิงจากการขนส่งมาจากที่ไกลๆ และยังเลือกพักโรงแรมที่ใส่ใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ (เป็นการช่วยลดการใช้น้ำ) แต่มีการทำความสะอาดห้องพักตามปกติ ในกรณีที่พัก 2 คืนขึ้นไป
เมื่อทราบถึงการเที่ยวแบบไม่เอาถ่านกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะออกเดินทางแอ่วเมืองน่านกันเสียที เราเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการมาทำพิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ตามแบบฉบับล้านนา เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล กับกิจกรรมทำ “ตุงก้าคิง” ที่ “วัดพระเกิด” (ต.ในเวียง) ตามความเชื่อแบบล้านนา ทันทีที่มาถึงจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเหล่าพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย ที่จะมาคอยช่วยแนะนำการทำตุงก้าคิงอย่างเปี่ยมมิตรไมตรี
“ตุงก้าคิง” เป็นพิธีกรรมแบบชาวล้านนา โดยจะมีการทำตุง ซึ่งเป็นการจำลองรูปแบบของคนมา มีปีนักษัตร มีหน้า ตา คิ้ว จมูกปาก และมีความสูงเท่ากับความสูงของผู้ทำตุง ใช้เพื่อสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา โดยในการทำตุงพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยจะเป็นผู้เตรียมตุงให้กับเรา เมื่อมาถึงเราก็นำตุงที่พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยเตรียมไว้ ติดหน้าบนตุงของตัวเอง จากนั้นจึงนำไปทำพิธี ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
นอกจากพิธีตุงก้าคิงแล้ว ภายในวัดพระเกิดยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด” ด้วย ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยแห่งชุมชนวัดพระเกิดที่เล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม พวกท่านจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง“พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด”ขึ้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้คู่ชุมชนและคนภายนอกที่สนใจ ภายในจัดแสดงเป็น 2 ชั้น ด้านบนจัดแสดงเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปไม้ทรงเครื่อง และพระพุทธรูปไม้ 48 พระองค์ ฯลฯ ด้านล่างจัดแสดงเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชุมชน ตลอดถึงเงินยุคโบราณ ซึ่งนอกจากจะจัดแสดงศิลปวัตถุและข้าวของเครื่องใช้โบราณรวมทั้งหีบพระธรรมโบราณลงรักปิดทองจำนวนหลายใบอันน่าสนใจแล้ว ที่นี่ยังเป็นดั่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตจากปากคำการบอกเล่าให้ข้อมูลของผู้รู้และพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยผู้ใจดีอีกด้วย
จากวัดพระเกิดห่างไปอีกไม่ไกล เป็นที่ตั้งของ “โฮงเจ้าฟองคำ” (โฮง หมายถึง คุ้ม หรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย ชาวน่านจะเรียกบ้านหลังใหญ่ว่า โฮง ไม่เรียกว่า คุ้ม เหมือนชาวเชียงใหม่) เรือนล้านนาอันทรงเสน่ห์ที่เจ้าของเปิดเรือนให้นักท่องเที่ยวเข้าชมกันแบบฟรีๆ เมื่อเข้ามาจะสัมผัสได้ถึงความเก่าแก่ที่สวยงาม ภายในเรือนจัดแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ด้านบนเรือน ถูกจัดแบ่งเป็นห้องๆ จัดแสดงข้าวของน่าสนใจ โดยมีไฮไลท์อยู่ที่เครื่องเงินและเงินตราสมัยโบราณ
ส่วนบริเวณด้านล่างใต้ถุนเรือน เป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เรื่องผ้า มีการโชว์การทอผ้าพื้นเมือง การสาธิตปั่นฝ้าย ให้ได้ชม รวมถึงมีผ้าทอสวยๆ งามๆ จำหน่าย ให้ผู้สนใจซื้อเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านกลับบ้านกันได้อีกด้วย
จากนั้นไปต่อกันที่ “วัดภูมินทร์” วัดภูมินทร์เป็นที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกันสร้างทรงจัตุรมุข ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัวที่ช่างโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นอย่างดงาม เมื่อเดินเข้ามาภายในพระอุโบสถ บริเวณใจกลางพระอุโบสถ จะพบกับความงดงามของ “พระประธานจตุรทิศ” เป็นพระประธานปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ ประทับนั่งบนฐานชุกชีเดียวกัน หันพระปฤษฎางค์ชนกัน(หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4 ถือว่าเป็นพระประธาน ที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่ว่าจะมองจะทิศไหนก็จะสัมผัสได้ถึงความขรึมขลังขององค์พระ อันน่าเลื่อมใส
เมื่อเข้ามายังพระอุโบสถแล้วก็ต้องไม่พลาดที่จะต้องเดินชมภาพจิตกรรมฝาผนังที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะภาพของ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพกระซิบรักบันลือโลก อันมีชื่อเสียงโด่งดังใครมาก็ต้องมาชมและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ถือเป็นไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาแอ่วเมืองน่านแห่งนี้
ใกล้ๆ กันกับวัดภูมินทร์เป็นที่ตั้งของ “วัดมิ่งเมือง”(ถ.สุริยพงษ์) เป็นสถานที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองน่าน ในบริเวณวัดน่าสนใจไปด้วยงานศิลปะปูนปั้นสีขาวลวดลายวิจิตรสวยงาม ดูเผินๆ อาจจะชวนให้นึกถึงวัดร่องขุ่น ของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แต่ถ้าเดินดูกันอย่างพิถีพิถันก็จะพบความงามที่ต่างกันออกไป ซึ่งนี่เป็นงานฝีมือของตระกูลช่างเมืองเชียงแสน ขณะที่ภายในโบสถ์ก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่านอย่างน่าสนใจทีเดียว
ปิดท้ายด้วย “วัดพระธาตุแช่แห้ง” ตั้งอยู่ที่ ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง สำหรับวัดพระธาตุแช่แห้งนั้น มีข้อมูลระบุว่าพญาการเมืองโปรดทรงให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัยระหว่าง พ.ศ.1891-1901
วัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นอีกหนึ่งวัดดัง วัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่านที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง วัดพระธาตุแช่แห้ง มีองค์พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีเถาะ(กระต่าย) ที่บุทองจังโก้ดูเหลืองอร่ามสมส่วนงดงาม ด้านข้างขององค์พระธาตุ(อยู่ทางขวาเมื่อเดินเข้าไป) เป็นที่ตั้งของวิหารหลวงที่ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา
ส่วนที่ด้านหน้าวิหาร ตรงหัวบันไดทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว ประดับยืนเฝ้าอยู่ ซึ่งรูปพญานาค 8 ตัว ปั้นเป็นพญานาคเกี่ยวกระหวัดกันเป็น 3 ชั้น ถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลปกรรมสุดคลาสสิกของวัดแห่งนี้ เพราะนอกจากจะมีความงดงามสดส่วนแล้วยังแฝงปริศนาธรรมให้ขบคิดอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ในวัดพระธาตุแช่แห้งยังมี องค์พระนอน พระเจ้าทันใจ องค์เจดีย์สีขาวที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า รวมไปถึงบันไดนาคตัวยาวตรงปากทางขึ้น ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัดแห่งนี้ เป็นสิ่งน่าสนใจให้ได้สัมผัสทัศนาในความงามกันอย่างจุใจ
และนี่ก็คือบางส่วนของเส้นทางปั่นเที่ยววัดในเมืองน่าน แม้ว่าน่านจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่หากใครได้มาเยือนแล้ว อาจจะต้องตกหลุมรัก เมืองน่านแห่งนี้จนต้องมาเยือนเป็นครั้งที่ สอง สาม สี่ อย่างแน่นอน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวน่านตามแคมเปญเที่ยวแบบ “ไม่เอาถ่าน” (Low Carbon Tourism) ได้ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.น่าน โทร.0-5477-1077
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com